bupropion scaled

Bupropion (บูโพรพิออน)

ยา บูโพรพิออน (bupropion) ใช้สำหรับรักษาโรคซึมเศร้าและช่วยเลิกบุหรี่ โดยยาจะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น และช่วยให้คุณรู้สึกดี ยาอาจออกฤทธิ์โดยไปช่วยปรับสมดุลของสารเคมีตามธรรมชาติในสมอง (สารสื่อประสาท)

สรรพคุณของยา Bupropion

  • รักษาโรคซึมเศร้า: ใช้เป็นยาต้านซึมเศร้าในการรักษาโรคซึมเศร้า
  • ช่วยเลิกบุหรี่: ช่วยลดความอยากบุหรี่และอาการถอนบุหรี่
  • รักษาโรคความวิตกกังวล: อาจถูกใช้ในการรักษาโรคความวิตกกังวล

กลไกการทำงานของ Bupropion

  • กระตุ้นระบบประสาทกลาง: อาจมีผลในการกระตุ้นระบบประสาทกลาง ซึ่งช่วยลดอาการซึมเศร้าและช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกกระปรี้กระเปร่า
  • ยับยั้งการดูดกลับของโนเรพินเฟรนและโดพามีน (NDRI): ยับยั้งการดูดกลับของโนเรพินเฟรน (norepinephrine) และโดพามีน (dopamine) ทำให้มีปริมาณสารเคมีเหล่านี้เพิ่มขึ้นในสมอง ซึ่งช่วยปรับปรุงอารมณ์และลดความอยากบุหรี่

วิธีใช้ยา bupropion

  • อ่านคำแนะนำในการใช้ยาที่ได้รับจากเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ และในทุกครั้งที่มารับยาซ้ำ หากมีคำถามใดๆ ให้สอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกร
  • รับประทานยานี้ตามแพทย์สั่ง โดยสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ โดยทั่วไปจะรับประทานวันละ 3 ครั้ง ถ้ามีอาการข้างเคียงทางกระเพาะอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง คุณอาจรับประทานยานี้พร้อมอาหารเพื่อลดผลข้างเคียง สิ่งสำคัญคือในการรับประทานยาแต่ละครั้งจะต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 6 ชั่วโมง หรือรับประทานตามแพทย์สั่งเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชัก
  • อย่ารับประทานยามากกว่า หรือน้อยกว่า หรือบ่อยครั้งกว่าที่แพทย์สั่ง การรับประทานยา bupropion มากกว่าขนาดยาที่แนะนำอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักได้ และห้ามรับประทานยามากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อครั้ง และห้ามมากกว่า 450 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ขนาดยาที่คุณได้รับจะขึ้นกับสภาวะโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของคุณ แพทย์จะค่อยๆ ปรับเพิ่มขนาดยาขึ้นเพื่อลดการเกิดผลข้างเคียง เช่น อาการนอนไม่หลับ และเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชัก เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการนอนหลับไม่หลับ อย่ารับประทานยานี้ใกล้กับเวลานอนมากเกินไป แจ้งแพทย์ทราบถ้าอาการนอนไม่หลับเป็นปัญหากับคุณ
  • คุณต้องใช้ยานี้เป็นประจำทุกวันตามที่แพทย์สั่งเพื่อให้ได้ผลจากการรักษาเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ลืมรับประทานยา แนะนำให้รับประทานยานี้ในเวลาเดียวกันของทุกวัน
  • ห้ามหยุดยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาการบางอย่างอาจแย่ลงได้ถ้าหยุดยาอย่างกะทันหัน ซึ่งแพทย์อาจจำเป็นต้องปรับขนาดยาลงช้าๆ ก่อนหยุดยา
  • อาจต้องใช้เวลา 4 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นก่อนที่จะได้ผลจากการรักษาเต็มที่ โดยจะต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่งแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลงให้ปรึกษาแพทย์

ผลข้างเคียงของยา bupropion

  • อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา bupropion: คลื่นไส้, อาเจียน, ปากแห้ง, ปวดศีรษะ, ท้องผูก, เหงื่อออกมาก, ปวดข้อ, เจ็บคอ, ตาพร่ามัว, รู้สึกถึงรสชาติแปลกๆ ในปาก, ท้องเสีย หรือเวียนศีรษะ ถ้าอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที
  • โปรดจำไว้ว่า การที่แพทย์สั่งยานี้ให้กับคุณ เพราะว่าแพทย์ได้ประเมินแล้วว่าคุณจะได้รับประโยชน์จากยานี้มากกว่าความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง ผู้ป่วยหลายรายที่ใช้ยานี้ไม่เกิดอาการข้างเคียงร้ายแรงจากยา
  • ยานี้อาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น จึงแนะนำให้ตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ และแจ้งแพทย์ทราบหากพบว่าความดันโลหิตสูง
  • แจ้งแพทย์ทันทีหากคุณมีอาการข้างเคียงที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรง ได้แก่ เจ็บหน้าอก, เป็นลม, หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ, การได้ยินผิดปกติ, ได้ยินเสียงผิดปกติในหู, ปวดศีรษะรุนแรง, อารมณ์ สภาพจิตใจเปลี่ยนแปลง (เช่น กระวนกระวาย, วิตกกังวล, สับสน, ประสาทหลอน, สูญเสียความทรงจำ), ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ (สั่น), น้ำหนักลดหรือน้ำหนักเพิ่มอย่างผิดปกติ
  • แจ้งแพทย์ทันทีหากคุณมีอาการข้างเคียงที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรงมาก ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ กดเจ็บที่กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ไปพบแพทย์ทันที หากคุณมีอาการข้างเคียงที่ร้ายแรงมาก ได้แก่ ปวดตา ตาบวม ตาแดง, รูม่านตาขยาย, การมองเห็นผิดปกติ (เช่น มองเห็นรุ้งรอบแสงไฟตอนกลางคืน)
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการชักได้ (พบได้น้อย) หากคุณมีอาการชักเกิดขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที ถ้าคุณมีอาการชักเกิดขึ้นขณะใช้ยา bupropion คุณไม่ควรใช้ยานี้ต่อ
  • ปฏิกิริยาการแพ้ยานี้ เป็นเรื่องที่พบได้น้อย อย่างไรก็ตามถ้าเกิดอาการใดๆ ของการแพ้ยาให้รีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ ผื่น, คัน บวม (โดยเฉพาะที่หน้า ลิ้น คอ), เวียนศีรษะรุนแรง, หายใจลำบาก
  • อาการข้างเคียงที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่ใช่อาการข้างเคียงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นถ้าคุณมีอาการผิดปกติใดๆ ที่ไม่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อควรระวังในการใช้ยา bupropion

  • ถ้าคุณแพ้ยา bupropion หรือแพ้สิ่งอื่นๆ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนได้รับยานี้ ผลิตภัณฑ์ยานี้อาจประกอบด้วยสารไม่ออกฤทธิ์อื่นซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการแพ้หรือปัญหาอื่นได้ ให้ปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
  • ไม่ควรใช้ยา bupropion ถ้าคุณหยุดการใช้ยาระงับประสาทที่ใช้เป็นประจำอย่างกะทันหัน (ยาในกลุ่ม benzodiazepines เช่น lorazepam), ถ้าคุณหยุดยารักษาอาการชักกะทันหัน หรือหยุดดื่มแอลกอฮอล์กะทันหัน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักได้
  • แม้ว่าจะพบได้น้อย อาการซึมเศร้าเป็นสาเหตุของการคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นต้องแจ้งแพทย์ทันทีถ้าคุณมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย, อาการซึมเศร้าแย่ลง, หรือมีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ สภาพจิตใจ (มีอาการวิตกกังวล หรืออาการวิตกกังวลแย่ลง, กระวนกระวายใจ, ตื่นตระหนก, มีปัญหาในการนอนหลับ, หงุดหงิด, รู้สึกโกรธเกลียด, มีการกระทำที่วู่วาม, กระสับกระส่ายรุนแรง, พูดเร็ว, มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ) โดยคุณต้องไปพบแพทย์ตามนัด ซึ่งแพทย์จะได้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและปรับเปลี่ยนยาได้ถ้าจำเป็น
  • ยา bupropion อาจทำให้มีอาการวิงเวียน หรือทำให้การประสานงานกันของร่างกายผิดปกติไป โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งทำให้วิงเวียนมากขึ้น หรือส่งผลต่อการทำงานประสานกันผิดปกติมากขึ้น ห้ามขับรถ, ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องอาศัยการตื่นตัว จนกว่าคุณจะทำกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักได้
  • ผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอาการวิงเวียนศีรษะ และการสูญเสียความทรงจำ โดยอาการวิงเวียนศีรษะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม
  • ระหว่างการตั้งครรภ์ ยานี้ควรใช้เฉพาะในกรณีที่ประเมินแล้วว่ามีความจำเป็นจริงๆ เนื่องจากโรคความผิดปกติทางอารมณ์ สภาพจิตใจที่ไม่ได้รับการรักษา (เช่น ภาวะซึมเศร้า, ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (seasonal affective disorder), โรคไบโพล่าร์ (bipolar disorder) ถือเป็นสภาวะที่ร้ายแรงได้ ดังนั้นห้ามหยุดยานี้เองโดยแพทย์ไม่ได้สั่ง
  • ถ้าคุณวางแผนจะตั้งครรภ์, กำลังตั้งครรภ์ หรือคิดว่าตนเองอาจจะตั้งครรภ์ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้ยานี้ขณะตั้งครรภ์
  • ยา bupropion ผ่านไปยังน้ำนมได้ และอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อทารกที่ดูดนม โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนการให้นมบุตร

ก่อนการใช้ยา bupropion ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะถ้าคุณ

  • มีอาการชัก หรือเป็นโรคที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชัก ได้แก่ การบาดเจ็บที่สมอง การบาดเจ็บที่ศีรษะ เนื้องอกในสมอง  โรคเส้นเลือดขอดในสมอง (arteriovenous malformation) เป็นโรคอยากผอม (bulimia/anorexia nervosa)
  • ติดสุรา หรือติดยาบางชนิด (ยาในกลุ่ม benzodiazepines, ยาแก้ปวดที่ทำให้เสพติดได้, cocaine และยากระตุ้นประสาทบางชนิด)
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นโรคหัวใจ เช่น หัวใจล้มเหลว, ความดันโลหิตสูง, เพิ่งมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด
  • เป็นโรคไต
  • เป็นโรคตับ เช่น ตับแข็ง
  • มีประวัติตนเองหรือคนในครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคไบโพล่าร์
  • มีประวัติตนเองหรือคนในครอบครัวมีความคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย
  • มีประวัติตนเองหรือคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหินชนิดมุมปิด

คำเตือนในการใช้ยา bupropion

  • ยา bupropion เป็นยาต้านเศร้าชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวชได้หลายโรค ได้แก่ โรคซึมเศร้า, โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์ สภาพจิตใจ และใช้ในการเลิกบุหรี่ด้วย
  • ยาต้านเศร้าเป็นยาที่จะช่วยป้องกันการคิดฆ่าตัวตาย/ป้องกันไม่ให้ฆ่าตัวตาย และยังมีประโยชน์สำคัญอื่นๆ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลจากการศึกษาพบว่า มีผู้ป่วยจำนวนน้อย (โดยเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 25 ปี) ที่ใช้ยาต้านเศร้าสำหรับรักษาโรคใดๆ ก็ตาม จะมีอาการซึมเศร้าเกิดขึ้นใหม่ หรืออาการซึมเศร้าแย่ลง รวมถึงมีความผิดปกติทางอารมณ์ สภาพจิตใจ หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่คุณจะต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับจากยาต้านเศร้า แม้ว่าคุณจะไม่ได้ใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคทางอารมณ์หรือสภาพจิตใจก็ตาม
  • ให้แจ้งแพทย์ทันที ถ้าคุณมีอาการของภาวะซึมเศร้า อาการของภาวะซึมเศร้าแย่ลง หรือมีอาการทางจิตเวชอื่นๆ มีความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมอย่างผิดปกติ เช่น มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย หรือมีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์/สภาพจิตใจ เช่น มีอาการวิตกกังวล หรืออาการวิตกกังวลแย่ลง, ตื่นตระหนก, มีปัญหาในการนอนหลับ, หงุดหงิด, รู้สึกโกรธเกลียด, มีการกระทำที่วู่วาม, กระสับกระส่ายรุนแรง, พูดเร็ว โดยจะต้องสังเกตอาการเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเมื่อเริ่มใช้ยาต้านเศร้าหรือเมื่อมีการปรับขนาดยา
  • หากคุณใช้ยา bupropion เพื่อเลิกบุหรี่ และระหว่างใช้ยามีอาการดังกล่าวข้างต้น คุณจะต้องหยุดยา bupropion และปรึกษาแพทย์ทันที และแจ้งแพทย์ทันทีหากมีอาการดังกล่าวภายหลังจากที่หยุดยาไปแล้ว

