Default fallback image

ขูดมดลูก กับ พญ. ศันสนีย์ ด้วยบริการจาก HDcare

เปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “การขูดมดลูก” หัตถการที่น่ากลัวในความคิดของใครหลายคน ทำไมเราต้องขูดมดลูก ใครจำเป็นต้องขูด ขูดแล้วเจ็บขนาดไหน ขูดแล้วมีลูกไม่ได้อีกจริงหรือไม่

ให้ข้อมูลโดยแพทย์หญิงศันสนีย์ อังสถาพร หรือ “หมอแซน” สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาและมะเร็งนรีเวช หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare

อ่านประวัติหมอแซนได้ที่นี่ [คุยกับ “หมอแซน” คุณหมอสูตินรีแพทย์กับปัญหาโรคทางนรีเวชที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน]

สารบัญ

การขูดมดลูกคืออะไร?

การขูดมดลูก คือ การขูดเก็บชิ้นเนื้อบริเวณโพรงมดลูกเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นการทำหัตถการเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคทางนรีเวช

การขูดมดลูกเพื่อวินิจฉัยโรค ทำในคนไข้กลุ่มใดบ้าง?

  • คนไข้ที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ และอาการยังไม่ดีขึ้น
  • คนไข้ที่ตรวจอัลตราซาวด์พบเนื้องอกในโพรงมดลูก
  • คนไข้ที่โพรงมดลูกหนามาก

จากความผิดปกติทั้ง 3 กลุ่มนี้ คนไข้ที่ต้องขูดมดลูกเพื่อวินิจฉัยโรคจึงมักจะมีอาการเลือดออกที่ไม่ใช่ประจำเดือนไหลออกทางช่องคลอด ร่วมกับมีอาการประจำเดือนมามากหรือมากะปริดกะปรอบอย่างผิดสังเกต ในบางรายอาจมีน้ำหนองไหลออกจากช่องคลอดและหากแพทย์ตรวจวินิจฉัยก็จะพบว่ามาจากด้านในโพรงมดลูก 

การขูดมดลูกเพื่อรักษาโรค ทำในคนไข้กลุ่มใดบ้าง?

  • คนไข้ที่เลือดออกจากช่องคลอดมากจนมีภาวะซีด
  • คนไข้ที่ตรวจพบว่ามีอาการเลือดออกบริเวณโพรงมดลูก
  • คนที่มีการตั้งครรภ์ผิดปกติ เช่น การท้องลม การตั้งครรภ์ที่ตรวจพบตัวอ่อนแล้ว แต่ตัวอ่อนหัวใจหยุดเต้น

คนไข้ที่เกิดความผิดปกติทั้ง 3 กลุ่มนี้มักจะมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดมาก ในบางรายอาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ ที่ผิดปกติเลย หรือในบางรายจะพบเลือดออกจากช่องคลอดมากในวันที่มาตรวจกับแพทย์

คนไข้กลุ่มใดที่ไม่ควรขูดมดลูก

  • กลุ่มหญิงตั้งครรภ์
  • กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อบริเวณโพรงมดลูกซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณมดลูกบางลง ดังนั้นควรรักษาอาการติดเชื้อให้ดีขึ้นเสียก่อน มิฉะนั้นอาจเสี่ยงทำให้มดลูกทะลุได้ง่าย

การขูดมดลูกมีกี่แบบ?

ปัจจุบันการขูดมดลูกแบ่งออกได้ 2 แบบ ดังนี้

1. การขูดมดลูกแบบ Dilatation and curettage 

เป็นการถ่างขยายปากมดลูกร่วมกับการขูดมดลูก มีจุดเด่นด้านการขูดเก็บชิ้นเนื้อบริเวณโพรงมดลูกเพียง 1 ตำแหน่ง แต่มีข้อจำกัดตรงที่แพทย์จะไม่ได้ขูดเก็บชิ้นเนื้อส่วนของคอมดลูกไปตรวจด้วย มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • แพทย์ระงับความรู้สึกคนไข้ด้วยการฉีดยาสลบหรือยาชาเฉพาะที่
  • แพทย์ทำความสะอาดบริเวณที่ทำหัตถการและในช่องคลอด
  • แพทย์ใช้อุปกรณ์ถ่างขยายปากมดลูกเพื่อนำอุปกรณ์ขูดมดลูกเข้าไปด้านในโพรงมดลูก
  • แพทย์ขูดเก็บชิ้นเนื้อบริเวณโพรงมดลูกอย่างเบามือเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • แพทย์ตรวจสอบว่า คนไข้มีอาการเลือดออกทางช่องคลอดมากหรือไม่ หากยังมีเลือดออกมากจะห้ามเลือดให้เรียบร้อยก่อน

2. การขูดมดลูกแบบ Fractional and curettage 

เป็นการขูดมดลูก 2 ตำแหน่งและแยกกันส่งตรวจ ได้แก่ บริเวณคอมดลูกและบริเวณโพรงมดลูก มีจุดเด่น คือ จะได้ชิ้นเนื้อถึง 2 ตำแหน่งของมดลูกในการตรวจวินิจฉัย ทำให้ตรวจสอบพยาธิสภาพของโรคได้ครอบคลุมขึ้น มีขั้นตอนหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

  • แพทย์ระงับความรู้สึกคนไข้ด้วยการฉีดยาสลบหรือยาชาเฉพาะที่
  • แพทย์ทำความสะอาดบริเวณที่ทำหัตถการ ได้แก่ อวัยวะเพศและช่องคลอด
  • แพทย์สอดอุปกรณ์เข้าไปขูดมดลูกแยกกัน 2 ตำแหน่ง ได้แก่ คอมดลูกและโพรงมดลูก
  • แพทย์ห้ามเลือดและนำอุปกรณ์ออกจากร่างกายคนไข้

ระยะเวลาในการขูดมดลูกทั้ง 2 เทคนิคแตกต่างกันหรือไม่?

ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉลี่ยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30-40 นาทีทั้ง 2 เทคนิค

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการขูดมดลูก

การเตรียมตัวก่อนขูดมดลูกจะคล้ายกับการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด เช่น ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจทางรังสี และงดน้ำกับงดอาหารก่อนผ่าตัดตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด

การขูดมดลูก ใช้วิธีระงับความรู้สึกอย่างไร?

คนไข้สามารถเลือกระหว่างการระงับความรู้สึกด้วยการใช้ยาสลบแบบฉีดหรือการฉีดยาชาเฉพาะที่ได้

ถ้าใช้ยาชา คนไข้จะรู้สึกอย่างไรระหว่างขูดมดลูก

คนไข้จะยังรู้สึกตัวอยู่ตลอดระยะเวลาที่ทำหัตถการ แต่อาจมีอาการปวดหน่วงช่องคลอดและท้องน้อยได้บ้าง

เคสไหนบ้างที่ใช้ยาชา เคสไหนใช้ยาสลบ ผู้ป่วยเลือกได้ไหม?

สามารถเลือกได้ แต่แพทย์จะให้คำแนะนำการเลือกใช้ยาชาหรือยาสลบด้วย เนื่องจากในกรณีที่เป็นการทำหัตถการยาก ๆ เช่น คนไข้มีช่องคลอดแคบ มีชิ้นเนื้อที่ต้องขูดนาน ก็ควรเลือกใช้การฉีดยาสลบมากกว่า

คำแนะนำในการเตรียมตัวอื่นๆ

  • งดมีเพศสัมพันธ์ 3-4 วันก่อนขูดมดลูก
  • ไม่ต้องสวนล้างช่องคลอด
  • งดน้ำและอาหารคืนก่อนขูดมดลูก
  • สามารถใช้กิจวัตรประจำวันและกินอาหารได้ตามปกติ แต่ให้เน้นอาหารสุกสะอาด

การพักฟื้นหลังขูดมดลูก ใช้ระยะเวลาพักฟื้นกี่วัน?

ในกรณีที่แพทย์ประเมินว่าคนไข้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หลังขูดมดลูกคนไข้จะนอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้ 

แต่หากแพทย์ประเมินให้นอนค้างที่โรงพยาบาล โดยส่วนมากจะนอนค้างเพียง 1 คืน หลังจากนั้นก็กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน คนไข้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ให้งดว่ายน้ำ งดแช่น้ำ งดสวนล้างช่องคลอด และงดมีเพศสัมพันธ์ 1 สัปดาห์

นอกจากนี้คนไข้ยังต้องหมั่นสังเกตอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น หากพบอาการเลือดออกช่องคลอดมากขึ้น มีตกขาวเยอะ ปวดท้องน้อย หรือมีไข้ ให้เดินทางกลับมาพบแพทย์ก่อนเวลานัดทันที

การนัดติดตามผล กี่วันกลับมาพบแพทย์และตรวจดูอะไร?

แพทย์จะนัดคนไข้ให้กลับมาฟังผลตรวจชิ้นเนื้อและดูอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวดท้องน้อย เลือดออกช่องคลอด มีตกขาวมาก หลังจากขูดมดลูกครบ 7 วัน

อาการแบบไหนที่ควรรีบกลับมาพบแพทย์?

  • อาการปวดท้องน้อยซึ่งไม่มีสัญญาณการปวดลดลง หรือมีอาการปวดมากขึ้น
  • เลือดออกช่องคลอด หากเลือดออกเพียงเล็กน้อยถือเป็นอาการที่พบได้ตามปกติ แต่หากเลือดออกมากขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะหยุดไหล จัดเป็นสัญญาณผิดปกติ
  • มีไข้ 
  • มีตกขาวที่คล้ายกับน้ำหนอง

Q&A เรื่องที่คนมักสงสัยเกี่ยวกับการขูดมดลูก

1. หลังขูดมดลูก กินปลาร้าได้ไหม?

หากเป็นปลาร้าที่สะอาดสามารถกินได้ แต่ทางที่ดีควรงดกินไปก่อน 1 สัปดาห์หลังขูดมดลูก เนื่องจากหากคนไข้มีอาการติดเชื้อจากการกินอาหารที่ไม่สะอาด จะทำให้แยกกับอาการที่เกิดจากการติดเชื้อที่แผลขูดมดลูกได้ยาก

2. หลังขูดมดลูกควรงดมีเพศสัมพันธ์กี่วัน?

ควรงดประมาณ 3-4 วัน หรือทางที่ดีควรงดประมาณ 1 สัปดาห์

3. หลังการขูดมดลูกจะช่วยทำให้มีลูกง่ายขึ้นจริงไหม?

แล้วแต่พยาธิสภาพในคนไข้แต่ละราย กรณีที่คนไข้ขูดมดลูกจากข้อบ่งชี้มีติ่งเนื้อในโพรงมดลูกก็จะทำให้มีลูกง่ายขึ้น

4. การขูดมดลูกทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้หรือไม่?

มีโอกาสเกิดได้ หากแพทย์ขูดมดลูกแรงเกินไป ทำให้เกิดเนื้อเยื่อพังผืดที่เยื่อบุโพรงมดลูก แต่ในปัจจุบันมีโอกาสเกิดได้น้อย เนื่องจากมีการพัฒนาเทคนิคการขูดมดลูกให้ก้าวหน้าขึ้นมากแล้ว 

5. ผู้ป่วยที่เคยขูดมดลูกสามารถมีลูกได้ตามปกติหรือไม่?

สามารถมีได้ตามปกติทุกประการ

6. ถ้าปากมดลูกเสียหายระหว่างการขูดจะแก้ไขอย่างไร?

ส่วนมากหากมีเลือดออกหรือมีแผลเล็กน้อยบริเวณปากมดลูก หากมีการกดหยุดเลือด ทั้งอาการเลือดออกและแผลมักจะหายได้เอง 

แต่ในกรณีที่แผลฉีกขาดค่อนข้างกว้างหรือเลือดออกมาก แพทย์จะแก้ไขโดยการเย็บแผลซ่อมปากมดลูก เพื่อห้ามเลือดบริเวณปากมดลูกให้

7. โอกาสในการเกิดพังผืดในโพรงมดลูก (Asherman’s Syndrome) หลังการขูดมดลูกไปแล้ว มีมากน้อยแค่ไหน?

ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ต้องขูดมดลูกและจำนวนครั้งในการขูดมดลูกของคนไข้แต่ละราย โดยส่วนมากมีโอกาสเกิดประมาณ 5-40%

ขูดมดลูกกับ พญ. ศันสนีย์ ด้วยบริการจาก HDcare

ขูดมดลูกไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด สามารถเลือกฉีดยาสลบหรือยาชาก็ได้ มีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและให้คำแนะนำตลอดทุกขั้นตอน พร้อมพยาบาลผู้ช่วยส่วนตัวที่คอยอยู่เป็นเพื่อน นอกจากนี้ยังมีทีมแอดมินคอยช่วยประสานงานกับโรงพยาบาล ด้วยบริการขูดมดลูกกับ HDcare 

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top