hip arthroplasty

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ลดการเจ็บปวด และกลับมาเดินได้อีกครั้ง

ข้อสะโพก เป็นข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกราน และกระดูกต้นขา ที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ทำหน้าที่งอและเหยียดในเวลานั่ง เดิน ยืนหรือนอน และรับน้ำหนักในทุกอิริยาบถของร่างกาย หากข้อสะโพกเกิดอาการผิดปกติขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้ารับการรักษาฟื้นฟูอย่างถูกวิธีและเหมาะสม

ความผิดปกติของข้อสะโพกบางชนิด เช่น กระดูกข้อสะโพกหัก ข้อสะโพกเสื่อม หรือข้อสะโพกขาดเลือดมาเลี้ยง จนเกิดความเจ็บปวดและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจใช้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Hip Arthroplasty) เพื่อรักษา

แต่ขึ้นชื่อว่าการผ่าตัด ก็อาจทำให้หลายคนเกิดความกังวลขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับการผ่าตัดบ่อยนัก ในบทความนี้ HDmall ได้รวบรวมข้อควรรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ทั้งการเตรียมตัว ขั้นตอน การดูแลตัวเองหลังผ่า และอื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นประกอบการนำไปปรึกษาแพทย์ต่อไป

สารบัญ

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมคืออะไร?

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Hip Arthroplasty) คือ การผ่าตัดนำส่วนของข้อสะโพกเดิมที่เสื่อมสภาพ กระดูกตายหรือแตกหักออก แล้วทดแทนด้วยข้อสะโพกเทียม (Prosthesis) เพื่อให้ผู้รับการผ่าตัดกลับมาเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับข้อสะโพกของจริงมากที่สุด

อาการปวดข้อสะโพกจนต้องรักษาด้วยการผ่าตัด มักจะพบมากในผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อสะโพกเสื่อมอย่างรุนแรง (Severe Osteoarthritis of Hip Joint) หรือในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน หกล้ม ข้อสะโพกหัก (Fracture Femoral Neck) แต่ก็อาจพบในผู้ที่มีอายุน้อยได้ในบางครั้ง เช่น ภาวะข้อสะโพกขาดเลือด ทำให้หัวข้อสะโพกถูกทำลาย (Avascular Necrosis of Femoral Head) เป็นต้น โดยสามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวข้อสะโพกเทียมอย่างเดียว หรือผ่าตัดเปลี่ยนทั้งส่วนหัวและเบ้าข้อสะโพกเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ โดยหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแล้ว ผู้รับการผ่าตัดมักจะหายจากอาการเจ็บปวด มีข้อสะโพกที่มั่นคง เคลื่อนไหวได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับข้อสะโพกปกติ

ส่วนประกอบของข้อสะโพกเทียม

ข้อสะโพกเทียมมีส่วนประกอบสำคัญ 4 ส่วน ได้แก่

  1. เบ้าข้อสะโพกเทียม (Acetabular Component) ทำมาจากโลหะหรือโพลีเอทธิลีน มีหน้าที่ยึดกับเบ้าสะโพกที่กระดูกเชิงกราน
  2. ผิวเบ้าข้อสะโพก (Plastic Liner) ทำมาจากพลาสติกชนิดพิเศษ ทำหน้าที่เป็นผิวสัมผัสกับหัวสะโพกเทียม
  3. หัวข้อสะโพกเทียม (Femoral Head) ทำมาจากโลหะหรือเซรามิก มีรูปร่างกลมทำหน้าที่เหมือนหัวสะโพกเดิมโดยจะยึดติดกับก้านสะโพกเทียมที่ถูกตอกยึดกับกระดูกต้นขาส่วนต้น
  4. ก้านข้อสะโพกเทียม (Femoral Stem) ทำมาจากโลหะ โดยจะยึดกับส่วนหัวสะโพกเทียมและตอกยึดเข้าไปกับโพรงกระดูกต้นขาส่วนต้น

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมมีกี่แบบ?

การผ่าตัดใส่ข้อเทียมบริเวณสะโพก (Hip Arthroplasty) สามารถแบ่งการผ่าตัดตามส่วนของข้อสะโพกที่ทำการเปลี่ยนได้เป็น 2 แบบ ดังนี้

1. ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกทั้งส่วนหัวและเบ้า (Total Hip Replacement: THR)

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกทั้งส่วนหัวและเบ้า คือ การผ่าตัดทั้งส่วนหัวกระดูกต้นขา และเบ้าข้อสะโพก โดยนำเฉพาะส่วนของกระดูกที่ตาย หรือเสื่อมออก แล้วแทนที่ด้วยข้อสะโพกเทียมทั้งชุด ที่ประกอบด้วยเบ้าสะโพกเทียม และหัวข้อสะโพกเทียมที่มีก้านสะโพกต่อเพื่อตอกยึดลงไปในโพรงกระดูกต้นขาส่วนต้น

  • ข้อดี คือ สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวข้อสะโพกผู้ป่วยได้ทั้งหมด มักใช้กับผู้ป่วยที่ยังมีการใช้งานข้อสะโพกหนัก
  • ข้อเสีย คือ การผ่าตัดใช้เวลานาน เสียเลือดมากกว่า และขนาดของหัวข้อสะโพกเทียมจะเล็กกว่า ทำให้มีโอกาสเกิดข้อสะโพกเทียมเคลื่อนหลุดได้มากกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะส่วนหัวสะโพกอย่างเดียว

2. ผ่าตัดเปลี่ยนส่วนหัวข้อสะโพกอย่างเดียว (Hemiarthroplasty)

การผ่าตัดเปลี่ยนส่วนหัวข้อสะโพกอย่างเดียว คือ การผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะส่วนหัวของกระดูกต้นขาออก แล้วใส่ข้อสะโพกเทียมเฉพาะส่วนที่เป็นหัวข้อสะโพกกระดูกต้นขาและก้านสะโพก โดยไม่ได้เปลี่ยน เบ้าข้อสะโพก

  • ข้อดี คือ ใช้เวลาผ่าตัดน้อย เสียเลือดน้อย มีความมั่นคงของข้อสะโพกสูงเนื่องจากส่วนหัวข้อสะโพกเทียมมีขนาดใหญ่ ลดโอกาสเกิดข้อสะโพกเทียมหลุดได้
  • ข้อเสีย คือ จะใช้กับผู้ป่วยที่ยังไม่มีความเสียหายของเบ้าข้อสะโพกเท่านั้น และเมื่อใช้งานข้อสะโพกเทียมไปสักระยะหนึ่ง เบ้าข้อสะโพกจะถูกเสียดสีจากหัวของข้อเทียมและทำให้สึกตามมา จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมาก ใช้งานข้อสะโพกไม่หนักเพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีเบ้าสะโพกเสื่อมตามมาในอนาคต

ใครควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

ไม่ใช่ทุกความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณสะโพกจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเท่านั้น โดยทั่วไปแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดให้กับผู้ที่มีปัญหา ดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่ปวดข้อสะโพกมากขึ้นจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ปกติ เช่น การยืน เดิน ลุก และนั่ง
  • ผู้ที่ปวดสะโพกตลอดเวลาขณะอยู่นิ่งๆ จนไม่สามารถเหยียดข้อสะโพกได้ อาจทำให้ขาอ่อนแรงลงเนื่องจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมข้อสะโพกอ่อนแอจากการใช้งานที่น้อยลง
  • ผู้ที่ปวดตึงในข้อสะโพก ทำให้การเคลื่อนไหวสะโพกติดขัด มีเสียงลั่นในข้อ
  • ผู้ที่รักษาข้อสะโพกด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน การเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นต้น แต่ผลการรักษาไม่ดีขึ้น
  • ผู้ที่กระดูกสะโพกหักแล้วไม่สามารถรักษาด้วยวิธีใช้โลหะยึดดามกระดูกได้
  • ผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อสะโพกเสื่อมตามวัย เคลื่อนไหวข้อสะโพกได้น้อยและปวดจนทนไม่ไหว
  • ผู้ที่เป็นโรคข้อสะโพกผิดปกติแต่กำเนิด โรคข้อสะโพกขาดเลือดไปเลี้ยงที่กระดูกหัวของข้อสะโพก โรคข้อสะโพกอักเสบจากโรครูมาตอยด์
  • ผู้ที่มีเนื้องอกบริเวณข้อสะโพก

ใครห้ามผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

  • ผู้ที่มีภาวะข้ออักเสบติดเชื้อที่ยังมีการอักเสบอยู่
  • ผู้ที่มีกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกอ่อนแรงมากและอาจทำให้ข้อสะโพกหลุดเคลื่อนได้ง่าย
  • ผู้ที่มีโรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่จะมีผลกระทบต่อข้อสะโพกที่จะทำการผ่าตัด
  • ผู้ที่มีโรคเลือดหรือหลอดเลือดที่มีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง
  • ผู้ที่เกิดภาวะกระดูกพรุนที่รุนแรงมากบริเวณข้อสะโพก

