ว่ากันว่านิ่วเกิดได้กับหลายอวัยวะ หลายระบบในร่างกายเรา รวมถึงนิ่วที่ท่อน้ำดีด้วย แล้วนิ่วที่ท่อน้ำดีเหมือนนิ่วในถุงน้ำดีไหม คือโรคเดียวกันหรือเปล่า เป็นอันตรายแค่ไหน มีสัญญาณเตือนอะไรบ้าง และที่สำคัญที่สุดคือ รักษาและป้องกันได้ไหม วันนี้ HDmall รวบรวมเรื่องของนิ่วในท่อน้ำดีที่หลายคนสงสัยมาให้อ่านกัน
สารบัญ
นิ่วในท่อน้ำดี คืออะไร เหมือนกับนิ่วในถุงน้ำดีไหม
อย่างแรกต้องรู้จักกับนิ่วกันก่อน “นิ่ว”เป็นก้อนแข็งที่ตกตะกอนในอวัยวะต่าง ๆ ที่มีของเหลวอยู่ และของเหลวนั้นมีความเข้มข้นสูงกว่าปกติ ซึ่งพบบ่อยในระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบทางเดินน้ำดี
ปกติแล้วน้ำดีจะถูกสร้างจากตับ ก่อนจะปล่อยลงท่อน้ำดี และเก็บไว้ในถุงน้ำดี ซึ่งน้ำดีนี่เองจะถูกนำไปใช้ย่อยอาหารประเภทไขมัน โดยจะไหลผ่านท่อน้ำดีไปสู่ลำไส้เล็กและกระเพาะอาหาร ระบบทางเดินน้ำดีจึงเกิดนิ่วได้หลายที่ ทั้งนิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในท่อถุงน้ำดี และนิ่วในท่อน้ำดีเองด้วย
นิ่วในท่อน้ำดีพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย พบบ่อยในช่วงอายุ 40-50 ปี หรือมากกว่านั้น สาเหตุหลักมักเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีตกลงมาที่ท่อน้ำดี มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดขึ้นเองภายในท่อน้ำดี ก้อนนิ่วนี้เป็นก้อนตะกอนแข็งที่ก่อตัวจากสารต่าง ๆ ในน้ำดี เช่น แคลเซียม คอเลสเตอรอล เกลือน้ำดี เลซิติน และสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ที่ให้สีเหลือง โดยอาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือเป็นก้อนขนาดใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ
หากนิ่วไปอุดตันหรือขวางในท่อน้ำดีอาจก่อให้เกิดอาการปวดหรือความผิดปกติตามมา ขึ้นอยู่กับจุดที่นิ่วไปอุดตัน และยังอาจส่งผลต่ออวัยวะโดยรอบ อย่างตับ ตับอ่อน และระบบย่อยอาหารได้ด้วย แม้ว่านิ่วในท่อน้ำดีอาจไม่ใช่โรคที่ต้องรักษาด่วน แต่ก็มีความเสี่ยงไม่น้อย โดยเฉพาะก้อนนิ่วขนาดใหญ่ที่อาจทำให้เกิดการอุดตันท่อน้ำดี การอักเสบ การติดเชื้อ ไปจนถึงภาวะแทรกซ้อน จึงควรไปพบแพทย์ทันทีที่พบสัญญาณเตือนและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
อาการนิ่วในท่อน้ำดี มีอะไรบ้าง
อันที่จริง ผู้ป่วยอาจไม่เกิดอาการใด ๆ หากนิ่วไม่ไปอุดตันท่อน้ำดี แต่ถ้านิ่วไหลไปอุดตันหรือกีดขวางการไหลของน้ำดี อาจก่อให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง ปวดเสียดท้อง (Biliary Colic) โดยจะปวดท้องใต้ชายโครงขวา หรือกึ่งกลางบริเวณลิ้นปี่นานนับชั่วโมง โดยเฉพาะช่วง 20 นาทีแรกหลังกินอาหาร ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดเสียดท้องเป็นระยะ ๆ หรือเป็นต่อเนื่อง อาการปวดอาจไม่มาก แต่บางครั้งก็อาจปวดอย่างรุนแรงเฉียบพลันได้ด้วย
นอกจากอาการปวดเสียดท้องแล้ว ผู้ป่วยมักจะเกิดอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย
- คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร แม้อาเจียนแล้วอาการปวดเสียดก็ไม่ได้ดีขึ้น
- ดีซ่าน ทำให้ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะสีเหลืองเข้มหรือมีฟอง อุจจาระมีสีคล้ายดินโคลน โดยอาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ นั่นเป็นเพราะมีภาวะน้ำดีคั่งค้าง
