เนื้องอกมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูก ล้วนเป็นโรคทางนรีเวชที่พบได้บ่อยในผู้หญิง แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ทั้ง 3 โรคนี้ มีความแตกต่างกันอย่างไร รุนแรงแค่ไหน บทความนี้เรารวบรวมคำตอบแบบกระชับให้คุณหายข้องใจเอาไว้แล้ว
สารบัญ
- 1. เนื้องอกมดลูกต่างจากโรคมะเร็งมดลูกอย่างไร?
- 2. เนื้องอกมดลูก มีอาการยังไง?
- 3. เนื้องอกมดลูกเกิดจากอะไร?
- 4. เนื้องอกมดลูกรักษาอย่างไร?
- 5. มีเนื้องอกมดลูก มีลูกได้ไหม?
- 6. โรคมะเร็งปากมดลูกมีกี่ระยะ?
- 7. วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ ต้องฉีดกี่เข็ม?
- 8. จะรู้ได้ยังไงว่าติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก?
- 9. วัยไหนเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด?
- 10. สัญญาณเตือนโรคมะเร็งปากมดลูก มีอะไรบ้าง?
- 11. โรคมะเร็งปากมดลูก รักษาหายได้ไหม?
- 12. ไม่ค่อยเปลี่ยนคู่นอน ไม่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกจริงหรือไม่?
- 13. โรคมะเร็งมดลูกเกิดจากอะไร?
- 14. โรคมะเร็งมดลูก ต่างจาก โรคมะเร็งปากมดลูกยังไง?
- 15. โรคมะเร็งมดลูก อาการเริ่มแรกเป็นอย่างไร?
1. เนื้องอกมดลูกต่างจากโรคมะเร็งมดลูกอย่างไร?
ตอบ: เนื้องอกมดลูก คือ ภาวะที่บริเวณมดลูกมีก้อนเนื้องอกเกิดขึ้นซึ่งแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่ ก้อนเนื้องอกชนิดธรรมดาและก้อนเนื้องอกชนิดมะเร็ง
ผู้ป่วยอาจตรวจพบเนื้องอกชนิดใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่ใช่เนื้องอกที่เป็นมะเร็ง และบางรายหากแพทย์ประเมินแล้วว่าไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง หรือไม่ได้มีอาการที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ก็ไม่ต้องรักษา เพียงแต่ติดตามอาการเป็นระยะเท่านั้น
แต่หากตรวจพบก้อนเนื้องอก แล้วแพทย์วินิจฉัยอย่างแน่ชัดว่าเป็นเนื้อร้าย จะถือว่าเป็นโรคมะเร็งมดลูก ซึ่งจำเป็นต้องรีบรักษาก่อนที่เซลล์มะเร็งจะลุกลามกระจายเป็นวงกว้าง
2. เนื้องอกมดลูก มีอาการยังไง?
ตอบ: อาการของเนื้องอกมดลูก จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดเนื้องอก ตำแหน่งที่เกิด ความรุนแรงของโรค ซึ่งบางกรณีก็อาจไม่มีอาการใดๆ เลย หรือบางกรณีก็อาจมีอาการชัดเจน โดยอาการบ่งชี้ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ปวดท้องน้อยที่ไม่ใช่ปวดประจำเดือน
- ปวดท้องประจำเดือนเป็นประจำ
- ประจำเดือนมามากผิดปกติและมีลิ่มเลือดปน
- ตกขาวเป็นมูก เป็นสีน้ำตาลและมีกลิ่นเหม็น หรือเป็นมูกปนหนอง
- หากก้อนเนื้องอกไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยบางรายยังมักมีอาการปัสสาวะบ่อย
- หากก้อนเนื้องอกไปกดทับลำไส้ ผู้ป่วยบางรายยังมักมีอาการท้องผูก
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายขึ้น
- ท้องโตขึ้น หรือคลำพบก้อนที่ท้องน้อย
- มีบุตรยาก หรือแท้งบุตร
3. เนื้องอกมดลูกเกิดจากอะไร?
ตอบ: ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า เนื้องอกมดลูกเกิดจากสาเหตุใด อย่างไรก็ตามมีบางทฤษฎีเชื่อว่า ก้อนเนื้องอกในมดลูกอาจสัมพันธ์การทำงานของฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่อย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน รวมถึงพันธุกรรม ทำให้ผู้หญิงที่มีคนในครอบครัวพบเนื้องอกมดลูกมาก่อนมีโอกาสจะพบเนื้องอกมดลูกได้เช่นกัน
4. เนื้องอกมดลูกรักษาอย่างไร?
