ปวดท้องน้อยหน่วงๆ ปวดหลัง รักษาอย่างไร ?

อาการปวดท้องน้อยหน่วงๆ ร่วมกับปวดหลังเป็นปัญหาที่หลายคนพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน สาเหตุอาจเกิดจากระบบย่อยอาหาร การปวดประจำเดือน หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ต้องการการดูแลอย่างเหมาะสม การรักษาจึงต้องพิจารณาถึงวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการและปรับพฤติกรรมการดูแลตัวเองให้ดีขึ้น ท้องน้อยสำหรับผู้หญิง คือ บริเวณช่องท้องส่วนล่างแถวสะดือมาถึงขอบกระดูกเชิงกราน มีมดลูก ปีกมดลูก กระเพาะปัสสาวะอยู่ หากปวดหน่วงๆ บริเวณท้องน้อย มักเกี่ยวกับโรคบางอย่าง และควรปรึกษาแพทย์

ปวดท้องน้อยหน่วงๆ ตรงกลาง

ปวดท้องน้อย ปวดหน่วงๆ ปวดตรงกลางมา 3 วันแล้วค่ะ เป็นเพราะอะไรคะ ถ้าไปตรวจที่โรงพยาบาลที่ไม่ใช่สิทธิประกันสังคม เสียค่ารักษาประมาณเท่าไหร่ค่ะ ?

อาการปวดท้องน้อยหน่วงๆ เกิดได้หลายสาเหตุนะคะ เช่น

  • อุ้งเชิงกรานอักเสบ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียนบริเวณอุ้งเชิงกราน ได้แก่ มดลูก ปีกมดลูก อาจพบมีไข้ร่วมด้วย หรือมีตกขาวผิดปกติออกมา​ได้ค่ะ การวินิจฉัยต้องใช้การตรวจภายใน
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ สามารถมีอาการปวดท้องน้อยได้ มักพบร่วมกับอาการปัสสาวะแสบขัด หรือปัสสาวะขุ่น วินิจฉัยได้จากอาการและ การตรวจปัสสาวะ
  • ลำไส้อักเสบ มักพบมีอาการปวดท้อง ลักษณะมักจะปวดบีบๆ เป็นพักๆ อาจมีท้องเสียร่วมด้วยได้ แต่อาการมักหายไปประมาณ 1-2 วัน
  • กล้ามเนื้ออักเสบ อาจเกิดจากการยกของหนัก หรือนั่งนาน ทำให้มีการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณท้องได้

ค่าตรวจรักษาโดยไม่ได้มีสิทธิการรักษา โดยมากแล้ว แพทย์อาจให้ตรวจปัสสาวะดูก่อน ค่าตรวจประมาณ 150-300 บาท แล้วแต่โรงพยาบาล หากไม่พบความผิดปกติ ควรจะต้องตรวจภายในร่วมด้วย ค่าตรวจอยู่ที่ประมาณ 500-1000 บาทค่ะ หากมีการได้ยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา ค่ายาจะประมาณ 500-1000 บาท

ตอบโดย พญ. สุพิชชา แสงทองพราว

อาการปวดหน่วงๆ มดลูก

มีอาการปวดท้องน้อยปวดแบบหน่วงๆยืนนานไม่ค่อยได้ อาการปวดนี้ลามมาถึงสะโพกค่ะ อยากทราบว่าเกิดจากอะไร ?

สวัสดีค่ะ อาการปวดท้องน้อย จำเป็นต้องได้รับประวัติเพิ่มเติมค่ะ เช่น ปวดที่ไหน ข้างไหน ปวดอย่างไร ปวดตอนไหน ปวดมานานเท่าไหร่ มีอาการร่วมไรบ้างค่ะ
ตัวอย่าง เช่น

  1. การติดเชื้อในลำไส้ หรือท้องเสียถ่ายเหลว อาหารเป็นพิษ ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด ถ้าติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียที่ไม่รุนแรงมาก ก็สามารถหายเองได้ค่ะ
  2. ไส้ติ่งอักเสบ อาการที่ควรมี เช่น ปวดท้องด้านขวาล่าง มีไข้ อาจมีถ่ายเหลว อาเจียนได้ค่ะ
  3. กรวยไตอักเสบ /กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาจมีอาหารร่วมเช่น เป็นไข้สูง ปวดหลัง บางคนมีปัสสาวะแสบขัดได้ค่ะ
  4. สาเหตุจากกล้ามเนื้อ คนไข้อาจมีประวัติยกของหนัก ออกกำลังกาย โดยใช้กล้ามเนื้อบริเวณท้องมาก การปวด อาจสัมพันธ์กับการขยับตัว สวัสดีค่ะ ถ้าอาการปวดเป็นหลังจากการออกกำลังกาย โดยใช้กล้ามเนื้อบริเวณท้องมาก การเกร็งหน้าท้องเป็นเวลานาน หรือการบิดอยู่ท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานค่ะ มีจุดกดเจ็บชัดเจน โดยมากหายได้เองค่ะ ถ้าไม่หาย สามารถทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือ ไดโคฟิแนคได้ (โปรดปรึกษาแพืย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยานะคะ)
  5. ความผิดปกติของระบบสืบพันธฺสตรี เช่น เนื้องอกของมดลูก รังไข่ เป็นต้นค่ะ หรือการติดเชื้อในบริเวณดังกล่าว เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือ ถ้าคนไข้มีความเสี่ยงที่จะตั้งครภ์ แล้วมีอาการปวดท้องด้านใดด้านหนึ่งมากๆ บวกกับประจำเดือนขาด ผลตรวจครรภ์เป็นบวก อาจเกิดจากการท้องนอกมดลูกได้ค่ะ

สำหรับอาการดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยอย่างพอสังเขป การให้การรักษาต้องได้รับการตรวจร่างกายเพิ่มเติมโดยแพทย์ ดังนั้น แนะนำให้ไปตรวจร่างกายที่ รพ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องหากอาการไม่ดีขึ้นค่ะ

ตอบโดย พญ. พิศุทธิกาญจญ์ รังคกูลนุวัฒน์

ปวดท้องน้อยหน่วงๆ ปวดหลัง

ปวดท้องน้อย ปวดหน่วงๆ แล้วลามมาปวดหลังค่ะ มีอาการเวียนหัวหน้ามืด พะอืดพะอมค่ะ เป็นโรคอะไรคะ ?

อาการปวดท้องน้อยหน่วงๆ อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของอวัยวะอุ้งเชิงกราน เช่น กรวยไตอักเสบมักมีอาการผิดปกติของปัสสาวะร่วมด้วย เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่มักจะมีความผิดปกติของประจำเดือนร่วมด้วย

ดังนั้น เมื่อมีอาการเจ็บหน่วงท้องน้อย ควรไปพบแพทย์ตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด เพราะการรักษาแต่ละโรคนั้นอาจมีแนวทางที่แตกต่างกันค่ะ

ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

ปวดท้องน้อย ปวดหลัง พร้อมกัน

ตอนนี้ท้อง 20 สัปดาห์ค่ะคุณหมอ แต่มีอาการปวดหน่วงท้องน้อยมาก ปวดหลังมากและปวดลงไปที่ก้น ปวดมา 3 วัน แต่ไม่มีเลือดออกนะคะ อาการนี้เสี่ยงแท้งลูกไหม แล้วอันตรายไหมคะ ควรไปพบหมอรึเปล่า ?

อาการปวดหน่วงท้องน้อย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุครับ เช่น

  • อาการปวดกล้ามเนื้อ อาการปวดมักอยู่ในระดับผิวตื้นๆ มักมีจุดกดเจ็บชัดเจน อาการปวดมักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทาง
  • อาการท้องอืดอาหารไม่ย่อย
  • อาการท้องผูก
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จะทำให้มีอาการปวดท้องน้อยร่วมกับมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด

อาการปวดท้องน้อยเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่มีเลือดออกทางช่องคลอดนั้น อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะใช้บอกได้ว่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

ในเบื้องต้นนั้นหมอแนะนำว่าสามารถไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการเพิ่มเติมให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก่อน เพื่อที่จะได้ให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมครับ

ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์


บทความที่เกี่ยวข้อง

คำถามสุขภาพที่พบบ่อย

Scroll to Top