เปิดรายละเอียดการผ่าตัดแก้หมัน ปลดล็อกภาวะเป็นหมันให้ผู้หญิงกลับมามีลูกได้อีกครั้ง พร้อมข้อมูลโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จหลังผ่าตัด และความเสี่ยงที่คุณควรรู้
โดย พ.ต.ท. ดร. นพ. สุธรรม สุธาพร หรือ “หมอปอนด์” สูติแพทย์ด้านการผ่าตัดส่องกล้อง และการส่องกล้องสำหรับภาวะมีบุตรยากและภาวะความผิดปกติทางนรีเวช มีประสบการณ์ในการรักษาภาวะมีบุตรยากมามากกว่า 10 ปี
อ่านประวัติหมอปอนด์ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอปอนด์” สูติแพทย์ที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ด้านการผ่าตัดส่องกล้องและส่องกล้องสำหรับภาวะมีบุตรยากและภาวะความผิดปกติต่างๆ ทางนรีเวช]
สารบัญ
- ผ่าตัดแก้หมันหญิง คืออะไร
- ผู้ที่มาแก้หมันหญิงมีสัดส่วนมากน้อยเพียงใด เทียบกับผู้ที่มาทำหมันหญิง
- แก้หมันหญิง ทำได้กี่วิธี
- การดูแลแผลหลังผ่าตัดแก้หมันหญิง
- ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการแก้หมันหญิง
- ผู้ที่ไม่เหมาะต่อการแก้หมันหญิง
- หลังแก้หมันหญิง สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไร?
- หลังแก้หมันหญิง จะกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกเมื่อไร?
- การแก้หมันหญิงทำให้โอกาสกลับมาตั้งครรภ์มีมากน้อยเพียงใด?
- หากแก้หมันหญิงไม่ได้ มีตัวเลือกอื่นๆ ในการมีลูกอีกครั้งหรือไม่?
- ก่อนแก้หมันหญิง สิ่งที่ควรคำนึงก่อนตัดสินใจ มีอะไรบ้าง?
- ผ่าตัดแก้หมันหญิง กับ ดร. นพ. สุธรรม ด้วยบริการจาก HDcare
ผ่าตัดแก้หมันหญิง คืออะไร
การผ่าตัดแก้หมันหญิง หรือเรียกได้ในอีกชื่อว่า “การต่อหมัน” คือ การผ่าตัดเพื่อเชื่อมปีกมดลูกซึ่งถูกตัดออกและผูกไว้เป็นท่อตันจากการทำหมันให้กลับมาสามารถเชื่อมต่อกันได้อีกครั้ง และทำให้ไข่กับเชื้ออสุจิสามารถเดินทางมาปฏิสนธิกันจนเกิดการตั้งครรภ์ได้สำเร็จ
ผู้ที่มาแก้หมันหญิงมีสัดส่วนมากน้อยเพียงใด เทียบกับผู้ที่มาทำหมันหญิง
จำนวนผู้ที่มาแก้หมันหญิงนั้นจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับผู้ที่มาทำหมันหญิง เนื่องจากโดยส่วนมากผู้ที่ทำหมันหญิงสำเร็จไปแล้วมักจะไม่ได้เปลี่ยนใจอยากกลับมาตั้งครรภ์อีก
สาเหตุที่มักพบได้บ่อยและทำให้ผู้หญิงที่ทำหมันไปแล้วอยากกลับมาผ่าตัดแก้หมัน คือ แต่งงานมีครอบครัวใหม่ และอยากจะมีลูกกับคู่ชีวิตใหม่อีกครั้ง หรือในบางรายก็อยากแก้หมันเนื่องจากเปลี่ยนใจอยากมีลูกเพิ่มอีก หรืออยากแก้หมันเนื่องจากบุตรที่มีอยู่แล้วเสียชีวิตก็พบได้บ้างเช่นกัน
แก้หมันหญิง ทำได้กี่วิธี
การผ่าตัดแก้หมันหญิงสามารถทำได้ 2 เทคนิค ได้แก่
การแก้หมันหญิงด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
ขั้นตอนการผ่าตัดด้วยเทคนิคเปิดหน้าท้องจะมีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้
- แพทย์กรีดเปิดแผลที่หน้าท้อง ตามด้วยตรวจประเมินท่อนำไข่ซึ่งอยู่ในปีกมดลูก และถูกผูกเอาไว้จากการทำหมัน
