การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน เป็นสิ่งสำคัญที่คู่รักทุกคู่ควรให้ความสนใจก่อนตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกัน เพราะจากนี้ไปชีวิตคู่ไม่ได้มีเพียงแค่วันนี้และไม่ได้มีเพียงแค่ตัวคุณลำพังอีกต่อไป
นอกจากความรักความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว สุขภาพที่ดีของคนทั้งคู่ก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อร่างกายแข็งแรงไม่มีโรค ไม่มีความผิดปกติใดๆ และไม่เป็นพาหะของโรคต่างๆ ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตร่วมกัน รวมไปถึงการมีลูกซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของคู่รักหลายๆ คู่
คู่รักหลายคู่อาจยังไม่รู้ว่า ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานต้องตรวจอะไรบ้าง แตกต่างจากการตรวจก่อนมีบุตรอย่างไร และ โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานสำหรับผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกันอย่างไร
สารบัญ
ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ตรวจอะไรบ้าง
ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานมีจุดมุ่งหมายหลายอย่างได้แก่ การป้องกันการแพร่เชื้อโรคสู่คนรัก ไม่ว่าจะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี โรคซิฟิลิส โรคหนองใน ดังนั้นคู่รักทั้งชายและหญิงจึงควรเข้ารับการตรวจพร้อมกัน
รายการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานโดยทั่วไป ได้แก่
- การตรวจร่างกายทั่วไป ได้แก่ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดชีพจร วัดระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจปัสสาวะ
- การตรวจเลือด ได้แก่ ตรวจหมู่เลือด (ABO Group for Hematolgy) และชนิดของหมู่เลือด (Rh Group) ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจหาความผิดปกติของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง
- การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ได้แก่ ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีและซี ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อเอชไอวี เชื้อซิฟิลิส
หากพบว่า คนใดมีปัญหาสุขภาพที่อาจส่งผลกระทบ หรือติดต่อไปยังอีกคนได้ แพทย์จะได้แนะนำการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม การเข้าสู่กระบวนการรักษา และการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี เพื่อให้การใช้ชีวิตคู่ดำเนินต่อไปได้อย่างมีความสุข
แตกต่างจากการตรวจก่อนมีบุตรอย่างไร?
ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานแตกต่างจากการตรวจก่อนมีบุตรตรงที่ พื้นฐานทั่วไปของการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานจะมุ่งเน้นที่สุขภาพของคู่รักเป็นหลักโดยเฉพาะการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
แต่หากจุดมุ่งหมายของคุณคือ การมีลูกด้วยแล้ว อาจจำเป็นต้องเลือกโปรแกรมตรวจก่อนแต่งงานที่มีรายการตรวจความพร้อมก่อนมีบุตรด้วยซึ่งปัจจุบันหลายโรงพยาบาลก็มีให้บริการแล้ว
หรือเลือกตรวจโปรแกรมตรวจความพร้อมก่อนมีบุตรโดยเฉพาะ เพื่อมุ่งเน้นตรวจสภาพร่างกายของพ่อแม่และให้สมบูรณ์ง่ายต่อการมีบุตร การมีบุตรที่ร่างกายแข็งแรง และห่างไกลจากโรคติดต่อทางพันธุกรรม
รายการตรวจก่อนมีบุตรโดยทั่วไป ได้แก่
- การตรวจร่างกายทั่วไป ได้แก่ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดชีพจร วัดระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจปัสสาวะ เพราะหากผู้หญิงมีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับฮอร์โมนเช่น ไทรอยด์ โรคภูมิคุ้มกัน เช่น เอสแอลอี (SLE) ก็อาจเป็นอันตรายทั้งต่อแม่และทารกในระหว่างตั้งครรภ์ได้ หากควบคุมโรคได้ไม่ดี
- การตรวจภายในและอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่างสำหรับผู้หญิง เพื่อดูความปกติของมดลูกและรังไข่ และการทำงานของรังไข่ ซึ่งมีผลต่อการตั้งครรภ์โดยตรง
- การตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน (Rubella lgG) ในผู้หญิง เพราะหากมีการติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ ทารกมีโอกาสเจริญเติบโตผิดปกติจนถึงขั้นพิการได้ หรือเสียชีวิตได้
- การตรวจกรดโฟลิกในผู้หญิง เพราะหากมีระดับกรดโฟลิกไม่เพียงพอ หากมีการตั้งครรภ์ ทารกจะเสี่ยงต่อภาวะพิการแต่กำเนิดได้ ดังนั้นปัจจุบันหากต้องการมีลูก แพทย์จึงแนะนำให้รับประทานโฟลิกเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์อยางน้อย 3 เดือน
- การตรวจหาพาหะโรคโลหิตจาง หรือธาลัสซีเมีย เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาวะโรคนี้ หรือเป็นพาหะของโรค แพทย์อาจแนะนำให้ไม่มีลูกเพื่อป้องกันการส่งผ่านโรคไปยังลูกต่อไป
- การตรวจความสมบูณฺและปริมาณของน้ำเชื้อในผู้ชาย
โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานสำหรับผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกันอย่างไร?
โดยทั่วไปการตรวจสุขภาพรายการพื้นฐานในผู้หญิงและผู้ชายไม่แตกต่างกัน เช่น การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจเลือด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
จะแตกต่างกันที่ผู้หญิงบางคนอาจต้องการตรวจรายการที่เอื้อต่อการมีบุตรต่อไปในอนาคต เช่น การตรวจภายในและอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง เพื่อตรวจดูการทำงานของมดลูกและรังไข่ โรคแอบแฝงต่างๆ รวมทั้งการตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน