knee arthroplasty 1

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เมื่อกระดูกหัวเข่ามีปัญหา

เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่า บางครั้งการรักษาทั่วไปอย่างการกินยา ฉีดยา หรือทำกายภาพบำบัดก็อาจไม่ทำให้อาการดีขึ้นเสมอไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่กระดูกข้อเข่ามีความผิดปกติหรือเสียหายอย่างรุนแรงซึ่งแพทย์อาจมอบทางเลือกในการรักษาเป็นวิธีผ่าตัด เพื่อให้อาการทุกข์ทรมานจากกระดูกข้อเข่าที่เกิดขึ้นหายขาดเสียที และมีสมรรถภาพในการใช้งานข้อเข่าได้เต็มรูปแบบอีกครั้ง

สารบัญ

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าคืออะไร?

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า หรือผ่าตัดข้อเข่าเทียม (Knee Arthroplasty หรือ Joint Replacement Surgery) คือ วิธีรักษาความผิดปกติบริเวณหัวเข่า ผ่านการผ่าตัดนำกระดูกบริเวณหัวเข่าส่วนที่เสื่อม เสียหาย หรือผิดปกติออกไป แล้วใส่ “กระดูกข้อข้อเข่าเทียม” ซึ่งเป็นวัสดุทางการแพทย์ที่มีลักษณะเหมือนกับข้อกระดูกจริงๆ ของมนุษย์เข้าไปแทน

วัสดุเปลี่ยนข้อเข่าทำมาจากอะไร อยู่ได้นานแค่ไหน?

วัสดุที่ใช้เป็นกระดูกข้อเข่าเทียมแทนกระดูกแท้มักเป็นวัสดุโลหะสังเคราะห์ผสมโพลิเมอร์ ไททาเนียม เซรามิก หรือโคบอลต์โครเมียม ซึ่งเป็นวัสดุที่ได้รับการวิจัยและผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในร่างกายมนุษย์โดยเฉพาะ และมีอายุการใช้งานค่อนข้างยาวนานเป็นหลัก 10 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วัสดุของแต่ละสถานพยาบาล

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ามีกี่ชนิด?

แนวทางการผ่าตัดข้อเข่าเทียมแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

1. การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกข้อเข่าทั้งหมด (Total Knee Replacement)

การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกข้อเข่าทั้งหมดเป็นการผ่าตัดนำกระดูกที่เป็นส่วนประกอบของกระดูกหัวเข่าออกทั้งหมด ได้แก่

  • กระดูกส่วนปลายต้นขา (Femur)
  • กระดูกส่วนบนหน้าแข้ง (Tibia) ทั้งด้านในและด้านนอก (Medial and lateral compartment)
  • กระดูกสะบ้า (Patella)

จากนั้นแพทย์จะใส่วัสดุข้อเข่าเทียมเข้าไปแทนที่กระดูกข้อเข่าจริงทั้งหมด เพื่อให้ผู้ป่วยยังมีองค์ประกอบของกระดูกข้อเข่าเหมือนกับก่อนผ่าตัด เพียงแต่เป็นกระดูกที่ทำจากวัสดุเทียม และที่ไม่ใช่กระดูกจริงเท่านั้น

การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกข้อเข่าทั้งหมดนิยมใช้รักษาผู้ป่วยกระดูกข้อเข่าที่มีระดับรอยโรคและความรุนแรงของอาการค่อนข้างหนัก เพราะเป็นการผ่าตัดที่สามารถรักษาอาการเกี่ยวกับกระดูกข้อเข่าได้ทุกส่วนอย่างครอบคลุมที่สุด

2. การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกข้อเข่าบางส่วน (Unicompartmental Knee Arthroplasty)

อีกทางเลือกสำหรับผู้ที่กระดูกข้อเข่าไม่ได้เสียหายทั้งหมด หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นจำกัดอยู่ที่กระดูกข้อเข่าบางส่วนเท่านั้น แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกข้อเข่าเพียงบางส่วนแทน โดยจะใส่วัสดุข้อเข่าเทียมแบบเดียวกันกับการผ่าตัดแบบแรกลงไปแทนที่กระดูกข้อเข่าส่วนที่เสียหาย และจะคงกระดูกข้อเข่าแท้ส่วนที่ยังใช้งานได้เอาไว้ดังเดิม

เพราะเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกข้อเข่าเพียงบางส่วน จึงทำให้แผลจากการผ่าตัดกระดูกข้อเข่าบางส่วนมีแผลเล็กกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกข้อเข่าทั้งหมด และยังมีการฟื้นตัวหลังผ่าตัดที่เร็วกว่า รวมถึงมีโอกาสเสียเลือดระหว่างผ่าตัดได้น้อยกว่าอีกด้วย

ผู้ป่วยแต่ละรายจะต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกข้อเข่าทั้งหมดหรือแค่บางส่วน ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ในการตรวจดูระดับอาการและความเสียหายของกระดูกอย่างละเอียดก่อนรับการผ่าตัด

ใครควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นวิธีรักษาที่เหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยเกี่ยวกับกระดูกข้อเข่าที่มีอาการผิดปกติค่อนข้างหนัก หรืออาการที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เช่น

  • ผู้ป่วยที่กระดูกอ่อนผิวข้อ (Knee cartilage) เสียหายอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการยืน เดิน ขึ้นบันได หรือเคลื่อนไหวร่างกายท่าอื่นๆ
  • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นท่ายืน นั่ง ใส่รองเท้า เดิน ขึ้นบันได เดินบนพื้นต่างระดับ หรือเอนตัวนอน
  • ผู้ป่วยโรคข้อเข่าอักเสบ จนมีอาการเข่าบวมแดง ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะเรื้อรังบริเวณกระดูกเข่าที่ควรต้องรีบรักษาโดยด่วน
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเข่าติดจนไม่สามารถยืดเหยียดเข่าอย่างเต็มที่ได้ รวมถึงงอเข่าได้น้อยกว่า 90 องศา
  • ผู้ที่ขามีลักษณะผิดรูป หรือผู้ที่ขาโก่ง จนส่งผลต่อการทรงตัว เกิดปัญหาเดินตัวเอียง หรือเกิดอาการปวดหลังร้าวลงสะโพกหรือขา
  • ผู้ป่วยที่รักษาอาการผิดปกติที่ข้อเข่าผ่านการกินยา ฉีดยา ทำกายภาพบำบัด และวิธีอื่นๆ มาก่อน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น

ไม่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าได้ไหม?

หากผู้เข้ารับบริการยังไม่พร้อมหรือไม่ประสงค์จะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ก็สามารถลองสอบถามแพทย์เกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาแบบอื่นๆ ที่สามารถประคองอาการเกี่ยวกับข้อเข่าให้บรรเทาลงได้

ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องคำนึงถึงผลลัพธ์หลังการรักษาด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่วิธีผ่าตัดด้วย หากอาการผิดปกติของข้อเข่าอยู่ในระดับที่สมควรผ่าตัดได้แล้วตามดุลพินิจของแพทย์ การรักษาด้วยวิธีอื่นก็อาจเป็นเพียงวิธีบรรเทาอาการไม่ให้รุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่อาจไม่ได้ผลที่น่าพึงพอใจเหมือนกับการผ่าตัด และความเสียหายที่ยังเรื้อรังอยู่ก็อาจลุกลามไปก่ออาการบาดเจ็บที่กระดูกข้ออื่นได้อีกด้วย

เพื่อให้มีตัวเลือกในการรักษามากกว่าการผ่าตัดเพียงวิธีเดียว ผู้ที่รู้สึกว่าหัวเข่ามีความผิดปกติควรรีบเดินทางมาตรวจกับแพทย์โดยเร็ว เพื่อหาแนวทางการรักษาหรือประคองอาการไม่ให้รุนแรงไปกว่านี้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการผ่าตัดเสมอไป

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

การเตรียมก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่

1. การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าในด้านสุขภาพ

เพื่อให้สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยพร้อมต่อรับการผ่าตัด เช่น

  • แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ยาประจำตัว
  • งดน้ำ งดอาหาร 8-12 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
  • อาบน้ำสระผมให้เรียบร้อยในช่วงเย็นก่อนวันผ่าตัด หรือเช้าวันผ่าตัดให้เรียบร้อย
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทางสถานพยาบาลอาจขอให้โกนขนขาเพื่อสุขอนามัยระหว่างการผ่าตัด
  • พาญาติหรือคนสนิทมารอเฝ้าไข้ด้วย รวมถึงเฝ้าทรัพย์สิน ของมีค่า เครื่องประดับที่จะต้องถอดออกทั้งหมดก่อนเข้าผ่าตัด
  • ลางานล่วงหน้าประมาณ 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากเมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วก็จะต้องมีการพักฟื้นที่โรงพยาบาลต่อประมาณ 5-7 คืน หรือตามที่แพทย์ประเมินความเหมาะสม

2. การเตรียมสถานที่ก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวและการทำท่าอิริยาบถที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดควรเตรียมสถานที่ให้สะดวกต่อการพักฟื้นหลังจากผ่าตัด เช่น