- แพทย์ตัดปีกมดลูกที่ถูกผูกเอาไว้ และทำให้ปีกมดลูกเชื่อมต่อกันอีกครั้งทั้งซ้ายและขวา
- แพทย์ฉีดสีเข้าปีกมดลูกผ่านทางปากมดลูก เพื่อทดสอบว่า ในตอนนี้ปีกมดลูกสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้เรียบร้อยหรือไม่ ซึ่งหากสีที่ฉีดเข้าไปสามารถทะลุออกทางปีกมดลูกทั้ง 2 ข้างได้ ก็แสดงว่า การผ่าตัดแก้หมันสำเร็จเรียบร้อยดี
เทคนิคการผ่าตัดแก้หมันหญิงแบบเปิดหน้าท้องมีจุดเด่นตรงที่ขั้นตอนการผ่าตัดซึ่งเรียบง่าย และสะดวกต่อแพทย์ในการผ่าตัด ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้หญิงทุกคนที่ต้องการผ่าตัดแก้หมัน และไม่มีข้อจำกัดในการผ่าตัดแต่อย่างใด
บาดแผลจากการผ่าตัดแก้หมันหญิงด้วยเทคนิคเปิดหน้าท้องจะอยู่ที่ 3-4 เซนติเมตร ลักษณะแผลจะเป็นแนวขวาง ส่วนระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลจะอยู่ที่ประมาณ 2 วัน
การแก้หมันหญิงด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง
ขั้นตอนการผ่าตัดแก้หมันหญิงด้วยการผ่าตัดส่องกล้องจะคล้ายกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องทุกอย่าง เพียงแต่ลักษณะการผ่าเปิดแผลจะเป็นการเจาะรูเล็กๆ ที่หน้าท้องในขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตรเท่านั้น แล้วสอดเครื่องมือผ่าตัดกับกล้องผ่าตัดขนาดเล็กลงไปตัดแต่งปีกมดลูกที่ถูกผูกเอาไว้
ด้วยขนาดของแผลที่เล็กและอุปกรณ์ผ่าตัดที่เล็กกว่า ดังนั้นการผ่าตัดแก้หมันจึงมีจุดเด่นตรงที่ขนาดแผลซึ่งเล็กมาก ทำให้ระยะเวลาพักฟื้นจึงสั้นกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องเล็กน้อย แต่ผู้เข้ารับบริการก็จะมีแผลอยู่ 3-4 ตำแหน่งด้วยกัน
นอกจากนี้แพทย์ยังต้องใช้ความชำนาญในการผ่าตัดแบบส่องกล้องมากกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องด้วย เนื่องจากการใช้กล้องผ่าตัดเป็นตัวช่วยในการทำหัตถการนั้นมักไม่ถนัดเท่ากับการผ่าตัดด้วยมือของแพทย์เอง
การดูแลแผลหลังผ่าตัดแก้หมันหญิง
การดูแลแผลผ่าตัดหลังผ่าตัดแก้หมันหญิงนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงดูแลแผลให้สะอาดและแห้งจนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้แผลโดนน้ำ ระมัดระวังอย่าให้แผลฉีกขาดหรือบาดเจ็บก็พอ หลังจากผ่าตัดครบ 1 สัปดาห์ แพทย์จะนัดหมายให้ผู้เข้ารับบริการมาตรวจความเรียบร้อยของแผล แต่จะไม่มีการตัดไหม เนื่องจากการผ่าตัดแก้หมันหญิงนั้นนิยมใช้ไหมละลายในการผ่าตัดอยู่แล้ว
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการแก้หมันหญิง
- ผลข้างเคียงจากการวางยาสลบและการบล็อคหลัง เช่น อ่อนเพลีย รู้สึกมึนเบลอ เจ็บคอ ไอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน
- การบาดเจ็บที่อวัยวะข้างเคียง เช่น อุ้งเชิงกราน
- ภาวะแผลติดเชื้อ แต่เป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก เนื่องจากการผ่าตัดแก้หมันนั้นเป็นการต่อปีกมดลูกที่ตัดขาดออกไปแล้วให้กลับมาเชื่อมกันอีกครั้ง จึงมีโอกาสที่ตัวอ่อนจะไม่ได้เคลื่อนที่ไปฝังตัวในโพรงมดลูกได้ ดังนั้นหากมีการตั้งครรภ์หลังผ่าตัดแก้หมันหญิง แพทย์มักจะนัดหมายให้ผู้เข้ารับบริการมาตรวจยืนยันว่า การตั้งครรภ์ดังกล่าวมีความปลอดภัย และไม่ได้ตั้งครรภ์นอกมดลูก
ผู้ที่ไม่เหมาะต่อการแก้หมันหญิง
โดยปกติการทำหมันหญิงนั้นจะสามารถทำได้ในผู้เข้ารับบริการหญิงแทบทุกคน ยกเว้นแต่ในผู้ที่มีโรคประจำตัวที่รุนแรงเช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคความดันในสมองที่สูงเกินไป ในกรณีนี้แพทย์ก็จะพิจารณาเงื่อนไขสุขภาพที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัดเป็นรายบุคคลไป
หลังแก้หมันหญิง สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไร?
การกลับมามีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัดแก้หมันหญิงจะสามารถทำได้หลังแผลผ่าตัดสมานดีแล้ว และผู้เข้ารับบริการไม่รู้สึกเจ็บแผลอีก ซึ่งโดยส่วนมากจะกินเวลาไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น
ดังนั้นโดยทั่วไปหลังผ่าตัดแก้หมันหญิงแล้วประมาณ 1 เดือน ผู้เข้ารับบริการก็สามารถกลับไปมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติอีกครั้ง
หลังแก้หมันหญิง จะกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกเมื่อไร?
หลังจากการผ่าตัดแก้หมันหญิงเสร็จสิ้น และเมื่อผู้เข้ารับบริการมีการตกไข่ในรอบประจำเดือนถัดไปแล้ว ไข่ในรอบประจำเดือนรอบนั้นก็จะสามารถเดินทางผ่านท่อนำไข่มาพบกับเชื้ออสุจิของฝ่ายชายได้แล้ว และสามารถกลับมามีโอกาสตั้งครรภ์ได้อีกครั้งทันที
การแก้หมันหญิงทำให้โอกาสกลับมาตั้งครรภ์มีมากน้อยเพียงใด?
โอกาสตั้งครรภ์หลังแก้หมันหญิงจะอยู่ที่ประมาณ 40-80% ซึ่งปัจจัยที่ทำให้โอกาสตั้งครรภ์ในผู้เข้ารับบริการแต่ละท่านสูงต่ำไม่เท่ากันนั้นมีอยู่หลายประการ เช่น
- คุณภาพของเชื้ออสุจิในฝ่ายชาย
- ความผิดปกติอื่นๆ ของมดลูกหรือรังไข่ เช่น มีก้อนเนื้องอกในโพรงมดลูก เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งโดยปกติแพทย์ก็จะแนะนำให้ตรวจความผิดปกติเหล่านี้ก่อนตัดสินใจแก้หมันหญิง
- อายุของฝ่ายหญิง ซึ่งหากอายุมากกว่า 38 ปี ประสิทธิภาพของรังไข่ก็จะทำงานลดลง และทำให้โอกาสตั้งครรภ์ต่ำลงไปด้วยแม้แก้หมันหญิงแล้วก็ตาม
- เทคนิคการผ่าตัดทำหมัน ซึ่งหากการทำหมันก่อนหน้านี้ได้ทำลายโครงสร้างปีกมดลูกหรือท่อนำไข่ไปมาก ก็จะเป็นอีกปัจจัยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
- ความยาวของท่อนำไข่ ซึ่งหากยาวต่ำกว่า 4 เซนติเมตร ก็มักจะเกิดการตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น
- ระยะเวลาที่ทำหมันมาจนถึงวันที่แก้หมัน ซึ่งหากยิ่งทำหมันมานานมากแล้วเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น
หากแก้หมันหญิงไม่ได้ มีตัวเลือกอื่นๆ ในการมีลูกอีกครั้งหรือไม่?
ในกรณีที่ผู้เข้ารับบริการเข้ามาปรึกษาขอแก้หมันหญิง และแพทย์มีความเห็นว่า โอกาสตั้งครรภ์หลังแก้หมันหญิงยังค่อนข้างต่ำอยู่ ไม่ควรทำการผ่าตัด ก็ยังมีวิธีรักษาอื่นๆ ที่สามารถช่วยให้ผู้เข้ารับบริการหญิงที่เป็นหมันตั้งครรภ์ได้ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว (In-Vitro Fertilization: IVF) หรือการทำอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI) ซึ่งเป็นการดูดเซลล์ไข่ของฝ่ายหญิงและการเก็บเชื้ออสุจิของฝ่ายชายมาผสมให้เกิดการปฏิสนธิในห้องทดลองของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน
ดังนั้นในการทำเด็กหลอดแก้วจึงไม่ต้องอาศัยปีกมดลูกหรือท่อนำไข่ในการช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์แต่อย่างใด และยังช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้ยังสูงขึ้นได้อีกด้วย
ก่อนแก้หมันหญิง สิ่งที่ควรคำนึงก่อนตัดสินใจ มีอะไรบ้าง?
ก่อนตัดสินใจแก้หมันหญิง ผู้เข้ารับบริการควรเดินทางเข้ามาปรึกษากับแพทย์เสียก่อน เพื่อให้แพทย์ได้ซักประวัติและประเมินโอกาสกลับมาตั้งครรภ์หลังแก้หมันหญิงได้ เพื่อความคุ้มค่าสูงสุดจากการผ่าตัดรูปแบบนี้
ซึ่งหากผู้เข้ารับบริการได้รับการประเมินแล้วว่า ไม่ควรผ่าตัดแก้หมันหญิง แพทย์ก็จะได้แนะนำแนวทางการรักษาภาวะมีบุตรยากที่เหมาะกับเงื่อนไขสุขภาพของผู้เข้ารับบริการแต่ละคู่ได้อย่างถูกจุด
ผ่าตัดแก้หมันหญิง กับ ดร. นพ. สุธรรม ด้วยบริการจาก HDcare
สำหรับคุณผู้หญิงที่เปลี่ยนใจอยากกลับมามีเจ้าตัวเล็กอีกครั้ง และต้องการผ่าตัดแก้หมันหญิงกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือต้องการคำปรึกษาในการกลับมามีบุตรได้อีกครั้งภายใต้เงื่อนไขการเป็นหมัน
ทีมงาน HDcare พร้อมดูแลให้คำปรึกษา รวมถึงสามารถนัดหมายแพทย์กับทีมงาน เพื่อตรวจประเมินโอกาสตั้งครรภ์ก่อนตัดสินใจผ่าตัดได้ และหากคุณมั่นใจที่จะรับการผ่าตัดแล้ว สามารถแจ้งทางทีมงานให้เป็นผู้ช่วยประสานงานนัดหมายแพทย์เพื่อผ่าตัดแก้หมันหญิงให้กับคุณได้ทันที
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย