แม้เบาหวานจะเป็นโรคยอดฮิตที่คนไทยคุ้นเคยกันดี แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้ไม่น้อย และยิ่งเราเข้าใจผิดมากเท่าไหร่ การลดความเสี่ยงของโรคนี้ การดูแลตัวเองทั้งตอนที่ยังไม่ป่วยและหลังป่วย รวมถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังป่วยจะยิ่งทำได้ยากยิ่งขึ้น มาแก้ความเข้าใจผิดกันดีกว่า
โรคเบาหวาน (Diabetes) จัดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ป่วย (Non-communicable Diseases: NCDs) หรือกรรมพันธุ์ โดยเกิดจากตับอ่อนไม่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือผลิตได้ไม่เพียงพอและมีภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ร่วมด้วย
ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดมีปริมาณสะสมสูงเรื้ออย่างต่อเนื่องจนเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนระยะยาว เช่น ปัญหาสายตา มือเท้าชา แผลหายช้า เบาหวานลงไต หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด
สารบัญ
1. เพราะกินอาหารหวาน ขนมหวาน เลยเป็นเบาหวาน
ข้อเท็จจริง: อย่างที่บอกว่าเบาหวานมีสาเหตุจากร่างกายขาดอินซูลิน ซึ่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต น้ำตาลที่เรากินเข้าไปจึงสะสมในเลือดอย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกแปลงไปใช้เป็นพลังงาน
อาหารรสหวานหรือของหวานที่มีปริมาณน้ำตาลสูงจึงเป็นเพียงปัจจัยนึงที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากขึ้น ไม่ใช่ว่ากินอะไรหวาน ๆ แล้วจะเป็นเบาหวานเลย นอกจากอาหารหวาน อาหารจำพวกไขมันสูงก็อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานได้เช่นกัน
หากเราหมั่นดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายอยู่ตลอด กินของมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม กินของหวานนาน ๆ ครั้ง ไม่เติมน้ำตาลในมื้ออาหารเพิ่ม ความเสี่ยงของเบาหวานก็ลดน้อยลง
2. คนผอมไม่เป็นเบาหวาน
ข้อเท็จจริง: หลายคนติดภาพว่า คนเป็นเบาหวานเป็นคนอ้วน ซึ่งก็มีส่วนจริง เนื่องจากโรคอ้วนจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ดี ไม่ว่าจะกินเยอะ กินอาหารหวาน หรือกินของไม่มีประโยชน์ต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ร่างกายดื้ออินซูลินจนน้ำตาลในเลือดสูงได้
แต่จริง ๆ แล้ว คนผอมก็เป็นเบาหวานได้เช่นกัน โดยอาจเกิดจากสาเหตุต่างกันไป เช่น
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัว อย่างโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์สร้างฮอร์โมนอินซูลินในตับอ่อนโดยไม่มีสาเหตุ
- ตับอ่อนอักเสบเรื้อรังอันมีสาเหตุจากแอลกอฮอล์ จึงส่งผลต่อกระบวนการผลิตอินซูลิน
- ภาวะเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ขาดการออกกำลังกาย
3. น้ำตาลจากผลไม้ปลอดภัย กินได้ไม่มีปัญหา
ข้อเท็จจริง: ผลไม้อาจเป็นสิ่งดีต่อสุขภาพ เพราะเป็นแหล่งวิตามินจำนวนมาก แต่ผลไม้หลายชนิดก็มาพร้อมน้ำตาลปริมาณจนน่าใจหาย โดยน้ำตาลฟรักโทส (Fructose) ที่มีจำนวนในผลไม้จะเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลกลูโคส (Glucose) จึงส่งผลให้น้ำตาลในเลือดของเราพุ่งสูงได้
เช่นเดียวกับน้ำผลไม้กล่อง ซึ่งจะมีน้ำตาลตามธรรมชาติจากผลไม้ และอาจมีน้ำตาลที่ถูกเติมลงไปเพิ่มด้วย (Added Sugar) เพื่อให้ได้รสชาติตามต้องการ
หากผู้ป่วยเบาหวานต้องการกินผลไม้หรือน้ำผลไม้กล่องก็จำเป็นต้องกินในปริมาณพอเหมาะตามคุณหมอแนะนำ โดยอาจเลือกผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI) ซึ่งจะเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า
4. ผู้ป่วยเบาหวานห้ามกินของหวาน ๆ
ข้อเท็จจริง: ทำนองเดียวกันกับการกินผลไม้ ผู้ป่วยกินหวานได้ แต่จำเป็นต้องจำกัดหรือลดปริมาณการกินอาหารบางอย่างแทน เช่นลดแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตแลกกับกินขนมหวาน
ถือเป็นการปรับสัดส่วนมื้ออาหารเพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป แต่ก่อนปรับก็ควรปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากคุณหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ และออกกำลังกายร่วมด้วย
กรณีที่ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีหรือเพิ่งเป็นเบาหวาน คุณหมออาจแนะนำให้งดของหวานไปก่อน เพื่อให้ควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้นนั่นเอง
