total mastectomy breast reconstruction treatment process

การผ่าตัดเต้านมและเสริมสร้างเต้านมใหม่ ทางเลือกของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม หลายคน ที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านม ออก อาจรู้สึกกังวลใจ ว่าจะไม่สามารถกลับมามีเต้านมได้เหมือนเดิมอีก แต่จริงๆ แล้ว เราสามารถผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีความมั่นใจได้อีกครั้ง แต่ขั้นตอนจะเป็นอย่างไร สามารถทำหน้าอกใหม่ได้ทันทีเลยไหม หรือจะต้องรอให้รักษามะเร็งจนหายดีก่อน บทความนี้มีคำตอบ

การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดและเสริมสร้างเต้านมใหม่ คืออะไร?

การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Total Mastectomy) และเสริมสร้างเต้านมใหม่ (Breast Reconstruction)  คือ วิธีรักษามะเร็งเต้านมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยังต้องการมีหน้าอกอยู่ โดยขั้นแรกแพทย์จะต้องรักษาโรคมะเร็งเต้านม ด้วยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็น เนื้อเยื่อเต้านม ก้อนมะเร็ง ผิวหนังส่วนที่อยู่เหนือก้อนมะเร็ง หัวนม และอาจรวมไปถึงต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใต้รักแร้ด้วย ซึ่งหลังจากที่รักษาเสร็จแล้ว ผู้เข้ารับการรักษาจะไม่มีเต้านมเหลืออยู่เลย

ส่วนการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ จะเป็นการผ่าตัดเพื่อสร้างรูปทรงเต้านมขึ้นมาใหม่ให้ใกล้เคียงกับเต้านมเดิมมากที่สุด เพื่อช่วยให้ผู้เข้ารับการรักษามีความมั่นใจมากขึ้น ลดความรู้สึกสูญเสียอวัยวะที่บ่งบอกความเป็นเพศหญิง และฟื้นฟูสภาพจิตใจให้รู้สึกดีขึ้นได้

ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม สามารถทำได้ตอนไหน?

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ สามารถทำได้ 2 ช่วงเวลา ดังนี้

  • ผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกแล้วเสริมทันที (Immediate Breast Reconstruction) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่ม มีความเสี่ยงต่ำที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และเนื้อเยื่อบริเวณเต้านมยังไม่ได้รับความเสียหายจากการฉายแสง หรือมีบาดแผล ซึ่งแพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถทำพร้อมกับผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมได้
  • เสริมสร้างเต้านมหลังการรักษามะเร็งจนเสร็จสิ้นก่อน (Delayed Breast Reconstruction) เหมาะสำหรับผู้รักษามะเร็งเต้านมที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการฉายแสง หรือให้ยาเคมีบำบัดให้เสร็จก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปีกว่าที่จะรักษาเสร็จ จากนั้นจึงสามารถเข้ารับการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับฟังคำแนะนำจากแพทย์ว่าควรเสริมสร้างเต้านมในช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสมกับอาการ ระยะ และความรุนแรงของโรค เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม คลิกอ่านต่อ

การเสริมสร้างเต้านมใหม่ มีกี่วิธี?

การเสริมสร้างเต้านมใหม่ จะแบ่งเป็น 3 วิธีหลักๆ ตามวัสดุที่นำมาใช้ ดังนี้

1. ผ่าตัดโดยการใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณที่หลัง (Latissimus Dorsi Flap)

เป็นการนำกล้ามเนื้อและชั้นไขมันที่หลังมาใช้สร้างเต้านมใหม่ มีข้อดีตรงที่อยู่ใกล้หน้าอกมาก จึงง่ายต่อการโยกย้าย และมีเลือดมาหล่อเลี้ยงได้ดี ทำให้สมานตัวได้เร็ว โดยจะใช้ระยะเวลาพักฟื้นประมาณ 5-7 วันเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม การนำกล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหลังมาสร้างเต้านมใหม่ จะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเหยียดหัวไหล่ ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเท่าเดิม และกล้ามเนื้อไหลมีความหนาแน่นน้อย จึงสร้างเต้านมได้แค่ขนาดเล็กเท่านั้น

