การปลูกถ่ายตับเป็นหัตถการเพื่อกำจัดตับที่ป่วยหนักหรือเสียหายและทดแทนด้วยตับใหม่ที่มีสุขภาพดีกว่า การผ่าตัดจะแนะนำกับผู้ป่วยที่มีสภาพตับเสียหายจนไม่อาจรักษาได้และไม่สามารถทำงานได้ตามปรกติอีกต่อไป อย่างเช่นผู้ป่วยภาวะตับล้มเหลวหรือโรคตับระยะสุดท้าย
ตับสามารถค่อย ๆ ถูกทำลายได้จากอาการป่วย การติดเชื้อ หรือแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งความเสียหายที่ตับจากสาเหตุเหล่านี้จะเรียกว่าภาวะตับแข็ง ส่วนภาวะตับล้มเหลวสามารถเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อันเนื่องมาจากการติดเชื้อและการตายของเนื้อเยื่อตับ
สารบัญ
- สาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่ตับ
- ใครสามารถเข้ารับการปลูกถ่ายตับได้บ้าง?
- ประเภทของการปลูกถ่ายตับ
- การรอคอยตับ
- ชีวิตหลังการปลูกถ่ายตับ
- ความเสี่ยงของการปลูกถ่ายตับ
- ใครสามารถเข้ารับการปลูกถ่ายได้?
- การประเมินคุณภาพชีวิต
- การคาดประมาณอัตรารอดชีวิต
- ใครไม่สามารถเข้ารับการปลูกถ่ายได้?
- การรอคอยตับ
- การเตรียมความพร้อมรับการปลูกถ่าย
- การรับมือกับการรอคอยในรายชื่อสำรอง
- การดำเนินการ
- ประเภทของการปลูกถ่าย
- หลังการผ่าตัด
- ภาวะแทรกซ้อน
สาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่ตับ
มีตัวอย่างดังนี้
- โรคตับที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ (ARLD): ที่ซึ่งตับเกิดบาดแผลเนื่องมาจากการรับแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ๆ ในช่วงหลายปี
- ตับอักเสบ: โรคที่นำโดยเลือดอย่างโรคตับอักเสบ B และโรคตับอักเสบ C อาจเข้าไปสร้างความเสียหายแก่ตับได้
- โรคตับแข็งที่ไม่ทราบสาเหตุ: เป็นภาวะที่ไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดความเสียหายที่ตับได้
- ท่อน้ำดีอักเสบแข็งปฐมภูมิ (PSC): ภาวะที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่กินระยะเวลานานที่ตับ
- การปลูกถ่ายตับสามารถใช้เป็นกรรมวิธีรักษาโรคมะเร็งตับได้อีกเช่นกัน
สำหรับผู้ที่มีภาวะตับล้มเหลว หนทางเดียวที่จะช่วยยืดชีวิตของพวกเขาคือการปลูกถ่ายตับ เนื่องมาจากตับนั้นไม่เหมือนกับอวัยวะไต หัวใจ หรือปอด ที่การฟอกเลือดสามารถทำงานแทนอวัยวะเหล่านี้ได้
ใครสามารถเข้ารับการปลูกถ่ายตับได้บ้าง?
ก่อนการปลูกถ่ายตับ คุณต้องผ่านกระบวนการประเมินความเหมาะสมอย่างเข้มงวดเสียก่อน โดยส่วนมาก ผู้ที่สามารถเข้ารับการปลูกถ่ายตับได้จะต้องตรงตามเงื่อนไขเหล่านี้เสียก่อน หากไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ คุณจะมีอายุขัยสั้นกว่าคนทั่วไป หรือจะมีคุณภาพชีวิตย่ำแย่จนแทบทนไม่ได้
แพทย์ต้องคาดการณ์ว่าคุณมีโอกาสรอดชีวิตอย่างน้อย 50% เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีหลังการปลูกถ่าย และมีคุณภาพชีวิตที่ยอมรับได้
ผู้คนส่วนมากจะอยู่ในเกณฑ์เหล่านี้และสามารถเข้ารับการปลูกถ่ายตับได้ แต่ก็มีบางกรณีที่ทำให้คุณไม่เหมาะสมจะเข้ารับการผ่าตัด เช่น คุณไม่สามารถรับการผ่าตัดเปลี่ยนตับได้หากยังคงดื่มแอลกอฮอล์อยู่ หรือคุณเป็นมะเร็งตับที่ได้ลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกายแล้วจะมีการทดสอบมากมายเพื่อระบุความเหมาะสมของคุณก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ
ประเภทของการปลูกถ่ายตับ
การปลูกถ่ายตับมีกระบวนการอยู่ 3 หลัก
- การบริจาคอวัยวะจากผู้เสียชีวิต: เป็นการนำตับมาจากผู้ที่เพิ่งเสียชีวิต
- การปลูกถ่ายตับที่มาจากผู้ให้บริจาคที่ยังมีชีวิต: จะใช้ชิ้นส่วนของตับจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ เนื่องจากตับสามารถฟื้นฟูตนเองได้ ซึ่งหมายถึงชิ้นส่วนตับทั้งจากผู้บริจาคและผู้รับบริจาคจะกลับมาเติบโตกลับไปยังขนาดเดิมได้
- การบริจาคแบบแบ่ง: จะมีการนำตับมาจากผู้ที่เพิ่งเสียชีวิตมาตัดแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะถูกนำไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย ส่วนอีกส่วนจะถูกเลี้ยงให้เติบโตให้มีขนาดปกติ
การปลูกถ่ายตับส่วนมากดำเนินการด้วยการใช้ตับจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว
การรอคอยตับ
ในตอนนี้มีผู้ป่วยที่ต้องการตับมากกว่าจำนวนผู้ให้บริจาคอย่างมาก ทำให้ต้องมีการสำรองรายชื่อไว้ โดยส่วนมาก ระยะเวลารอการปลูกถ่ายจะเฉลี่ยอยู่ที่ 145 วันสำหรับผู้ใหญ่ และสำหรับเด็กจะเฉลี่ยอยู่ที่ 72 วัน
ขณะที่คุณอยู่ในกลุ่มสำรอง คุณต้องพยามรักษาสภาพร่างกายให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และคอยการติดต่อกลับจากศูนย์ปลูกถ่ายอยู่เสมอ ทั้งกลางวันและกลางคืน
คุณต้องคอยแจ้งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ กลับไปยังศูนย์ อย่างเช่นสุขภาพของคุณเปลี่ยนแปลง ย้ายที่อยู่ หรือเปลี่ยนข้อมูลการติดต่อ เป็นต้น
ชีวิตหลังการปลูกถ่ายตับ
อาการต่าง ๆ ของคุณจะดีขึ้นมาหลังการปลูกถ่าย แต่ผู้คนส่วนมากต้องพักรักษาตัวก่อนที่โรงพยาบาลเป็นเวลามากถึง 2 สัปดาห์ การฟื้นร่างกายจากการปลูกถ่ายเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน ซึ่งส่วนมากจะค่อย ๆ กลับไปดำเนินกิจกรรมประจำวันได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน คุณจะถูกนัดหมายติดตามผลเพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษาและจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันไว้เพื่อช่วยให้ร่างกายไม่สร้างปฏิกิริยาต่อต้านอวัยวะใหม่ ซึ่งมักจะต้องทานยาตัวนี้ไปตลอดชีวิต
ความเสี่ยงของการปลูกถ่ายตับ
ผลลัพธ์ระยะยาวของการปลูกถ่ายตับค่อนข้างดี โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายมากกว่า 9 ใน 10 คนยังคงมีชีวิตอยู่หลังจากผ่าตัด 1 ปี ประมาณ 8 ใน 10 คนจะมีชีวิตต่อไปอย่างน้อย 5 ปี และผู้คนส่วนมากสามารถใช้ชีวิตต่อไปมากถึง 20 ปี
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดปลูกถ่ายตับก็เป็นหัตถกรรมใหญ่ที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่น ซึ่งอาจจะเกิดระหว่าง หลังจากการผ่าตัดทันที หรือหลังจากนั้นหลายปีก็ได้
โดยปัญหาหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกถ่ายตับมีดังนี้
- ร่างกายปฏิเสธตับใหม่
- ตกเลือด
- ตับใหม่ไม่สามารถทำงานได้ภายในชั่วโมงแรก ๆ ทำให้ต้องมีการปลูกถ่ายใหม่ทันทีที่ทำได้
- มีความเสี่ยงที่ร่างกายจะติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- ไตเสียการทำงานไป
- ปัญหากับการไหลเวียนโลหิตเข้าและออกตับใหม่
- ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบางชนิดเพิ่มขึ้น อย่างมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น
อีกทั้งยังมีโอกาสที่ภาวะเดิมจะกลับมารังควานคุณได้อีกเช่นกัน
ใครสามารถเข้ารับการปลูกถ่ายได้?
