รู้จัก “หมอฟง” อาจารย์แพทย์ และแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง มีประสบการณ์ผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรคเกี่ยวกับช่องท้องที่ซับซ้อนมาแล้วหลายเคส

เจาะลึกชีวิตหมอศัลยศาสตร์ กับหมอฟง นพ. เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ อาจารย์แพทย์และแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องชั้นสูง เชี่ยวชาญการผ่าตัดรักษาเกี่ยวกับโรคอ้วน โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ลำไส้ การผ่าตัดรักษาโรคไส้เลื่อนผ่านกล้อง และเป็นหนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare

สวัสดีครับ ผมนายแพทย์เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ ชื่อเล่นว่าหมอฟงนะครับ หมอเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง และการผ่าตัดโรคอ้วนครับ

สารบัญ

คุณหมอฟงเป็นหมอเฉพาะทางด้านไหน?

หมอเรียนจบศัลยศาสตร์ทั่วไป และจบศัลยศาสตร์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้องชั้นสูงมาครับ

ดังนั้นสโคปงานผ่าตัดที่หมอชำนาญการ คือ การผ่าตัดรักษาเกี่ยวกับโรคอ้วน การผ่าตัดรักษาเกี่ยวกับถุงน้ำดี การผ่าตัดรักษาเกี่ยวกับโรคไส้เลื่อนต่างๆ ผ่านกล้อง ทั้งไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง ไส้เลื่อนขาหนีบ ไส้เลื่อนกระบังลม การผ่าตัดรักษาเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้ กลุ่มการผ่าตัดเหล่านี้หมอจะชำนาญเป็นพิเศษ และผ่าตัดค่อนข้างบ่อยครับ

หมอศัลยศาสตร์คืออะไร?

หมอศัลยศาสตร์ คือ หมอที่รักษาโรคต่างๆ ด้วยวิธีผ่าตัดเป็นหลักครับ แต่ก็จะมีสโคปเฉพาะทางที่แตกต่างกันไป เช่น หมอศัลยศาสตร์ทั่วไป ก็จะรักษาโรคด้วยการผ่าตัดบริเวณเต้านม ช่องท้อง ตับ กระเพาะ และลำไส้ รวมถึงผ่าตัดบริเวณแขนขาบางอย่าง เช่น ผ่าตัดแผลติดเชื้อ ผ่าตัดรักษาฝีหรือเป็นหนองครับ

ทำไมถึงอยากเป็นหมอด้านศัลยศาสตร์

โดยทัศนคติของหมอ ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ เราได้พบว่าเวลารักษาคนไข้ด้วยศัลยศาสตร์ การรักษาจะเห็นผลค่อนข้างดีและรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น เวลาคนไข้เป็นไส้ติ่งอักเสบ ถ้าเรารักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง หลังจากผ่าตัดไปแล้วในวันรุ่งขึ้น ก็จะเห็นว่าคนไข้หายเป็นปกติเลยอย่างรวดเร็วและชัดเจนครับ

นอกจากนี้การเป็นหมอเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยังเป็นสิ่งที่ผมทำได้ดีและมีความสุขที่ได้ทำด้วย เราทำให้คนไข้ฟื้นตัวและหายได้เร็วหลังผ่าตัด และยังตรงกับเทรนด์การผ่าตัดสมัยใหม่ที่เราพบว่าการผ่าตัดผ่านกล้องเกือบทุกอย่างมักจะดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิดเสมอครับ

ปัจจุบันคุณหมอดำรงตำแหน่งสำคัญอะไรบ้าง?

ปัจจุบันหมอเป็นแพทย์ประจำศูนย์ผ่าตัดโรคอ้วนของโรงพยาบาลราชวิถีครับ และเป็นสมาชิกชมรมศัลยศาสตร์โรคอ้วนแห่งประเทศไทย และชมรมศัลยศาสตร์ผ่าตัดไส้เลื่อนแห่งประเทศไทยด้วยครับ

คุณหมอคิดว่าการเป็นหมอที่ดีต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

สำหรับหมอ แพทย์ที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติ 3 อย่างครับ หนึ่ง ต้องดูแลคนไข้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และเป็นไปตามมาตรฐาน สอง ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา สาม ต้องรักษาคนไข้ด้วยการใช้ข้อมูลทางการแพทย์ที่มีงานวิจัยน่าเชื่อถือรับรอง เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดครับ

ตอนเป็นหมอผ่าตัด เครียดไหม คุณหมอมีวิธีคลายเครียดอย่างไรบ้าง?

