Photorefractive keratectomy (PRK) หนึ่งในวิธีการรักษาสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ ที่มีประสิทธิภาพ ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่มีข้อจำกัดในการทำเลสิก
สารบัญ
- การรักษาสายตาผิดปกติด้วย PRK คืออะไร?
- PRK สามารถรักษาสายตาสั้น ยาว เอียง ได้เท่าไร?
- PRK รักษาสายตาผิดปกติ อย่างไร?
- PRK เหมาะกับใคร
- ข้อดีของ PRK เป็นอย่างไร?
- ข้อเสียของการทำ PRK เป็นอย่างไร?
- ข้อควรระวังในการทำ PRK
- ทำ PRK ใช้เวลาพักฟื้นกี่วัน?
- หลังทำ PRK ดูแลตนเองอย่างไร
- PRK แตกต่างจาก LASIK และ Femto LASIK อย่างไร?
- รักษาสายตาผิดปกติด้วย PRK ราคาเท่าไร?
การรักษาสายตาผิดปกติด้วย PRK คืออะไร?
Photorefractive keratectomy หรือที่เรียกว่า “พีอาร์เค (PRK)” เป็นวิธีการรักษาสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์รุ่นแรก โดยใช้เลเซอร์ขัดเลนส์ตาโดยตรง ไม่มีการแยกชั้นกระจกตา
PRK สามารถรักษาสายตาสั้น ยาว เอียง ได้เท่าไร?
PRK สามารถแก้ไขค่าสายตาได้ ดังนี้
- สายตาสั้น ไม่เกิน -10.00 diopters
- สายตายาว ไม่เกิน + 6.00 diopters
- สายตาเอียง ไม่เกิน 6.00 diopters
PRK รักษาสายตาผิดปกติ อย่างไร?
ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาสายตาผิดปกติด้วยวิธี PRK ผู้เข้ารับบริการจะต้องเข้ารับการตรวจสภาพดวงตาอย่างละเอียดก่อน เมื่อจักษุแพทย์ประเมินแล้วว่า สามารถทำได้ ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที โดยมีขั้นตอนการรักษาดังนี้
1. จักษุแพทย์จะเอาชั้นเยื่อบุผิว (Epithelium) ที่อยู่ด้านนอกสุดของกระจกตาออกก่อน ซึ่งมีหลายวิธีในการเอาชั้นเยื่อบุผิวออก ขึ้นอยู่กับความชำนาญของจักษุแพทย์ โดยวิธีที่นิยม มีดังนี้
- ใช้แอลกอฮอล์ 20% วางบนผิวกระจกตา ประมาณ 20-25 วินาที แอลกอฮอล์จะทำให้เยื่อบุผิวร่อน แล้วใช้มีดไร้คม (Blunt spatula) หรือแปรง (Corneal brush) ถูเยื่อบุผิวที่ร่อนแล้วออกไป
- ใช้เลเซอร์ยิงเยื่อบุผิวออกโดยตรง
2. ใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Ecximer) ปรับแต่งความโค้งของผิวกระจกตา ทำให้ค่าสายตากลับมาเป็นปกติ หรือใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด
เลเซอร์เอ็กไซเมอร์นั้น เป็นเลเซอร์ความยาวคลื่นสั้น แบบแสงเย็น จะทำปฏิกิริยากับพื้นที่ผิวสัมผัสเท่านั้น ไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง หรือภายในลูกตา
3. ใช้น้ำเย็นล้างบริเวณที่ยิงเลเซอร์ เพื่อลดการอักเสบ และลดโอกาสเกิดกระจกตาขุ่นจากเลเซอร์
4. ใส่เลนส์สัมผัสแบบอ่อน เพื่อทำหน้าที่คล้ายผ้าพันแผล (Bandage) ช่วยลดการระคายเคือง ป้องกันเชื้อโรค โดยจะต้องรอให้เยื่อบุผิวโดยรอบเจริญเข้ามาปิดแผลก่อน ใช้ระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน เมื่อแผลปิดสนิทแล้ว จึงค่อยถอดเลนส์สัมผัสออก
PRK เหมาะกับใคร
- ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีค่าสายตาคงที่ 2 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพิ่มเติม
- ผู้ที่มีค่าสายตาสั้นไม่เกิน -10.00 diopters สายตายาว ไม่เกิน + 6.00 diopters และสายตาเอียง ไม่เกิน 6.00 diopters
- ผู้ที่มีกระจกตาบาง จนไม่สามารถทำเลสิกได้
- ผู้ที่มีภาวะตาแห้ง
- ผู้ที่เป็นโรคที่เยื่อบุผิวร่อนได้ง่าย (Recurrent corneal erosion)
- ผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฝากระจกตาเคลื่อนจากแรงกระแทก เช่น นักมวย
- ผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีกฎห้ามทำการแก้ไขสายตาด้วยเลสิก เช่น นักบิน หรือทหารบางเหล่าทัพ
ข้อดีของ PRK เป็นอย่างไร?