- มีไข้ หนาวสั่น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
ท่อน้ำดีที่อุดตันยังอาจก่อให้เกิดการอักเสบ การติดเชื้อ และเนื้อเยื่อของอวัยวะโดยรอบเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นถุงน้ำดี ตับอ่อน และตับ ซึ่งนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินน้ำดีหรือกระแสเลือด ท่อน้ำดีอักเสบ หรือตับอ่อนอักเสบ
ใครที่มีอาการผิดปกติในข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ โดยเฉพาะกรณีที่มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มมาก หรือมีฟองจนผิดปกติ ควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลทันที
นิ่วในท่อน้ำดี อันตรายกว่าที่คิด มีอาการผิดปกติหรือยังไม่มีก็ตรวจได้ หาแพ็กเกจอัลตราซาวด์ดูความผิดปกติอวัยวะในช่องท้อง คลิกเลย จองผ่าน HDmall.co.th สะดวกทุกสเต็ป ซื้อแพ็กเกจในราคาประหยัด พร้อมมีแอดมินพร้อมให้คำแนะนำเลือกแพ็กเกจที่ใช่สำหรับคุณทุกวัน แชทเลย
สาเหตุของนิ่วในท่อน้ำดี
นิ่วในท่อน้ำดีส่วนใหญ่เป็นผลจากก้อนนิ่วที่เคยอยู่ในถุงน้ำดีที่ไหลออกมาอุดตันตรงส่วนท่อน้ำดี โดยก้อนนิ่วแบ่งเป็น 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
นิ่วจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Gallstone) ตามชื่อก็คือเป็นนิ่วที่เกิดจากคอเลสเตอรอลที่ไม่ละลายน้ำหรือสารบิลิรูบินในน้ำดีที่มีปริมาณมากเกินไป บวกกับมีปริมาณเกลือน้ำดีไม่เพียงพอ โดยก้อนนิ่วจากคอเลสเตอรอลมักมีสีเหลืองเขียวและเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดด้วย
นิ่วจากเม็ดสี (Pigment Gallstone) ก้อนนิ่วชนิดนี้จะมีสีออกน้ำตาลหรือดำ สาเหตุนั้นยังไม่แน่ชัด แต่เกิดขึ้นได้กับคนที่มีปัญหาตับแข็ง ติดเชื้อในระบบทางเดินน้ำดี หรือโรคเลือดจากพันธุกรรมที่ทำให้ตับผลิตสารบิลิรูบินมากเกินไป อย่างเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia) หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดนิ่วในท้องน้ำดีเพิ่มขึ้น ได้แก่
- อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
- เป็นผู้หญิง
- ภาวะอ้วน
- โรคเบาหวาน
- โรคของลำไส้
- ตั้งครรภ์
- น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
- ขาดการออกกำลังกาย
- อดอาหาร
- กินอาหารที่มีแคลอรีและไขมันสูง แต่ใยอาหารต่ำ
- ระดับคอเลสเตอรอลสูง
- ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเกินไป อย่างการทำฮอร์โมนบำบัด ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน
- ใช้ยาลดคอเลสเตอรอล
- มีภาวะโลหิตจางจากเส้นเลือดแตก หรือเป็นโรคตับแข็ง
- มีประวัติเป็นโรคนิ่ว ท่อน้ำดีอักเสบ โรคถุงน้ำดี หรือผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกไปแล้วอาจเสี่ยงเกิดนิ่วในท่อน้ำดีได้มากขึ้นด้วย
นิ่วในท่อน้ำดีตรวจได้อย่างไร
นิ่วในท่อน้ำดีอาจไม่ก่ออาการ แต่สัญญาณที่พอจะสังเกตได้ง่ายคือ ตาเหลือง ตัวเหลือง หรือปวดเสียดท้อง ซึ่งหมายถึงได้เวลาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้ว เบื้องต้นแพทย์จะประเมินอาการและตรวจร่างกาย ก่อนจะตรวจด้วยวิธีอื่น ดังนี้
การตรวจเลือด เพื่อดูค่าต่าง ๆ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดขาว (Complete Blood Count) วัดปริมาณสารบิลิรูบิน (Bilirubin Test) หรือทดสอบการทำงานของตับ (Liver Function Test) และตับอ่อน (Pancreas Function Test) ล้วนมีส่วนช่วยประเมินภาวะแทรกซ้อนได้