หลักการของหมอ คือ เราเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนครับ เตรียมทีมงาน เตรียมคนไข้ให้พร้อม เมื่อทุกอย่างพร้อม เราก็จะลดความเครียดลงได้ และระหว่างผ่าตัด หมอก็จะโฟกัสที่การผ่าตัดเป็นสำคัญ ทำใจสบายๆ บางครั้งก็ฟังเพลงคลาสสิกระหว่างผ่าตัดไปด้วย ทำให้รู้สึกคลายเครียดขึ้นครับ

Day to Day ของคุณหมอมีอะไรบ้าง?

ชีวิตประจำวันของหมอก็เริ่มจากตื่นเช้า ออกจากบ้านประมาณ 7 โมงครับ มาถึงโรงพยาบาลก็ราวน์ดูแลคนไข้ แล้วก็สอนนักศึกษาแพทย์ สอนแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด หลังจากนั้นก็ออกตรวจผู้ป่วยนอก

หลังจากนั้นในช่วงบ่ายหรือบางทีก็ทั้งวันจะเป็นการผ่าตัดครับ หลังผ่าตัดเสร็จประมาณ 5-6 โมงเย็นก็กลับบ้าน กลับถึงบ้านแล้วก็ไปกินข้าว หลังจากนั้นบางทีก็มีออกกำลังกายเบาๆ เป็นวิ่งจ็อกกิ้งรอบหมู่บ้านไม่ก็ว่ายน้ำซึ่งเป็นกีฬาที่หมอชอบครับ

เล่าเคสคนไข้ที่ประทับใจหน่อย

จริงๆ มีที่ประทับใจเยอะเลยครับ อย่างมีเคสนึงเป็นคนไข้ในช่วงโควิดที่น้ำหนักเยอะมาก ประมาณ 320 กิโลฯ ได้เลย พักอยู่ที่บ้านแล้วน้ำหนักก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อีก และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ด้วย แต่เป็นโชคดีของคนไข้ที่โรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่เทศบาลไปเจอพอดี ก็ทำเรื่องติดต่อมารักษาที่โรงพยาบาล ตอนไปขนคนไข้เขาก็ต้องใช้รถเฉพาะไปขน เพราะรถพยาบาลทั่วๆ ไปไม่สามารถไปรับคนไข้ที่มีน้ำหนักขนาดนี้ได้ 

พอมาถึงโรงพยาบาลตอนแรก คนไข้ก็มีปัญหาโรคประจำตัวเยอะเลยครับ ทั้งหัวใจวาย เป็นแผลด้วย หมอก็รักษาคนไข้ส่วนนี้ก่อนแล้วค่อยผ่าตัด เราเตรียมทุกอย่างให้พร้อมล่วงหน้าก่อน เตียงก็ต้องเป็นเตียงพิเศษ ทีมงานก็ต้องเป็นทีมพิเศษด้วยครับ ซึ่งพอผ่าเสร็จ คนไข้ก็ฟื้นตัวกลับบ้านได้ตามปกติ หลังจากผ่าตัดได้ 6 เดือน น้ำหนักก็เหลือ 140 กิโลกรัมได้ 

เคสนี้เป็นเคสที่สื่อมวลชนสนใจกันมากครับ ทั้งคุณสรยุทธ สถานีช่องห้า ช่องเจ็ด ช่องเก้ามาทำข่าวกันเยอะเลย ซึ่งก็จะทำให้เราเห็นได้ว่าโรคอ้วนมันอันตรายมากแค่ไหน ถ้าเราปล่อยไว้ไม่รักษา มันก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ครับ

แชร์ส่วนของคนไข้ที่ผ่าตัดเกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดีบ้าง

มีครับ เป็นคุณยายอายุ 80 กว่าคนหนึ่ง มีปัญหาหลักๆ คือ เป็นนิ่วในถุงน้ำดีและมีอาการปวดมาก รักษาไม่หายสักที ไปหาหมอมาหลายรอบแล้ว และที่สำคัญแกมีโรคประจำตัวเป็นโรคตับแข็ง โรคไต และมีเกล็ดเลือดต่ำ ทีนี้พอเป็นโรคเยอะ ไปหาหมอบางทีเขาก็จะแนะนำให้กินยาไปก่อน อย่าเพิ่งผ่าตัด

จนสุดท้ายคุณยายมาเจอหมอ หมอก็แนะนำให้ลองกินยาก่อนครับ แต่คุณยายก็บอกหมอว่าไม่ไหวแล้วจริงๆ จะขอผ่าตัดให้ได้ แต่ด้วยโรคประจำตัวที่เยอะมาก หมอมองว่ายังเสี่ยงเกินไป เลยให้ยาไปกินสัปดาห์หนึ่งก่อน จนผ่านไปสัปดาห์หนึ่งคุณยายก็โทรมาบอกหมอว่าไม่ไหวแล้ว ยังไงก็ต้องผ่า ถ้าไม่ผ่าต้องแย่แน่ 

สุดท้ายหมอก็เลยเซ็ตอุปกรณ์ผ่าตัดพิเศษให้ครับ มีตัวซีลเส้นเลือดพิเศษให้ มีทีมแพทย์และหมอดมยาพิเศษให้ด้วย ซึ่งการผ่าตัดก็เป็นไปได้ด้วยดี แต่ก็เป็นการผ่าตัดที่ยากครับ เพราะคุณยายมีภาวะตับแข็งด้วย ทำให้เส้นเลือดบริเวณถุงน้ำดีใหญ่ไปหมด จัดว่าอันตรายมาก 

หลังจากผ่าตัดคุณยายก็ยังมาหาหมออยู่เลยครับ มาทักทายผม มาขอให้ส่องกล้องทางเดินอาหารให้ด้วย หมอก็ยินดีกับคุณยายครับ เพราะตระเวนไปหาหมอมาหลายที่ ไม่มีใครยอมผ่าตัดให้สักที

มีเคสผ่าตัดส่องกล้องไส้เลื่อนที่อยากแชร์ไหม?

มีเคสนึงประทับใจครับ อันนี้หมอไปเป็นเคสสาธิตการผ่าตัดที่จังหวัดแห่งหนึ่งแถวภาคใต้ คนไข้เป็นโรคไส้เลื่อนนานแล้ว ผอมเลย ซึ่งก็ผ่าตัดไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ผ่าตัดเสร็จไม่ทันออกจากโรงพยาบาลก็เป็นซ้ำอีก ซึ่งในตอนนั้นทีมโรงพยาบาลของหมอมีโปรแกรมต้องบินไปที่นั่นพอดี น้องที่โรงพยาบาลนั้นเลยเตรียมเคสให้ และขอให้ผมช่วยผ่าตัดให้

เมื่อหมอผ่าเข้าไปแล้ว ก็เจอว่าเขาเป็นโรคไส้เลื่อน 2 ชนิดในคนเดียวกันครับ คือปกติรูในช่องท้องคนเราจะมี 5 รู คนส่วนมากจะเป็นโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบแค่ 1 รูเท่านั้น แต่ของเคสนี้เป็น 2 รูเลย และไส้ติดแน่นด้วย ซึ่งคุณหมอคนก่อนหน้าเขาผ่าซ่อมไปหนึ่งชนิดแล้วล่ะ แต่อีกชนิดยังไม่ได้ซ่อม ก็ยากพอสมควรครับ แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้เรียบร้อยดี หลังจากนั้นคนไข้กลับบ้านวันถัดมาเลย รู้สึกว่าเป็นเคสที่ยากและแปลกอีกเคสที่หมอได้เจอครับ

การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร หลายคนมองว่าเพราะความสวยงาม คุณหมอคิดว่าอย่างไร?