- สามารถแก้ไขค่าสายตาผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อย ไม่ต้องฉีดยาชา หลังทำสามารถกลับบ้านได้ทันที
- PRK สามารถทำในผู้ที่เป็นโรคเยื่อบุผิวกระจกถลอกง่าย (Recurrent corneal erosion) ซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุ หรือโรค Epithelial basement membrane dystrophy (EBMD) เพราะ PRK จะช่วยให้เยื่อบุผิวยึดเกาะกระจกตาได้ดีขึ้น และแก้ไขค่าสายตาผิดปกติไปพร้อมๆ กัน
- ไม่มีความเสี่ยงในการเกิดฝากระจกตาเคลื่อนเหมือนการทำเลสิก เนื่องจากไม่มีการแยกชั้นกระจกตา
ข้อเสียของการทำ PRK เป็นอย่างไร?
- เนื่องจากเป็นการขัดเลนส์ตาโดยตรง จึงมีอาการระเคืองตามากกว่าการรักษาด้วยวิธี LASIK และ ReLEx SMILE
- การทำ PRK จะทำให้มีแผลเปิด ทำให้ใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานกว่าวิธีอื่นๆ ประมาณ 1 สัปดาห์
ข้อควรระวังในการทำ PRK
หลังทำ PRK จะเกิดแผลถลอกที่ผิวตาประมาณ 3-5 วัน ซึ่งต้องอาศัยการสมานแผลโดยเซลล์เยื่อบุผิวกระจกตารอบข้างเจริญงออกมาปิดแผล จึงควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการสมานแผลที่เยื่อบุผิวกระจกตาผิดปกติ เช่น
- ผู้ที่รับประทานยา Isotreinoin และ Amiodarone hydrochloride
- โรคของผิวตาต่างๆ
- โรคที่เมื่อยิงเลเซอร์แล้วจะมีอาการแย่ลง เช่น Corneal dystrophies
ทำ PRK ใช้เวลาพักฟื้นกี่วัน?
