อาการคัดเต้า เจ็บนม ก่อนมีประจำเดือน ท้องไหม?

อาการคัดเต้าคนท้อง อย่างหนึ่งที่เห็นชัด คือ มีการคัดตึงบริเวณเต้านมในช่วงเริ่มตั้งครรภ์ แต่ช่วงก่อนมีประจำเดือนก็มีอาการคัดเต้า เจ็บนม โดยไม่ได้ท้องก็ได้เช่นกัน แล้วจะใช้เป็นข้อสังเกตในการตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ควรสังเกตจากอะไรถึงจะดีที่สุด มาฟังคำตอบจากแพทย์กัน

อาการคัดเต้าคนท้องเป็นอย่างไร

ระหว่างอาการเจ็บเต้านมก่อนประจำเดือนมาโดยไม่ได้ตั้งครรภ์ กับอาการเจ็บเต้านมในคนท้อง มีความแตกต่างกันยังไงคะ ดิฉันมีตกขาวติดกางเกงในวันเดียว หลังจากนั้น 2 วันก็เจ็บเต้านม?

อาการคัดเต้าคนท้อง และ อาการคัดเต้าไม่ได้ท้อง ต่างกันดังนี้ค่ะ

  • อาการคัดเต้าเมื่อไม่ได้ท้อง จะเป็นอาการเจ็บคัดตึงเต้านมก่อนประจำเดือนมา ซึ่งมักจะเกิดขึ้น 2-3 วันก่อนประจำเดือนมา แล้วจะหายไปเมื่อประจำเดือนเริ่มมาค่ะ
  • อาการคัดเต้านมเมื่อท้อง มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่หายไปง่าย ๆ เหมือนกับการเจ็บเต้านมก่อนประจำเดือน และอาจรู้สึกคัดเต้านมต่อเนื่องตลอดช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ
  • อาการตกขาวของคนตั้งครรภ์ จะมีลักษณะคล้ายกับตกขาวปกติ คือมีสีขาว ไม่มีกลิ่น และไม่ทำให้รู้สึกแสบหรือคันในช่องคลอด แต่จะมีปริมาณมากขึ้นกว่าปกติค่ะ

ตอบโดย พญ.พิมพกา ชวนะเวสน์ สูตินรีแพทย์

ตั้งครรภ์ คัดเต้าตอนไหน เริ่มท้องกี่เดือน

อาการเจ็บหัวนมและหัวนมขยายจะเริ่มแสดงอาการตอนตั้งท้องได้กี่เดือนคะ?

โดยส่วนใหญ่สามารถรับรู้ถึงอาการคัดตึงเต้านมได้ในช่วงประมาณ 2-3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ และจะสังเกตได้ชัดเจนขึ้นในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 6 สัปดาห์

อาการคัดตึงเต้านม มักจะเกิดในไตรมาสแรก เต้านมจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย บริเวณรอบหัวนมจะมีสีคล้ำขึ้น ลานหัวนมจะกว้างขึ้น และเต้านมจะขยายขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุครรภ์ค่ะ

ตอบโดย พว. ศุภลักษณ์ แซ่จัง

อาการคัดเต้า ไม่ได้ท้อง

เรามีอาการคัดเต้านมหลังจากไข่ตกแค่ 3 วัน มีโอกาสท้องไหมคะหรือไม่ได้ท้อง เจ็บนม คัดเต้ามาก ๆ เลยค่ะ?

อาการคัดตึงเต้านมและเจ็บหัวนมไม่ได้เป็นอาการที่มีความจำเพาะต่อการตั้งครรภ์ครับ อาการเหล่านี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการนำก่อนมีประจำเดือน ผลข้างเคียงของยาบางชนิด การมีระดับฮอร์โมนในเลือดที่ผิดปกติ หรือการอักเสบของเต้านม เป็นต้น ถ้าหากอาการเจ็บคัดเต้านมมีความรุนแรงมาก หมอแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุครับ

ส่วนประเด็นเรื่องการตั้งครรภ์ อาจต้องรอดูว่าประจำเดือนในรอบนี้จะมาตามปกติหรือไม่ หากประจำเดือนขาดหายไป แนะนำให้ลองตรวจการตั้งครรภ์ โดยให้ตรวจหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 14 วัน และใช้ปัสสาวะแรกหลังตื่นนอนในการตรวจ ก็จะให้ผลที่เชื่อถือได้ประมาณ 97-99% ครับ

ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์

เจ็บเต้าสองข้าง ประจําเดือนไม่มา

เจ็บเต้าทั้งสองข้าง ประจำเดือนไม่มา และเจ็บหัวนมมาประมาณ 5 วัน มีอาการปวดขา ปวดเอว ปวดจี๊ดที่ขมับและเบ้าตาเป็นบางครั้ง ท้องอืดบ่อย และมีอาการเหมือนกรดไหลย้อน คล้ายจะอ้วก จุก ๆ ที่คอ มีตกขาวสีเหลืองขุ่น ประจำเดือนขาดไป 3 วันแล้ว แต่ป้องกันทุกครั้ง ช่วงนี้เครียดและนอนน้อย มีโอกาสท้องไหมคะ และมีวิธีทำให้ประจำเดือนมาหรือไม่คะ?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีคุมกำเนิดใดที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% ครับ ดังนั้น หากในรอบเดือนที่ผ่านมาได้มีเพศสัมพันธ์ก็ยังมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ โอกาสจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวิธีการคุมกำเนิดที่เลือกใช้

อย่างไรก็ตาม หากเพิ่งขาดประจำเดือนไปเพียง 3 วัน ยังไม่ควรมีอาการของการตั้งครรภ์ที่ปรากฏชัดเจน อาการคัดตึงเต้านม ปวดตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย ท้องอืด จุกแน่นคอ มีตกขาว จึงน่าจะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ มากกว่า เช่น อาการนำก่อนประจำเดือนมา โรคกระเพาะ กรดไหลย้อน อาหารเป็นพิษ หรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ ฯลฯ

หากต้องการทราบแน่ชัดว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ แนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์ โดยให้ตรวจห่างจากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 14 วัน และใช้ปัสสาวะแรกหลังตื่นนอนตอนเช้าในการตรวจ ซึ่งจะให้ผลที่เชื่อถือได้ประมาณ 97-99% ครับ

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เจ็บหัวนม เจ็บเต้าสองข้าง และประจำเดือนไม่มา หากอาการเป็นมากหรือเป็นติดต่อกันหลายวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการเพิ่มเติมครับ

ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์

อาการคัดเต้า ประจําเดือนไม่มา

หนูประจำเดือนขาดมา 2 เดือนกว่าแล้วค่ะ ตรวจด้วยที่ตรวจครรภ์หลายครั้ง แต่ผลออกมาขึ้นขีดเดียว หนูมีอาการคัดเต้านม เจ็บนม และเจ็บท้องน้อยเหมือนประจำเดือนจะมาแต่ก็ยังไม่มา อยากทราบว่าหนูมีโอกาสท้องไหมคะ เป็นอาการคัดเต้าคนท้องหรือเปล่า?

หากประจำเดือนไม่มา และได้ตรวจการตั้งครรภ์อย่างถูกต้องแล้ว แต่ผลไม่พบการตั้งครรภ์ ปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนที่เคยมาแล้วขาดหายไปหรือผิดปกติมีหลายอย่างค่ะ ตัวอย่างเช่น

  1. ความเครียด การอดอาหารนาน ๆ และการออกกำลังกายอย่างหักโหมมากเกินไป ทำให้ประจำเดือนขาดได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
  2. การใช้ยาฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น ยาคุมกำเนิดแบบฉีด หรือยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคทางจิตเวช
  3. โรคทางระบบสืบพันธุ์บางชนิด เช่น ถุงน้ำรังไข่ (PCOS) อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาจทำให้มีอาการปวดท้องหรือตกขาวที่ผิดปกติ ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติมค่ะ
  4. ฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ ซึ่งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ใจสั่น กินจุ น้ำหนักลด หรือฮอร์โมนจากรังไข่ผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้ไม่เกิดการตกไข่ ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไม่มาเลย หรือมาแบบกระปริบกระปรอย
  5. โรคทางการกินที่ผิดปกติ (anorexia) ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวช หากอดอาหารหรือทานอาหารไม่ถูกวิธีเป็นเวลานาน จะทำให้ขาดประจำเดือนได้ค่ะ

หากคนไข้มีอาการต่าง ๆ ที่ผิดปกติ ดังที่กล่าวไป แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหรือตรวจภายในเพิ่มเติมนะคะ

หากประจำเดือนมาล่าช้ากว่าปกติ และไม่ได้เป็นมาติดต่อกันเกิน 3 รอบเดือน ก็อาจรอดูอาการก่อนได้ค่ะ แต่หากเกิน 3 เดือนแล้วยังไม่มีประจำเดือน แนะนำให้ไปตรวจร่างกายและตรวจภายในเพิ่มเติมนะคะ

ทั้งนี้ การทำใจให้สบาย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ระมัดระวังเรื่องการใช้ยาหรืออาหารเสริมที่แพทย์ไม่ได้สั่ง และออกกำลังกายอย่างพอดี จะช่วยให้สมดุลฮอร์โมนดีขึ้น และทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอค่ะ

ตอบโดย พญ. พิศุทธิกาญจญ์ รังคกูลนุวัฒน์


บทความที่เกี่ยวข้อง

คำถามสุขภาพที่พบบ่อย

Scroll to Top