จริงๆ แล้วการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนะครับ เราพบว่าคนที่น้ำหนักตัวเยอะ โดยเฉพาะคนเอเชียที่มีค่าดัชนีมวลกายแค่ 25-27.5 ขึ้นไปก็มีโรคประจำตัวแล้ว เช่น โรคเบาหวาน ไขมันเกาะตับ หรือนิ่วในถุงน้ำดี นอกจากนี้เรายังพบว่าคนที่น้ำหนักตัวเยอะยังเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าคนปกติด้วยครับ

ดังนั้นการผ่าตัดรูปแบบนี้จึงเป็นการรักษาโรค และทำให้คุณภาพชีวิตคนไข้ดีขึ้นครับ

อะไรที่สังคมเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคอ้วนบ้าง?

“อ้วนสุขภาพดี” ไม่มีจริงครับ คนอ้วนถ้าเราลองค้นประวัติสุขภาพดีๆ จะเจอปัญหาเยอะเลย เพราะเมื่อร่างกายสะสมไขมันเยอะๆ ก็จะสร้างสารอักเสบขึ้นมา ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะเครียดและอักเสบตลอดเวลา ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดภาวะดื้อน้ำตาลจนเป็นโรคเบาหวานได้ครับ 

นอกจากนี้ก็ยังมีงานวิจัยที่ค้นพบด้วยว่าถ้าเราอ้วนเกินไป มันจะมีผลกับอายุไขเราด้วย โดยคนอ้วนจะอายุไขสั้นกว่าปกติ สาเหตุก็เพราะเมื่อมีโรคอ้วน ก็จะมีโรคพ่วงอื่นๆ ตามมาเต็มไปหมด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ บางคนเป็นแล้วไม่รู้ตัว คิดว่านอนกรนเฉยๆ แต่ถ้าไปตรวจจริงๆ ก็อาจพบว่ามีการหยุดหายใจร่วมด้วยอีก ทำให้ร่างกายได้ออกซิเจนช่วงกลางคืนไม่พอ และมีปัญหาระบบเผาผลาญพังด้วย

ตัวอย่างคนไข้ผมคนหนึ่ง เป็นโรคมะเร็งเต้านมทั้ง 2 ข้างเลย หมอก็แนะนำว่าลดน้ำหนักเถอะ ไม่งั้นจะเป็นซ้ำเอาได้

ถ้ามีคนพูดข้อมูลทางการแพย์ที่เขายังเข้าใจผิดอยู่ คุณหมอมีวิธีแก้ไขความเข้าใจผิดยังไง?

ปกติก็หมอก็รับฟังครับ หลังจากนั้นก็ค่อยให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วยงานวิจัยทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือ หลังจากนั้นก็ให้เขาไปตัดสินใจเอาเองครับ

มีเรื่องอะไรที่คนเข้าใจผิด เรื่องผ่าตัดลดอาหารกระเพาะอาหารบ้าง

อย่างแรก หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นการผ่าตัดที่น่ากลัวมากครับ มีการเปิดช่องท้องเข้าไปตัดโน่นนี่ แต่ข้อเท็จจริง คือ เรามีการเตรียมคนไข้และทีมงานล่วงหน้าก่อนแล้ว และเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องที่มีแผล 5 มิลลิตรกับแผล 1.5 เซนติเมตรสำหรับเอากระเพาะออกเท่านั้น หลังผ่าตัด 2-3 วันก็กลับบ้านได้แล้ว หรือถ้าในต่างประเทศบางครั้งวันรุ่งขึ้นก็กลับบ้านได้เลย

อย่างที่สอง บางคนยังกังวลว่าถ้าผ่าไปแล้ว หลังจากนั้นกระเพาะอาหารจะขยายตัวเท่าเดิม ซึ่งเป็นไปไม่ได้นะครับ ปกติกระเพาะอาหารคนเราจะมีความจุอยู่ที่ 1-1.5 ลิตร ซึ่งหลังผ่าตัดจะเหลือแค่ 150-200 ซีซี และจากงานวิจัยข้อมูลทางการแพทย์ เราติดตามการรักษาไปถึง 5 ปีซึ่งเป็นระยะเวลาที่กระเพาะอาหารน่าจะยืดเต็มที่แล้ว และจะยืดได้มากสุดอยู่ที่ 300-400 ซีซีเท่านั้น ไม่ได้กลับไปขยายเท่าเดิม

และอย่างที่สาม หลายคนคิดว่าพอผ่ากระเพาะไปแล้วจะทำให้กินได้น้อยลง น้ำหนักเลยลดลง แต่ความจริง การผ่าตัดกระเพาะอาหารไปแก้ไขในส่วนของฮอร์โมนเป็นหลักต่างหากครับ โดยการผ่าตัดจะทำให้ฮอร์โมนความหิวลดลง ฮอร์โมนความอิ่มเยอะขึ้น เป็นกลไกทำให้น้ำหนักลดลงได้ ไม่ใช่แค่ทำให้คนไข้กินน้อยอย่างเดียว

หรือถ้าคนไข้มีคำถามตรงไหนเกี่ยวกับการผ่าตัด กังวลเรื่องอะไรก็ติดต่อทีมงาน HDcare เพื่อนัดปรึกษาหมอจนกว่าจะมั่นใจโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้เลยนะครับ

ผ่าตัดกระเพาะอาหารทำให้ผอมลงได้อย่างไร?

หลายคนเข้าใจผิดว่าการผ่าตัดกระเพาะอาหารทำให้กินน้อยแล้วผอม แต่หลักๆ เป็นเรื่องของฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปต่างหากครับ เวลาเราตัดกระเพาะอาหารออกไปบางส่วน อาจจะ 80-85% มันจะลดฮอร์โมนความหิวที่สร้างโดยกระเพาะอาหาร ทำให้เราหิวน้อยลง และอยากกินน้อยลงเอง น้ำหนักจะลดลงไปได้ 30% ใน 6 เดือน หรือ 35-40% ในประมาณ 1 ปีครับ

ทำไมถึงชื่นชอบการผ่าตัดส่องกล้อง?

สาเหตุหลักก็เพราะหมอรู้สึกว่าเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัยกับคนไข้ และช่วยให้แพทย์ผ่าตัดรักษาโรคได้ดีขึ้นครับ หลักการก็คือ การมองเห็นผ่านกล้องมันจะทำให้เราเห็นภาพที่ถูกขยายให้ชัด ทำให้หมอได้เห็นเส้นเลือด เส้นใยต่างๆ ที่ต้องผ่าตัดชัดมาก ทำให้การผ่าตัดมันสมูท เรียบร้อย แทบไม่มีเลือดออก และช่วยให้เราผ่าตัดโดยไม่เหนื่อยมากด้วย ปกติถ้าเป็นการผ่าตัดแบบเปิด หมอต้องก้มคอหรือก้มหลังเยอะ 

แต่ถ้าผ่าผ่านกล้อง โพสิชั่นเรายืนปกติได้เลยครับ และยังมีหลักฐานการผ่าตัดบันทึกเป็นกล้องวีดีโอด้วย ทำให้หมอมั่นใจในการผ่าตัดขึ้น และยังแชร์การเรียนรู้กับแพทย์ท่านอื่นได้ด้วย

ผ่าตัดแบบส่องกล้องดีกับคนไข้กว่าการผ่าตัดแบบเปิดยังไง?

การผ่าตัดแบบส่องกล้องได้ประโยชน์กว่าเยอะแน่นอนครับ หนึ่ง เราไม่มีการผ่าเปิดแผลใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่ได้มีการตัดและเลาะเนื้อเยื่อให้มีโอกาสบาดเจ็บเยอะด้วย เพราะจะโฟกัสที่เฉพาะตรงส่วนที่ผ่าตัดอย่างเดียว ดังนั้นหลังการผ่าตัด เราฟื้นตัวเร็วแน่นอน สอง คือลดโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ด้วย

ถ้าคนไข้เข้ามาแล้วกังวลเรื่องผ่าตัด หมอมีวิธีปลอบคนไข้ให้สบายใจหรือคลายกังวลยังไง?

หมอก็จะให้ความมั่นใจกับเขาครับว่า หนึ่ง เราเตรียมทีมงาน เตรียมอุปกรณ์ และเตรียมคนไข้ให้พร้อมก่อนผ่าตัดอยู่แล้ว และเรามีความมั่นใจว่าการผ่าตัดจะทำให้คนไข้ได้รับความปลอดภัยอย่างแน่นอน ฟื้นตัวก็ดี และสุดท้ายหลังผ่าตัด เรามีแผนการรองรับว่าจะติดตามการรักษาและดูแลคนไข้ต่อยังไง ทำให้คนไข้มั่นใจมากขึ้น

ทำไมคุณหมอฟงถึงเข้ามาร่วมเป็นหมอ HDcare?

ที่หมอเข้าร่วมกับ HDcare ก็เพราะข้อดีของ HDcare คือ บริการที่ทำให้คนไข้เข้าถึงแพทย์ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และมีพยาบาาลส่วนตัวคอยให้คำปรึกษาโดยเฉพาะด้วยว่าเราควรรักษาไปในแนวทางไหนดี เป็นเพื่อนคู่คิดให้คนไข้ ทำให้เขาสบายใจกว่า รวมถึงในแง่การติดตามการรักษาหลังผ่าตัด สมมติคนไข้มีปัญหาอะไร มีข้อสงสัยอะไร ก็สามารถทักถามกับพยาบาลส่วนตัวได้เลย ซึ่งง่ายและสะดวกกว่ามาสอบถามกับพยาบาลที่โรงพยาบาลโดยตรงครับ

ประสบการณ์ตอนได้คนไข้คนแรกจาก HDcare เป็นอย่างไรบ้าง?

หมอคิดว่าคนไข้สามารถปรึกษาแพทย์ได้ง่ายขึ้นมากครับ และแพทย์เองก็ได้รับความสะดวกในการนัดหมายพูดคุยด้วยวีดีโอคอลเบื้องต้นเพื่อให้ข้อมูลคนไข้ก่อนด้วย หลังจากนั้นถ้าคนไข้ตัดสินใจรับการรักษา ก็สามารถเดินทางมาตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ ประโยชน์หลักๆ ที่หมอเห็นคือ คนไข้ได้คุยกับแพทย์ก่อน ได้รับความเห็นที่หนึ่งสองสามจนเขาสบายใจก่อนตัดสินใจรับการรักษาครับ

คุณหมอคิดว่าคนที่ได้ประโยชน์จาก HDcare มากที่สุด คือใคร?

จากประสบการณ์ส่วนตัว หมอคิดว่าเป็นคนที่เขาไม่สะดวกเดินทางมาเจอแพทย์ที่โรงพยาบาลก่อน และไม่สะดวกเดินทางไปปรึกษาแพทย์หลายๆ ที่ก่อนตัดสินใจรักษาครับ เช่น คนที่อยู่ต่างประเทศ อาจจะเจอประวัติแพทย์ท่านนี้ สนใจอยากรักษา อยากผ่าตัดด้วย แต่ไม่มั่นใจว่าจะคุยกันเข้าใจมั้ย หมอรักษาให้ได้มั้ย หรือคนไข้ไม่แน่ใจว่าจะสะดวกเดินทางมาผ่าช่วงไหน 

ซึ่งในบริการ HDcare คนไข้สามารถทักมานัดวีดีโอคอลปรึกษาแพทย์ก่อนได้เลย จะได้รู้ว่าคุยเข้าใจกันมั้ย มีอะไรสงสัยมั้ย จะได้นัดช่วงเวลาที่สะดวกรักษาแน่นอน และเลือกแพทย์รักษาได้ด้วย ทีนี้พอคุยเคลียร์แล้ว ก็จะได้เดินทางมาถึงแล้วรักษาได้เลยครับ

สำหรับคนไข้ที่มีปัญหาหรืออยากปรึกษาหมอ สามารถติดต่อเข้ามาทาง HDcare และนัดปรึกษาส่วนตัวกับแพทย์ได้จนกว่าจะสบายใจ จะได้ข้อมูลการรักษาที่ถูกต้องไปด้วย หลังจากตัดสินใจแน่นอนแล้วก็ค่อยเลือกเข้ามารับการรักษาได้

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการรักษาที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top