ตอบ: การรักษาเนื้องอกมดลูกทำได้หลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาจากหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งของก้อนเนื้องอก ขนาดของก้อนเนื้องอก ความต้องการมีบุตรในอนาคตของผู้ป่วย เช่น
- การเฝ้าสังเกตอาการ ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กมาก
- การใช้ยา ซึ่งมีทั้งยาฉีดและยากิน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- การผ่าตัด ซึ่งแบ่งออกได้หลายเทคนิค เพื่อให้สามารถกำจัดก้อนเนื้องอกได้จนหมด เช่น การผ่าตัดแบบเปิด การผ่าตัดแบบส่องกล้องทางหน้าท้อง การผ่าตัดแบบส่องกล้องที่โพรงมดลูก
5. มีเนื้องอกมดลูก มีลูกได้ไหม?
ตอบ: ขึ้นอยู่กับระยะของโรคหรือชนิดของเนื้องอกที่พบในมดลูก ในผู้ป่วยบางรายที่พบเนื้องอกชนิดมะเร็งและอยู่ในระยะลุกลาม แพทย์ก็อาจต้องตัดเนื้องอกรวมถึงมดลูกออกด้วย ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก
แต่กรณีที่เนื้องอกมีขนาดเล็ก และไม่ได้เป็นมะเร็ง แพทย์ก็อาจใช้วิธีตัดเลาะก้อนเนื้องอกออก และเก็บรักษามดลูกไว้สำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคตได้
6. โรคมะเร็งปากมดลูกมีกี่ระยะ?
ตอบ: โรคมะเร็งปากมดลูกแบ่งออกได้ 2 ระยะ ได้แก่
- ระยะก่อนเป็นโรคมะเร็ง เป็นระยะที่เซลล์บริเวณปากมดลูกผิดปกติ แต่ยังอยู่ใต้เยื่อบุผิวมดลูก หากตรวจพบรอยโรคตั้งแต่ในระยะนี้ ก็มีโอกาสรักษาหายได้สูง
- ระยะลุกลาม เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งก่อตัวกลายเป็นโรคมะเร็งปากมดลุก สามารถแบ่งระยะย่อยตามการกระจายของโรคได้ดังนี้
- ระยะที่ 1: ระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายอยู่ภายในปากมดลูก
- ระยะที่ 2: ระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายจากปากมดลูกไปยังส่วนบนของช่องคลอดหรือเนื้อเยื่อข้างปากมดลูก
- ระยะที่ 3: ระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของช่องคลอด รวมถึงผนังอุ้งเชิงกราน และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง
- ระยะที่ 4: ระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายออกนอกอุ้งเชิงกราน และลุกลามไปอวัยวะข้างเคียง เช่น ตับ ปอด กระเพาะปัสสาวะ กระดูก
7. วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ ต้องฉีดกี่เข็ม?
ตอบ: วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก คือ วัคซีนป้องการติดเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ที่ปากมดลูก และก่อตัวกลายเป็นก้อนมะเร็ง มักติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์
วัคซีน HPV จัดเป็นวัคซีนที่ผู้หญิงทุกคนควรฉีดทุกคน เพราะมีประสิทธิภาพป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้สูงถึง 90% และยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น โดยเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป ส่วนจำนวนเข็มจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุที่เริ่มฉีด ดังต่อไปนี้
- หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม โดยระยะห่างระหว่างเข็มแรกกับเข็มที่สองอยู่ที่ 6-12 เดือน
- หากฉีดเข็มแรกหลังอายุ 15 ปี ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ระยะห่างระหว่างเข็มแรกถึงเข็มที่สามจะอยู่ที่ 0, 2 และ 6 เดือน
8. จะรู้ได้ยังไงว่าติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก?
ตอบ: โดยส่วนมากผู้ที่ติดเชื้อ HPV มักไม่รู้ตัวว่าตนเองได้รับเชื้อ อย่างไรก็ตาม เราสามารถตรวจหาเชื้อนี้ได้หลายวิธี เช่น
- การตรวจภายใน
- การป้ายเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือที่เรียกว่า “การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear)” หรือ “การตรวจตินแพร็พ แปป เทสต์ (Thin Prep Pap Test)” ทำให้แพทย์มองเห็นเซลล์ที่ผิดปกติและอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก มักทำพร้อมกับการตรวจภายใน
- การตรวจ HPV DNA ซึ่งเป็นการตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส HPV ที่สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ โดยใช้วิธีเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกและช่องคลอด
- การส่องกล้องปากมดลูก (Colposcopy) เพื่อตรวจหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ
9. วัยไหนเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด?