  • เก็บสิ่งกีดขวางทางเดินออกไปให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยสะดุดล้มหรือลื่นล้ม เช่น พรมเช็ดเท้า ม้านั่ง ที่วางเท้า ของเล่นเด็ก ควรให้พื้นที่ภายในบ้านหรือห้องพักฟื้นโล่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • ให้สิ่งของที่จำเป็นตั้งอยู่บนโต๊ะหรือชั้นวางที่สูงในระดับเอวขึ้นไป เพื่อให้ผู้ป่วยสะดวกต่อการหยิบโดยไม่ต้องก้ม ย่อตัว หรือนั่งยองๆ
  • ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ในการทรงตัวระหว่างหย่อนตัวนั่งลงกับโถชักโครก
  • ปูแผ่นกันลื่นในห้องน้ำ เพื่อลดโอกาสลื่นล้มในห้องน้ำระหว่างทำธุระส่วนตัว
  • ให้ผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้านชั้นล่างหรือสถานที่ที่ไม่ต้องขึ้นบันไดและพื้นต่างระดับ
  • ทำให้ห้องพักและบริเวณรอบๆ สถานที่พักฟื้นมีแสงสว่างเพียงพอ ไม่ง่ายต่อการสะดุดหรือหกล้ม

ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

กระบวนการที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าอาจมีระยะเวลาแตกต่างกันไปตามจำนวนกระดูกส่วนที่เสียหายและต้องนำออกเพื่อใส่ข้อเข่าเทียมเข้าไปแทน รวมถึงอุปกรณ์ผ่าตัดซึ่งในปัจจุบันได้นิยมใช้เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องเข้ามามากขึ้น เพื่อให้แผลหลังผ่าตัดเล็กลง โดยขั้นตอนหลักๆ มีดังต่อไปนี้

  1. แพทย์วางยาสลบ โดยอาจเป็นวิธีดมยาหรือฉีดยาสลบเข้าไขกระดูกสันหลัง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  2. แพทย์ผ่าเปิดแผลขนาดประมาณ 1-10 เซนติเมตรบริเวณข้อเข่า จำนวนแผลที่ต้องเปิดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของรอยโรคที่เกิดขึ้น
  3. แพทย์ใช้กล้องขนาดประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ผ่านำกระดูกข้อเข่าส่วนที่เสียหายออก
  4. แพทย์นำวัสดุข้อเข่าเทียมใส่เข้าไปแทนที่กระดูกข้อเข่าส่วนที่เสียหาย
  5. แพทย์ปรับเส้นเอ็นบริเวณข้อเข่าให้ตึงพอดี ไม่โก่งงอ
  6. เจ้าหน้าที่ย้ายผู้ป่วยเข้าไปพักในห้องพักฟื้นต่อประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อรอให้ผู้ป่วยฟื้นจากยาสลบ
  7. ในช่วงคืนที่นอนพักอยู่ที่โรงพยาบาล 1-2 วันแรก ผู้ป่วยอาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะ และต้องรับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ ซึ่งแพทย์จะใส่สายมาตั้งแต่ในห้องผ่าตัด หากหลังจากนั้นผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้น แพทย์จะถอดสายสวนออกให้

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว ถึงแม้ในหลายสถานพยาบาลจะอนุญาตให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้บ้างในทันทีหลังผ่าตัด แต่ก็ยังต้องมีกระบวนการดูแลตนเองเพื่อพักฟื้นให้แผลหลังผ่าตัดค่อยๆ สมานตัวได้ดี รวมถึงเพื่อให้กระดูกข้อเข่าที่มีข้อเข่าเทียมเข้าไปเสริมได้รับการปรับตัวให้ทำงานร่วมกันได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น เช่น

