10 ways to treatment fertility and infertility

รักษาภาวะมีบุตรยาก มีกี่วิธี?

ปัจจุบันนวัตกรรมการรักษาภาวะมีบุตรยากเริ่มพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ในคู่รักที่รักษาภาวะมีบุตรยากมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจยังสับสนว่า แล้ววิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากในปัจจุบันมีกี่วิธีกันแน่ เรามาดูพร้อมๆ กัน

ความหมายของภาวะมีบุตรยาก

ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คือ ภาวะที่คู่สามีภรรยามีเพศสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องประมาณสัปดาห์ละ 3-4 ครั้งโดยไม่ได้คุมกำเนิด แต่ก็ยังไม่เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น

คู่สามีภรรยาที่อายุต่ำกว่า 35 ปีจะวินิจฉัยว่าเกิดภาวะมีบุตรยาก หากพยายามมีเพศสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เกิดการตั้งครรภ์มา 1 ปีขึ้นไป ส่วนคู่สามีภรรยาที่ฝ่ายหญิงอายุมากกว่า 35 ปีจะนับที่ 6 เดือนนับตั้งแต่พยายามมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอเพื่อมีบุตร

ภาวะมีบุตรยากอาจมีสาเหตุทำให้เกิดได้ทั้งจากฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง โดยอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ ความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ โรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ หรือการใช้ชีวิตประจำวันไม่เหมาะสม เช่น

  • อายุที่มากขึ้น
  • ความเครียด
  • ท่อนำไข่ตีบตัน
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • มีเนื้องอกที่ตัวมดลูก
  • มีประวัติเคยทำแท้ง
  • จำนวนอสุจิน้อย หรือเคลื่อนที่ผิดปกติ
  • ท่อน้ำเชื้ออสุจิตีบตัน
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน
  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ
  • การรักษาบางประเภท เช่น การใช้รังสีรักษา การทำคีโม
  • การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การสูบบุหรี่
  • การเสพสารเสพติด

วิธีรักษาภาวะมีบุตรยาก

1. วิธีธรรมชาติ

เป็นการรักษาผ่านการมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอโดยไม่คุมกำเนิด และจะมีการนับวันไข่ตกเข้ามาช่วยให้โอกาสการตั้งครรภ์มีมากขึ้น โดยอาจใช้แอปพลิเคชั่นนับวันตกไข่

2. การใช้ยา

ส่วนมากจะเป็นการให้ยากระตุ้นการตกไข่ กรณีที่ไข่ไม่ตก หรือหรือไข่ไม่สมบูรณ์พอจะปฏิสนธิได้ ยาสำหรับรักษาภาวะมีบุตรยากมักแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบฉีด และรูปแบบกิน ส่วนยาที่แพทย์จ่ายให้อาจเป็นยาฮอร์โมน เช่น ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรฟิน (Gonadotrophin)

การใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากยังไม่ได้มีแค่ในฝ่ายหญิงเท่านั้น แต่ยังใช้รักษาฝ่ายชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ได้วย เช่น ยาปฏิชีวนะ กรณีมีการติดเชื้อที่อัณฑะ ยาปรับระดับฮอร์โมนกรณีฮอร์โมนในร่างกายฝ่ายชายผิดปกติจนส่งผลต่อการผลิตเซลล์อสุจิ

3. การทำกิฟต์ (Gift)

การทำกิฟต์ (Gamete Intra – Fallopian Transfer: GIFT) คือ การนำไข่ และอสุจิที่สมบูรณ์แข็งแรงแล้วฉีดกลับเข้าไปในท่อนำไข่ผ่านการส่องกล้องเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติในรังไข่ จนเกิดการตั้งครรภ์

โดยก่อนการทำกิฟต์ ทางแพทย์จะต้องเจาะนำไข่ และเชื้ออสุจิจากทั้งฝ่ายหญิง และฝ่ายชายออกมาหาไข่ และตัวอสุจิที่สมบูรณ์เสียก่อน

ซึ่งในปัจจุบันการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำกิฟต์ได้รับความนิยมน้อยลงแล้ว เนื่องจากต้องมีการเจาะหน้าท้องฝ่ายหญิงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ และผู้หญิงที่ทำกิฟต์ต้องมีปีกรังไข่ที่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์เท่านั้น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับรังไข่ไม่สมบูรณ์อาจไม่สามารถทำกิฟต์ได้

