nutrition kidney disease definition scaled

โรคไต ห้ามกินอะไร? กินอะไรได้บ้าง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ที่ควรเลี่ยง

สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง นอกจากการรับประทานยาตามแพทย์สั่งแล้ว การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ควบคุมและจำกัดอาหารบางอย่าง คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยประคับประคองอาการ ชะลอความเสื่อมของไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างนั้นแล้ว ผู้ป่วยโรคไต ห้ามกินอะไร หรือควรหลีกเลี่ยง หรือจำกัดอาหารประเภทไหน บทความนี้มีคำตอบ

โรคไตวายเรื้อรัง คืออะไร ทำไมผู้ป่วยโรคไต ต้องคุมอาหาร?

โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) เป็นภาวะที่ไตค่อยๆ เสื่อมการทำงานลงอย่างช้าๆ มักใช้เวลานานเป็นปีๆ หากไม่ได้รับการรักษา หรือการดูแลอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังตามมา 

ทั้งนี้ตามปกติไตของเราจะเสื่อมลงเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่จะเป็นการเสื่อมอย่างค่อยเป็นค่อยไป และถ้าบางคนที่ดูแลร่างกายดี ไตก็อาจจะทำงานได้ดีไปตลอดชีวิต

แต่หากมีปัจจัยบางประการมากระตุ้น ก็จะทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ปัจจัยที่ว่านั้น เช่น โรคประจำตัวที่ส่งผลต่อไต ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ 

และอีกสิ่งสำคัญคือ พฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการรับประทานอาหารบางชนิด ที่กระตุ้นให้ไตทำงานหนัก ก็จะทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น และส่งผลให้อาการของโรคเข้าสู่ระยะรุนแรงเร็วขึ้นด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ป่วยโรคไตต้องควบคุมและจำกัดอาหาร เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด

ผู้ป่วยโรคไต ห้ามกินอะไร?

การควบคุมและจำกัดอาหารของผู้ป่วยโรคไตนั้น จะขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยผู้ป่วยโรคไตระยะเริ่มแรก อาจมีข้อจำกัดน้อยกว่าผู้ป่วยในระยะท้ายๆ เพราะบางส่วนของไตยังสามารถทำงานขับของเสียต่างๆ ได้อยู่ 

ขณะที่ผู้ป่วยโรคไตระยะท้ายๆ ที่ต้องฟอกเลือด เพราะไตเสื่อมถอยไปมาก จนอาจไม่สามารถทำงานได้แล้ว ต้องมีการจำกัดอาหารที่เข้มงวดกว่า ไม่อย่างนั้นจะมีของเสียคั่งค้างในร่างกายเป็นจำนวนมาก จนระบบต่างๆ ในร่างกายเสียสมดุล เกิดภาวะช็อก และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โรคไต ไตวาย ไตวายเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลัน คืออะไร มีกี่ระยะ รู้ได้ยังไงว่าป่วยระยะไหน? คลิกอ่านต่อ

แต่การวางแผนด้านโภชนาการของผู้ป่วยโรคไตในแต่ละระยะนั้น จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัว และนักโภชนาการร่วมด้วย เพราะผู้ป่วยบางคนอาจมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ต้องระมัดระวัง หรือควบคุมอาหารเพิ่มเติมด้วย

ในบทความนี้จะกล่าวถึงประเภทอาหารโดยทั่วไป ที่ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณ เพราะส่งผลต่อการทำงานของไตโดยตรง

ทั้งนี้ประเภทสารอาหารที่ผู้ป่วยโรคไต ต้องควบคุมเป็นพิเศษ คือ อาหารประเภทโปรตีน และแร่ธาตุต่างๆ เช่น โพแทสเซียม โซเดียม ฟอสฟอรัส เพื่อป้องกันไม่ให้ไตทำงานหนักเกินไป โดยกลุ่มอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณ มีดังนี้

1. อาหารที่มีโปรตีนสูง

โปรตีนแม้จะเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง จำเป็นต้องมีการควบคุมและจำกัดปริมาณโปรตีนต่อวันให้เหมาะสม เพราะการรับประทานโปรตีนที่มากเกินไป ไตจะทำงานหนักและทำให้มีของเสียสะสมในร่างกายมากขึ้น 

โดยควรเน้นรับประทานโปรตีนคุณภาพสูง และไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา ไข่ขาว เนื้อไก่ (ไม่ติดหนัง) 

ผู้ป่วยบางรายที่โรคอยู่ในระยะที่ต้องเฝ้าระวัง มีแนวโน้มที่ไตจะเสื่อมถอยลงมาก หรือค่าเลือดบางตัวมีผลไม่ดีนัก แพทย์อาจแนะนำให้หลีกเลี่ยง หรือจำกัดการรับประทานโปรตีนจากเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ เพิ่มเติมด้วย เพราะโปรตีนกลุ่มนี้มีผลให้ไตทำงานหนักขึ้น

ส่วนปริมาณที่ควรรับประทานต่อวันนั้น ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ค่าเลือด และอาการแทรกซ้อนของผู้ป่วย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวและนักโภชนาการร่วมด้วย

2. อาหารที่มีไขมัน และคอลเลสเตอรอลสูง

ไขมันเป็นสารอาหารอีกหนึ่งชนิดที่ต้องควบคุมและจำกัดปริมาณ โดยผู้ป่วยโรคไตควรเลือกรับประทานเฉพาะไขมันชนิดดี หรือไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว ปลาทะเล เป็นหลัก

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันเลว หรือไขมันไม่อิ่มตัว เช่น มันหมู น้ำมันปาล์ม หมูสามชั้น กะทิ เนย ชีส มาการีน ของมัน ของทอด ฯลฯ

นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอลเลสเตอรอลสูงด้วย เช่น ไข่แดง ไข่ปลา มันกุ้ง ปลาหมึก เครื่องในสัตว์ ขนมอบต่างๆ จำพวก พาย ครัวซองต์ เค้ก อาหารฟาสฟู้ด จำพวก แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า ฯลฯ

เพราะหากรับประทานไขมัน และคอลเลสเตอรอลมากเกินไป จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา ยิ่งในกรณีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือด มักมีระดับไตรกลีเซอไรด์และคอลเลสเตอรอลสูงกว่าปกติอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติ หรืออาการแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นอีก 

3. คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล

โรคเบาหวาน เป็นหนึ่งในโรคที่ส่งผลกระทบต่อไตโดยตรง ซึ่งผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่ มักเป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย โดยจากสถิติพบว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักมีภาวะ ‘เบาหวานลงไต’ ตามมา

สาเหตุที่โรคเบาหวานส่งผลต่อไตนั้น เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจะมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งส่งผลต่อหลอดเลือดฝอยที่ไตด้วย โดยน้ำตาลที่สะสมตามผนังหลอดเลือดนั้น อาจทำให้หลอดเลือดฝอยที่ไตตีบตัน ทำให้ประสิทธิภาพในการกรองของเสียที่ไตลดลง

นอกจากนี้น้ำตาลในเลือดที่สูง ยังไปทำลายเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่สั่งการอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะ กระเพาะปัสสาวะ เมื่อน้ำปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะ จะไม่รู้สึกปวด ทำให้น้ำปัสสาวะคั่งค้างในทางเดินปัสสาวะ และหากคั่งเป็นเวลานาน อาจเกิดการติดเชื้อ จนทำลายเนื้อไตในที่สุด

ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่ จึงต้องมีการควบคุมการรับประทานคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลร่วมด้วย เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เบเกอรี่ต่างๆ รวมทั้งผลไม้ที่มีรสหวานจัด เป็นต้น

4. ผัก ผลไม้ ที่มีโพแทสเซียมสูง

ผัก ผลไม้ แม้จะเป็นกลุ่มอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ขณะเดียวกัน ผัก และผลไม้บางชนิดก็มีปริมาณโพแทสเซียมสูง ซึ่งโพแทสเซียมนี้เองเป็นแร่ธาตุที่ส่งผลต่อการทำงานของไต ทำให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง (โดยเฉพาะในระยะท้ายที่ต้องฟอกเลือด) ต้องระมัดระวังและจำกัดปริมาณการรับประทานเป็นพิเศษ 

ผัก ที่ผู้ป่วยโรคไตควรจำกัดปริมาณ​ จะอยู่ในกลุ่มผักใบเขียว และพืชหัวบางชนิด เช่น คะน้า กวางตุ้ง ดอกกะหล่ำ บล็อกโคลี่ ผักโขม ฟักทอง แครอท มันเทศ มันฝรั่ง เผือก 

ส่วนผลไม้ เช่น มะม่วง กล้วย ขนุน ทุเรียน มะขามหวาน ลำไย แคนตาลูป น้ำมะพร้าว มะเฟือง เป็นต้น

5. อาหารแปรรูปทุกรูปแบบ เครื่องปรุง ซอสปรุงรส

องค์ประกอบสำคัญของอาหารแปรรูป รวมไปถึงซอสปรุงรสต่างๆ คือ เกลือหรือโซเดียม ซึ่งผู้ป่วยโรคไตจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการรับประทาน 