การตรวจภาพถ่ายอวัยวะ เพื่อตรวจหานิ่วที่อยู่ในร่างกาย บริเวณที่อุดตัน ขนาดและจำนวนของนิ่ว รวมถึงประเมินอวัยวะรอบข้างอย่างตับ ถุงน้ำดี ม้าม ไต และตับอ่อนด้วย เช่น
- การอัลตราซาวน์ช่องท้อง (Abdominal Ultrasound) ด้วยคลื่นความถี่สูง จะช่วยให้เห็นก้อนนิ่วในท่อน้ำดีได้ชัดเจน
- การส่องกล้องอัลตราซาวน์ระบบทางเดินอาหาร (Endoscopic Ultrasonography: EUS) โดยสอดกล้องขนาดเล็กที่ติดคลื่นความถี่สูงผ่านทางปากหรือทวารหนัก
- การทำซีที สแกนช่องท้อง (CT Scan) ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- การตรวจท่อทางเดินน้ำดีและท่อตับอ่อนโดยเฉพาะ (Magnetic Resonance Cholangiopancreatography: MRCP) ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- การส่องกล้องฉีดสีทางเดินท่อน้ำดีและท่อตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangiography: ERCP) วิธีนี้สามารถตรวจหาความผิดปกติพร้อมรักษานิ่วที่อุดตันไปในตัวได้เลย
นิ่วในท่อน้ำดี มีวิธีรักษาอะไรบ้าง
การรักษานิ่วในท่อน้ำดีคือ การเอานิ่วออก เพื่อช่วยระบายหรือลดการอุดตันในท่อน้ำดี สามารถทำได้หลายวิธีตามแต่แพทย์เห็นสมควร มีทั้งการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด เช่น การส่องกล้องผ่านปากของผู้ป่วยเพื่อเอานิ่วออกโดยไม่ต้องผ่าตัด (ERCP) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่แพทย์นิยมใช้ การกินยาละลายก้อนนิ่วคอเลสเตอรอล อย่างยาคีโนไดออล (Chenodiol) และยาเออร์โซไดออล (Ursodiol) หรือหากนิ่วมีขนาดใหญ่ก็อาจใช้การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีหรือผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก การผ่าตัดขยายท่อน้ำดี ไปจนถึงการใส่ท่อระบายน้ำดี
สำหรับคนที่มีนิ่วในถุงน้ำดีร่วมด้วย หลังจากนำนิ่วออกจากท่อน้ำดีแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดนำถุงน้ำดีออก เพื่อป้องกันนิ่วไหลออกมาจากถุงน้ำดีจนไปอุดตันตามท่อน้ำดี หรือกระทบอวัยวะข้างเคียงซ้ำ ๆ ซึ่งผู้ป่วยยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติแม้จะไม่มีถุงน้ำดีแล้วก็ตาม และร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้เอง
จะเห็นว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็มีส่วนเอื้อให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีและนำไปสู่นิ่วในท่อน้ำดีได้ เราจึงควรเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดี และหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นในทุก ๆ วัน เช่น กินอาหารใยอาหารสูงอย่างผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป ของทอด ของมัน หรือของหวาน ออกกำลังกายเป็นประจำ และหากพบอาการผิดปกติก็อย่าคิดว่าไม่เป็นไร ไปตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็ได้รักษาไว หายไวไปด้วย
ปวดท้องโดยไม่มีสาเหตุ หรือมีอาการเตือนอื่น ๆ ปรึกษาคุณหมอ อุ่นใจกว่า หาโปรตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง หาความผิดปกติของถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ตับ ตับอ่อน และโปรตรวจสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ HDmall.co.th จองแพ็กเกจในราคาโปรโมชั่นได้ก่อน พร้อมใช้ได้เมื่อสะดวก คลิกเลย