  • 1 วันหลังผ่าตัด ให้นอนยืดขาตรง โดยอาจต้องใช้หมอนรองใต้ส้นเท้า และห้ามงอเข่า
  • หมั่นขยับขาและข้อเท้าเพื่อป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำบริเวณขา ผ่านการกระดกปลายเท้าแล้วเกร็งค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นกระดกปลายเท้าลง
  • เมื่อผ่านไป 2-3 วันหลังผ่าตัด หากไม่มีอาการแทรกซ้อน แพทย์จะอนุญาตให้กินอาหารเองได้ตามปกติ
  • หมั่นเคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ อยู่เรื่อยๆ เช่น พลิกตะแคงตัว ลุกขึ้นนั่งจากเตียงประมาณ 2-3 ครั้งต่อวัน แต่ในระหว่างที่ทำจะต้องมีญาติและพยาบาลคอยสังเกตอาการอยู่ด้วยเสมอ
  • หากลองแตะแผลแล้วยังมีสัมผัสอุ่นๆ ให้ประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการ อาการนี้อาจกินเวลาถึง 3 เดือนหลังผ่าตัด และมักพบได้บ่อยในช่วงหลังออกกำลังกาย
  • ทำกายภาพและฝึกเคลื่อนไหวร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์ โดยหลังจากร่างกายฟื้นตัวหลังผ่าตัดดีแล้ว แพทย์และนักกายภาพบำบัดจะเริ่มให้ผู้ป่วยฝึกเดิน รวมถึงฝึกการบริหารกล้ามเนื้อขาโดยมีอุปกรณ์ช่วยเดินแบบ 4 ขาหรือเครื่องช่วยขยับเข่าคอยพยุงการทรงตัว
  • งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และงดอาหารหมักดอง เนื่องจากจะทำให้แผลฟื้นตัวช้าและเสี่ยงเกิดปัญหาอักเสบได้
  • งดออกกำลังกายท่าที่ใช้หัวเข่าหรือเกิดแรงกระแทก
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์พอดี เพื่อไม่ให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักร่างกายมากเกินไป
  • ระมัดระวังอย่าให้เกิดการหกล้มหรือลื่นหกล้ม หากต้องเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกาย ควรอยู่ในสายตาของญาติเสมอ
  • งดขับรถในระยะแรกหลังผ่าตัด
  • เมื่อครบ 1 เดือนหลังผ่าตัด ให้หมั่นเดินโดยใช้อุปกรณ์ช่วยเดินร่วมด้วย โดยให้หมั่นเดินทุกๆ 1-2 ชั่วโมงอยู่เรื่อยๆ เพื่อสร้างความคุ้นชินในการเคลื่อนไหวร่างกายโดยมีข้อเข่าเทียมเป็นตัวช่วย
  • หลังจากอยู่ในท่าเดินหรือนั่งห้อยขา ให้นอนยกปลายเท้าสูงกว่าระดับหัวใจ
  • กลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจแผลและตรวจดูสมรรถภาพข้อเข่าตามนัดหมายทุกครั้ง

ผลข้างเคียงของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

แม้จะเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัยและมีทั้งแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดคอยสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดต่ออีกหลายวัน แต่ก็ยังมีโอกาสที่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าละเกิดผลข้างเคียงและอาการแทรกซ้อนบางอย่างได้ เช่น

  • กระดูกข้อเข่าแท้กับข้อเข่าเทียมไม่สมานตัวเข้าหากัน หรือกระดูกข้อเข่าเทียมขยับเขยื้อนไปจากตำแหน่งที่แพทย์ติดตั้งเอาไว้ในแนวกระดูกข้อเข่า
  • วัสดุข้อเข่าเทียมชำรุดหรือแตกหักหลังผ่าตัด
  • เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการชา ภาวะเท้าตก ทำให้ต้องเดินลากเท้าหรือกระดกปลายเท้าไม่ได้
  • แผลผ่าตัดอักเสบหรือติดเชื้อ
  • ภาวะหลอดเลือดอุดตัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดขา ปวดน่อง รวมถึงบริเวณขา ข้อเท้า และเท้ามีอาการบวมเพิ่มขึ้น
  • เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าพักฟื้นกี่วัน

โดยทั่วไป แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักสังเกตอาการและความคืบหน้าของสมรรถภาพข้อเข่าหลังผ่าตัดประมาณ 5-7 วัน

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยแต่ละรายจะขึ้นอยู่กับหลายๆ เงื่อนไข เช่น ดุลยพินิจของแพทย์ ประวัติด้านสุขภาพของตัวผู้ป่วย การฟื้นตัวของร่างกายหลังผ่าตัด รวมถึงเทคนิคการผ่าตัดของทางสถานพยาบาลซึ่งในบางแห่งก็อนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านต่อได้เร็วกว่านั้น

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นการผ่าตัดที่ไม่ได้มีกระบวนการสำคัญเพียงในวันที่ผ่าตัดเท่านั้น แต่การดูแลและฟื้นฟูข้อเข่าหลังผ่าตัดก็สำคัญไม่แพ้กัน และต้องอาศัยความร่วมมือทั้งฝั่งแพทย์และผู้ป่วยในการคืนสมรรถภาพที่แข็งแรงให้กับกระดูกข้อเข่าอีกครั้ง

Scroll to Top