ดูดไขมันต้นขา ปลอดภัยและได้ผลจริงหรือ

ดูดไขมันต้นขา ปลอดภัยและได้ผลจริงหรือ?

ต้นขาใหญ่ หนึ่งในปัญหาหนักใจของสาวๆ หลายคน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ต้นขาเป็นส่วนที่ง่ายต่อการสะสมไขมัน แต่กลับเป็นส่วนที่ลดยากที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น ในบางคนที่ถึงแม้ร่างกายส่วนอื่นๆ จะผอมเพรียว แต่ก็อาจมีการสะสมของไขมันบริเวณต้นขาและทำให้เรือนร่างช่วงล่างแลดูใหญ่ ไม่สมส่วน ส่งผลต่อความมั่นใจ

ถึงแม้ว่าต้นขาจะเป็นส่วนที่ลดยากที่สุด แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีเลย เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้สาวๆ สามารถจัดการกับไขมันช่วงต้นขาได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และเห็นผล ด้วยวิธีการดูดไขมันนั่นเอง

ทำความรู้จักการดูดไขมัน

การดูดไขมัน (Liposuction) เป็นเทคนิคการลดไขมันที่สะสมในร่างกาย โดยการใช้ท่อที่มีขนาดเล็กประมาณ 3-6 มิลลิเมตรสอดผ่านแผลขนาดเล็กเข้าใต้ผิวหนัง เพื่อดูดไขมันส่วนที่ไม่ต้องการออก

อย่างไรก็ตาม การดูดไขมันไม่ใช่การลดความอ้วน เป็นเพียงการกำจัดไขมันเฉพาะส่วนรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

การดูดไขมันบริเวณต้นขามีแบบไหนบ้าง?

การดูดไขมันบริเวณต้นขาเพื่อลดกระชับสัดส่วนในผู้ที่มีการสะสมไขมันในบริเวณดังกล่าวมีหลากหลายวิธี เช่น

  • การดูดไขมันโดยใช้แรงดันน้ำ
  • การใช้เลเซอร์
  • การดูดไขมันด้วยการใช้คลื่นความถี่สูง (Ultrasonic liposuction)

วิธีการดูไขมันด้วยการใช้เลเซอร์ และคลื่นความถี่สูง พบว่า มีประสิทธิภาพในการทำให้ผิวหลังการดูดกระชับกว่าวิธีอื่น รวมถึงยังเสียเลือดน้อยกว่าอีกด้วย

การดูดไขมันด้วยการใช้คลื่นความถี่สูงเป็นวิธีที่ค่อนข้างได้รับความนิยม เนื่องจากมีประสิทธิภาพดี ความปลอดภัยสูง ไม่ส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อ หลอดเลือด และเส้นประสาทช่วงต้นขา

วิธีทำคือ ใช้ท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร เจาะผ่านชั้นผิวหนังด้านนอกหรือใน แล้วปล่อยคลื่นความถี่เพื่อสลายไขมัน จากนั้นจึงค่อยดูดไขมันที่สลายออกมา

แผลจากการดูดไขมันในรูปแบบนี้จะมีขนาดเล็ก ทำให้ผู้รับการดูดไขมันฟื้นตัวเร็ว

ดูดไขมันต้นขาตรงไหนได้บ้าง?

หลายคนอาจสงสัยว่า การดูดไขมันช่วงต้นขาต้องดูดตรงไหนบ้าง ดูดกี่จุด

เหล่านี้ขึ้นอยู่กับลักษณะรูปร่างและปริมาณของไขมันที่สะสม ตลอดจนความคาดหวังในการรักษาของผู้รับบริการ แต่โดยปกติแล้ว ในคนที่ร่างกายไม่ได้อ้วนมาก ดูดไขมันเฉพาะบริเวณต้นขาด้านนอกก็สามารถให้ผลลัพธ์ตามความคาดหวังได้

แพทย์จะลงแผลบริเวณต้นขาด้านบน ใกล้ๆ สะโพก และอาจจะลงแผลเพิ่มบริเวณเข่าด้านนอก ข้างละ 2 จุด

แต่ในบางกรณีที่มีปริมาณไขมันสะสมจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องดูดดไขมันบริเวณด้านในด้วย เพื่อให้ผลลัพธ์เป็นไปตามความคาดหวัง ซึ่งการดูดไขมันบริเวณนี้ แพทย์จะลงแผลเข้าได้ในใกล้ขาหนีบประมาณ 1-2 จุด

ขั้นตอนการดูดไขมันบริเวณต้นขา

การดูดไขมันบริเวณต้นขาคือ การศัลยกรรมตกแต่งด้วยการผ่าตัดรูปแบบหนึ่ง มีขั้นตอนการรักษาดังต่อไปนี้