หลังทำ PRK จักษุแพทย์จะใส่เลนส์สัมผัสแบบอ่อนปิดแผลให้ประมาณ 5-7 วัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และลดการระคายเคือง หลังจากนั้นจะนัดให้เข้าพบเพื่อถอดเลนส์สัมผัสออก ตรวจดูการสมานแผลที่กระจกตา และความเสี่ยงในการติดเชื้อ
โดยผลการรักษาสายตาผิดปกติด้วย PRK ในช่วงแรก การมองเห็นจะยังไม่คงที่ และความชัดเจนจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน เนื่องจากอยู่ในช่วงของการสมานแผล แต่หลังจากที่แผลหายดีแล้ว การมองเห็นจะค่อยๆ ดีขึ้น และเข้าสู่ระดับปกติ ภายใน 2 สัปดาห์
หลังทำ PRK ดูแลตนเองอย่างไร
หลังเข้ารับการทำ PRK แล้ว ผู้เข้ารับบริการจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ โดยจักษุแพทย์อาจแนะนำให้ปฏิบัติตัว ดังนี้
- ในช่วงพักฟื้น ควรหยอดยาปฏิชีวนะและน้ำตาเทียมตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ใส่ฝาครอบตาเวลานอนหลับทุกครั้ง เพื่อป้องกันการขยี้ตาโดยไม่รู้ตัวขณะหลับ
- เช็ดทำความสะอาดดวงตาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์
- ในช่วงสัปดาห์แรก งดล้างหน้า แต่งหน้า ทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อ หรือน้ำเข้าตา และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่ฝุ่นละออง และควันเยอะ
- ในช่วง 1 เดือน ห้ามขยี้ตา และงดการว่ายน้ำ จนกว่าจักษุแพทย์จะอนุญาต
- ในช่วง 3 เดือน งดการดำน้ำลึก งดการใส่คอนแทคเลนส์แฟชั่น จนกว่าจักษุแพทย์จะอนุญาต และใส่แว่นกันแดดทุกครั้ง เมื่ออยู่ในที่แจ้ง
- หลังทำ PRK ในช่วงแรก อาจเกิดการสูญเสียการมองเห็นในเวลากลางคืน หรือมองแสงแตกเป็นแฉกๆ จึงควรระมัดระวังการขับรถในเวลากลางคืน
PRK แตกต่างจาก LASIK และ Femto LASIK อย่างไร?
PRK และเลสิก (Laser in situ keratomileusis: LASIK) จัดอยู่กลุ่มการรักษาสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์เหมือนกัน แต่มีเทคนิคในการรักษาที่แตกต่างกัน โดย PRK เป็นการรักษารุ่นแรก ใช้เลเซอร์ขัดเลนส์ตาโดยตรง
ในขณะที่เลสิก เป็นการรักษาที่พัฒนาจาก PRK โดยมีการแยกชั้นกระจกตาด้วยใบมีดก่อน เพื่อลดอาการระคายเคือง และลดระยะเวลาการพักฟื้น
ส่วน Femto LASIK เป็นเลสิกแบบไร้ใบมีด โดยการใช้เลเซอร์เฟมโตเซคอนด์ (Femtosecond laser) แยกชั้นกระจกตาแทนใบมีด สามารถกำหนดความลึกของชั้นกระจกตาได้ และมีความแม่นยำสูง ทำให้แยกชั้นความหนาของฝากระจกตาได้บาง ขอบแผลเรียบ และทำให้ผิวกระจกตาสมานได้เร็วกว่า
รักษาสายตาผิดปกติด้วย PRK ราคาเท่าไร?
ราคาค่ารักษาสายตาผิดปกติด้วย PRK เริ่มต้นที่ประมาณ 35,000-45,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่มักรวมค่าตรวจสภาพตาก่อนการผ่าตัด ค่ายากลับบ้าน ค่าแพทย์ และค่าตรวจติดตามผลการรักษาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลก่อนเข้ารับบริการ
สำหรับใครที่สนใจรักษาสายตาผิดปกติด้วย PRK สามารถจองผ่าน HDmall.co.th ในราคาพิเศษได้ เรามีแพ็กเกจรักษาสายตาผิดปกติด้วย PRK จากโรงพยาบาลชั้นนำมาให้คุณ ดังนี้
- โรงพยาบาลยันฮี ทำ PRK 1 ข้าง ราคา 24,250 บาท* และ 2 ข้าง ราคา 36,480 บาท*
- โรงพยาบาลพระรามเก้า ทำ PRK 2 ข้าง ราคา 34,464 บาท*
- โรงพยาบาลหู คอ ตา จมูก ทำ PRK 2 ข้าง ราคา 37,830 บาท*