จะมีกระบวนการประเมินตัดสินการเข้าร่วมการปลูกถ่ายตับอย่างเข้มงวด เนื่องจากทั่วโลกยังคงขาดแคลนผู้ให้บริจาคตับอยู่มาก โดยส่วนมาก ผู้ที่สามารถเข้ารับการปลูกถ่ายตับได้จะต้องตรงตามเงื่อนไขเหล่านี้เสียก่อน หากไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ คุณจะมีอายุขัยสั้นกว่าคนทั่วไป หรือจะมีคุณภาพชีวิตย่ำแย่จนแทบทนไม่ได้
แพทย์ต้องคาดการณ์ว่าคุณมีโอกาสรอดชีวิตอย่างน้อย 50% เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีหลังการปลูกถ่าย และมีคุณภาพชีวิตที่ยอมรับได้ ศูนย์ปลูกถ่ายมักใช้ระบบคะแนนเพื่อคำนวณความเสี่ยงอัตราการเสียชีวิตหากคนคนหนึ่งไม่ได้เข้ารับการปลูกถ่ายตับ
การประเมินคุณภาพชีวิต
การประเมินคุณภาพชีวิตมีขึ้นเพื่อสังเกตการณ์ว่าอาการของโรคที่คุณเป็นส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างเช่น:
- อาการเหนื่อยล้า อ่อนแอ หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
- การบวมที่ช่วงท้อง ซึ่งเกิดมาจากการสะสมกันของของเหลว (มานเลือด) และไม่ตอบสนองต่อการรักษา
- มีอาการหายใจลำบากที่ค่อย ๆ ทุเลาลง
- ความเสียหายของตับส่งผลไปยังสมอง (โรคสมองจากโรคตับ) ทำให้เกิดความสับสน ลดระดับจิตสำนึก และอาจทำให้เกิดภาวะโคม่าได้ในกรณีที่รุนแรง
- มีอาการคันที่ผิวหนังเรื้อรัง
การคาดประมาณอัตรารอดชีวิต
การประเมินอัตราการรอดชีวิตของคุณจะขึ้นอยู่กับ
- อายุ
- สภาวะปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่างโรคหัวใจ
- การคาดการณ์สภาพของตับผู้บริจาคว่ามีสุขภาพดีขนาดไหนหลังการปลูกถ่าย
- ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการผ่าตัดและผลข้างเคียงของการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน (ทั้งทางร่างกายและจิตใจ)
- การทดสอบจะดำเนินเพิ่มประเมินสุขภาพและโอกาสในการรอดชีวิตของคุณ โดยรวมไปถึงการตรวจสภาพหัวใจ ปอด ไต และตับ อีกทั้งยังเพื่อมองหาสัญญาณของมะเร็งตับอีกด้วย
ใครไม่สามารถเข้ารับการปลูกถ่ายได้?
