เส้นเลือดฝอยในตาแตกอันตรายแค่ไหน

เส้นเลือดฝอยในตาแตกอันตรายแค่ไหน?

เส้นเลือดฝอยในตาแตก หรือ ภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา (Subconjunctival Hemorrhage) มักทำให้เกิดอาการตาขาวแดงก่ำเป็นหย่อมๆ หรือแดงก่ำทั้งหมด ชนิดที่ใครเห็นก็ต้องตื่นตกใจว่า เป็นโรคตาแดง หรือกลัวว่าจะเป็นอันตรายอื่นๆ

แต่แท้จริงแล้วภาวะเส้นเลือดฝอยในตาแตกมักไม่มีอันตรายรุนแรง เว้นแต่อาจมีอาการระคายเคืองตามมา แต่ทั้งหมดนี้สามารถหายเองได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาหลายวัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดเส้นเลือดฝอยในตาแตก

  • การขยี้ตา การขยี้ตาอย่างรุนแรง หรือเล็บไปสะกิดโดนดวงตา อาจทำให้เส้นเลือดฝอยในตาแตกได้ สังเกตว่า บางครั้งอาการตาแดงจะเกิดขึ้นหลังตื่นนอน ซึ่งอาจเกิดจากการขยี้ตาขณะหลับ
  • การเกิดอุบัติเหตุ หากเกิดการกระทบกระแทกที่ศีรษะ หรือใบหน้า หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ฐานกะโหลกศีรษะอาจฉีกขาดและเกิดแรงดันสูงจนทำให้หลอดเลือดฝอยในตาแตก หากไม่รีบรักษา ดวงตาอาจเกิดแรงดันสูงมากจนกลายเป็นต้อหินและทำให้ตาบอดได้
  • มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในตัวตา เช่น น้ำเข้าตา ฝุ่นเข้าตา แล้วทำให้เกิดการระคายเคือง
  • การมีความดันโลหิตสูง ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้วมีโอกาสเกิดอาการตาแดงได้บ่อย เนื่องจากแรงดันในหลอดเลือดส่งผลให้เส้นเลือดฝอยบริเวณดวงตาแตกได้
  • การยกของหนัก การออกแรงยกของหนักจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจะเป็นการเพิ่มแรงดันในลูกตา จึงอาจทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้เช่นกัน
  • การไอ จาม และอาเจียน ขณะไอ จาม และอาเจียนอย่างรุนแรง จะทำให้เกิดแรงดันในร่างกายสูงกะทันหันจึงเป็นสาเหตุให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ รวมถึงการอาเจียนอย่างรุนแรงด้วย
  • การดำน้ำ การดำน้ำในระดับลึกจะต้องพบเจอกับแรงดันน้ำภายนอกซึ่งทำให้แรงดันในตาสูงขึ้น สังเกตดูว่า บางคนที่เพิ่งผ่านการดำน้ำมามักมีอาการตาแดง
  • ความผิดปกติที่หลอดเลือดสมอง เช่น การที่หลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงในสมองเชื่อมต่อกันผิดปกติ หรือหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน ทำให้มีแรงดันเพิ่มขึ้นในสมองและลูกตาจนมีภาวะเลือดออกผิดปกติในสมองและตาได้ มักพบอาการปวดตา ปวดศีรษะ และอาจอันตรายถึงขึ้นชักและสมองฝ่อได้
  • มีโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด เช่น การรับประทานยาวาร์ฟาริน (Warfarin) และยาแอสไพริน (Aspirin) ที่ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด การรับประทานสมุนไพรใบแปะก๊วย ทำให้เลือดออกง่ายและหยุดยาก
  • การติดเชื้อ การติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียที่เยื่อบุตา มักพบอาการตาแดงได้บ่อยๆ ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับอาการแสบเคืองตา ปวดตา ตาอักเสบ และอาการเคือง หรือแสบตาบางครั้งจะทำให้เผลอขยี้ตา ทำให้เส้นเลือดฝอยตาแตกได้

เส้นเลือดฝอยในตาแตก อันตรายหรือไม่

ส่วนมากภาวะเส้นเลือดฝอยในตาแตกที่ไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ มักไม่มีอันตรายรุนแรง และสามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ หากดูแลดวงตาอย่างถูกวิธี

แต่บางครั้งก็อาจมีอาการระคายเคืองตาได้บ้างซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยาหยอดตา หรือน้ำตาเทียม และการประคบเย็น

อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอและไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง เนื่องจากอาจทำให้ดวงตาระคายเคืองกว่าเดิมได้ หากพบว่า มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แสบเคืองตา ปวดตา ปวดศีรษะ การมองเห็นแย่ลง ควรรีบไปพบจักษุแพทย์

โดยส่วนมากเส้นเลือดฝอยในตาแตกมักเกิดที่ตาขาว แต่บางครั้งอาจพบเส้นเลือดฝอยในตาดำแตกได้เช่นกัน ซึ่งมักเกิดจากสาเหตุที่รุนแรงกว่า เช่น เกิดการอักเสบติดเชื้อ หรือเกิดบาดแผลที่นัยน์ตา

หลายครั้งก็ทำให้การมองเห็นแย่ลง เห็นภาพเป็นจุดๆ และอาจมีเลือดไหลออกจากตาได้ ในกรณีนี้ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เช่นกัน

อาการที่ควรรีบมาพบแพทย์

  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป เช่น ตาพร่า เห็นภาพซ้อน
  • ปวดตาอย่างรุนแรง
  • มีน้ำตาไหลออกจากตาผิดปกติ
  • มีประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด

การรักษาเส้นเลือดฝอยในตาแตก และการดูแลตนเอง

ส่วนมากเส้นเลือดฝอยในตาแตกที่ไม่เป็นอันตรายนั้นไม่จำเป็นต้องรักษา หากได้พักผ่อนดวงตาอย่างเหมาะสมก็สามารถหายเองได้ หรือหากมีอาการระคายเคืองตาก็อาจมาพบจักษุแพทย์เพื่อขอยาหยอดตาไปหยอดบรรเทาอาการได้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดเส้นเลือดฝอยในตาแตก เช่น การมีความดันโลหิตสูง หรือการไอเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมและควรต้องรีบรักษา

ระหว่างที่ยังมีอาการตาแดงอยู่ ควรงดกิจกรรมที่ทำให้ความดันโลหิตสูง เช่น การยกของหนัก การว่ายน้ำ ดำน้ำ รวมถึงการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมากด้วย เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้จะกระตุ้นให้ภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตารุนแรงขึ้นได้

การป้องกันเส้นเลือดฝอยในตาแตก

  • ดูแลดวงตาอย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการใช้สายตามากเกินไป และพักดวงตาเป็นระยะๆ
  • หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของดวงตา ควรสวมแว่นตาเพื่อป้องกัน
  • ไม่ขยี้ตารุนแรง เพราะจะทำให้ดวงตาระคายเคืองได้
  • หลีกเลี่ยงการออกแรงมากเกินไป เช่น การยกของหนัก หรือการออกกำลังกายอย่างหักโหม
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นภาวะดังกล่าว เช่น การมีความดันโลหิตสูง การไอจามเรื้อรัง

ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญไม่น้อย ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาด ใช้งานดวงตาอย่างเหมาะสม หากพบว่า มีความผิดปกติควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาจะดีที่สุด


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ธวัลรัตน์ ปานแดง


ที่มาของข้อมูล

  • อ. พญ. สุธาสินี บุญโสภณ, เส้นเลือดฝอยในตาแตก (https://www.si.mahidol.ac.th/th/tvdetail.asp?tv_id=675), 20 พฤษภาคม 2561.
  • โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือการดูแลรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุทางตาเบื้องต้น (http://www.metta.go.th/downloads/ehbook.pdf), 20 พฤษภาคม 2561.
Scroll to Top