วัคซีนปอดอักเสบจำเป็นอย่างไร ทำไมต้องฉีด?

โรคปอดอักเสบ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ปอดบวม” เมื่อได้รับเชื้อในระยะแรกจะมีอาการไข้สูง คล้ายไข้หวัดทั่วไป กว่าจะรู้ตัวก็อาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันปอดอักเสบที่สามารถป้องกันและลดอาการแทรกซ้อนของโรคได้แล้ว

ปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม คืออะไร?

โรคปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม (Pneumonia) สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยในที่นี้จะกล่าวถึงโรคปอดอักเสบที่เป็นโรคแทรกซ้อนอย่างรุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Streptococcus Pneumoniae) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดปอดอักเสบหรือปอดบวม

เมื่อได้รับเชื้อแล้ว จะเกิดภาวะติดเชื้อที่เนื้อปอดบริเวณหลอดลมฝอยส่วนปลาย รวมถึงถุงลมและเนื้อเยื่อรอบๆ ถุงลมปอด โดยเชื้อชนิดนี้พบได้ทั่วไปในโพรงจมูกและลำคอ สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

โรคปอดอักเสบสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ง่าย ด้วยการไอหรือจาม หากร่างกายแข็งแรงอาจไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อนี้ก็อาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เพิ่มเติมได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบเฉียบพลัน เลือดเป็นพิษ เป็นต้น

โดยโรคนี้ยังพบมากที่สุดในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า โรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตมากที่สุด รวมทั้งเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จำนวนมากถึง 15% เสียชีวิตเกิดจากโรคนี้อีกด้วย

สาเหตุของโรคปอดอักเสบ

ตามที่กล่าวไปข้างต้นโรคปอดอักเสบนั้น มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ผ่านการหายใจ การไอและการจาม โดยเมื่อเยื่อบุโพรงจมูกและลำคอถูกทำลาย เชื้อแบคทีเรียจะเริ่มลุกลามเข้าสู่หูชั้นกลาง ปอด เยื่อหุ้มสมองและกระแสเลือด

โดยเชื้อแบคทีเรียนี้พบมากในทุกพื้นที่ และจะแพร่เชื้อมากยิ่งขึ้นในช่วงฝนและฤดูหนาว เพราะแบคทีเรียจะเจริญได้ดีในอากาศที่ค่อนข้างเย็น และเข้าสู่ร่างกายโดยมีละอองน้ำ ละอองฝน รวมถึงฝุ่นเป็นตัวกลาง

หากขณะที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง เชื้อที่ได้รับมาอาจไม่ส่งผลให้เกิดอาการใดๆ รวมทั้งไม่สามารถแพร่กระจายจนให้ทำเกิดอาการปอดบวมหรือภาวะแทรกซ้อมอื่นๆ ได้ ในขณะเดียวกันหากได้รับเชื้อขณะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ก็จะยิ่งส่งผลให้เชื้อแพร่กระจายได้เร็วยิ่งขึ้น จนเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา

อาการของโรคปอดอักเสบ

  • อาการของโรคปอดอักเสบจะเริ่มจากมีไข้สูงคล้ายไข้หวัดทั่วไป 2–3 วันแรก จุดสังเกต คือ โรคปอดติดเชื้อจะไม่มีอาการการเจ็บคอ ไม่มีน้ำมูกไหลแต่ไข้หวัดทั่วไปจะมี 2 อาการนี้ร่วมด้วย
  • หากปอดติดเชื้อในขั้นรุนแรงจะเริ่มมีอาการไอ มีเสมหะ อาจพบหายใจลำบาก มีอาการเหนื่อยหอบ โดยจะหายใจดัง ขณะหายใจจะเห็นชายโครงหรือหน้าอกบุ๋มได้อย่างชัดเจน รวมทั้งเจ็บหน้าอก เป็นต้น
  • ในเด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม ชัก มีอาการปวดท้อง กระสับกระส่าย หากอาการติดเชื้อรุนแรงมากๆ อาจมีริมฝีปากเขียว ลิ้นเขียว เล็บเขียว ไปจนกระทั่งตัวเขียว ส่วนในผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม ความรู้สึกสับสน อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
  • หากเกิดการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในอวัยวะส่วนอื่นๆ ด้วย อาจมีอาการอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ในผู้ที่เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส จะมีปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง เป็นต้น

ระยะฟักตัวของโรคปอดอักเสบ

  • โรคปอดอักเสบมีระยะฟักตัวของเชื้อแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยมากแล้วจะใช้เวลาค่อนข้างสั้น เพียง 1-3 วัน แต่ในบางรายก็อาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์
  • ปัจจุบันระยะเวลาการแพร่เชื้อโรคปอดอักเสบยังไม่แน่ชัดนัก แต่สันนิษฐานว่าเมื่อได้รับเชื้อแล้ว เชื้อจะแพร่ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าที่จะไม่มีเชื้อนี้ปนเปื้อนในทางเดินหายใจ

