ลบรอยสักด้วยเลเซอร์ เป็นวิธีการลบรอยสักที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันเพราะทำได้ง่าย มีประสิทธิภาพดี มีโอกาสเกิดแผลเป็นน้อย หรือไม่เกิดรอยแผลเป็นเลย ลบรอยสักด้วยเลเซอร์เป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง เมื่อเทียบกับการศัลยกรรมขัดผิวหนัง และศัลยกรรมผ่าตัดลบรอยสักออก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การลบรอยสักด้วยเลเซอร์ได้ผลลัพธ์ที่ดี และมีภาวะแทรกซ้อนน้อย จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวทั้งก่อนและหลังการทำเลเซอร์
สารบัญ
ลบรอยสักด้วยเลเซอร์คืออะไร?
ลบรอยสักด้วยเลเซอร์ (Laser Surgery) คือ การใช้คลื่นแสงที่มีค่าพลังงานต่างๆ ยิงลงไปบริเวณรอยสักนั้นๆ เพื่อทำให้เม็ดสีในส่วนชั้นบนของผิวหนังแตกตัวเป็นอนุภาคเล็กๆ
อนุภาคเม็ดสีที่ว่านี้ยิ่งมีขนาดเล็กมากเท่าไหร่ เม็ดเลือดขาวในร่างกายก็ยิ่งสามารถกำจัดอนุภาคของเม็ดสีเหล่านั้นออกไปได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น
การเลือกประเภทของเลเซอร์นั้นจะได้ผลดีแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสีที่ใช้ในการสัก ซึ่งโดยทั่วไปรอยสักสีเข้ม เช่น ดำ น้ำตาล น้ำเงินเข้ม เขียว จะลบได้ง่ายกว่าสีแดง สีเหลือง สีส้ม เพราะสีเหล่านี้จะลงไปในชั้นผิวหนังระดับลึกกว่านั่นเอง
นอกจากนี้ประสิทธิภาพของการลดรอยสักด้วยเลเซอร์ยังขึ้นอยู่กับระดับความลึกของการสัก และระยะเวลาของการสักว่า สักมานานเท่าไร รวมทั้งปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ที่สักเองด้วย
การลบรอยสักด้วยเลเซอร์หากเป็นรอยสักสีเข้ม มีขนาดเล็ก และสักในระดับตื้น ทำเลเซอร์เพียง 1-3 ครั้ง ความคมชัดของรอยสักก็จางลงและหายได้แล้ว
เลเซอร์ลบรอยสัก มีกี่ชนิด?
เลเซอร์ที่นิยมใช้ลบรอยสักมีหลายชนิด เช่น เลเซอร์ IPL เลเซอร์ Q-switch เลเซอร์แต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติในการทำลาย หรือสลายเม็ดสีแตกต่างกัน
ปัจุบันเลเซอร์ที่นิยมใช้มากและได้ผลดี มี 3 ชนิด คือ เลเซอร์ทับทิม ( Q-switch Ruby Laser), Nd- YAG Laser และ Picoway Laser
ทั้งนี้ Picoway Laser ถือว่า มีคุณสมบัติสูงที่สุดในบรรดาเลเซอร์ เพราะนอกจากจะสามารถลบได้ทุกเฉดสีแล้ว ยังสามารถส่งเลเซอร์ลงไปยังชั้นผิวหนังแท้ได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัย
อีกทั้งยังมีเทคโนโลยี Picosecond laser ในการกำจัดเม็ดสีส่วนเกินออกไปจากผิวในระยะเวลาที่สั้นมากๆ หากเทียบกับเลเซอร์ Q – Switchedแล้ว Picosecond มีความเร็วกว่าเลเซอร์ Q – Switched หรือ Nanosecond 1,000 เท่า
ด้วยความเร็วระดับนี้จึงทำให้เม็ดสีบนชั้นผิวหนัง แตกตัวเป็นอนุภาคขนาดเล็กมากๆ ยิ่งมีขนาดเล็กมากเท่าไหร่ ร่างกายก็ยิ่งสามารถกำจัดอนุภาคของเม็ดสีเหล่านั้นออกไปได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น เครื่องเลเซอร์ PicoWay จึงสามารถแก้ไขความผิดปกติของเม็ดสีที่มากเกินออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เตรียมตัวอย่างไร? ก่อนลบรอยสักด้วยเลเซอร์
การลบรอยสักด้วยเลเซอร์ควรทำโดยแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ดังนั้นเมื่อตัดสินใจจะลบรอยสัก ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์จะตรวจผิวหนังบริเวณรอยสักเดิม ประเมินลักษณะสีรอยสัก เพื่อเลือกชนิดของเลเซอร์ที่เหมาะสมสำหรับการลบรอยสักนั้นๆ
เนื่องจากรอยสักแต่ละสีต้องใช้เลเซอร์ต่างชนิดกันในการลบ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
จากนั้นแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญจะนัดหมายวันเวลาสำหรับเข้ารับการลบรอยสักต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์การลบรอยสักที่ดีที่สุด ควรเตรียมตัวต่อไปนี้
- งดเว้นระยะเวลาจากการสักอย่างต่ำ 4 สัปดาห์
- งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ก่อนเข้ารับบริการ
- งดการรับประทานยา หรืออาหารเสริมที่มีผลให้เลือดออกง่าย อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนเข้ารับบริการ เช่น ยาแก้ปวด น้ำมันตับปลา วิตามินอี แปะก๊วย
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับบริการ
ขั้นตอนการลบรอยสักด้วยเลเซอร์ เป็นอย่างไร?