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอย่างถูกวิธี มีส่วนช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยทั่วไปการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด อาจมีดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบว่ารับประทานยาประจำอะไรบ้าง แพทย์จะได้พิจารณาว่าต้องหยุดยาประเภทใดหรือไม่
  • งดยาประเภทห้ามการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน ก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน หรือตามที่แพทย์แนะนำ
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดที่มีน้ำหนักตัวมาก แพทย์อาจแนะนำให้ลดน้ำหนักก่อนเข้ารับการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในการผ่าตัด
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดที่มีประวัติติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ หรือในผู้ชายที่มีความผิดปกติของต่อมลูกหมาก ควรปรึกษาแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อร่วมประเมินก่อนการผ่าตัด
  • งดสูบบุหรี่ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้การทำงานของปอด และหลอดลมดีขึ้น
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลโรคประจำตัวว่าต้องปรับการรับประทานยา หรือปรับพฤติกรรมก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือไม่
  • ถ้าผิวหนังบริเวณที่จะต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมมีภาวะติดเชื้อหรือการอักเสบ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนได้รับการผ่าตัด
  • คืนก่อนวันผ่าตัด 1 วัน จะต้องงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน

ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การผ่าตัดข้อสะโพกเทียมอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยมีขั้นตอนทั่วๆ ไป ดังต่อไปนี้

  1. วิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้ดูแลเรื่องการยาระงับปวดและระงับความรู้สึก จากนั้นศัลยแพทย์จะเปิดผิวหนังด้านข้างของสะโพก
  2. แพทย์จะตัดส่วนหัวของกระดูกต้นขาที่เสื่อมออก เตรียมโพรงกระดูกสำหรับใส่ก้านสะโพกเทียม
  3. แพทย์จะทดลองใช้ตัวลองข้อเทียมเพื่อเลือกขนาดที่เหมาะสมและทดสอบการเคลื่อนไหว แล้วใส่ข้อสะโพกเทียมส่วนก้านในโพรงกระดูกต้นขา และต่อส่วนหัวของข้อสะโพกเทียมเข้ากับส่วนก้าน
  4. แพทย์จะล้างใส่สายระบายเลือดและเย็บปิดแผล
  5. หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะอยู่ในห้องพักฟื้นเพื่อติดตามอาการหลังผ่าตัด ประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนจะย้ายไปพักในห้องอภิบาลเฉพาะ 1 คืน และย้ายขึ้นห้องพักผู้ป่วยปกติ อีก 4-5 วัน เพื่อฟื้นฟูร่างกายโดยการทำกายภาพบำบัด ฝึกการนั่ง ยืน เดิน จนสามารถเดินและช่วยเหลือตัวเองได้รวมถึงดูให้แน่ใจว่าแผลผ่าตัดไม่มีการติดเชื้อ แพทย์จะพิจารณาให้คนไข้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อคืออะไร?

ปัจจุบันมีนวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (Direct Anterior Approach Total Hip Replacement) ซึ่งเป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบเข้าทางด้านหน้า โดยจะไม่ผ่าตัดไปที่กล้ามเนื้อและเส้นประสาท ซึ่งมีข้อดีดังนี้คือ

  • ปวดน้อยลง เพราะการผ่าตัดไม่ผ่าไปที่กล้ามเนื้อและเส้นประสาท
  • แผลเล็กลงเพราะใช้ X ray ระหว่างผ่าตัด แพทย์สามารถกำหนดจุดผ่าตัดและขนาดความยาวของขาแต่ละข้างได้แน่นอนและแม่นยำ
  • นอนโรงพยาบาลน้อยลง นอนเพียง 2-3 วัน ท่านสามารถกลับบ้านได้ การผ่าตัดแบบเดิม ต้องนอนโรงพยาบาล 4-5 วัน
  • ฟื้นตัวได้ไวขึ้น อาจสามารถลุกเดินได้ทันทีหลังการผ่าตัด เนื่องจากไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ
  • เสียเลือดระหว่างการผ่าตัดน้อยลง
  • สามารถซ่อนรอยแผลได้ โดยซ่อนแผลใต้แนวกางเกงใน (Bikini Incision) ซึ่งเป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS)
  • สามารถผ่าพร้อมกันได้ทั้ง 2 ข้างในการผ่าตัดครั้งเดียว

