levocetirizine

Levocetirizine (เลโวเซทิริซีน)

Levocetirizine (เลโวเซทิริซีน) มีชื่อสามัญว่า Levocetirizine Dihydrochloride (เลโวเซทิริซีน ไดไฮโดรคลอไรด์) อยู่ในกลุ่มยาต้านอาการแพ้รุ่นที่ 3 ช่วยบรรเทาอาการแพ้ ภูมิแพ้ ผื่นลมพิษ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ 

Levocetirizine ใช้รักษาโรคอะไร 

Levocetirizine อยู่ในกลุ่มยาแก้แพ้ จึงช่วยบรรเทาอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น 

  • ผื่นลมพิษ ในเด็กอายุมากกว่า 6 ปีและผู้ใหญ่
  • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

กลไกการออกฤทธิ์ของ Levocetirizine

Levocetirizine จะออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับฮิสตามีนชนิด H1 ซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้บริเวณกระเพาะอาหาร หลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ ทำให้ช่วยบรรอาการต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากกลไกการแพ้ได้

Levocetirizine เป็นยาต้านฮิสตามีนรุ่น 3 ที่พัฒนามาจาก Cetirizine ซึ่งเป็นยาต้านฮิสทามีนรุ่นที่ 2 ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นาน เพราะจับกับตัวรับฮิสตามีนได้แน่นหนามากกว่า Cetirizine ประมาณ 2 เท่า 

นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงน้อยลงเมื่อเทียบกับ Cetirizine และยาแก้แพ้ตัวอื่น ๆ ในรุ่นที่ 1

ปริมาณการใช้ยา Levocetirizine 

Levocetirizine รูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน ใช้บรรเทาอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และผื่นลมพิษ ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ คือ 5 มิลลิกรัม (1 เม็ด) วันละ 1 ครั้ง หากอาการไม่รุนแรง อาจรับประทานเพียง 2.5 มิลลิกรัม (ครึ่งเม็ด)

ผู้ป่วยโรคไตบกพร่องจำเป็นต้องลดขนาดยาลงตามค่าการทำงานของไต เนื่องจากยา Levocetirizine จะขับออกทางไตเป็นหลัก ดังนี้

ค่าการกำจัดครีอะทินิน (CrCl) และขนาดความถี่ในการใช้ยา

  • ค่าการกำจัดครีอะทินินมากกว่าหรือเท่ากับ 80 วันละ 1 เม็ด
  • ค่าการกำจัดครีอะทินิน 50–79 วันละ 1 เม็ด
  • ค่าการกำจัดครีอะทินิน 30–49 1 เม็ด ทุก 2 วัน
  • ค่าการกำจัดครีอะทินินต่ำกว่า 30 1 เม็ด ทุก 3 วัน
  • ค่าการกำจัดครีอะทินินต่ำกว่า 10 ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้

ข้อควรระวังและการใช้ยา Levocetirizine 

  • เมื่อใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การทำงานกับเครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมเสี่ยงอันตรายต่าง ๆ เพราะยาจะส่งผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลางอยู่บ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการง่วงซึม ลดความสามารถในการตัดสินใจ การคิด และการเคลื่อนไหว 
  • รับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ กรณีที่เกิดผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหาร แนะนำให้รับประทานพร้อมหรือหลังอาหาร 
  • ไม่ควรรับประทานยานี้ ร่วมกับแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะยิ่งเสริมฤทธิ์การกดประสาท ทำให้อาการง่วงซึมรุนแรงยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ รวมถึงยาในกลุ่มโครงสร้างไพเพอเรซีน (Piperazine) อื่น ๆ เช่น Cetirizine (เซทิริซีน), Cinnarizine (ซินนาริซีน), Hydroxyzine (ไฮดรอกไซซีน) 
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยไตบกพร่องระดับรุนแรง ที่มีค่าการกำจัดครีอะทีนิน (CrCl) น้อยกว่า 10 มิลลิลิตรต่อนาที
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ที่มีการดูดซึมของแลคโตสผิดปกติ เพราะยามีส่วนประกอบของแลคโตส  
  • ระวังการใช้ยาในผู้สูงอายุ เด็ก ผู้มีครรภ์ ผู้ที่ให้นมบุตร ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยโรคไตบกพร่อง ผู้ป่วยลมชัก หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชัก

การใช้ยา Levocetirizine ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร

ผู้ตั้งครรภ์ควรใช้ยา Levocetirizine เมื่อจำเป็นเท่านั้น และผู้ที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้

แม้จะยังไม่มีการยืนยันว่าตัวยาจะส่งผลอันตรายต่อทารก แต่มีความเป็นไปได้ว่าตัวยาอาจปนมากับน้ำนม

ผลข้างเคียงจากยา Levocetirizine 

อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ๆ เช่น ปากแห้ง ปวดศีรษะ เหนื่อย ง่วงซึม และอาการที่พบได้น้อยลงมา เช่น อ่อนเพลีย ปวดท้อง

ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ตามแต่กรณี เช่น 

  • หัวใจเต้นเร็ว มึนงง วูบ อาการสั่น ส่งผลต่อพฤติกรรม
  • ก้าวร้าว ซึมเศร้า เห็นภาพหลอน ฝันร้าย มีความคิดฆ่าตัวตาย 
  • รบกวนการรับรส รบกวนการทรงตัว รบกวนการมองเห็น 
  • มีผื่นคัน ผื่นลมพิษ หายใจสั้น 
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม 
  • ปวดกล้ามเนื้อ 
  • ปวดข้อ  
  • ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่สุด 
  • บวมน้ำ ตับอักเสบ 
  • การทำงานของตับผิดปกติ
  • อยากอาหาร 
  • อาเจียน คลื่นไส้ ถ่ายท้อง เกิดผื่นเมื่อหยุดใช้ยา

ประเภทของยา Levocetirizine ตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย 

Levocetirizine จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย มีจำหน่ายเฉพาะร้านยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งควบคุมการขายยาเท่านั้น โดยจะต้องมีการจัดทำบัญชียาอันตราย 

สำหรับบุคคลทั่วไป เภสัชกรสามารถจำหน่ายยาและให้คำแนะนำในการใช้ยาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพฯ


เขียนโดย ทีมเภสัชกร HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD

Scroll to Top