2. ผ่าตัดโดยการใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันหน้าท้อง (Trasverse Rectus Abdominis Musculocutaneous Flap)

เป็นการนำผิวหนัง ไขมัน กล้ามเนื้อหน้าท้อง และขั้วหลอดเลือดที่อยู่ใต้สะดือไปจนถึงบริเวณหัวเหน่า โยกย้ายผ่านช่องใต้ผิวหนังขึ้นมาไว้ที่หน้าอกเพื่อผ่าตัดตกแต่ง และสร้างเป็นรูปทรงเต้านมขึ้นมาใหม่ 

การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ จะมีข้อดีตรงที่สามารถสร้างรูปทรงเต้านมให้สวยงามและสมบูรณ์ได้มากกว่าวิธีแรก แต่อาจทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาวอย่างการเกิดภาวะไส้เลื่อนได้ง่าย หรือมีโอกาสที่เนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายจะตายได้

3. ผ่าตัดเต้านมเทียม (Silicone)

เหมาะสำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับการสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยแพทย์จะใช้ถุงเต้านมเทียมแบบสำเร็จรูปมาใช้ในการสร้างเต้านมใหม่แทน ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในการผ่าตัดเสริมหน้าอก สามารถเลือกรูปทรงกลม รูปทรงหยดน้ำ หรือขนาดได้เช่นกัน

การผ่าตัดเต้านมเทียมนั้น จะมีให้เลือกอยู่ 3 แบบหลักๆ ได้แก่

  • การผ่าตัดในขั้นตอนเดียว เป็นการใช้เต้านมเทียมสำเร็จรูป ใส่เข้าไปแทนที่เนื้อเยื่อเต้านมที่ถูกตัดออกไป เหมาะกับผู้ป่วยที่มีเต้านมขนาดเล็ก หรือปานกลาง ที่ยังไม่หย่อนคล้อย และมีช่องกล้ามเนื้อที่กว้างเพียงพอในการบรรจุเต้านมเทียมได้
  • การผ่าตัดแบบสองขั้นตอน เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวหนังหรือเนื้อบริเวณเต้านมน้อย โดยจะแบ่งการผ่าตัดเป็น 2 ครั้ง 
    • ครั้งที่ 1 เป็นการผ่าตัดที่ทำขณะผ่ามะเร็งเต้านม คือ หลังจากนำเต้านมออกไปแล้ว แพทย์จะใส่ตัวขยายผิวหนัง (Tissue Expander) ไว้ในช่องใต้กล้ามเนื้อก่อน มีลักษณะคล้ายกับถุงเต้านมเทียม แต่จะมีช่องให้แพทย์ค่อยๆ ใส่น้ำเกลือเพื่อยืดขยายผิวหนัง และเนื้อเยื่อบริเวณเต้านมได้ 
    • ครั้งที่ 2 หลังจากที่ขยายผิวหนังจนได้ขนาดที่ต้องการแล้ว แพทย์จะผ่าตัดอีกครั้ง เพื่อใส่ซิลิโคนจริง
  • การผ่าตัดแบบผสม คล้ายกับวิธีผ่าตัดแบบสองขั้นตอน แต่จะใช้ถุงเต้านมเทียมที่ใส่น้ำเกลือได้เข้าไปแทน ซึ่งจะมีคุณสมบัติเหมือนกับตัวถ่างขยายผิวหนัง โดยแพทย์จะค่อยๆ ใส่น้ำเกลือไปเรื่อยๆ ผ่านท่อ เมื่อได้ขนาดตามที่ต้องการแล้ว แพทย์ก็เพียงนำท่อสำหรับฉีดน้ำเกลือออก โดยไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ ผู้ป่วยก็ไม่ต้องเจ็บตัวอีกครั้ง

เทคนิคการผ่าตัดเต้านม และเสริมสร้างเต้านมใหม่ มีอะไรบ้าง?

เทคนิคการผ่าตัดเต้านมเพื่อรักษามะเร็งเต้านมนั้น แบ่งได้ 2 รูปแบบหลักๆ คือ เทคนิคการผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง รายละเอียด ดังนี้

1. เทคนิคการผ่าตัดเต้านม และเสริมสร้างเต้านมใหม่แบบเปิด (Wide Excision)

เทคนิคนี้แพทย์จะกรีดเปิดผิวหนัง บริเวณใต้ลานนม หรือบริเวณขอบล่างของเต้านม จากนั้นจึงตัดนำเนื้องอก เนื้อเยื่อเต้านม ผิวหนังส่วนที่อยู่เหนือก้อนมะเร็ง หัวนม รวมไปต่อมน้ำเหลืองด้วย จากนั้นจึงผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยจะแบ่งการผ่าตัดได้อีก 2 รูปแบบคือ

กรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 0 หรือระยะที่ 1 แพทย์อาจแนะนำให้ ผ่าตัดเต้านมทั้งหมด ควบคู่กับ ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล และ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม โดยส่วนใหญ่สามารถเสริมหน้าอกไปในการผ่าตัดคราวเดียวกัน หากเซลล์มะเร็งยังไม่มีการแพร่กระจาย หรือโอกาสแพร่กระจายต่ำ และไม่ต้องให้เคมีบำบัดหรือฉายแสงหลังการผ่าตัด

กรณีกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม หมายถึงเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว จะแนะนำให้ ผ่าตัดเต้านมทั้งหมด ควบคู่กับ ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด และ ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ในภายหลัง โดยกรณีนี้มักต้องรอระยะเวลา 1-2 ปี เพื่อทำการรักษามะเร็งให้หายขาดก่อน จึงผ่าตัดเสริมเต้านมได้

2. เทคนิคการผ่าตัดเต้านม และเสริมสร้างเต้านมใหม่แบบส่องกล้อง (Endoscopic Breast Surgery)

เทคนิคนี้พัฒนามาจากการผ่าตัดแบบเปิด โดยมีรายละเอียดที่ต่างกันคือ เทคนิคนี้จะมีการเปิดแผลขนาดเล็กบริเวณใต้รักแร้ หรือฐานหัวนม แล้วใช้อุปกรณ์ผ่าตัดที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่ที่ส่วนปลาย สอดเข้าไปผ่าตัดเอาเนื้องอกเต้านมออก

แพทย์จะมองเห็นภาพอวัยวะภายในผ่าจอมอนิเตอร์ แล้วทำการตัดเลาะเนื้อเต้านมและเก็บรายละเอียดได้อย่างแม่นยำ ช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัดลง แผลมีขนาดเล็กลง ระยะเวลาพักฟื้นสั้นลงด้วย โดยแบ่งการผ่าตัดออกเป็น รูปแบบเช่นกัน คือ ผ่าตัดเต้านมทั้งหมดส่องกล้อง ควบคู่กับ ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลแบบเปิด และ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม หรือ ผ่าตัดเต้านมทั้งหมดส่องกล้อง ควบคู่กับ ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมดแบบเปิด และ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม

ส่วนจะเลือกวิธีไหน และควรเสริมสร้างหน้าอกเมื่อไหร่นั้น ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเป็นหลัก