แม้ว่าคุณจะมีเงื่อนไขตรงตามเกณฑ์ก็ตาม แพทย์อาจพิจารณาว่าคุณไม่เหมาะกับการปลูกถ่ายได้หากคุณมีภาวะที่ส่งผลต่อโอกาสในความสำเร็จของการผ่าตัด ยกตัวอย่าง เช่น
- มีภาวะขาดสารอาหารและกล้ามเนื้ออ่อนแอรุนแรง
- มีการติดเชื้อในร่างกาย: โดยสามารถรอให้การติดเชื้อหายไปเสียก่อนได้
- AID (ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV)
- มีภาวะหัวใจและ/หรือตับรุนแรง อย่างภาวะหัวใจล้มเหลว หรือโรคอุดกั้นร้ายแรง (COPD)
- มีปัญหาสุขภาพจิตหรือพฤติกรรมร้ายแรงจนทำให้คุณไม่อาจปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์หลังการปลูกถ่ายได้
- เป็นมะเร็งตับที่ลุกลามไปมาก: จนไม่อาจรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายตับอีกต่อไป
นอกจากนี้ การปลูกถ่ายตับยังไม่ถูกแนะนำกับผู้ที่ติดสุราหรือยา โดยศูนย์ปลูกถ่ายส่วนมากจะพิจารณาเฉพาะผู้ที่ต้องเข้ารับการปลูกถ่ายที่ไม่ได้รับแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดใด ๆ ในช่วงไม่กี่เดือน
การรอคอยตับ
เนื่องจากกว่าทุกวันนี้ยังคงขาดแคลนตับดีอยู่มาก ทำให้การปลูกถ่ายตับมักไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ทำให้คุณต้องอยู่ในกลุ่มสำรองชื่อไปก่อน
ขึ้นอยู่กับความต้องการทางการรักษาของแต่ละบุคคล คุณอาจถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อต้น ๆ หรือกลาง ๆ ก็ได้ ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากมีสุขภาพดีพอจะสามารถรออยู่บ้านเพื่อรอตับเข้ามา
การเตรียมความพร้อมรับการปลูกถ่าย
สำหรับผู้ใหญ่ ระยะเวลารอคอยตับที่จะนำมาปลูกถ่ายเฉลี่ยคือ 145 วัน และ 72 วันสำหรับเด็ก
อย่างไรก็ตาม เวลารอของคุณอาจจะสั้นกว่านั้นหากรายชื่อคุณอยู่ลำดับความสำคัญต้น ๆ ในบางกรณีคุณก็สามารถดันรายชื่อของคุณให้สั้นลงได้หากว่ามีญาติหรือเพื่อนที่มีเลือดกรุ๊ปเดียวกับคุณต้องการเป็นผู้บริจาคตับแก่คุณ
หากลูกของคุณต้องการปลูกถ่ายตับ คุณก็อาจประสงค์จะปรึกษากับแพทย์หรือบุคลากรที่ศูนย์ปลูกถ่ายถึงความเป็นไปได้ว่าคุณจะสามารถเป็นผู้บริจาคได้หรือไม่
การรับมือกับการรอคอยในรายชื่อสำรอง
การอาศัยกับภาวะที่ตับเป็นเรื่องที่ท้าทาย และยิ่งเพิ่มความกังวลให้กับการรอคอยที่จะมากขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งอาจส่งผลต่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของคุณ
ให้ติดต่อแพทย์ผู้ดูแลหรือศูนย์ปลูกถ่ายที่คุณมีรายชื่ออยู่หากคุณประสบกับความลำบากในการรับมือทางอารมณ์ที่ต้องเฝ้ารอการปลูกถ่ายตับ
การดำเนินการ
คุณจะได้รับการติดต่อทันทีที่ศูนย์ปลูกถ่ายได้รับตับที่เหมาะสมกับคุณ โดยการโทรฯ ติดต่ออาจเป็นช่วงเวลาใดก็ได้ ทำให้คุณอาจใช้อุปกรณ์ส่งเสียงดังเตือนคุณเมื่อมีการติดต่อ และหากจำเป็น คุณอาจต้องหาวิธีการขนส่งไปยังศูนย์ปลูกถ่ายเตรียมเอาไว้ ในบางกรณีทางศูนย์อาจแจ้งคุณว่าต้องงดการดื่มหรือรับประทานอาหารตั้งแต่เวลาที่ศูนย์ติดต่อคุณจนกว่าจะไปถึงศูนย์ปลูกถ่าย ทันทีที่คุณไปถึงศูนย์ปลูกถ่าย คุณจะต้องเข้าถ่ายเอกซเรย์หน้าอก และเข้าทำอีเล็กโทรคาร์ดิโอแกรม (ECG) เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจและปอดของคุณอีกครั้ง และจึงจะได้รับยาสลบเพื่อเข้ารับการปลูกถ่ายในที่สุด
ประเภทของการปลูกถ่าย