5. โรคเบาหวานไม่อันตราย ไม่น่ากลัว
ข้อเท็จจริง: ตัวโรคเบาหวานหรือระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจดูไม่น่ากลัว แต่โรคเบาหวานเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยจำนวนมาก เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่ควบคุมอาการให้สงบได้
และสิ่งที่น่ากลัวกว่า คือโรคแทรกซ้อนทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังที่กอดกันมาพร้อมโรคเบาหวาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้นี่เองที่ผู้ป่วยมักเผชิญ และส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง
- โรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis: DKA) ภาวะเลือดมีความเข้มข้นสูงจากภาวะน้ำตาลในเลือดเกิน (Hyperosmolar Hyperglycemic State: HHS) หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรง (Hypoglycemia)
- โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง การติดเชื้อที่ผิวหนัง แผลหายช้า เส้นประสาทถูกทำลาย มือเท้าชา ไตวาย ต้องฟอกไตหรือปลูกถ่ายไตใหม่ ปัญหาสายตา ตาบอด สูญเสียการได้ยิน โรคสมองเสื่อม หรือโรคซึมเศร้า
6. ผู้ป่วยเบาหวานห้ามบริจาคเลือด
ข้อเท็จจริง: ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีร่างกายพร้อม ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี โดยระดับน้ำตาลในเลือดช่วงเช้า ณ วันบริจาคไม่เกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และไม่ภาวะแทรกซ้อนใด ๆ
หากต้องการบริจาคเลือด ผู้ป่วยเบาหวานสามารถทำได้ โดยเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยรับบริจาคเลือดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม แต่บางกรณีก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยรับบริจาคด้วยว่าจะพิจารณาให้บริจาคเลือดได้หรือไม่
7. โรคเบาหวานรักษาหายด้วยสมุนไพร
ข้อเท็จจริง: แม้สมุนไพรบางตัวจะมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีงานวิจัยในมนุษย์หรือแม้กระทั่งในสัตว์รองรับมากพอ
อีกทั้งยังมีปัญหาความปลอดภัยและความไม่ชัดเจนของข้อมูลในหลายด้าน เช่น ปริมาณที่ควรกินในแต่ละวัน ปริมาณที่ควรกินในผู้ป่วยที่มีโรคตับหรือโรคไต ความเสี่ยงของการกินต่อเนื่อง ไปจนถึงผลข้างเคียงจากสมุนไพร
ปัจจุบันมีการรักษาโรคเบาหวานและการดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลายวิธีที่มีประสิทธิภาพ ให้ผลดี ปลอดภัย และผ่านการวิจัยกันมายาวนานอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เช่น
- ยารักษาเบาหวานที่คุณหมอสั่งจ่าย อย่างยาเมทฟอร์มิน (Metformin) หรือยาฉีดอินซูลิน
- ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ
- กินอาหารที่มีสารอาหารและใยอาหารสูง เลี่ยงอาหารไขมันและน้ำตาลสูง
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
8. คนสูงอายุเท่านั้นที่เป็นเบาหวาน
ข้อเท็จจริง: ไม่จริง โรคเบาหวานเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่อาการเบาหวานในผู้ป่วยหลายคนมักเกิดขึ้นค่อยเป็นค่อยไป กว่าจะรู้ว่าเป็นเบาหวานจึงมักเริ่มมีอายุแล้ว
โดยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักพบในคนอายุน้อยหรือเด็กอายุ 4-7 ปี และช่วง 10-14 ปี ส่วนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักพบในผู้ใหญ่วัยกลางคนหรือราว 45 ปีขึ้นไป
เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับเบาหวานยังมีอีกมาก วิธีที่จะช่วยแก้ความเข้าใจผิดเหล่านี้นอกจากจะศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อ ยังมีวิธีง่าย ๆ คือ การปรึกษาคุณหมอในเรื่องที่สงสัย หมั่นสังเกตอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นและควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีไปพร้อมกัน
เปลี่ยนความเข้าใจผิดเป็นเข้าใจถูกแล้วก็อย่าลืมเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตก่อนจะสู่ขิตไม่รู้ตัว ค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเบาหวานจากโรงพยาบาลใกล้บ้านที่ HDmall.co.th ได้ราคาโปรดี ๆ แถมส่วนลดทุกครั้งที่จอง คลิกที่นี่ พร้อมมีแอดมินพร้อมช่วยเหลือเสมอ! แช็ตหาแอดมิน