คุยเรื่องผ่าตัดไทรอยด์ด้วยการส่องกล้องทางปาก ต่างกับเทคนิคการผ่าตัดแบบอื่นยังไง พักฟื้นนานแค่ไหน พร้อมตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคที่ต่อมไทรอยด์
โดยนพ. ณัฐพล อภิกิจเมธา หรือหมอณัฐ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง ที่จะมาตอบคำถามเกี่ยวกับการผ่าตัดไทรอยด์ด้วยการส่องกล้องทางช่องปากอย่างละเอียด
อ่านประวัติหมอณัฐได้ที่นี่ [คุยกับ “หมอณัฐ” ศัลแพทย์ด้านการผ่าตัดส่องกล้อง และการส่องกล้องทางเดินอาหาร]
สารบัญ
- ต่อมไทรอยด์อยู่ที่ไหน สำคัญอย่างไร?
- ความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์มีกี่แบบ และเกิดจากอะไร?
- ความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดอาการอย่างไร?
- วิธีเช็กเนื้องอกของต่อมไทรอยด์
- มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ต้องผ่าตัดทันทีไหม?
- เป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ต้องผ่าตัดเมื่อไร?
- การผ่าตัดต่อมไทรอยด์มีแบบไหนบ้าง?
- ขั้นตอนการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก
- การดูแลตนเองหลังผ่าตัดต่อมไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก
- ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
- ตอบคำถามที่พบได้บ่อย และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคที่ต่อมไทรอยด์
- ผ่าตัดไทรอยด์ด้วยเทคนิคผ่าตัดส่องกล้องทางช่องปาก กับ นพ. ณัฐพล ด้วยบริการจาก HDcare
ต่อมไทรอยด์อยู่ที่ไหน สำคัญอย่างไร?
ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) คือ ต่อมไร้ท่อที่อยู่ตรงกลางลำคอ ในผู้ชายจะสังเกตเห็นได้ง่ายกว่า โดยจะอยู่ใต้ลูกกระเดือกประมาณ 2-3 เซนติเมตร ทำหน้าที่หลักในการกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานต่างๆ ในร่างกาย
ความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์มีกี่แบบ และเกิดจากอะไร?
ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์สามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ ได้แก่
- ความผิดปกติที่ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ โดยผู้ที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงผิดปกติ จะเรียกว่า “ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ” ส่วนผู้ที่ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติจะเรียกว่า “ภาวะไฮโปไทรอยด์”
- ต่อมไทรอยด์มีก้อนเนื้องอก หรือที่สมัยก่อนนิยมเรียกกันว่า “โรคคอหอยพอก” โดยเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์มีทั้งชนิดธรรมดา และชนิดที่เป็นก้อนมะเร็ง
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัด หลายคนเชื่อว่า อาจเกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม หรือจากพันธุกรรม แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างเป็นทางการว่า เป็นสาเหตุทำให้เกิดความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์
ความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดอาการอย่างไร?
- ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ก่ออาการใจสั่น ใจร้อน หงุดหงิดง่าย มีพฤติกรรมกินจุขึ้น แต่น้ำหนักลดลงผิดปกติ
- ภาวะไฮโปไทรอยด์ ก่ออาการเซื่องซึม ไม่กระฉับกระเฉง รวมถึงอยากอาหารน้อยลง แต่น้ำหนักขึ้นผิดปกติ
- ต่อมไทรอยด์มีก้อนเนื้องอก คนไข้จะพบก้อนโตขึ้นที่กลางลำคอ อาจมีคนรอบตัวทักว่าคอมีก้อนนูนขึ้นมา และมักไม่มีอาการบ่งชี้อื่นๆ นอกจากมีก้อนโตที่ลำคอ
วิธีเช็กเนื้องอกของต่อมไทรอยด์
วิธีตรวจหาก้อนโตที่ต่อมไทรอยด์สามารถทำได้ไม่ยาก โดยการส่องกระจกและเงยลำคอขึ้น จากนั้นกลืนน้ำลายและสังเกตว่า มีก้อนนูนขยับขึ้นลงที่ลำคอหรือไม่ แต่หากตรวจดูด้วยตนเองและไม่มั่นใจ ให้เดินทางมาตรวจกับแพทย์เฉพาะทางจะทำให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำกว่า
สำหรับวิธีตรวจเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์กับแพทย์ แพทย์จะใช้มือคลำที่ลำคอเพื่อตรวจหาก้อนเนื้อ จากนั้นจะส่งตัวคนไข้ตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อช่วยให้เห็นภาพภายในลำคอชัดเจนขึ้น สามารถระบุขนาด ตำแหน่ง และชนิดของเนื้องอกได้ เพื่อคัดกรองก้อนมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์
มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ต้องผ่าตัดทันทีไหม?