การปลูกถ่ายตับมีอยู่ 3 ประเภทหลัก ๆ คือ
1. การปลูกถ่ายตับใหม่
เป็นการปลูกถ่ายตับที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด ที่ซึ่งจะนำตับเก่าทั้งก้อนออกมาและใส่ตับของผู้บริจาคเข้าไปใหม่
ศัลยแพทย์จะกรีดเข้าช่องท้องของคุณและนำตับเก่าออกมา แล้วจึงนำตับของผู้บริจาคเข้าไปในตำแหน่งเดียวกันและทำการเชื่อมเส้นเลือดและท่อน้ำดีทั้งหมด
หลังจากใส่ตับใหม่แล้ว รอยกรีดที่ผิวหนังจะถูกปิดด้วยคลิปผ่าตัดก่อนใช้ท่อดูดของเหลวออก และจะถูกทิ้งคาไว้เช่นนั้นหลายวันหลังจากผ่าตัด
2. การปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่ยังคงมีชีวิตอยู่
การปลูกถ่ายตับที่นำมาจากผู้ให้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ มักจะเป็นตับจากสมาชิกในครอบครัว โดยเป็นการผ่าตัดนำชิ้นส่วน (กลีบ) ด้านซ้ายหรือขวาของทั้งผู้ให้และผู้รับบริจาคมา
การนำกลีบขวาของตับมักใช้กับการผ่าตัดให้ผู้ใหญ่ สำหรับเด็กจะเป็นกลีบตับทางซ้ายแทน เนื่องมาจากกลีบทางขวาจะมีขนาดใหญ่กว่าและมีความเหมาะสมกับร่างกายของผู้ใหญ่มากกว่า ในขณะที่กลีบซ้ายจะมีขนาดเล็กกว่าและเหมาะกับเด็กมากกว่า
หลังการผ่าตัดกับผู้ให้บริจาค กลีบที่นำไปปลูกถ่ายกับส่วนที่ยังเหลืออยู่ในร่างกายผู้ให้บริจาคจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วด้วยตัวเอง ในกรณีส่วนมาก ตับผู้ให้บริจาคจะเติบโตกลับมาเป็นขนาดเดิมภายใน 2 ถึง 3 เดือน
3. การบริจาคตับแบบแบ่ง
การบริจาคตับแบบตัดแบ่งจะเกิดขึ้นหากมีตับของผู้บริจาคที่เพิ่งเสียชีวิตที่เข้ากับผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะแบ่งไปใช้กันคนละครึ่ง
ตับที่นำมาจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนกลีบซ้ายและกลีบขวา กลีบขวาที่มีขนาดใหญ่จะถูกปลูกถ่ายให้ผู้รับบริจาคที่เป็นผู้ใหญ่ ในขณะที่กลีบซ้ายที่มีขนาดเล็กกว่าจะถูกปลูกถ่ายให้เด็ก
หลังการผ่าตัด
เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้นลง คุณจะถูกพาตัวไปพักฟื้นที่ห้องเฝ้ารักษาพิเศษ (ICU) จะมีการใช้เครื่องช่วยหายใจ และมีการสอดท่อผ่านจมูกเข้าไปยังกระเพาะเพื่อเติมของเหลวและสารอาหารลงไป โดยท่อเหล่านี้มักจะถูกดึงออกหลังจากนั้นไม่กี่วัน คุณอาจจะได้รับยาแก้ปวดอีกด้วย ผู้คนส่วนมากจะฟื้นตัวดีพอจะออกจากห้อง ICU และไปพักฟื้นที่ห้องผู้ป่วยทั่วไปภายในเวลาไม่กี่วัน และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งจะมีการนัดติดตามผลเป็นระยะ และต้องคอยรับประทานยาเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายของคุณปฏิเสธอวัยวะใหม่
การอาศัยอยู่กับตับที่ปลูกถ่ายมา
การฟื้นร่างกายจากการปลูกถ่ายตับจะใช้เวลานานมาก แต่ผู้คนส่วนมากจะสามารถกลับไปดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติหลังจากนั้น และจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก
การพักฟื้นอาจกินเวลานานเป็นปี ๆ แม้ว่าร่างกายของคุณจะพร้อมกลับไปค่อย ๆ ทำกิจกรรมปกติได้ในช่วงไม่กี่อาทิตย์แรกหลังการผ่าตัดก็ตาม
การนัดติดตามผล
คุณจะถูกนัดหมายให้เข้ามาติดตามผลการรักษาหลังการปลูกถ่ายเป็นระยะ โดยระยะแรกจะมีความถี่บ่อยครั้งอย่างหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ไป 4 ถึง 6 อาทิตย์ และอาจจะกลายเป็นหนึ่งครั้งต่อหลายเดือน หรืออาจจะหนึ่งครั้งต่อปี
ระหว่างการเข้าพบแพทย์ตามนัด คุณจะได้รับการทดสอบและประเมินการทำงานตับใหม่ และระดับยากดภูมิคุ้มกันในเลือดของคุณ
ยากดภูมิคุ้มกัน
คุณจะต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันภายหลังการปลูกถ่ายตับไปตลอดชีวิตของคุณ เนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว ร่างกายของมนุษย์จะจดจำได้แต่อวัยวะเดิมของร่างกาย ทำให้มันมองเห็นตับใหม่ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิต้านทานเข้าไปโจมตีตับใหม่ทันที
ยากดภูมิคุ้มกันที่ใช้กับผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายตับมีอยู่ 2 ประเภท คือ
- กลุ่มตัวยับยั้งคาล์ซินิวริน: อย่างเช่นไซโคลส์โพริน และทาโครมิมัส
- คอร์ติโคสเตียรอยด์: อย่างเพรดนิโซโลน
ความเสี่ยงที่จะเกิดการปฏิเสธขึ้นจะมีสูงสุดในช่วง 3 เดือนแรกหลังการปลูกถ่าย ทำให้คุณจะได้รับยาเหล่านี้ในปริมาณโดสสูงมาก ๆ ตอนช่วงแรก ซึ่งจะค่อย ๆ ลดโดสลงเพื่อปรับให้ระดับของยามีฤทธิ์แค่ช่วยป้องกันการปฏิเสธอวัยวะเท่านั้น ซึ่งจะเป็นโดสที่ก่อให้เกิดภาวะข้างเคียงต่ำที่สุด
คุณอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่แพทย์จะปรับขนาดยาให้อยู่ในระดับที่ดีที่สุด
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงของกลุ่มยายับยั้งคาล์ซินิวรินมีดังนี้
- ปวดศีรษะ
- ความดันโลหิตสูง
- อาการสั่น (สั่นแบบควบคุมไม่ได้)
- ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- ไตล้มเหลว
ผลข้างเคียงของคอร์ติโคสเตียรอยด์มีดังนี้
- อารมณ์แปรปรวน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น: ต้องดูแลไม่ให้รับประทานอาหารมากเกินไป
- สภาวะทางจิตเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นมีอาการสับสน และความคิดสั้น: ให้ติดต่อแพทย์หรือทีมรักษาทันทีที่คุณประสบกับความคิดเหล่านี้
แม้ว่าผลข้างเคียงบางอย่างจะน่ากังวลอย่างมาก แต่คุณก็ไม่ควรหยุดทานยากดภูมิหรือปรับขนาดยาตามวิสาสะเด็ดขาด เนื่องจากอาจก่อให้เกิดภาวะปฏิเสธตับใหม่ได้
การออกกำลังกาย
หลังจากที่คุณออกจากโรงพยาบาลและกลับถึงบ้านแล้ว ควรออกกำลังกายด้วยการขยับร่างกายให้มากที่สุดเท่าที่อารมณ์จะพาไป เริ่มจากการทำกิจกรรมเบา ๆ อย่างการเดิน และค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลากิจกรรมนั้น ๆ ขึ้นทีละน้อย คุณอาจเข้าพบนักกายภาพบำบัดเพื่อให้พวกเขาแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับกรณีของคุณก็ได้ แต่ไม่ควรเล่นกีฬาที่มีการสัมผัสตัวผู้เล่นหรือว่ายน้ำเป็นเวลาหลายเดือน จนกว่าร่างกายคุณจะกลับมาสมบูรณ์พร้อม เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อจากกิจกรรมเหล่านี้มาก
อาหาร
ผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายตับส่วนมากจะสามารถกลับทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ทันที พยายามกำกับน้ำหนักของตนเองให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่สุดเสมอ ซึ่งจะทำได้ค่อนข้างยากหากคุณต้องทานยากลุ่มสเตียรอยด์ คุณสามารถขอรับคำแนะนำจากนักโภชนาการได้ตามความจำเป็น
แอลกอฮอล์