ตอบ: โรคมะเร็งปากมดลูกพบได้ในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้น โดยมักพบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 35-50 ปี
10. สัญญาณเตือนโรคมะเร็งปากมดลูก มีอะไรบ้าง?
ตอบ: อาการที่เป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งปากมดลูก มีดังนี้
- มีเลือดออกขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์
- แม้ประจำเดือนหมด แต่ก็ยังมีเลือดออกอยู่
- เลือดออกเพียงกะปริบกะปรอยคล้ายประจำเดือน
- มีเลือดออกติดต่อกันนานหลายวัน หรืออาจออกทั้งเดือน
- เลือดคล้ายประจำเดือนออกมาก จนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยกว่าปกติ
- ตกขาวหรือตกเหลืองมาก กลิ่นเหม็นเหมือนคาวปลา
- อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย
11. โรคมะเร็งปากมดลูก รักษาหายได้ไหม?
ตอบ: มีโอกาสรักษาหายได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค รวมทั้งสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน โดยส่วนใหญ่การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกจะเป็นการผ่าตัด ควบคู่ไปกับการให้เคมีบำบัด หรือรังสีรักษา ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา
12. ไม่ค่อยเปลี่ยนคู่นอน ไม่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกจริงหรือไม่?
ตอบ: การไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยสามารถลดโอกาสเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น
- อีกฝ่ายเปลี่ยนคู่นอนหลายคน
- มีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน โรคเริม
- ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง
- ประวัติเป็นโรคมะเร็งที่ส่วนอื่นของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น รังไข่ ช่องคลอด มดลูก
- มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกก่อนอายุ 18 ปี
- มีบุตรคนแรกก่อนอายุ 20 ปี
- มีบุตรหลายคน
- มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด
13. โรคมะเร็งมดลูกเกิดจากอะไร?
ตอบ: แม้ว่าโรคมะเร็งมดลูก จะไม่ได้มีสาเหตุแน่ชัดอย่างโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ก็อาจมาจากปัจจัยด้านสุขภาพของผู้ป่วย เช่น
- การเข้าสู่วัยทอง
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง
- ฮอร์โมนไม่สมดุล
- กรรมพันธุ์
- ความผิดปกติอื่น ๆ ของระบบสืบพันธุ์ เช่น ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว
14. โรคมะเร็งมดลูก ต่างจาก โรคมะเร็งปากมดลูกยังไง?
ตอบ: โรคมะเร็งมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่เกิดบริเวณ เยื่อบุผิวหรือกล้ามเนื้อของมดลูก ต่างจาก โรคมะเร็งปากมดลูกที่เกิดบริเวณ เยื่อบุปากมดลูก โดยปากมดลูกเป็นส่วนหนึ่งของตัวมดลูก จะอยู่บริเวณด้านล่างของมดลูก ซึ่งยื่นเข้าไปในช่องคลอด
แม้ว่าจะเป็นคนละโรค แต่ตำแหน่งการเกิดก็มีความใกล้เคียงกัน อาจทำให้หลายคนสับสนได้
15. โรคมะเร็งมดลูก อาการเริ่มแรกเป็นอย่างไร?
ตอบ: โรคมะเร็งมดลูก เป็นโรคที่มักไม่มีสัญญาณความผิดปกติใดๆ ในระยะแรก กระทั่งเซลล์มะเร็งเริ่มลุกลาม ผู้ป่วยจึงเริ่มสังเกตเห็นอาการผิดปกติ โดยมากจะเกี่ยวข้องกับประจำเดือนหรืออาการเลือดออกผิดปกติ เช่น
- ประจำเดือนมามากหรือมานานผิดปกติ
- มีเลือดที่ไม่ใช่ประจำเดือนไหลจากช่องคลอด
- มีเลือดไหลหลังมีเพศสัมพันธ์
- ตกขาวมีเลือดปน
จากคำตอบของทั้ง 15 คำถาม จะเห็นได้ว่า โรคทางนรีเวชทั้ง 3 ชนิด ล้วนมีลักษณะอาการ และวิธีการรักษา ป้องกันที่แตกต่างกันไป หากเราหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ก็มีโอกาสที่จะตรวจพบได้เร็ว และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคทางนรีเวชใช่ไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย