potassium chloride scaled

Potassium chloride (โพแทสเซียมคลอไรด์)

Potassium chloride (โพแทสเซียม คลอไรด์) ประกอบไปด้วยโพแทสเซียมและคลอรีน ใช้ป้องกันหรือรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia)

Potassium chloride มีทั้งรูปแบบยารับประทานและยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ โดยรูปแบบยารับประทานมักนำมาผสมกับน้ำหวาน เพื่อปรับรสชาติให้ขมน้อยลง

เนื่องจากโพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่ายกาย ระดับโพแทสเซียมที่ไม่สมดุลจะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและระบบประสาท จึงต้องนำ Potassium chloride มาใช้ป้องกันหรือรักษาภาวะโพแทสเซียมต่ำนั่นเอง 

Potassium chloride ใช้รักษาโรคอะไร 

  • รักษาภาวะโพแทสเซียมต่ำ: ใช้รักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ยาขับปัสสาวะ การขับเหงื่อมากเกินไป โรคไต หรือภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้ร่างกายสูญเสียโพแทสเซียม
  • ป้องกันภาวะโพแทสเซียมต่ำ: ใช้ป้องกันภาวะโพแทสเซียมต่ำในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่รับประทานยาขับปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ที่มีการสูญเสียโพแทสเซียมจากภาวะต่าง ๆ 
  • รักษาความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์: ใช้รักษาภาวะอิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุลที่เกิดจากการสูญเสียโพแทสเซียม เช่น ภาวะอาเจียน หรืออาการท้องเสียรุนแรง

รูปแบบและปริมาณการใช้ยา Potassium chloride 

ขนาดยาจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือดของผู้ป่วย

Potassium chloride รูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

รักษาภาวะระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

  • ระดับโพแทสเซียมในเลือด 2.53.5 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร ให้ฉีดยาความเข้มข้นไม่เกิน 40 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร เข้าเส้นเลือดในอัตราไม่เกิน 10 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร ปริมาณยาสูงสุดไม่เกินวันละ 200 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร
  • ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่า 2.5 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร ให้ฉีดยาความเข้มข้นไม่เกิน 40 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร เข้าเส้นเลือดในอัตราไม่เกิน 10 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร ปริมาณยาสูงสุดไม่เกินวันละ 400 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร และตรวจจังหวะการเต้นของหัวใจควบคู่ไปด้วย 

Potassium chloride รูปแบบยาสำหรับรับประทาน

รักษาภาวะระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

  • รับประทานยาชนิดเม็ด 40100 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร/วัน หากปริมาณยาสูงกว่า 20 mEq ให้แบ่งรับประทาน

ป้องกันภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

  • รับประทานยาชนิดเม็ด 20 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร/วัน

ข้อควรระวังในการใช้ยา Potassium chloride   

ห้ามใช้ยา Potassium chloride ในผู้ป่วยต่อไปนี้

  • มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง โดยเฉพาะสูงกว่า 5 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร
  • มีโรคเกี่ยวข้องกับภาวะต่อไปนี้ ได้แก่ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตไม่เพียงพอ ภาวะขาดน้ำ ภาวะขาดน้ำเฉียบพลัน ภาวะตะคริวแดด เนื้อเยื่อถูกทำลายเฉียบพลันจากอุบัติเหตุหรือแผลไฟไหม้
  • มีภาวะคลอรีนในเลือดสูง
  • เป็นโรคไตรุนแรง
  • กำลังใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Potassium–sparing เช่น อะมิโลไรด์ (Amiloride) สไปโรโนแลกโทน (Spironolactone) ไตรแอมเทอรีน (Triamterene)

ระมัดระวังการใช้ยา Potassium chloride ในผู้ป่วยต่อไปนี้

  • มีภาวะสมดุลกรด–เบสผิดปกติ 
  • เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจวาย โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เป็นโรคตับ และโรคตับแข็ง
  • เป็นโรคไตระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง 
  • เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

การใช้ยา Potassium chloride ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร

ตัวยา Potassium chloride จัดอยู่ในกลุ่ม Category C คือ ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้มีครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร

สำหรับผู้มีครรภ์ที่กำลังอยู่ในไตรมาสแรก ยานี้ถือว่าอยู่ใน Category D คือ ไม่แนะให้ใช้ยา เว้นแต่ในกรณีช่วยชีวิต หรือรักษาอาการรุนแรงที่ยาที่ปลอดภัยกว่ารักษาไม่ได้ผล

ถ้าลืมกินยา Potassium chloride ต้องทำอย่างไร

ถ้าลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ตามจำนวนปกติ (เช่น ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ก็รับประทานเท่าเดิม ไม่ต้องเพิ่มเป็น 2 เม็ด) 

กรณีที่เพิ่งนึกได้ตอนใกล้รับประทานมื้อใหม่ ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรอรับประทานมื้อถัดไปได้เลย ในจำนวนปกติเช่นกัน ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

ผลข้างเคียงจากยา Potassium chloride

ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ ได้แก่ อาการแพ้ยารุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร อาการคลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ปวดท้อง หรือรู้สึกไม่สบายท้อง ท้องเสีย เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร แผลในช่องปาก 

สำหรับกรณีรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยานี้อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในบริเวณที่ฉีดยาได้ เช่น อาการปวด หลอดเลือดดำอักเสบ

นอกจากนี้ยังอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้ด้วย ได้แก่ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงรุนแรง ที่อาจส่งผลถึงชีวิตได้

ประเภทของยา Potassium chloride ตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย 

ยานี้จัดอยู่ใน 2 กลุ่ม ได้แก่ 

(1) กลุ่มยาทั่วไป (NDD) 

(2) กลุ่มยาอันตราย ที่จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น

สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา Potassium chloride

ก่อนใช้ยา Potassium chloride ควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลก่อนเสมอ โดยต้องแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพให้ละเอียด เพื่อลดความเสี่ยง ให้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัย และได้ผลดีที่สุด

  • แจ้งข้อมูลการใช้ยาทั้งหมด เช่น ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานไปก่อนหน้านี้ อาหารเสริมที่รับประทาน อย่างวิตามิน หรือสมุนไพร กรณีที่มียาประจำตัวหลายตัว ให้พกยามา แพทย์หรือเภสัชกรจะได้ตรวจสอบให้ก่อนจ่ายยาใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาอันตรายระหว่างยาใหม่และยาที่ใช้อยู่
  • แจ้งอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ประวัติการแพ้ยา อาการแพ้จากการใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรืออาหารและอาการที่แพ้ (เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม หรือยีสต์) เช่น บวม ผื่นขึ้น หายใจลำบาก เวลาที่ไปใช้บริการสุขภาพ ให้นำบัตรแพ้ยาพกติดตัวไป และแสดงบัตรนี้ให้แพทย์หรือเภสัชกรตรวจสอบก่อนเสมอ 
  • แจ้งข้อมูลในกรณีที่ตั้งครรภ์ มีแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์หรือขับออกทางน้ำนมได้
  • แจ้งข้อมูลด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้ยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา เพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง  

การเก็บรักษายา Potassium chloride 

เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 20–25 องศาเซลเซียส ป้องกันจากแสง และความชื้น

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ Potassium chloride

นอกจากจะใช้ทางการแพทย์แล้ว ยานี้ยังเป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำลำดับที่ 3 ในการใช้ประหารชีวิตนักโทษด้วย 

โดยยาทั้งสามชนิดที่ว่า ได้แก่ โซเดียม ไธโอเพนธาล (Sodium thiopenthal) แพนคูโรเนียม โบรไมด์ (Pancuronium bromide) และชนิดที่สาม ก็คือโพแทสเซียม คลอไรด์ (Potassium chloride) นั่นเอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้หัวใจของนักโทษหยุดเต้น 

Scroll to Top