ไม่จำเป็น ยกเว้นแต่คนไข้มีก้อนเนื้อที่ขนาดใหญ่มาก และกดเบียดหลอดลมจนทำให้หายใจลำบาก ในกรณีนี้แพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัดฉุกเฉินในทันที
เป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ต้องผ่าตัดเมื่อไร?
ข้อบ่งชี้ของโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์และสมควรเข้ารับการผ่าตัด ได้แก่
- ตรวจอัลตราซาวด์และเจาะชิ้นเนื้อที่ก้อนเนื้อ และพบว่า ก้อนเนื้อเป็นก้อนมะเร็ง
- ก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์เป็นก้อนเนื้อชนิดธรรมดา แต่มีขนาดโตกว่า 3-4 เซนติเมตรขึ้นไป แพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัด เนื่องจากยิ่งก้อนเนื้อโตมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงกลายเป็นก้อนมะเร็งได้ในภายหลัง
- ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ก่อให้เกิดอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น หายใจติดขัด กลืนอาหารลำบาก
- คนไข้มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ และรักษาด้วยการใช้ยาแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น
- คนไข้พบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ซึ่งยังไม่เป็นอันตราย แต่รู้สึกไม่สบายใจ หรือไม่มั่นใจด้านความสวยงามของลำคอ อยากผ่าตัดนำออก ในกรณีนี้ก็สามารถผ่าตัดได้เช่นกัน
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์มีแบบไหนบ้าง?
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์แบ่งออกได้ 2 รูปแบบ ได้แก่
1. การผ่าตัดแบบเปิดแผลที่คอ
เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่วงการแพทย์ใช้กันมาอย่างยาวนาน มีจุดเด่นด้านการผ่าตัดนำก้อนเนื้อออกได้ทุกขนาด แต่ก็มีข้อจำกัดด้านการสร้างรอยแผลเป็นที่เห็นได้ชัดตรงลำคอ ทำให้เกิดปัญหาด้านความสวยงามหรือความมั่นใจในภาพลักษณ์ได้
ส่วนมากแพทย์นิยมใช้การผ่าตัดแบบเปิดแผลที่คอในกรณีที่พบก้อนเนื้อขนาดใหญ่มากๆ หรือก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ยื่นลงไปที่ช่องอก
2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง
เป็นการผ่าตัดเทคนิคใหม่ ซึ่งแพทย์สามารถผ่าเปิดแผลได้หลายตำแหน่ง เช่น ผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางรักแร้ ผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางหน้าอก และอีกเทคนิคใหม่ล่าสุด คือ “ผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางช่องปาก” ซึ่งมีจุดเด่นที่น่าสนใจกว่าเทคนิคผ่าตัดส่องกล้องอื่นๆ เช่น
- ไม่ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังภายนอก หมดปัญหาด้านรอยแผลเป็นที่เห็นได้ง่าย
- ขนาดแผลเล็ก ทำให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว กลับไปใช้ชีวิตประจำวันหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น
- ระยะทางจากปากแผลไปถึงต่อมไทรอยด์มีระยะทางสั้นกว่า เมื่อเทียบกับเทคนิคการผ่าตัดอื่น เช่น ผ่าตัดเปิดแผลทางรักแร้หรือทางหน้าอก
- สามารถผ่าตัดต่อมไทรอยด์ด้านซ้ายและขวาได้ในแผลเดียวกัน ทำให้กระบวนการผ่าตัดง่ายกว่า เทียบกับเทคนิคการผ่าตัดอื่นที่หากเปิดแผลทางด้านขวา ก็สามารถผ่าตัดต่อมไทรอยด์ทางด้านขวาเท่านั้น เช่นเดียวกับการผ่าตัดเปิดแผลทางด้านซ้าย
- ใช้กล้องกำลังขยายสูงในการผ่าตัด จึงช่วยเลี่ยงเส้นประสาทและกล่องเสียงที่คอหอยได้แม่นยำ ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงหลังผ่าตัด เช่น เส้นประสาทได้รับบาดเจ็บหรือมีเสียงแหบได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดต่อมไทรอยด์แบบส่องกล้องก็มีข้อจำกัดในการผ่าตัดก้อนเนื้อที่มีขนาดไม่เกิน 6 เซนติเมตรเท่านั้น หากก้อนมีขนาดโตเกินกว่านี้ แพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัดแบบเปิดแผลแทน
ขั้นตอนการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- คนไข้ต้องมีผลตรวจอัลตราซาวด์และผลตรวจชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันการผ่าตัดเสียก่อน
- วิสัญญีแพทย์วางยาสลบคนไข้ มีการใส่ท่อช่วยหายใจทางจมูก
- แพทย์จัดท่าคนไข้เพื่อเตรียมการผ่าตัด โดยเป็นการนอนหงายและเงยคอขึ้นเล็กน้อย
- แพทย์ผ่าเปิดแผลบริเวณเหงือกหน้าต่อฟันล่างทั้งหมด 3 แผล แผลตรงกลางมีขนาด 1-1.5 เซนติเมตร และแผลอีก 2 ข้างซ้ายกับขวาตรงมุมปากมีขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร
- แพทย์ใส่กล้องผ่าตัดและอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปทางปากแผล เลาะเนื้อเยื่อจากช่องปากลงไปจนถึงต่อมไทรอยด์
- แพทย์ผ่าเลาะนำต่อมไทรอยด์ออกมาทางปากแผล
- เย็บปิดแผลด้วยไหมละลายซึ่งจะหลุดไปเองภายใน 6-8 สัปดาห์
การดูแลตนเองหลังผ่าตัดต่อมไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก
- คนไข้นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 คืน
- งดแปรงฟันที่แถวฟันด้านหน้า 1-2 สัปดาห์เพื่อป้องกันแผลฉีก ให้ทำความสะอาดฟันด้วยการบ้วนปากแทน
- งดใช้มือเปิดหรือดึงริมฝีปากเพื่อส่องดูแผลเด็ดขาด ให้ดูแผลผ่านการส่องกระจกเท่านั้น แต่หากแผลเกิดการฉีกขาดก็ไม่ต้องตกใจ เนื่องจากโดยทั่วไปแผลในช่องปากจะสมานตัวเร็วอยู่แล้ว
- กินอาหารเนื้อเหลว 1-2 วันแรกหลังผ่าตัด หลังจากนั้นสามารถกินอาหารได้ตามปกติทุกอย่าง
- ควรพักฟื้นที่บ้าน 1 สัปดาห์ แต่หากมีภารกิจเร่งด่วน หลังออกจากโรงพยาบาลก็สามารถกลับไปทำงานได้เช่นกัน แต่ให้ระมัดระวังแผลผ่าตัดอย่าให้กระทบกระเทือน
ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
- อาการเสียงแหบ อาการขึ้นเสียงสูงไม่ได้ แต่มีโอกาสเกิดค่อนข้างต่ำมาก และจะเป็นอยู่เพียงชั่วคราวประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นเสียงก็จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
- อาการชาที่คาง แต่จะหายได้เองภายใน 4-6 สัปดาห์
- อาการสำลักหลังกลืนอาหาร แต่เป็นอาการเพียงชั่วคราวเช่นกัน
- ภาวะหลอดลมอ่อนตัว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แต่มีโอกาสเกิดค่อนข้างต่ำมาก
- เลือดไหลจากแผลมากจนเสียเลือดเยอะ ภาวะแผลติดเชื้อ แต่มีโอกาสเกิดได้ต่ำมาก โดยเฉพาะในเทคนิคผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งเป็นเทคนิคผ่าตัดใหม่ที่คิดค้นเพื่อป้องกันภาวะเหล่านี้อยู่แล้ว
ตอบคำถามที่พบได้บ่อย และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคที่ต่อมไทรอยด์
- ความเครียดสูงทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ได้หรือไม่?
ตอบ: อาจมีส่วนเกี่ยวได้ แต่มักเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่ผิดปกติมากกว่าโอกาสเกิดก้อนเนื้องอก
- คนเป็นไทรอยด์ห้ามกินอะไรบ้าง?
ตอบ: มีงานวิจัยในอดีตกล่าวว่า ผู้ที่มีความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ไม่ควรกินกะหล่ำปลีดิบ แต่ในปัจจุบันงานวิจัยใหม่ๆ ไม่ได้ยึดตามความเชื่อนี้อีกแล้ว จึงยังไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับการกินในผู้ป่วยเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
- มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังได้มั้ย?
ตอบ: ไม่แนะนำให้กิน เนื่องจากอาจเกิดอาการใจสั่น ร้อนวูบวาบได้มากขึ้น
- เป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ดื่มน้ำขิงได้ไหม?
ตอบ: ดื่มได้ และไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด
- ผู้ป่วยไทรอยด์ไม่ควรถั่วเหลือง จริงหรือไม่?
ตอบ: กินได้ตามปกติ ไม่มีข้อห้ามเช่นกัน
- ทำไมเป็นโรคเกี่ยวกับไทรอยด์แล้วเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้?
ตอบ: ภาวะฮอร์โมนที่ผิดปกติจากต่อมไทรอยด์อาจก่อให้เกิดภาวะทางอารมณ์ที่ไม่สมดุลตามไปด้วย เช่น ใจร้อน เศร้าซึมง่าย หงุดหงิดง่าย รู้สึกเบื่อหน่ายง่ายขึ้น และอาจก่อให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่มีโอกาสเกิดค่อนข้างต่ำ
- เป็นโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ หายเองได้มั้ย?
ตอบ: ไม่ได้ และต้องรักษากับแพทย์เท่านั้น อาจเป็นกินยาหรือการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับลักษณะของโรคที่เกิดขึ้น
- มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ มีโอกาสเสียชีวิตได้มั้ย เพราะอะไร?
ตอบ: มีโอกาสเสียชีวิตได้ เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์มีผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ ผู้ป่วยภาวะนี้จึงมีโอกาสที่อัตราการเต้นของหัวใจจะผิดปกติได้ หรืออาจเกิดภาวะหัวใจวายจนเสียชีวิต
- มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ถ้าไม่รักษา เสี่ยงภาวะหัวใจวายจริงมั้ย?
ตอบ: จริง เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์มีส่วนในการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจด้วย
ผ่าตัดไทรอยด์ด้วยเทคนิคผ่าตัดส่องกล้องทางช่องปาก กับ นพ. ณัฐพล ด้วยบริการจาก HDcare
ผู้ที่ต้องการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ด้วยเทคนิคใหม่ มีแผลขนาดเล็ก ซ่อนแผลไว้ในปาก โอกาสเกิดผลข้างเคียงต่ำ หรือสงสัยว่า ตนเองมีอาการผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์ ต้องการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถติดต่อทีมงาน HDcare เพื่อนัดหมายปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงประสานงานเพื่อนัดหมายทำการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็วทันใจ
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย