ขี้ตาเยอะ ในโรคเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ

ขี้ตาเยอะแค่ไหนผิดปกติ บ่งบอกเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ

ขี้ตา คือสิ่งปกติของร่างกายที่ใคร ๆ ก็มี แถมเรายังเจอขี้ตาอยู่ทุกครั้งเวลาตื่นนอน บทความนี้จะพามาสังเกตว่าขี้ตาแบบไหนปกติ แบบไหนผิดปกติ อันตรายแค่ไหน และลักษณะอาการแบบใดที่เรียกว่าเข้าข่ายเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ 

ขี้ตาแบบไหนปกติ แบบไหนผิดปกติ สังเกตจากอะไรได้บ้าง

ขี้ตา คือเซลล์ผิวตาที่หมดอายุแล้วหลุดลอกออกมา รวมกับเมือกและไขมัน ที่เป็นองค์ประกอบของน้ำตา รวมถึงสิ่งสกปรกอื่น ๆ ที่น้ำตาชะล้างออกมารวมกัน 

ช่วงตื่นนอน คนเรามักจะมีขี้ตาตรงหัวตา เพราะเวลาที่เรานอนหลับ ร่างกายจะอยู่นิ่ง ๆ ไม่มีการกะพริบตา การไหลเวียนของน้ำตาก็น้อย สิ่งสกปรกต่าง ๆ จึงมากองรวมกันอยู่บริเวณรูเปิดของทางระบายน้ำตาออกจากตา ซึ่งก็คือตรงหัวตานั่นเอง 

แต่ช่วงกลางวัน ในภาวะปกติ เราจะไม่รู้สึกว่ามีขี้ตา เพราะเมื่อร่างกายเคลื่อนไหว ระบบไหลเวียนต่าง ๆ ทำงานอย่างแข็งขัน สิ่งสกปรกในปริมาณปกติก็จะถูกระบายออกไปอย่างรวดเร็ว

โดยปกติ ขี้ตาจะมีลักษณะเหนียว ๆ แห้ง ๆ หรือเป็นสะเก็ดแข็ง ๆ ขึ้นอยู่กับว่า ส่วนประกอบที่เป็นน้ำในขี้ตานั้นระเหยออกไปแล้วหรือเปล่า

การสังเกตว่าขี้ตาปกติหรือไม่ ดูได้จากปัจจัยเหล่านี้ 

1. ปริมาณขี้ตา

ถ้ามีขี้ตาแข็ง ๆ หรือเป็นเมือกเล็กน้อยตรงหัวตาตอนตื่นนอน และไม่มีขี้ตาระหว่างวัน ถือว่าปกติ แต่หากระหว่างวัน มีขี้ตาออกมาเรื่อย ๆ ถึงจะเช็ดออกแล้วก็ยังออกมาอีก แบบนี้ถือว่ามีขี้ตามากผิดปกติ 

สาเหตุที่ขี้ตามากผิดปกติอาจมีสิ่งสกปรกเยอะเกินไป จนกระบวนการชะล้างตามธรรมชาติเกิดได้ไม่ทัน หรือมีการอักเสบ ทำให้เยื่อบุตาผลิตเมือกออกมามากเกิน 

2. สีของขี้ตา

ขี้ตาปกติมักจะเป็นก้อนเล็ก ๆ มีสีใสหรือสีขาว แต่หากขี้ตามีลักษณะข้นเหนียว สีออกเขียว เหลืองเข้ม หรือก็ยังมีสีขาวอยู่ แต่เป็นเส้นยาวยืด แบบนี้เรียกว่าขี้ตาที่ผิดปกติ 

3. ตาแฉะ หรือมีน้ำตามาก

ถ้าไม่ได้น้ำตาคลอหรือร้องไห้ แต่มีขี้ตาไหลล้นออกมา ทั้งแบบข้างเดียวหรือสองข้าง อย่างนี้เรียกว่าไม่ปกติ จะพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุ

บางคนที่รู้สึกระคายเคืองตามาก ๆ จะทำให้น้ำตาไหลออกมาเยอะ แม้จะมีขี้ตา แต่อาจเป็นน้ำจนไม่เห็นขี้ตาก็ได้

4. มีอาการผิดปกติทางตา หรือร่างกายส่วนอื่นเกิดร่วมด้วย

มีอาการผิดปกติทางตาร่วมด้วย เช่น ตาบวม เจ็บตา ตาแดง ระคายเคืองเหมือนมีเศษผงอยู่ในตา ตามัวลง มีอาการตาแพ้แสง 

รวมถึงมีอาการผิดปกติส่วนอื่นของร่างกาย เช่น มีไข้ เจ็บคอ เป็นผื่น หรือมีปัญหาทางผิวหนัง แพ้ยา ใช้ยาเคมีบำบัดบางชนิด กรณีเหล่านี้ ไม่ใช่อาการปกติ

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมีขี้ตามากกว่าปกติเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิต เช่น การใส่คอนแทคเลนส์ ต่อขนตา สักขอบตา หรือใช้เครื่องสำอางรอบ ๆ ตามาก 