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมรักษาภาวะมีบุตรยากอื่นๆ ที่ทันสมัย และน่าสนใจกว่า อีกทั้งไม่ทำให้ผู้เข้ารับบริการต้องรู้สึกเจ็บด้วย

หลายโรคพยาบาล และคลินิกรักษาภาวะมีบุตรยากหลายแห่งจึงยกเลิกวิธีการรักษาแบบการทำกิฟต์ไป และเปลี่ยนไปใช้วิธีรักษาอื่นที่ทันสมัยกว่าแทน

4. การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (Intra–Uterine Insemination: IUI)

เรียกโดยทั่วไปว่า “การทำไอยูไอ (IUI)” โดยในขั้นแรกแพทย์จะคัดเลือกน้ำเชื้อจากฝ่ายชายที่แข็งแรง มีการเคลื่อนไหวดี มีรูปร่างสมบูรณ์ที่สุด แล้วนำมาฉีดเข้าโพรงมมดลูก หรือปากมดลูกของฝ่ายหญิงในช่วงตกไข่พอดี นอกจากนี้แพทย์ยังจะกำหนดปริมาณเชื้ออสุจิที่พอเหมาะ และช่วยให้มีโอกาสทำให้ตั้งครรภ์สูงก่อนฉีดอีกด้วย

วิธีการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกจะเริ่มต้นจากปากขยายมดลูกเพื่อทำความสะอาดด้วยสำลีชุบน้ำเกลือก่อน จากนั้นแพทย์จะดูดเชื้ออสุจิที่คัดเลือกแล้วมาไว้ในหลอดฉีดยา (Tuberculin Syringe) ซึ่งต่อกับสายท่อเล็กๆ ที่สอดเข้าไปในปากมดลูก แล้วจะฉีดนำน้ำเชื้ออสุจิเข้าไปผ่านสายดังกล่าว

5. การทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization: IVF)

เป็นวิธีรักษาภาวะมีบุตรยากที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ผ่านการเจาะนำไข่ที่สุกเต็มใบ มีสภาพสมบูรณ์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ออกมาผสมกับน้ำเชื้ออสุจิจำนวนหนึ่งในหลอดทดลองแทนที่การปฏิสนธิโดยธรรมชาติในมดลูก วิธีนี้จึงเรียกได้อีกอย่างว่า “การปฏิสนธินอกร่างกาย”

หลังจากนั้น หากมีตัวอสุจิผสมกับไข่สำเร็จ และเกิดการฏิสนธิขึ้นในหลอดทดลอง หรือในจานแก้วแล้ว ผ่านไป 48 ชั่วโมง จะเกิดตัวอ่อนขึ้น ทางแพทย์จะนำตัวอ่อนใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงเพื่อไปฝังตัว และเจริญเติบโตเป็นทารกในครรภ์ต่อไป

เพราะไม่มีการปฏิสนธิโดยธรรมชาติซึ่งต้องอาศัยรังไข่ ผู้หญิงที่มีปัญหาเกี่ยวกับท่อนำไข่จึงสามารถใช้วิธีทำเด็กหลอดแก้วรักษาภาวะมีบุตรยากได้ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้วิธีการทำเด็กหลอดแก้วเป็นที่นิยมมากขึ้น และยังใช้ระยะเวลาทำไม่นานด้วย

โดยประมาณ 4-6 สัปดาห์ก็สามารถย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูกได้แล้ว

6. การทำอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic sperm injection: ICSI)

มีวิธีการรักษาที่คล้ายคลึงกับการทำเด็กหลอดแก้ว นั่นคือ การเจาะนำไข่ออกมาผสมกับเชื้ออสุจิในหลอดทดลอง แต่การทำอิ๊กซี่จะให้โอกาสการตั้งครรภ์ที่สูงขึ้นไปอีก เพราะทางแพทย์จะคัดเลือกตัวอสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์ที่สุดเท่านั้น แล้วค่อยฉีดเข้าไปผสมกับไข่ที่คัดเลือกไว้แล้ว

จากนั้นแพทย์จะนำไข่ และอสุจิที่ฉีดเตรียมผสมไว้เข้าไปดูแลในห้องปฏิบัติการพิเศษอีกครั้งพร้อมกับมีน้ำยาเลี้ยงพิเศษช่วยกระตุ้นโอกาสการปฏิสนธิให้สูงขึ้นอีกด้วย จากนั้นเมื่อเกิดการปฏิสนธิแล้ว และเกิดเป็นตัวอ่อน แพทย์จึงค่อยนำตัวอ่อนกลับเข้าไปเจริญเติบโตเป็นทารกในโพรงมดลูกอีกครั้ง เช่นเดียวกับการทำเด็กหลอดแก้ว

