การพูดกับคนเป็นซึมเศร้าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะคำพูดนั้นตีความได้หลายมุมมอง และอาจกระทบต่อความรู้สึกของผู้ป่วยได้อย่างที่เราคาดไม่ถึง
คนรอบข้างจึงต้องเรียนรู้ว่าประโยคไหนควรพูดและไม่ควรพูด เพื่อไม่ให้คำพูดเจตนาดีสร้างความกดดัน และกัดกินจิตใจจนผู้ป่วยไม่สามารถหนีจากความเศร้าได้
สารบัญ
โรคซึมเศร้าคืออะไร
โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นหนึ่งในโรคจิตเวชที่พบบ่อยทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
โดยคาดว่าเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง อย่างเซโรโทนิน (Serotonin) และโดปามีน (Dopamine) หรือปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น พันธุกรรม บาดแผลทางจิตใจ โรคประจำตัว หรือการใช้ยาบางชนิด
ทำให้ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง โดยอาการมักเป็นนานเกิน 2 สัปดาห์ ที่เห็นได้ชัดตามชื่อโรคก็คือ อาการซึมเศร้า
รวมถึงขี้โมโห หงุดหงิดง่าย กระวนกระวาย ไม่สนใจสิ่งที่ชอบ หลีกหนีสังคม พฤติกรรมการกินและการนอนผิดปกติ อาจมีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย
ทำไมต้องระวังการพูดกับคนเป็นซึมเศร้า
คนรอบข้างคนเป็นซึมเศร้ามักให้คำแนะนำหรือพูดคุยกับผู้ป่วยด้วยเจตนาที่ดี แต่ถ้าเราไม่เข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างแท้จริง ก็อาจสื่อสารความในใจออกไปได้ไม่ดี
ผู้ป่วยอาจมองว่าไม่มีใครเข้าใจหรือเห็นใจความยากลำบากที่ตัวเองเผชิญอยู่ และคำพูดจะกลายเป็นดาบที่ทิ่มแทงจิตใจของผู้ป่วย ทำให้ยิ่งรู้สึกแย่ ซึมเศร้า โดดเดี่ยว หงุดหงิด ฉุนเฉียวมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายตามมาได้
การเรียนรู้ว่าประโยคใดควรพูด ประโยคใดไม่ควรพูด กับคนเป็นซึมเศร้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนรอบข้างผู้ป่วยควรทำความเข้าใจ เพื่อให้คำพูดเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยใจชื้น มีแรงลุกขึ้นสู้ระหว่างการรักษาตัว และกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ
ประโยคที่ควรพูดกับคนเป็นซึมเศร้า มีอะไรบ้าง
คำพูดที่ควรพูดกับคนเป็นซึมเศร้าจะต้องช่วยเสริมกำลังใจ โดยไม่สร้างความกดดันให้กับผู้ป่วย ต้องทำให้มั่นใจว่าคนพูดพร้อมจะช่วยเหลือ ไม่ได้มองว่าคนป่วยเป็นภาระ ย้ำให้ผู้ป่วยรู้ว่าตัวเองมีคุณค่าแค่ไหน เช่น
- รักนะ เธอสำคัญสำหรับฉันมาก เธอจะเป็นอย่างไรฉันก็รักเธอ
- อยากกอดกันไหม
- สนใจออกไปเดินเล่นกันสองคนไหม
- มีอะไรให้ฉันช่วยไหม ฉันมีเวลาให้เธอทั้งวันเลย
- เธอไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เธอยังมีฉันอยู่ข้าง ๆ เสมอ
- ฉันพูดทำร้ายจิตใจเธอหรือเปล่า ขอโทษจริง ๆ ไม่โอเคพูดได้เลยนะ
- พยายามได้ดีมากเลย เก่งมาก ฉันเห็นว่าเธอกำลังต่อสู้และพยายามมาตลอด
- อย่าพูดว่าตัวเองบ้าเลย เธอแค่เศร้า และเราทุกคนก็เคยเศร้า
- วันนี้หน้าตาแจ่มใส ยิ้มแย้มมากเลย มีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นใช่ไหม เล่าให้ฟังหน่อยสิ
- ตอนนี้ฉันอาจจะยังไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าเธอเจ็บปวดแค่ไหน แต่ฉันจะอยู่ข้าง ๆ และยินดีทำความเข้าใจนะ
ประโยคที่ไม่ควรพูดกับคนเป็นซึมเศร้า มีอะไรบ้าง
คำพูดบางคำแม้จะเต็มไปด้วยเจตนาดี ชวนให้ฮึดสู้ แต่กลับแฝงไปด้วยความดูแคลน สั่งสอน กดดัน เปรียบเทียบ ตั้งคำถาม ปฏิเสธสิ่งที่ผู้ป่วยเป็น หรือสื่อว่าผู้ป่วยเป็นตัวภาระ จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ เครียด และสงสัยในตัวเองมากขึ้น
คนรอบข้างจึงไม่ควรคำพูดเหล่านี้เด็ดขาด เช่น
- อย่าคิดแบบนั้นสิ ทำไมไม่หัดมองโลกในแง่ดี
- เธอดูไม่เหมือนคนเป็นซึมเศร้าเลย
- ฉันรู้ว่าเธอรู้สึกยังไง อย่าไปคิดมาก นี่แค่เรื่องเล็ก ๆ เดี๋ยวก็ผ่านไป
- ทำไมไม่ลองออกจากบ้านหรือออกกำลังกาย จะได้รู้สึกดี
- ซึมเศร้าตั้งนานแล้ว ไม่เข้าใจเลย ทำไมไม่หายสักที
- ฉันไม่ชอบที่เธอทำตัวแบบนี้เลย ทำไมต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ด้วย
- รู้ไหม คนอื่นเป็นหนักกว่าเธออีก
- พยายามอีกหน่อยสิ แค่นี้เอง ทำไม่ได้เหรอ
- ไม่ต้องร้องไห้ ร้องทำไม ร้องไห้ไม่ได้ช่วยอะไรหรอก
- ทำไมไม่กินข้าว ของอร่อยตั้งเยอะ
- สู้ ๆ ยิ้ม ๆ เข้าไว้
คำพูดจากคนรอบข้างเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้การรักษา หรือคำแนะนำจากจิตแพทย์ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้ จึงควรรู้ว่าคำพูดหรือประโยคแบบไหนที่ส่งผลดีต่อจิตใจของคนเป็นซึมเศร้าจริง ๆ
หากเจอกรณีรุนแรงอย่างคนป่วยทำร้ายตัวเองหรือจะฆ่าตัวตาย สามารถโทรขอความช่วยเหลือจากสายด่วนสุขภาพจิต เบอร์ 1323 สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย เบอร์ 02-113-6789 หรือหน่วยงานอื่น ๆ ได้
รู้วิธีพูดกับคนเป็นซึมเศร้าแล้ว ก็อย่าลืมดูแลตัวเองไม่ให้เสี่ยงเป็นซึมเศร้าด้วย มีปัญหาทางใจปรึกษาคุณหมอตั้งแต่ตอนนี้ ลองดูแพ็กเกจดูแลสภาพจิตใจจากสถานพยาบาลได้ ที่นี่ HDmall.co.th รวมโปรโมชั่นดี ๆ ส่วนลด Top Up ทุกการจอง หรือสอบถามข้อมูลกับแอดมิน ทักเลย