หากปัญหาตับของคุณเกิดมาจากการรับประทานแอลกอฮอล์อย่างหนักหน่วง แพทย์จะแนะนำให้คุณเลิกการดื่มแอลกอฮอล์ไปตลอดชีวิต แม้ว่าคุณจะไม่ได้มีภาวะตับจากแอลกอฮอล์ก็ตาม คุณก็ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ๆ อยู่ดี
เพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์
คุณสามารถกลับไปมีเพศสัมพันธ์ได้อีกครั้งทันทีที่สภาพร่างกายและจิตใจของคุณพร้อม อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่เป็นผู้หญิงควรหาวิธีคุมกำเนิดไว้ก่อนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในช่วงที่พักฟื้นจากการปลูกถ่ายตับอย่างน้อยหนึ่งปี หากคุณเกิดตั้งครรภ์ ให้แจ้งทีมรักษาของคุณทันทีเนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันจะส่งผลต่อทารกของคุณได้ ทำให้ต้องมีการสอดส่องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากคุณวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรปรึกษากับทีมรักษาของคุณก่อนเพื่อให้พวกเขาทำการปรับเปลี่ยนยากดภูมิคุ้มกันลงเพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ต่อทารก
การขับรถและการกลับไปทำงาน
คุณควรเลี่ยงการขับรถประมาณ 2 เดือน เนื่องจากการปลูกถ่ายและยากดภูมิคุ้มกันจะทำให้การมองเห็นและปฏิกิริยาตอบสนองของคุณลดลง ให้พูดคุยกับแพทย์ก่อนหากคุณรู้สึกว่าพร้อมจะขับรถแล้ว ระยะเวลาพักฟื้นก่อนกลับไปทำงานได้จะขึ้นอยู่กับลักษณะงานและความเร็วในการฟื้นตัวของคุณ บางคนสามารถกลับไปทำงานได้หลังการปลูกถ่าย 3 เดือน บางคนอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น หากมีคำถามก็สามารถสอบถามกับทีมรักษาของคุณได้ พึงจำไว้ว่าคุณต้องคอยรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดแม้จะกลับไปทำงานแล้วก็ตาม
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนจากการปลูกถ่ายตับรวมไปถึงการปฏิเสธอวัยวะ การเพิ่มขึ้นของโอกาสติดเชื้อ การปลูกถ่ายไม่สำเร็จ ภาวะที่นำดี และความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอื่น ๆ สูงขึ้น รวมไปถึงการเกิดมะเร็งบางประเภทขึ้น
ภาวะปฏิเสธตับ
เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายตับ 1 ใน 3 คน ที่ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันเข้าโจมตีตับใหม่จนทำให้ตับไม่อาจทำงานได้ตามปรกติ สามารถเรียกได้ว่าภาวะร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่ซึ่งมักจะเกิดขึ้นประมาณหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน
การปฏิเสธสามารถเกิดขึ้นโดยไม่แสดงอาการใด ๆ ได้ แต่ก็อาจมีสัญญาณต่อไปนี้
- อุณหภูมิร่างกายสูง (มีไข้)
- อาเจียน
- ท้องร่วง
- หมดเรี่ยวแรง
- ปวดช่องท้อง
- ผิวเหลือง และมีสีเหลืองเกิดขึ้นบริเวณตาขาว
- อุจจาระมีสีซีด มีปัสสาวะสีเข้ม และมีอาการคันผิวหนัง
ในกรณีส่วนมาก ภาวะปฏิเสธสามารถจัดการได้ด้วยการปรับเปลี่ยนโดสยากดภูมิคุ้มกัน
การติดเชื้อ
ยากดภูมิคุ้มกันจะไปกดระบบภูมิต้านทานของร่างกายลง ทำให้คุณมีโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ มากขึ้น
คุณต้องคอยระมัดระวังตนเองจากการติดเชื้อต่าง ๆ โดยอาจรับประทานยาต้านไวรัส ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านเชื้อราเผื่อเอาไว้เป็นเวลาไม่กี่เดือนภายหลังการปลูกถ่าย เพื่อลดความเสี่ยงที่คุณจะไปรับเชื้อมาโดยไม่ตั้งใจลง
