breast cancer treatment faq

รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นหนึ่งในความผิดปกติของเต้านม ที่พบได้บ่อย และเมื่อตรวจพบแล้ว สิ่งที่จะต้องคิดต่อไปก็คือการวางแผนรักษาอย่างเหมาะสม การผ่าตัดมะเร็งเต้านม เป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่ม หรือระยะที่ยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นที่อยู่ไกลออกไป (หรือที่คุ้นเคยในชื่อ มะเร็งระยะที่ 4) 

หากป่วยเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว สามารถผ่าตัดด้วยวิธีไหนได้บ้าง ในบทความนี้ เราจะพาไปเจาะลึกข้อมูลการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบละเอียดกัน

ผ่าตัดมะเร็งเต้านม คืออะไร?

การผ่าตัดมะเร็งเต้านม คือวิธีรักษาหลักของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก โดยแพทย์จะผ่าตัดส่วนที่เป็นเนื้อร้ายออกไปก่อน หลังจากนั้นจะใช้วิธีรักษาอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อหยุดยั้งการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ และเสริมให้ผลการรักษาดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การฉายแสง (รังสีรักษา) การให้ยาเคมีบำบัด (คีโม) หรือยาต้านฮอร์โมน

วิธีการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม มีอะไรบ้าง

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ การผ่าตัดที่เต้านม การผ่าตัดที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ และการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่

ส่วนจะต้องผ่าตัดด้วยวิธีไหนบ้างนั้น ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง การประเมินของแพทย์ผู้ทำการรักษา และเป้าหมายในรักษาของแต่ละคน โดยแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังนี้

1. การผ่าตัดบริเวณเต้านม

การผ่าตัดเต้านมเพื่อรักษามะเร็ง จะแบ่งเป็น 4 แบบหลักๆ ดังนี้

  • ผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน (Segmental Mastectomy) จะใช้รักษาผู้ที่มะเร็งเต้านมมีขนาดเล็ก มีเพียงตำแหน่งเดียว และต้องการรักษารูปทรงเต้านมเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด โดยแพทย์จะผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งและเนื้อของเต้านมปกติที่อยู่รอบๆ 1-2 เซนติเมตรออก แล้วเหลือหัวนม ฐานหัวนม และเนื้อเต้านมส่วนใหญ่ไว้
  • ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Total Mastectomy) เป็นวิธีผ่าตัดมะเร็งเต้านมที่นิยมทำมากที่สุด โดยแพทย์จะผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งหมด รวมถึงผิวหนังส่วนที่อยู่เหนือก้อนมะเร็งและหัวนมด้วย
  • ผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ (Modified Radical Mastectomy) เป็นการผ่าตัดเอาเต้านม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ และบนกล้ามเนื้อหน้าอกบางส่วนออก หรือในบางราย แพทย์อาจตัดกล้ามเนื้อผนังหน้าอกบางส่วนออกด้วย
  • ผ่าตัดเต้านม รวมถึงผนังหน้าอกทั้งหมด (Radical Mastectomy) จะทำในผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมในระยะรุนแรง มีการแพร่กระจายลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหน้าอก โดยจะผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งหมด รวมถึงกล้ามเนื้อหน้าอก และต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้

2. การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้

ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ มักเป็นบริเวณแรกที่มะเร็งเต้านมแพร่กระจายมา เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์จะมีการตรวจสอบด้วยว่ามีการแพร่กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ด้วยไหม ถ้าหากพบว่ามีการแพร่กระจายมา ก็จำเป็นที่ต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองควบคู่ไปกับผ่าตัดเต้านม สามารถทำได้ 2 วิธีหลักๆ ดังนี้

  • ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด (Axillary Lymph Node Dissection : ALND) เป็นวิธีรักษามาตรฐาน โดยแพทย์จะผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกไปทั้งหมดพร้อมๆ กับการผ่าตัดเต้านม โดยทั่วไปแล้วจะมีต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ประมาณ 10-50 ต่อม
  • ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบางส่วน (Sentinel Lymph Node Biopsy : SLNB) เป็นวิธีผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองแบบใหม่ โดยแพทย์จะผ่าตัดเอา “ต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล” ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองต่อมแรกที่รับน้ำเหลืองจากมะเร็งไปตรวจดูว่ามีการกระจายของโรคหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดต่อมเหลืองออกทั้งหมด

3. ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่

สำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก หลังจากที่รักษาโรคมะเร็งเต้านมด้วยวิธีผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดแล้ว สามารถผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ให้เคียงกับเต้านมเดิมได้

ทั้งนี้วัสดุที่นำมาใช้สร้างเต้านมใหม่มีทั้งจากเนื้อเยื่อของผู้เข้ารับการรักษาเอง เช่น กล้ามเนื้อ หรือชั้นไขมัน และใช้ถุงเต้านมเทียม หรือซิลิโคน

ส่วนจะผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ตอนไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เข้ารับการรักษาและการประเมินของแพทย์ จะมีทั้งการผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกแล้วเสริมทันที (Immediate Breast Reconstruction) และผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่หลังการรักษามะเร็งเสร็จสิ้น (Delayed Breast Reconstruction) สามารถปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาเพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองได้เลย

เมื่อไหร่ที่ต้องผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม?

หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม โดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกโดยเร็วที่สุด จากนั้นค่อยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ต่อไปเพื่อเสริมประสิทธิภาพการรักษา

อย่างไรก็ตาม หากมะเร็งเต้านมอยู่ในระยะที่ 4 หรือระยะที่ลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นที่อยู่ไกลออกไป และผู้ป่วยไม่สามารถทนรับการผ่าตัดได้ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาแบบประคับประคองแทน

หลังจากผ่าตัดมะเร็งเต้านมแล้ว ต้องรักษาอะไรต่อไหม?

หลังจากผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกแล้ว ผู้เข้ารับการรักษาจะต้องรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ต่อไป เพื่อที่จะได้มั่นใจว่า เซลล์มะเร็งได้ถูกกำจัดออกไปหมดแล้วจริงๆ ช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยวิธีรักษาที่จะต้องทำต่อจากผ่าตัดมะเร็งเต้านม มีดังนี้

การให้ยาเคมีบำบัด

เป็นการให้ยาที่มีคุณสมบัติในการทำลาย หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยในปัจจุบันจะนิยมให้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน เพราะให้ผลการรักษาดีกว่า 

อย่างไรก็ตาม ยาเคมีบำบัดอาจมีผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายที่มีการแบ่งตัวเร็ว เช่น เยื่อบุทางเดินอาหาร เส้นผมและขน เซลล์รังไข่ หรือไขกระดูก แต่ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาแล้ว เซลล์เหล่านี้สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อทดแทนเซลล์เก่าที่ถูกทำลายลงไปได้

การฉายแสง (รังสีรักษา)

การฉายแสง หรือการฉายรังสี คือ การใช้อนุภาครังสีที่มีพลังงานสูงฉายไปที่ตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเต้าเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็ง หยุดยั้งการเจริญเติบโต และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง แต่ก็เหมือนกับการให้ยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยวิธีนี้ก็สามารถส่งผลต่อเซลล์ปกติที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน

การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสงนั้น มักทำร่วมกันเพื่อเสริมประสิทธิภาพผลการรักษามะเร็งเต้านมโดยแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดจทุก 1-3 สัปดาห์ ส่วนการฉายแสงจะทำสัปดาห์ละ 5 วัน ติดต่อกัน 3-6 สัปดาห์

ทั้งนี้แนวทางการรักษาและระยะเวลาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยด้วย

การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน

หากผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่เกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศหญิง หรือฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) แพทย์จะให้ยาต้านฮอร์โมนชนิดนี้ต่อเนื่องกันประมาณ 5-10 ปี เพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำด้วย

การรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะ

ในปัจจุบันมียาที่ทำลายเซลล์มะเร็งบางชนิดได้โดยตรง เช่น ยาต้านเฮอร์ทูที่สามารถเข้าไปจับเซลล์มะเร็งเต้านมที่มีตัวรับสัญญาณเฮอร์ทูอยู่ที่ผิวหนังเซลล์ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะให้ผลการรักษาที่ดี แต่ยากลุ่มนี้ก็รักษาได้เฉพาะเจาะจง และมีราคาค่อนข้างสูง

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดมะเร็งเต้านม

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดมะเร็งเต้านม มีดังนี้

  • ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการทำหัตถการ เช่น การติดเชื้อ แพ้ยาชา อาการชา บวมช้ำ เลือดออก หรือเลือดคลั่ง
  • เกิดการสะสมของน้ำเหลือง หรือเลือดบริเวณใต้ผิวหนัง
  • แผลหายช้าจากการที่ขอบแผลมีเลือดมาหล่อเลี้ยงได้น้อย และทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสี
  • หัวไหล่ติด ยกแขนได้ไม่สุด เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ชั่วคราว สามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด
  • แผลไม่หายเป็นปกติ โดยจะทำให้เกิดแผลเป็น แดง และเจ็บ
  • แขนบวมข้างที่ทำการผ่าตัด เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก
  • มีอาการปวดเรื้อรังบริเวณที่ผ่าตัด สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด
  • มีความรู้สึกกังวลและซึมเศร้า จึงควรเข้ารับการปรึกษาทางจิตเวชทั้งก่อนและหลังผ่าตัด
  • เซลล์มะเร็งกลับมาก่อตัวอีกครั้ง ถ้าหากตรวจพบ จะต้องรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด ฉายแสงรังสี หรือทำการผ่าตัดเพิ่มเติม

ผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมที่ไหนดี?

จะเห็นได้ว่า การผ่าตัดมะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการรักษามะเร็งเต้านมที่สำคัญ เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวางแผนรักษาให้เร็วที่สุด ก่อนที่ก้อนมะเร็งเต้านม จะมีขนาดใหญ่และลุกลามไปยังส่วนอื่น 

เมื่อถึงวัยที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม แล้ว จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ เพราะการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จะเพิ่มโอกาสในรักษาหายขาดและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น

สำหรับใครที่มีอาการผิดปกติที่เต้านม แล้วกำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรค หรือภาวะที่อันตรายรึเปล่า? อยากเช็กให้ชัวร์ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top