เมื่อผู้หญิงได้รับคำแนะนำให้ทำหัตถการ LEEP เพื่อรักษาเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติ (cervical dysplasia) ที่มีความเสี่ยงสูงจะเป็นมะเร็งปากมดลูก ความกังวลใจอันดับต้น ๆ คงไม่พ้นไปจากเรื่องที่ว่าหัตถการนี้จะมีผลต่อการตั้งครรภ์ถัด ๆ ไปในอนาคต เมื่อสิ่งแรก ๆ ที่ได้ยินหลังจากค้นคว้าหาข้อมูลเรื่อง LEEP จะเกี่ยวกับการเป็นหมัน การแท้ง และการคลอดทารกก่อนกำหนด แล้วหัตถการ LEEP มีผลต่อการแท้งและการคลอดทารกก่อนกำหนดจริงหรือ?
สารบัญ
แท้จริงแล้ว LEEP คืออะไร?
LEEP ย่อมาจาก Loop electrosurgical excision procedure (การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า) เป็นหัตถการที่ใช้เพื่อรักษาเซลล์ผิดปกติชนิดรุนแรงน้อย (Low-grade dysplasia) และ เซลล์ปากมดลูกผิดปกติชนิดรุนแรงสูง (High-grade cervical dysplasia)
นอกจากนี้ ถ้าผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap results) ผลการส่องกล้องตรวจความผิดปกติของปากมดลูก (colposcopy) และ ผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา (biopsy findings) ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เราก็จะพิจารณาใช้ LEEP ตรวจเช่นกัน
LEEP เป็นการใช้ห่วงไฟฟ้าเพื่อตัดนำเซลล์ปากมดลูกออก โดยสามารถทำภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ จึงสามารถทำได้ในห้องตรวจที่ตึกผู้ป่วยนอก
ความเสี่ยงในการตั้งครรภ์หลังจากทำหัตถการ LEEP
ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์หลังจากทำหัตถการ LEEP มีดังต่อไปนี้
ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis)
ภาวะที่สภาพของทางผ่านของปากมดลูกแคบหรือปิด ซึ่งส่งผลให้มดลูกขยายตัวได้ยากระหว่างการคลอด เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วสามารถรักษาได้โดยการใช้อุปกรณ์ถ่างขยาย (Dilation) นอกจากนี้ภาวะปากมดลูกตีบยังสัมพันธ์กับการปวดประจำเดือนรุนแรง และภาวะมีบุตรยากอีกด้วย
ภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท (Cervical Incompetence)
ภาวะที่ปากมดลูกไม่สามารถปิดได้สนิทระหว่างการตั้งครรภ์ มีผลทำให้เกิดการแท้งหรือการคลอดทารกก่อนกำหนดได้ อย่างไรก็ตามสามารถรักษาได้โดยการเย็บผูกปากมดลูก (Cervical cerclage) ซึ่งปากมดลูกจะถูกเย็บให้ปิดสนิทระหว่างการตั้งครรภ์ มีผู้หญิงที่เคยทำ LEEP เพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ที่จำเป็นต้องทำการเย็บผูกปากมดลูกระหว่างการตั้งครรภ์
ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
LEEP อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ แม้ว่าจะเกิดได้น้อยมากจนแทบไม่มี แต่ว่างานวิจัยที่ศึกษาระหว่าง LEEP และภาวะมีบุตรยากนั้นก็ยังถูกจำกัดไว้และน้อยเกินที่จะสามารถสรุปได้
LEEP เป็นการรักษาเซลล์ปากมดลูกผิดปกติที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
LEEP จะมีผลต่อการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปขั้นอยู่กับว่าตอนทำ LEEP นั้นมีการตัดเซลล์ปากมดลูกออกไปจำนวนมากขนาดไหน รวมถึงเคยได้ทำ LEEP หรือหัตถการอื่น ๆ ที่ปากมดลูกมาก่อนหน้าด้วยหรือไม่
ต้องพึงระลึกไว้ว่าโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนดังข้างต้นจาก LEEP นั้นมีเพียง 1-2 % ทว่ามีการพบว่า LEEP นั้นเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยและคลอดทารกได้ครบกำหนดดี
ปรึกษากับแพทย์ก่อนทำ LEEP
แพทย์ที่คุณจะทำหัตการ LEEP ด้วยจะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ดีที่สุดสำหรับคุณ ในการปรึกษาหารือถึงการตั้งครรภ์ในอนาคต
คำถามต่อไปนี้ควรจะระลึกไว้เสมอ เมื่อต้องปรึกษาหารือกับแพทย์เรื่อง LEEP
- คุณคิดว่าการทำ LEEP จะมีผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคตหรือไม่
- ไม่มีการรักษาอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำ LEEP อีกหรือ
- กว่าปากมดลูกจะฟื้นตัวเป็นปกติ ใช้เวลานานเท่าไร
- หลังจากทำหัตการ LEEP ต้องเว้นระยะการมีเพศสัมพันธ์นานเท่าไร
- ควรจะต้องรอระยะเวลาประมาณไหนก่อนจะสามารถตั้งครรภ์ได้
เมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรกที่แผนกสูตินรีเวชวิทยา อย่าลืมที่จะแจ้งให้แพทย์รู้เสมอว่าคุณเคยได้ทำหัตถการ LEEP มาแล้ว การที่คุณได้ให้ข้อมูลแก่แพทย์อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะข้อมูลโดยแพทย์คนก่อนที่ได้บันทึกเกี่ยวกับหัตการ LEEP ที่ทำให้ พร้อมกับรายงานผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา จะช่วยให้แพทย์สูติ-นรีวางแผนถึงวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลการตั้งครรภ์ครั้งนี้ของคุณ ผู้หญิงที่เคยมีประวัติทำ LEEP มาจะได้รับการประเมินปากมดลูกระหว่างตั้งครรภ์บ่อยครั้งกว่าผู้หญิงตั้งครรภ์โดยปกติทั่วไป
แพ็กเกจตัดติ่งเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า (LEEP)
ที่มาของข้อมูล
- Pregnancy outcome after loop electrosurgical excision procedure for the management of cervical intraepithelial neoplasia. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15912414)
- The Facts About Pregnancy After a LEEP Procedure. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/pregnancy-after-a-leep-procedure-514497)
- Kyrgiou M, Mitra A, Arbyn M, et al. Fertility and early pregnancy outcomes after treatment for cervical intraepithelial neoplasia: systematic review and meta-analysis. BMJ. 2014;349:g6192. Published 2014 Oct 28. doi:10.1136/bmj.g6192 (https://doi.org/10.1136%2Fbmj.g6192)