การดูแลหลังผ่าตัดเต้านมและเสริมสร้างเต้านมใหม่

หลังผ่าตัดเต้านมและเสริมสร้างเต้านมใหม่แล้ว ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย โดยแพทย์อาจแนะนำให้ดูแลด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ให้นอนยกแขนข้างที่ผ่าตัดสูง 45 องศา โดยใช้หมอนรองแขน เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดอาการแขนบวม
  • ระมัดระวังไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ ถ้ามีเลือดซึมให้แจ้งพยาบาลทันที
  • รับประทานยาแก้ปวดทุก 4-6 ชั่วโมง หรือฉีดยาแก้ปวดทางหลอดเลือดดำ
  • รับประทานยาปฏิชีวนะให้หมดตามที่แพทย์สั่ง
  • ระมัดระวังไม่ให้สาย หรือท่อระบายออกจากแผล หัก พบ งอ หรือเลื่อนหลุดจากตำแหน่งเดิม
  • หลังจากอาการปวดทุเลาลงแล้ว ให้ทำท่าบริหารร่างกายตามที่นักกายภาพแนะนำ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ป้องกันการเกิดอาการข้อไหล่ติด
  • หมั่นทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็ว และเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการผ่าตัด

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดเต้านมและเสริมสร้างเต้านมใหม่ มีดังนี้

  • ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการทำหัตถการ เช่น การติดเชื้อ แพ้ยาชา อาการชา บวมช้ำ เลือดออก หรือเลือดคลั่ง
  • เกิดการสะสมของน้ำเหลือง หรือเลือดบริเวณใต้ผิวหนัง
  • แผลหายช้าจากการที่ขอบแผลมีเลือดมาหล่อเลี้ยงได้น้อย และทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสี
  • หัวไหล่ติด ยกแขนได้ไม่สุด เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ชั่วคราว สามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด
  • แขนบวมข้างที่ทำการผ่าตัด เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก
  • มีอาการปวดเรื้อรังบริเวณที่ผ่าตัด สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด
  • เซลล์มะเร็งกลับมาก่อตัวอีกครั้ง ถ้าหากตรวจพบ จะต้องรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด ฉายแสงรังสี หรือทำการผ่าตัดเพิ่มเติม
  • อาจเกิดภาวะเยื่อไขมันตายและกลายเป็นก้อนแข็งตามมา เรียกว่า “Fat Necrosis” เป็นหนึ่งในความผิดปกติที่พบได้ในเต้านม อาจมีขนาดคงที่ หรือขนาดเล็กลงก็ได้
  • อาจเกิดภาวะซิลิโคนหดตัว (Capsular Contracture) แล้วทำให้เต้านมแข็งตึงและเจ็บได้ หรือทำให้เต้านมผิดรูปจากการที่เนื้อเยื่อบริเวณรอบซิลิโคนเกิดการดึงรั้งได้

ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดและเสริมสร้างเต้านมใหม่ที่ไหนดี?

การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดและเสริมสร้างเต้านมใหม่ เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ รวมทั้งฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง

แต่การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมนี้ จำเป็นต้องเลือกโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย ครบครัน และได้มาตรฐาน รวมทั้งควรเลือกผ่าตัดกับทีมแพทย์เฉพาะทาง ผู้มีความชำนาญการ และมีประสบการณ์ในการผ่าตัดค่อนข้างหลากหลายรูปแบบ เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำและวางแผนการผ่าตัดให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน รวมทั้งออกแบบเสริมสร้างเต้านมใหม่ ให้มีความใกล้เคียงกับเต้านมตามธรรมชาติมากที่สุด

สำหรับใครที่กำลังมองหาโรงพยาบาลในการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมและเสริมสร้างเต้านมใหม่อยู่ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมให้คำแนะนำคุณเกี่ยวกับคุณหมอเฉพาะทาง มีประสบการณ์ผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมและเสริมสร้างเต้านมใหม่มาแล้วหลากหลายเคส

ทีม HDcare สามารถช่วยทำนัด ให้คุณได้เข้าปรึกษาคุณหมอได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องเอกสารต่างๆ เพื่อให้คุณรู้สึกสบายใจและผ่อนคลายที่สุดก่อนเข้ารับการผ่าตัด ทักหาทีม HDcare ได้ทุกเวลาที่คุณสะดวก คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top