ใครบ้างที่ไม่ควรใช้ยา bupropion

สภาวะต่อไปนี้ถือเป็นข้อห้ามในการใช้ยา bupropion ดังนั้นต้องแจ้งแพทย์ทราบหากคุณมีสภาวะดังต่อไปนี้

  • มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่สมอง
  • มีก้อนเนื้องอกที่สมองหรือไขสันหลัง
  • มีอาการของการถอนแอลกอฮอล์
  • มีอาการฟุ้งพล่านระดับอ่อน
  • มีอาการฟุ้งพล่าน-ซึมเศร้า
  • เป็นโรคทางจิตเวช
  • มีความคิดฆ่าตัวตาย
  • เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
  • ติดยาเสพติด
  • เป็นโรคอยากผอม
  • มีความรู้สึกโกรธต่อบางสิ่งเป็นพิเศษ
  • เป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการชักได้ง่าย (lower seizure threshold)
  • เป็นต้อหินชนิดมุมปิด
  • มีความดันโลหิตสูง
  • เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด
  • เป็นโรคตับอย่างรุนแรง
  • มีอาการชัก
  • น้ำหนักลด
  • มีอาการชักจากการหยุดยา benzodiazepine กะทันหัน
  • ติดยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท หรือติดยาระงับประสาท
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมุมปิด
  • แพ้ยา bupropion
  • แพ้ยา Bupropion/Diethylpropion

การใช้ยา bupropion ร่วมกับยาอื่น

  • การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (drug interactions) อาจเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยาหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงร้ายแรง ข้อมูลที่ระบุนี้ไม่ได้ครอบคลุมการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ดังนั้นคุณต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้งว่าคุณกำลังรับประทานยา อาหารเสริม สมุนไพร ใดอยู่ในขณะนี้ อย่าเริ่มยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงขนาดยาต่างๆ เอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • การใช้ยาในกลุ่ม MAO inhibitors ร่วมกับยา bupropion อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่ร้ายแรง (อาจถึงแก่ชีวิต) ดังนั้นให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่ม MAO inhibitors (isocarboxazid, linezolid, methylene blue, moclobemide, phenelzine, procarbazine, rasagiline, safinamide, selegiline, tranylcypromine) ระหว่างใช้ยานี้ และไม่ควรใช้ยาในกลุ่ม MAO inhibitors ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนและหลังใช้ยา bupropion โดยให้สอบถามจากแพทย์ว่าจะต้องเริ่มยาและหยุดยานี้อย่างไร
  • ยา bupropion อาจรบกวนผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ/ผลการตรวจทางการแพทย์บางชนิด ได้แก่ การตรวจสแกนสมองสำหรับโรคพาร์กินสัน, การตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด amphetamines (ยาบ้า) ซึ่งอาจทำให้ผลออกมาไม่ถูกต้องได้ ดังนั้นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการและแพทย์ทราบว่าคุณกำลังใช้ยานี้อยู่

ยาบางชนิดที่อาจเกิดปฏิกิริยากับยา bupropion หากคุณกำลังใช้ยาเหล่านี้ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ

การได้รับยา bupropion เกินขนาด

  • หากมีใครก็ตามที่ได้รับยา bupropion เกินขนาด จนทำให้เกิดอาการที่ร้ายแรง เช่น หมดสติ หรือหายใจลำบาก ให้รีบเรียกรถพยาบาลทันที โทร 1669
  • อาการของการได้รับยาเกินขนาดอาจได้แก่ อาการชัก, ประสาทหลอน, หัวใจเต้นเร็ว, หัวใจเต้นช้า, หมดสติ

หากลืมรับประทานยา bupropion

  • ถ้าคุณลืมรับประทานยานี้ ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรับประทานมื้อถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

Scroll to Top