หากคุณคาดว่าตัวเองติดเชื้อ ให้ติดต่อทีมรักษาหรือศูนย์ปลูกถ่ายในทันทีเพื่อขอคำแนะนำและทำการรักษาป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
อาการของการติดเชื้อที่พบได้มากคือมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และท้องร่วง เป็นต้น
ภาวะที่ท่อน้ำดี
หลังการปลูกถ่ายตับ ผู้ป่วยมากกว่า 1 ใน 10 จะประสบกับปัญหาที่ระบบท่อน้ำดีอย่างมีการรั่วไหลของน้ำดี หรือการตีบขอดเนื่องจากบาดแผลที่เนื้อเยื่อท่อน้ำดี
หากคุณมีการรั่วไหลของน้ำดีขึ้น น้ำที่สะสมอยู่จะถูกขจัดออกจากช่องท้องด้วยการสอดท่อดูดเข้าไป
หากเป็นการตีบตันของท่อน้ำดี สามารถรักษาได้ด้วยการสอดสายสวนดามท่อน้ำดีเพื่อให้ของเหลวไหลได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยอาจต้องมีการผ่าตัดเพิ่มเติมเกิดขึ้น
ไตล้มเหลว
ไตล้มเหลวเป็นภาวะที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายตับประสบ 1 ใน 3 คน และมักเกิดเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยากดภูมิคุ้มกันเอง ภาวะไตล้มเหลวเกิดขึ้นเมื่อไตสูญเสียการทำงานไปและไม่สามารถกรองของเสียจากเลือดได้
อาการของภาวะไตล้มเหลวมีดังนี้
- เหนื่อยล้า
- ข้อเท้า ขา หรือมือบวม
- หายใจติดขัด
- มีเลือดปนปัสสาวะ
แพทย์จะสอดส่องการทำงานของไตและระดับยากดภูมิคุ้มกันในเลือดของคุณระหว่างการนัดหมายติดตามผลเพื่อมองหาร่องรอยของปัญหาที่ไต
หากไตของคุณล้มเหลวขึ้นมา คุณจะต้องเข้ารับการฟอกเลือด (ด้วยเครื่องจักรที่ทำงานแทนไตจริง) หรือเข้ารับการปลูกถ่ายไต
การปลูกถ่ายไม่สำเร็จ
การปลูกถ่ายไม่สำเร็จหมายถึงอวัยวะที่ถูกปลูกถ่ายไม่สามารถทำงานได้ และเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดของการปลูกถ่ายตับ ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 1 ใน 10 ครั้ง สาเหตุส่วนมากคือการอุดตันของเลือดที่ไปเลี้ยงตับใหม่ หรือเกิดจากลิ่มเลือดนั่นเอง การล้มเหลวของอวัยวะปลูกถ่ายสามารถเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือค่อย ๆ เกิดขึ้นก็ได้ อาการของมันมีภาวะดีซ่าน บวมน้ำ สภาพจิตเปลี่ยนแปลง และมีช่องท้องบวม การใช้ยาสามารถช่วยคงสภาพร่างกายได้ในเวลาสั้น ๆ เท่านั้น หนทางรักษาเพียงอย่างเดียวคือดำเนินการปลูกถ่ายตับใหม่อีกครั้งให้เร็วที่สุด
มะเร็ง
ผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายตับจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งบางประเภทสูงขึ้น อย่างเช่น
- มะเร็งผิวหนังที่ไม่ใช่เมลาโนมา
- มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
- มะเร็งปากมดลูก
โดยมีการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะประมาณ 1 ใน 50 ครั้งที่จะเกิดมะเร็งประเภทที่ส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวกับคนไข้ เรียกว่าภาวะเม็ดเลือดขาวมากเกินหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ (PTLD)
เนื่องมาจากความเสี่ยงต่อภาวะเหล่านี้ จึงควรต้องเข้ารับการติดตามผลทุกครั้งที่แพทย์นัดหมายคุณไว้ และต้องทำการทดสอบคัดกรองมะเร็งทุกครั้งที่มีโอกาส คุณควรต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงอาทิตย์ หรือต้องแสงอัลตราไวโอเลตเทียมนาน ๆ อย่างเตียงอบผิว หรือหลอดไฟ เป็นต้น