เริ่มทายาชาให้ทั่วรอยสักที่ต้องการลบออก ทิ้งไว้ราว 30-35 นาที เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ แล้วจึงเริ่มทำหัตถการด้วยเครื่องเลเซอร์ที่เหมาะสมกับรอยสักนั้นๆ
ผู้เข้ารับบริการอาจจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย บางรายอาจจะมีเลือดออกซึมๆ ได้ แพทย์จะทําการป้ายยา และปิดพลาสเตอร์ใสกันน้ำให้
ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 15-20 นาที ก็แล้วเสร็จ (ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยสัก) หลังทำหัตถการเสร็จสามารถกลับไปทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อได้เลย โดยไม่ต้องพักฟื้นแต่อย่างใด
หลังเข้ารับบริการ 1-3 ครั้ง จะเริ่มเห็นผลการเปลี่ยนแปลงของรอยสักว่า มีความคมชัดลดลง สีซีดจางลง (จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนในรอยสักที่มีสีเข้ม และรอยสักที่มีขนาดเล็ก) จึงควรพบแพทย์ตามนัด และทำอย่างต่อเนื่อง จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี
ดูแลตัวเองอย่างไร? หลังลบรอยสักด้วยเลเซอร์
เพื่อให้ผลลัพธ์ในการทำเลเซอร์ลบรอยสักดีที่สุด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ ดังต่อไปนี้
- ประคบเย็นหลังทำเลเซอร์อย่างน้อย 20 นาที เพื่อลดการเลือดออกใต้ชั้นผิวหนัง
- ห้ามให้บริเวณที่ลบรอยสักโดนน้ำประมาณ 3-4 วัน เพื่อให้บริเวณที่ทำเลเซอร์แห้ง
- ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำสะอาด วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น หลังจากนั้นรอให้แห้ง แล้วทายาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสะเก็ดหลุด ห้ามแกะสะเก็ดออกเองเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
- หากมีอาการคันสามารถทายาที่แพทย์สั่ง แต่ห้ามแกะ เกา เด็ดขาด
- หากมีอาการปวดแผล สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
- อาจมีตุ่มน้ำพองใสขึ้นบริเวณที่ทำหัตถการ ห้ามเจาะน้ำตุ่มน้ำเองเด็ดขาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และไม่ต้องกังวลเพราะตุ่มนี้จะหายไปเองในภายหลัง
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างคอลลาเจน
- งดออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาที่อาจเกิดแรงปะทะ หรือการเสียดสีบริเวณแผลที่ทำเลเซอร์
- รับประทานอาหารที่มีคอลลาเจน หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคอลลาเจนเพื่อช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน
- ไม่ควรออกแดด หรือโดนแสงแดดโดยตรงอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสความร้อนทุกชนิดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางหรือครีมบำรุงทุกชนิด ทาลงบนแผลลบรอยสัก และหลังสะเก็ดหลุดออกมา จึงสามารถกลับมาทาครีมบำรุงได้ตามปกติ
- ถ้ามีอาการอักแสบ บวมแดง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจดูอาการ และหาสาเหตุของการอักเสบ
- มารับการตรวจตามที่แพทย์ได้นัดหมายไว้
เมื่อแผลหายแล้ว แนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด และควรใช้ครีมกันแดดอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 2-3 เดือน
การลบรอยสักด้วยเลเซอร์อาจไม่เห็นผลชัดเจนในครั้งแรกขึ้นอยู่กับสี ขนาดของรอยสัก ระยะเวลาในการสักที่ผ่านมา ระดับความลึกในการสัก และการตอบสนองต่อเลเซอร์ในแต่ละบุคคลดังที่ได้กล่าวมา
ดังนั้นหากต้องการให้รอยสักที่ไม่ต้องการหมดไป ไม่รบกวนสายตา หรือก่อความไม่สะดวกใดๆ อีก จึงจำเป็นต้องทำเลเซอร์อย่างต่อเนื่อง และดูแลตนเองตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ที่มาของข้อมูล
- ผศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, การลบรอยสักด้วยเลเซอร์, 6 มิถุนายน 2564.
- American society of plastic surgeons, Tattoo Removal Eliminate Unwanted Tattoos (https://www.plasticsurgery.org/cosmetic-procedures/tattoo-removal), 6 June 2021.
- Erica Cirino, Everything You Need to Know About Tattoo Removal (https://www.healthline.com/health/tattoo-removal-how), 6 June 2021.
- Sakshi Grover, 10 Ways to Remove Your Permanent Tattoo That are Super Effective (https://parenting.firstcry.com/articles/magazine-10-ways-to-remove-your-permanent-tattoo-that-are-super-effective/), 6 June 2021.