ขี้ตาเยอะ บอกโรคอะไรได้ 

ปกติแล้ว ความผิดปกติอยู่ภายในลูกตา จะไม่ทำให้มีขี้ตาเยอะเท่าไร เช่น ต้อกระจก ม่านตาอักเสบ หรือจอประสาทตาผิดปกติ ถ้ามีขี้ตาเยอะ มักจะเป็นโรคเกี่ยวกับเยื่อบุตา ผิวกระจกตา หรือเปลือกตา ซึ่งเป็นส่วนของผิวและผนังด้านนอกของดวงตา 

เยื่อบุตาอักเสบเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อย ทำให้มีอาการขี้ตาเยอะ โดยเชื้อโรคที่ทำให้เกิดเยื่อบุตาติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส บทความนี้จะมาขยายความเรื่อง เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ 

เยื่อบุตา คือเยื่อใสที่คลุมส่วนของดวงตาส่วนตาขาว และบุอยู่ด้านในของเปลือกตา เยื่อบุตาทำหน้าที่ผลิตเมือก อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของน้ำตา ทำหน้าที่เกลี่ยให้น้ำตากระจายไปทั่วลูกตา

หากเยื่อบุตา เปลือกตา หรือผิวตาผิดปกติ จะผลิตเมือกออกมามาก ถ้าอักเสบหรือติดเชื้อ มีเซลล์ตายมากขึ้น ขี้ตาย่อมเยอะขึ้นตามมา เชื้อโรคต่าง ๆ ก็จะทำให้สีของขี้ตาออกมาไม่เหมือนกัน ปริมาณก็จะต่างกันด้วย  

เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial conjunctivitis)

เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่

1. เชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่ว ๆ ไป

เชื้อแบคทีเรียที่พบได้ส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อโรคที่อยู่บริเวณผิวหนัง และจะไม่ทำให้อักเสบรุนแรง สามารถหายเองได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ 

สาเหตุ: มาจากการสัมผัสกับสิ่งสกปรกโดยตรง เช่น เอามือที่สัมผัสสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมาขยี้ตาโดยไม่ได้ล้างมือก่อน

อาการ: มักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1–2 วัน โดยจะมีอาการตาแดง แสบตา มีขี้ตาสีเขียวหรือสีเหลืองออกมาเรื่อย ๆ ตลอดวันจนตาแฉะ 

เมื่อตื่นนอนตอนเช้า จะมีขี้ตาเยอะมาก จนขนตาทั้งบนและล่างติดกันจนลืมตายาก และอาจมีอาการกระจกตาอักเสบร่วมด้วย

การรักษา: แม้ตามตำราจะบอกว่าหายเองได้ แต่การให้ยาปฏิชีวนะหยอดตา จะช่วยให้สบายตา และหายเร็วขึ้น โดยหยอดตาข้างที่อักเสบวันละ 4 ครั้ง ไม่เกิน 1 สัปดาห์ 

2. เชื้อแบคทีเรียที่ร้ายแรง

เชื้อแบคทีเรียร้ายแรง ได้แก่ เชื้อหนองใน (GC: Gonococcal Conjunctivitis) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้เยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อหนองใน 

ปัจจุบัน การติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรง เช่น ใช้มือสัมผัสอวัยะวะที่มีเชื้อแล้วมาสัมผัสตา จะไม่ค่อยพบเท่าไร 

อาการ: รุนแรงกว่าการเชื้อแบคทีเรียทั่วไปมาก คนไข้จะปวดตาอย่างหนัก เปลือกตาบวมเป่ง เยื่อบุตาแดงจัด มีขี้ตาเป็นหนองปริมาณมาก ลักษณะคล้ายนมข้น และอาจเกิดแผลติดเชื้อที่กระจกตาได้ แม้กระจกตาจะไม่มีแผลก็ตาม

การรักษา: ต้องได้รับยาปฏิชีวนะยาฉีดหรือยากินรักษาเชื้อหนองใน ต้องล้างตาด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ  ช่วยล้างขี้ตาที่เป็นหนองออก และเนื่องจากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงต้องแจ้งให้คู่นอนของคนไข้ทราบด้วย เพื่อให้ตรวจรักษา

การล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และไม่ขยี้ตา จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลงได้ 

เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อคลามีเดีย (Adult chlamydial conjunctivitis)

เชื้อคลามีเดีย เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มักพบในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ชนิดโรคหนองในเทียม มาจากการสัมผัสอวัยวะเพศที่ติดเชื้อและนำมามาสัมผัสกับตา

อาการ: ตาแดง น้ำตาไหลมาก ขี้ตาเป็นหนองสีเขียว ๆ เหลือง ๆ อาจจะอักเสบข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาการมักจะเกิดขึ้นช้า ๆ ในเวลาเป็นสัปดาห์ 

การรักษา: ต้องกินยาปฏิชีวนะรักษาโรคหนองในเทียม และมักจะต้องใช้ยาหยอดตาซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะร่วมด้วย แม้จะรักษาอย่างถูกต้อง ก็ใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะหายสนิท

นอกจากนี้ คู่นอนของผู้ป่วยควรมาตรวจรักษาด้วย เพราะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยอาจปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินปัสสาวะหรือนรีเวชต่อได้ 

เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส (Viral conjunctivitis)

เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาการติดเชื้อทั้งหลาย ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วมาก โดยมักแพร่ผ่านฝอยละออง (Droplets) ที่กระจายออกมาจากคนไข้ ทำให้ติดต่อกันในครอบครัวหรือที่ทำงานเดียวกันได้ 

ไม่ว่าจะเป็นไวรัสชนิดใด อาการมักจะคล้าย ๆ กัน เช่น เริ่มต้นด้วยอาการตาแดง เคืองตา แสบตาแพ้แสง มีขี้ตามากจนเป็นน้ำ 

อาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน จะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ แต่มักจะเป็นข้างเดียวก่อน ส่วนอีกข้างจะเป็นตามมาภายใน 2–3 วัน โดยอาการจะไม่รุนแรงเท่าข้างแรกที่เป็น 

อาการตาแดงจากเชื้อไวรัสมีหลากหลายชนิดย่อย ๆ ได้แก่

1. เชื้อ Adenovirus

เป็นเชื้อที่พบบ่อยที่สุด ที่มักรู้จักกันในชื่อ “โรคตาแดงระบาด (EKC: Epidemic Keratoconjunctivitis)” ในบ้านเราพบได้ตลอดปี แต่มักจะระบาดช่วงฤดูฝนและหลังน้ำท่วม

2. เชื้อ Pharyngoconjunctival Fever (PCF)

นอกจากตาแดงและมีขี้ตาแฉะ ๆ เป็นน้ำแล้ว จะมีอาการไข้หวัดด้วย โดยเฉพาะอาการเจ็บคอ มักพบบ่อยในเด็กกับสมาชิกครอบครัว โดยอาการตาแดงและมีขี้ตาจะไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อโรคตาแดงระบาด

3. โรคตาแดงที่มีเลือดออกใต้เยื่อบุตา (Acute hemorrhagic conjunctivitis)

ก่อให้เกิดอาการเจ็บตา ตาแดง มีขี้ตาเยอะ ตาบวม อาการจะรุนแรงและเกิดรวดเร็ว และมีเลือดออกเลือดออกใต้เยื่อบุตา เริ่มจากตาขาวด้านบน จนตาขาวแดงเป็นสีเลือด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของไวรัสชนิดนี้

เยื่อบุตาอักเสบจากไวรัส จะเป็นอยู่ราว ๆ สัปดาห์ และหายเองได้ แต่หากพ้น 7–10 วันแล้วยังไม่หายดี จะเข้าสู่ระยะกระจกตาอักเสบ โดยจะมีจุดขาว ๆ บนกระจกตา ยิ่งเคืองตามากกว่าเดิม และตามัวลง อาการแบบนี้ มักจะเป็นอยู่ราว 2 สัปดาห์

หลังจากนั้น กระจกตาจะเกิดฝ้าขาว ๆ เหมือนไอน้ำ ซึ่งเกิดการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อไวรัส ระยะนี้ ตาจะไม่แดงและไม่มีขี้ตาแล้ว แต่จะยังมัวอยู่อีกเป็นเดือน ๆ จนกว่าจะหายเป็นปกติ

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัสสามารถหายเองได้โดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากเริ่มมีอาการ ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้รับการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกวิธี 

สำหรับการรักษาเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัส แพทย์จะให้ยาหยอดตา เพื่อช่วยทำให้สบายตาขึ้น กรณีรุนแรงอาจต้องใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ด้วย โดยแพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการ และผู้ป่วยเองควรพักผ่อนมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงที่สุด 

หากรักษาทันท่วงที อาการต่าง ๆ จะทุเลาลงจนหายได้ภายในสัปดาห์เดียว และไม่เข้าสู่ระยะกระจกตาอักเสบ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จนเป็นเช่นนั้น จะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2–3 สัปดาห์ในการรักษาให้หาย 

เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคเยื่อบุตาอักเสบ การดูแลสุขอนามัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก เข่น แยกของใช้ ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน อย่างลูกบิดประตู เป็นต้น รวมถึงใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดในบริเวณที่ผู้ป่วยสัมผัสด้วย 

ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าก๊อซปิดตา เพราะการปิดตาที่ติดเชื้อ จะยิ่งทำให้ตาขาดออกซิเจน และไม่ส่งผลดีต่อการหายเลยแม้แต่น้อย 


HDmall รวบรวม แพ็กเกจตรวจตา รักษาโรคตา มาให้แล้ว จองกับเราสะดวกกว่า ทั้งใกล้บ้าน แถมราคาดี รับรองหายไว ปลอดภัยแน่! ถ้าหาอันไหนไม่เจอ หรือยังไม่แน่ใจ ให้เราช่วยจองคิวคุณหมอเพื่อประเมินอาการก่อนได้ แค่แอดไลน์แล้วแช็ตมาสอบถามได้เลย ที่นี่!


เขียนบทความโดย พญ. ศศิวิมล จันทรศรี

Scroll to Top