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคปอด

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคปอด ได้แก่

  • เด็กเล็ก โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
  • เด็กเล็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก
  • ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับแข็งเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease)
  • ผู้ป่วยที่ม้ามทำงานบกพร่อง หรือไม่มีม้าม
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำในช่องไขสันหลังรั่วซึม (Cerebrospinal Leakage)
  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหูชั้นใน (Cochlear Implant)
  • ผู้ป่วยที่ผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะอื่นๆ ที่มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาที่มีผลกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง

วิธีรักษาโรคปอดอักเสบ

  • วิธีรักษาโรคปอดอักเสบจะเริ่มจากการประเมินจากความรุนแรงของโรค ในระยะแรกหากยังมีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนนิซิลลินหรือเซฟาโลสปอริน
  • ในบางรายอาจให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำแทนการจ่ายยาชนิดรับประทาน ซึ่งตามอาการของผู้ป่วย จากนั้นสามารถกลับไปดูแลตัวเองต่อที่บ้านได้ เพียงต้องแยกตัวออกจากคนอื่นๆ รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ โดยแพทย์จะมีการนัดตรวจเพื่อติดตามอาการซ้ำเป็นช่วงๆ ในภายหลัง
  • ส่วนในผู้ที่มีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อยมากๆ มีอาการปากเขียวหรือมีออกซิเจนในเลือดต่ำ แพทย์จะทำการให้ออกซิเจนเพื่อช่วยทดแทนจำนวนออกซิเจนที่ขาดไป เป็นต้น
  • ในปัจจุบันพบว่าเชื้อนิวโมคอคคัสบางสายพันธุ์มีอาการดื้อต่อยาปฏิชีวนะมากขึ้น ทำให้รักษาได้ช้า เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากขึ้นซึ่งร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อ จึงนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด

วิธีป้องกันโรคปอดอักเสบ

  • หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์
  • ควรหลีกเลี่ยงให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ
  • ควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ อากาศที่หนาวเย็นเกินไป เพราะอาจเป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เนื่องจากร่างกายจะรับเชื้อนิวโมคอคคัสได้ง่ายเมื่อภูมิคุ้มกัน ร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งหมั่นดูแลความสะอาด ล้างมือด้วยสบู่ หรือการใช้สเปรย์แอลกอฮอล์อยู่เสมอ
  • ฉีดวัคซีนปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccines) หรือหลายคนอาจคุ้นกับคำเรียกย่อว่า วัคซีน IPD (Invasive Pneumococcal Disease) ช่วยลดการเกิดโรคปอดอักเสบ ลดการแพร่กระจายเชื้อนิวโมคอคคัสไปยังผู้อื่น อีกทั้งสามารถลดโอกาสในการดื้อยาปฏิชีวนะต่อเชื้อนิวโมคอคคัสได้อีกด้วย

วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ นิวโมคอคคัสที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมี 2 ชนิด ได้แก่

  1. วัคซีนชนิด PCV (Pneumococcal Conjugate Vaccine) แยกออกเป็นวัคซีนชนิด 10 สายพันธุ์ (PCV10) ใช้ในเด็กเล็ก และ 13 สายพันธุ์ (PCV13) ที่ใช้ได้ทั้งในเด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ โดยวัคซีนชนิดนี้จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิต และยังป้องกันการเกิดโรคนิวโมคอคคัสชนิดไม่รุนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปได้ถึง 75% รวมทั้งลดความรุนแรงของปอดอักเสบนิวโมคอคคัสได้กว่า 70%
  2. วัคซีนชนิด PPSV (Pneumococcal Polysaccharide Vaccine) หรือ วัคซีนชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV23) เป็นวัคซีนป้องกันการเกิดโรคปอดอักเสบที่ใช้ในเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง แต่วัคซีนชนิดนี้จะไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิต การสร้างภูมิคุ้มกันทำได้ไม่ดีในเด็กอายุน้อย และไม่สามารถป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดไม่รุกรานในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบได้

หากเริ่มฉีดตอนอายุน้อยกว่า 2 ปี ควรฉีดทั้งหมด 4 เข็ม เข็มแรกตอนอายุ 2 เดือน เข็มที่สองตอนอายุ 4 เดือน เข็มที่สามตอนอายุ 6 เดือน หลังจากจากนั้นแพทย์อาจให้ฉีดระหว่างอายุ 12-15 เดือน หากเริ่มฉีดระหว่างอายุ 2-64 ปี ควรฉีด 1-3 เข็ม ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันและพฤติกรรมการสูบบุหรี่ และหากเริ่มฉีดตอนอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรฉีด 2 เข็ม และจะสามารถป้องกันได้ไปตลอดชีวิต

การฉีดวัคซีนปอดอักเสบ มีความปลอดภัยสูง มีประสิทธิภาพ และสามารถทำได้ง่ายๆ เมื่อฉีดแล้วสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต รวมทั้งลดความรุงแรงจากโรคอีกด้วย

Scroll to Top