เพราะการรับประทานโซเดียมที่มากเกินไป ไตก็ต้องทำงานหนักขึ้นในการเร่งขับโซเดียมออก เพื่อรักษาสมดุลร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยโรคไต ที่ไตทำงานได้ไม่ดี ขับโซเดียมออกได้น้อย ก็จะทำให้เกิดอาการบวมน้ำ น้ำท่วมปอด ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ทั้งปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคไตคือ ไม่เกิน 1-2 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับเกลือแกง ไม่เกิน 1-2 ช้อนชา หรือน้ำปลา 2.5-5 ช้อนชา

ในขณะที่อาหารแปรรูป รวมทั้งเครื่องปรุง หรือซอสปรุงรสส่วนใหญ่ มักมีการใช้เกลือปริมาณมาก เพื่อเพิ่มรสชาติ รวมทั้งยืดอายุผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไต ไ้ด้รับโซเดียมในปริมาณที่มากเกินกำหนด ซึ่งกระทบต่อไตโดยตรง

อาหารแปรรูปที่ควรงด เช่น ไส้กรอก แฮม หมูยอ กุนเชียง ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมซองขบเคี้ยวทุกชนิด รวมไปถึงของหมักดองทุกชนิด เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ผักกาดดอง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม

นอกจากนี้ควรงดเติมเครื่องปรุงเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น ซีอิ๊ว น้ำปลา ซอสมะเขือเทศ ซอสพริกต่างๆ เพราะมีโซเดียมสูงเช่นกัน

6. ถั่ว ธัญพืช หรือเมล็ดพืช 

ถั่ว และเมล็ดพืช เป็นแหล่งไขมันดี อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามินและมีคุณค่าทางอาหารสูง ถือเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตแล้ว จำเป็นต้องมีการจำกัดปริมาณเช่นกัน

เนื่องจากถั่ว โดยเฉพาะถั่วเปลือกแข็ง และธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอลด์ งาขาว งาดำ เมล็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ มีปริมาณแร่ธาตุฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อไตเช่นกัน 

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ระดับฟอสฟอรัสจะสูงกว่าปกติอยู่แล้ว หากได้รับฟอสฟอรัสเพิ่มอีก ไตจะขับออกไม่ทัน จนส่งผลกระทบต่อระบบร่างกายเสียสมดุล

นอกจากนี้ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนมทุกรูปแบบ อาหารที่ใช้ยีสต์และผงฟูเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปัง ซาลาเปา เค้ก คุกกี้ ก็เป็นกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะมีปริมาณฟอสฟอรัสสูงเช่นกัน

7. สมุนไพร หรืออาหารเสริมต่างๆ 

สำหรับผู้ป่วยโรคไต หลายคนอาจเคยได้ยินว่ามีสมุนไพรบางชนิด เช่น ถั่งเช่า เห็ดหลินจือ โสม แปะก๊วย หญ้าหวาน มะระขี้นก ฯลฯ มีสรรพคุณบำรุงไต ช่วยให้ไตฟื้นฟู กลับมาทำงานดีขึ้นได้

แต่จริงๆ แล้วยังไม่มีงานวิจัยที่แน่ชัดว่าสามารถชะลอการเสื่อม หรือฟื้นบำรุงไตได้จริง ยิ่งไปกว่านั้นสมุนไพรบางชนิด ยังอาจเป็นพิษต่อไต หรือทำให้ไตทำงานหนักขึ้นด้วย 

นอกจากนี้อาหารเสริม หรือยาลูกกลอน ที่มีการโฆษณาว่ามีฤทธิ์ช่วยชะลอความเสื่อมของไต หรือบำรุงไตนั้น ก็เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างมาก เพราะเราไม่ทราบว่า สารสกัดที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์มีอะไรบ้าง หรือมีสารปนเปื้อนใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตหรือไม่ 

หากรับประทานไปแล้ว อาจยิ่งทำให้ไตทำงานหนัก และเสื่อมลงเร็วกว่าปกติ ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตจึงควรหลีกเลี่ยง หรือควรปรึกษาคุณหมอประจำตัวก่อนทุกครั้ง

จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง จำเป็นต้องดูแลและควบคุมเรื่องภาวะโภชนาการมากกว่าปกติ และยิ่งระดับอาการรุนแรงขึ้น ก็ยิ่งต้องเข้มงวดขึ้นตามไปด้วย และบางรายที่ต้องรักษาด้วยการฟอกไต การดำเนินชีวิตประจำวันก็จะยิ่งยากลำบากขึ้น ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ห่างไกลจากโรคไตได้

ค่าไตไม่ดี ปรับพฤติกรรมยังไงดี หรือต้องดูแลคนป่วยเป็นโรคไตทำยังไงได้บ้าง? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top