ความแตกต่างของการทำอิ๊กซี่ (ICSI) กับการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)

ความแตกต่างระหว่างการรักษาภาวะมีบุตรยาก 2 วิธีนี้ คือ การทำอิ๊กซี่จะเป็นการรักษาที่เจาะจงให้เกิดการปฏิสนธิสูงกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว

เพราะในขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว จะไม่มีการคัดเลือกตัวอสุจิที่แข็งแรงแล้วฉีดไปผสมกับไข่ แต่จะเป็นการปล่อยให้น้ำเชื้ออสุจิจำนวนหนึ่งผสมอยู่กับไข่ในหลอดทดลอง แล้วปล่อยให้เกิดการปฏิสนธิกันเอง แต่การทำอิ๊กซี่จะมีทั้งการคัดเลือกเซลล์อสุจิที่แข็งแรงโดยเฉพาะ รวมถึงไข่สุกเต็มใบที่สมบูรณ์พร้อมปฏิสนธิ

7. การทำเทเซ่ (Testicular Epididymal Sperm Extraction: TESE)

การทำเทเซ่ เป็นขั้นตอนการรักษาภาวะมีบุตรยากสำหรับฝ่ายชาย โดยอาจเกิดจากการเป็นหมัน น้ำเชื้อไม่มีเซลล์อสุจิ หรือมีปัญหาด้านการหลั่งน้ำเชื้อ ลักษณะอัณฑะไม่สมบูรณ์

แพทย์จึงจะผ่าตัด หรือดูดเก็บชิ้นเนื้ออัณฑะไปหาตัวอสุจิต่อไป โดยจะเป็นการผ่าตัดที่มีการวางยาสลบ และหากพบเซลล์อสุจิ แพทย์ก็อาจเก็บเซลล์อสุจิดังกล่าวไว้สำหรับผสมกับไข่ด้วยวิธีอิ๊กซี่ต่อไป หรืออาจนำไปตรวจหาความผิดปกติภายในอัณฑะที่ส่งผลต่อการผลิตเซลล์อสุจิ

8. การทำเทซ่า (Testicular Sperm Aspiration: TESA)

การทำเทซ่า เป็นอีกวิธีเจาะเก็บเชื้ออสุจิจากฝ่ายชายผ่านการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะดูดเชื้ออสุจิออกมาจากอัณฑะของฝ่ายชาย และนำไปเก็บไว้เพื่อผสมกับไข่ด้วยวิธีอิ๊กซี่ต่อไป หรือหากไม่เก็บไว้สำหรับปฏิสนธิ ก็อาจเก็บเพื่อนำไปตรวจหาความผิดปกติภายในอัณฑะ เช่น ภาวะท่อนำอสุจิอุดตัน

9. การทำเพซ่า (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration: PESA)

การทำเพซ่า เป็นกระบวนการเจาะเก็บเชื้ออสุจิจากท่อน้ำเชื้อส่วนบนในอัณฑะด้วยเข็มเช่นเดียวกัน แล้วนำไปเก็บไว้สำหรับผสมกับไข่ด้วยการทำอิ๊กซี่ต่อไป หรือเพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในอัณฑะ เช่นเดียวกับการทำเทเซ่ และเทซ่า

10. การทำเมซ่า (Microsurgical Epiddymal Sperm Aspiration: MESA)

เป็นการเก็บเชื้ออสุจิอีกวิธี ผ่านการผ่าตัดบริเวณท่อพักน้ำเชื้อส่วนอีพิดิดายมิส (Epididymis) เพื่อเก็บเชื้ออสุจิไว้สำหรับการทำอิ๊กซี่ หรือตรวจหาความผิดปกติของอัณฑะอื่นๆ ต่อไป

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีวิธีรักษาภาวะมีบุตรยากหลากหลายรูปแบบให้คุณได้เลือก แต่ทั้งนี้คุณก็ยังต้องเข้าปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีการตรวจสุขภาพ และความพร้อมของร่างกายต่อการมีบุตรทั้งฝ่ายหญิง และฝ่ายชายเสียก่อน เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมิน และให้คำแนะนำอย่างถูกต้องว่า คุณควรรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีใด

Scroll to Top