แต่เดิมคำว่า โพธิ์ ไม่ได้เป็นชื่อชนิดของต้นไม้ แต่เป็นการเรียกต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ประทับ และได้ตรัสรู้ ซึ่งต้นโพธิ์เป็นต้นไมที่ชาวพุทธ พราหมณ์ ฮินดูเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยนิยมปลูกในวัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
ต้นโพมีธิ์ถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอินเดีย และพบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ สูงได้ 20-30 เมตร ลำต้นตรง โคนต้นมีขนาดใหญ่ เปลือกต้นมีสีน้ำตาลปนเทา ลักษณะเรียบ เมื่อกรีดหรือตัดจะมีน้ำยางสีขาว ลำต้นมีการแผ่กิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่ม ปลายกิ่งลู่ลง ตามกิ่งมีรากอากาศห้อยลงมา
ใบโพธิ์เป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจ ปลายใบยาวออกมาคล้ายหาง มีสีเชียวนวลอมเทา ผิวใบมัน ก้านใบเล็ก ส่วนของยอดอ่อนมีสีขาวครีม หรือสีงาช้าง
ดอกมีสีเหลืองนวล ออกเป็นช่อที่ซอกใบ ส่วนผลเป็นผลรวม ลักษณะกลมเล็ก สีเขียว เมื่อสุกจะมีสีม่วงดำ
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus religiosa L.
- ชื่อสามัญ Peepal, Sacred fig
- ชื่ออื่นๆ โพ ศรีมหาโพ สลี (ภาคเหนือ) ย่อง (แม่ฮ่องสอน)
- ชื่อวงศ์ MORACEAE
ชนิดของโพธิ์
โพธิ์ในสกุล Ficus มี 2 ชนิด คือ โพธิ์ใบ (Ficus religiosa L.) ส่วนอีกชนิดเรียกว่า โพธิ์ขี้นก (F. rumphii BI.)
ความแตกต่างของโพธิ์ทั้งสองชนิดอยู่ที่ใบและผล ใบของโพธิ์ขี้นกมีขนาดเล็ก ผลสุกสีดำ ส่วนโพธิ์ใบจะมีใบขนาดใหญ่ และผลมีม่วงหรือแดงคล้ำ
สรรพคุณของโพธิ์
แต่ละส่วนของโพธิ์มีสรรพคุณดังนี้
- ใบ รับประทานเป็นยาแก้ไข้ ช่วยการขับถ่าย และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านแบคทีเรียและเชื้อราได้
- ผล รับประทานแก้กระหายน้ำ ช่วยรักษาอาหารหืด ช่วยขับพิษ เป็นยาระบายอ่อนๆ และช่วยในการย่อยอาหาร
- เมล็ด รับประทานเป็นยาลดไข้ และมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ
- เปลือกต้น นำมาต้มดื่ม แก้เจ็บคอ รักษาอาการปวดฟัน ลดอาการระบม ปวดกล้ามเนื้อ เป็นยารักษาโรคผิวหนัง
- ยาง ใช้ภายนอก สามารถนำมารักษาโรคหูด ริดสีดวงทวาร
ประโยชน์ของต้นโพธิ์
ต้นโพธิ์มีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่
- ใบอ่อนและผลอ่อน สามารถนำมารับประทานเป็นอาหาร
- ใบอ่อน ใช้เป็นอาหารสำหรับการเลี้ยงหนอนไหม นอกจากนี้ยังมีการน้ำใบโพธิ์อ่อนมาผสมในอาหารสำหรับการทำปศุสัตว์ เนื่องจากมีโปรตีนและแคลเซียมสูง
- เป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ให้ร่มเงามาก และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เช่น นก กระแต กระรอก
เขียนบทความโดย พทป. บุญศิริ คณะภักดิ์