  1. พบศัลยแพทย์ตกแต่ง ปรึกษาและพูดคุยถึงความคาดหวังในการรักษา ผลจากการรักษา ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องแจ้งประวัติการรักษาในส่วนต่างๆ เช่น ยาโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยาหรืออาหาร
  2. แพทย์ระบุตำแหน่งที่จะดูดไขมันออก ในกรณีที่จะดูดไขมันออกเพียงจุดเดียวและมีไขมันปริมาณไม่มาก อาจใช้ยาชา แต่ถ้าดูดไขมันหลายจุดและปริมาณมาก จะต้องทำภายใต้การดมยาสลบ
  3. แพทย์ทำการเจาะแผลขนาดเล็กที่ผิวหนัง ขนาดเท่ากับขนาดของท่อที่จะทำการดูดไขมัน อย่างน้อยตำแหน่งละ 2 รู เพื่อให้การดูดไขมันเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
  4. เมื่อทำการดูดไขมันเสร็จ แพทย์จะทำการเย็บด้วยไหมชนิดที่ต้องตัดออก นอกจากนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่ผ้ายืด (Elastic bandage) สำหรับรัดตรงบริเวณที่ดูดไขมันออกไปแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดใหม่ เพื่อลดอาการบวม และเป็นการกดให้โพรงที่เกิดจากการดูดไขมันออกยุบติดกัน และไม่ให้เกิดการคั่งของน้ำเหลือง

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการดูดไขมันบริเวณต้นขา

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังการดูดไขมัน การออกกำลังกาย และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้

  • หลังจากการดูดไขมันในช่วง 1-2 แรก อาจมีน้ำซึมจากแผล แต่จะค่อยๆ ลดและหายไปเอง
  • ควรใส่ผ้ายืด (Elastic bandage) หรือชุดที่กระชับสัดส่วนในบริเวณต้นขาในช่วง 1 เดือนแรก
  • อาจมีอาการปวดล้าบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาได้บ้างเล็กน้อย แต่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติหลังทำการรักษา
  • สามารถออกกำลังกายเบาๆ ได้หลังผ่าตัด 3 สัปดาห์ และออกกำลังหนักได้หลังผ่าตัด 6 สัปดาห์
  • อาการช้ำและปวดจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์
  • จะเห็นผลการดูดไขมันต้นขาได้ 80-90% เมื่อผ่านไป 3 เดือน

การดูดไขมันต้นขาอันตรายหรือไม่?

เนื่องจากปัจจุบันมีการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อกำจัดไขมัน กระชับสัดส่วน อย่างต่อเนื่อง ทำให้การดูดไขมันแบบต่างๆ ปลอดภัยขึ้น

อย่างไรก็ตาม การดูดไขมันเป็นการผ่าตัดแบบหนึ่ง จึงอาจมีภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษาเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับความชำนาญการของแพทย์ผู้ทำการรักษา ได้แก่

  • ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น การเสียเลือดมาก การได้ยาชา หรือยาสลบเกินขนาด ภาวะเม็ดไขมันไปอุดตันในหลอดเลือดที่ต้นขาหรือปอด แพ้ยา หรือสารที่ใช้ในการช่วยดูดไขมัน ภาวะที่เครื่องมือทะลุเข้าไปยังอวัยวะภายใน
  • ภาวะแทรกซ้อนทั่วไป เช่น ภาวะผิวหนังเป็นคลื่นไม่เรียบ ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ

ถึงแม้ว่าการดูดไขมันบริเวณต้นขาจะเป็นวิธีการที่รวดเร็วและเห็นผลลัพธ์ค่อนข้างชัดเจนหลังทำ แต่การดูดไขมันต้นขาเป็นเพียงการนำไขมันที่ถูกสะสมออกมาเพียง 60%

นั่นเท่ากับว่า ยังมีไขมันบางส่วนเหลืออยู่ และมีโอกาสที่จะเกิดการสะสมเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต

ดังนั้นการดูดไขมันไม่ได้ให้ผลลัพธ์ถาวร ผู้ที่ทำการดูดไขมันบริเวณต้นขาจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดไขมันสะสมเพิ่ม ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เรียวขากระชับได้รูปในแบบที่ต้องการ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. รุจิรา เทียบเทียม


ที่มาของข้อมูล

  • Phillip J. Stephan, MD, Jeffrey M. Kenkel, MD, Updates and Advances in Liposuction, Aesthetic Surgery Journal, Volume 30, Issue 1, January 2010, Pages. 83–97.
  • Collins PS, Moyer KE., Evidence-Based Practice in Liposuction, Ann Plast Surg. 2018 Jun;80(6S Suppl 6): S403-S405.
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, ดูดไขมันไม่ใช่วิธีลดความอ้วน และเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ (https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/ดูดไขมัน-ไม่ใช่วิธีลดค/), 19 December 2019.
Scroll to Top