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม มีดังนี้

  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดที่ได้รับยาชาเข้าไขสันหลัง ควรนอนราบ หนุนหมอนต่ำๆ หรือนอนตะแคงหลังผ่าตัด 8 ชั่วโมง และสอดหมอนสามเหลี่ยมตลอดเวลาเพื่อป้องกันข้อสะโพกเคลื่อนหลุด หลังจากนั้นสามารถปรับเตียงนอนให้หัวสูงได้ 30-45 องศาหากแพทย์เห็นสมควร
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดที่ได้รับการดมยาสลบ ควรบริหารปอดโดยการสูดหายใจเข้าออกแรงๆ หรือเป่าลูกโป่งให้ปอดขยายตัว ป้องกันภาวะปอดแฟบ และหากมีเสมหะให้ไอออกมา
  • ถ้ามีอาการพะอืดพะอมหรือคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการดมยาสลบและยาแก้ปวด ให้นอนราบไม่หนุนหมอน แล้วให้ตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้สำลัก
  • หากมีอาการปวดควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที เพื่อรับยาระงับปวด
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับการฝึกเดินในวันรุ่งขึ้น โดยใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน หากนั่ง ยืน หรือเดินได้เร็ว ก็ช่วยทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว ช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน นักกายภาพจะมีโปรแกรมการสอนท่าบริหาร เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ข้อสะโพกและทำให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น
  • การลงจากเตียงนอน ควรเริ่มจากการขยับตัวโดยขยับไปด้านข้างที่ทำการผ่าตัด จากนั้นค่อยๆ เลื่อนสะโพกโดยใช้ข้อศอกช่วยดันลำตัวให้ตั้งตรง ไม่ควรบิดหรือหมุนขา แล้วเขยิบขาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดมาไว้ด้านข้าง นั่งลงบริเวณขอบเตียง ใช้วอร์คเกอร์ช่วยพยุงตัวขณะยืน
  • การเดิน ควรทิ้งน้ำหนักตัวให้สมดุลกับวอร์คเกอร์ ค่อยๆ เดินขยับไปด้านหน้าโดยยกขาข้างที่ผ่าตัดก้าวนำขาอีกข้าง ค่อยๆ เดินโดยปล่อยให้วอร์คเกอร์รับน้ำหนักตัวไว้
  • การนั่ง เริ่มจากการโน้มตัวไปด้านหน้า ปล่อยน้ำหนักตัวที่วอร์คเกอร์และก้าวขาด้านที่ไม่ได้ผ่าตัด ไปด้านหน้าจนเท้าทั้ง 2 ข้างเสมอกัน นั่งในท่าที่มั่นคง หลังแนบกับพนักพิง โดยที่มือจับที่พนักเท้าแขน ไม่ควรเลือกเก้าอี้ที่เตี้ยมาก เพราะจะทำให้เข่าต้องงอเกิน 90 องศา

ข้อห้ามและข้อควรระวังหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

เพื่อทำให้การฟื้นตัวเป็นไปด้วยดี และเพื่อป้องกันข้อสะโพกเทียมเคลื่อนหลุด มีข้อห้ามและข้อควรระวังดังนี้

  • หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลถูกน้ำหรือเปียกชื้น
  • หลีกเลี่ยงการนั่งไขว้ขาหรือนั่งไขว้ห้าง
  • ห้ามนอนตะแคงทับขาข้างที่ผ่าตัดในช่วง 5-7 วันแรกหลังการผ่าตัด
  • ระมัดระวังการลื่นหกล้ม ให้ป้องกันการล้ม ด้วยการใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน จนกว่าข้อสะโพกจะแข็งแรงพอและเคลื่อนไหวได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการก้มตัวลงหยิบของที่พื้นในขณะยื่นหรือนั่ง
  • หลีกเลี่ยงการบิดหมุนปลายเท้าเข้าหาลำตัวและหุบขาเข้ามากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการวิ่ง หรือ กระโดด เพราะอาจทำให้ข้อสะโพกหลุดหลวม หรือแตกหักได้
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การดันสิ่งของ หรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงผ่านสะโพกมากๆ เพราะจะทำให้เกิดการเสื่อม หลวมของข้อสะโพกเร็วขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่เร็วเกินไป รวมถึงการหมุนตัวที่รวดเร็ว
  • ระมัดระวังท่าทางหรือการเคลื่อนไหวที่ทำให้ลำตัว ต้นขา หรือข้อสะโพกงอมากกว่า 90 องศา เช่น การนั่งเก้าอี้เตี้ย หรือนั่งยองๆ
  • หากจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดใดๆ หรือไปทำฟัน ให้แจ้งแพทย์ หรือทันตแพทย์ทราบทุกครั้งว่าได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เพื่อการพิจารณายาปฎิชีวนะ ป้องกันการติดเชื้อของข้อสะโพกเทียม

ข้อควรปฏิบัติเพื่อยืดอายุการใช้งานของข้อสะโพกเทียม

  • ควรบริหารร่างกายเพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตามคำแนะนำของแพทย์
  • ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่ให้อ้วน
  • ควรนอนหงายหรือนอนตะแคงโดยมีหมอนรองระหว่างขา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหุบขาเข้ามาหากันมากเกินไป
  • ควรนั่งเก้าอี้ที่มีเบาะแข็ง ควรนั่งเก้าอี้สูง เช่น เก้าอี้บาร์ ไม่นั่งโซฟา และควรเลื่อนตัวมาอยู่ขอบเก้าอี้ก่อนลุกขึ้นยืน

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแล้วอยู่ได้กี่ปี?

ข้อสะโพกเทียมนั้นมีอายุการใช้งานมากถึง 15-20 ปี และยังมีข้อสะโพกเทียมที่ใช้งานได้ยาวนานกว่านั้น ในปัจจุบันการแพทย์มีการพัฒนาตลอดเวลา จึงมีโอกาสทำให้ข้อสะโพกเทียมนั้นมีความคงทนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะมีผู้ป่วยประมาณ 10-20% ที่มีปัญหา และต้องเข้ารับการผ่าตัดซ้ำ เพราะว่าได้รับอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม หรือเคลื่อนไหวในท่าที่ส่งผลกระทบต่อข้อสะโพกอย่างรุนแรง น้ำหนักเพิ่มขึ้น ไม่ดูแลสุขภาพและโรคประจำตัวให้ดี หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่ส่งผลให้อายุการใช้งานของข้อสะโพกเทียมน้อยลงไปด้วย

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

แม้อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมจะค่อนข้างต่ำ แต่ก็เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกประเภทที่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น มีดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อของแผลผ่าตัด
  • ความไม่มั่นคงของข้อสะโพกเทียม ทำให้หลุดหลวมหรือเคลื่อน
  • กระดูกหักบริเวณรอบๆ ข้อสะโพกเทียม
  • ข้อสะโพกเทียมชำรุด หัก มีหินปูนจับรอบๆ ข้อ
  • แนวขาผิดปกติหรือยาวไม่เท่ากันหลังผ่าตัด
  • เกิดอาการบาดเจ็บของเส้นเลือดและเส้นประสาท หรืออัมพาตของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงขา
  • เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ
  • งอข้อสะโพกไม่ได้เท่าที่ควร
  • การสึกหรอของผิวข้อสะโพกเทียม

อาการผิดปกติหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมที่ต้องรีบพบแพทย์ทันที

  • มีไข้สูง หนาวสั่น หรือปวดบวมแดง รอบแผลผ่าตัด
  • มีเลือดหรือหนองซึมจากแผลผ่าตัด
  • มีอาการปวดสะโพกมากขึ้นขณะเคลื่อนไหวหรืออยู่กับที่

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมพักฟื้นนานไหม?

หลังจากที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน จะมีระยะเวลาพักฟื้นจนสามารถใช้งานข้อสะโพกได้เป็นปกติ ดังนี้

  • หลังผ่าตัด 4-6 สัปดาห์ ยังต้องใช้ไม้ค้ำยันหรือวอร์คเกอร์เพื่อช่วยพยุงตัวในการเคลื่อนไหว
  • หลังผ่าตัดประมาณ 6-8 สัปดาห์ ผู้เข้ารับการผ่าตัดส่วนใหญ่จะสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันหรืองานต่างๆ ได้ ไม่ต้องใช้วอร์คเกอร์หรือไม้ค้ำยัน แต่ต้องระมัดระวังเวลาปรับเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ
  • หลังผ่าตัด 8-12 สัปดาห์ สามารถเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ แต่จะเร็วหรือช้ากว่านี้นั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล และสามารถกลับไปขับรถได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อน

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เป็นการผ่าตัดที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ และนับว่าเป็นการรักษาเพื่อช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ไม่ต้องทนทรมานกับอาการเจ็บปวด

Scroll to Top