เฟกโซเฟนาดีน (fexofenadine) เป็นยาต้านฮีสทามีนที่ใช้ในการรักษากลุ่มอาการแพ้ เช่น ตาแดง น้ำมูลไหล คันตา คันจมูก อาการคันจากการแพ้ ลมพิษ ออกฤทธิ์โดยยับยั้งสารสื่อประสาท คือ สารฮิสทามีนที่ถูกหลั่งออกในระหว่างที่ร่างการตอบสนองต่อการแพ้
ยา fexofenadine ที่นิยมใช้ในไทย มีขนาดเม็ด fexofenadine 60 mg และ fexofenadine 180 mg
สารบัญ
- สรรพคุณของยา Fexofenadine
- กลไกการออกฤทธิ์ของเฟกโซเฟนาดีน
- ข้อบ่งใช้สำหรับเฟกโซเฟนาดีน
- ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยาเฟกโซเฟนาดีน
- ข้อควรระวังของการใช้ยาเฟกโซเฟนาดีน
- ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเฟกโซเฟนาดีน
- ข้อมูลการใช้ยาเฟกโซเฟนาดีนในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
- ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย
- สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา
สรรพคุณของยา Fexofenadine
- ใช้รักษาและบรรเทาอาการเยื่อโพรงจมูกอักเสบจากการแพ้ เช่น ตาแดง น้ำมูลไหล คันตา คันจมูก อาการคันจากการแพ้
- ใช้รักษาและบรรเทาอาการผื่นลมพิษเรื้อรังชนิดไม่ทราบสาเหตุ
กลไกการออกฤทธิ์ของเฟกโซเฟนาดีน
เมื่อพิจารณาตามการออกฤทธิ์ของเฟกโซเฟนาดีนแล้วจะอยู่ในกลุ่มของยาต้านฮิสตามีนในกลุ่ม selective peripheral H1 blocker คือ มีการออกฤทธิ์อย่างจำเพาะเจาะจงที่ตัวรับฮิสทามีน ชนิด H1 จัดเป็นยาในกลุ่มยาต้านฮีสทามีนรุ่นที่ 2 มีการผ่านเข้าสู่สมองที่ต่ำกว่า ทำให้การเกิดการง่วงซึมต่ำกว่าเมื่อเทียบกับยาต้านฮีสทามีนในรุ่นแรก
เฟกโซเฟนาดีนออกฤทธิ์เช่นเดียวกันกับยาอื่นในกลุ่ม H1-blocker คือ เฟกโซเฟนาดีนเข้าจับกับตัวรับฮีสทามีนชนิด H1 อย่างแข่งขันและจำเพาะที่บริเวณทางเดินอาหาร หลอดเลือดใหญ่ และกล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลม ซึ่งจะเป็นการยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮีสทามีนที่ถูกหลั่งออกมาเมื่อร่างกายตอบสนองต่อการแพ้ ได้แก่ อาการคัดจมูก น้ำตาไหล ผื่นคัน เฟกโซเฟนาดีน ไม่มีฤทธิ์ anticholinergic, antidopaminergic และ antiadrenergic จับกับโปรตีนในกระแสเลือดร้อยละ 60-70 มีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดร้อยละ 33
ข้อบ่งใช้สำหรับเฟกโซเฟนาดีน
ข้อบ่งใช้สำหรับเยื่อโพรงจมูกอักเสบจากการแพ้
- ยาในรูปแบบรับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 120 มิลลิกรัม วันละครั้ง
- ขนาดการใช้ยาในเด็ก อายุ 6-11 ปี ขนาด 30 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- ขนาดการใช้ยาในเด็ก อายุมากกว่า 12 ปี ขนาดยาแบบเดียวกันกับในผู้ใหญ่
ข้อบ่งใช้สำหรับผื่นลมพิษเรื้อรังชนิดไม่ทราบสาเหตุ
- ยาในรูปแบบรับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 180 มิลลิกรัม วันละครั้ง
- ขนาดการใช้ยาในเด็ก อายุมากกว่า 12 ปี ขนาดยาแบบเดียวกันกับในผู้ใหญ่
ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยาเฟกโซเฟนาดีน
หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ดโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน ในกรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไป ให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไปและไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด
ข้อควรระวังของการใช้ยาเฟกโซเฟนาดีน
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ยาเฟกโซเฟนาดีน
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ระวังการใช้ยานี้ในเด็ก
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ
- ระวังการใช้ยานี้ในผุ้ป่วยโรคไต
- ระวังการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์
- ระวังการใช้ยานี้ในสตรีให้นมบุตร
ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเฟกโซเฟนาดีน
- อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ได้แก่ ปวดศีรษะ ง่วงซึม อ่อนเพลีย ง่วงนอน
- ความผิดปกติของระบบประสาทสั่งการ อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
- อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย
- อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบางเดินหายใจ ได้แก่ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไซนัสอักเสบ
- อาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบผิวหนัง ได้แก่ เกิดผื่น อาการอื่นๆ ได้แก่ ปวดหลัง ปวดประจำเดือน
ข้อมูลการใช้ยาเฟกโซเฟนาดีนในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
สำหรับการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม category C คือ ควรระมัดระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ สำหรับสตรีให้นมบุตร ควรระวังการใช้ยา
ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย
ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น
สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา
แพทย์และเภสัชกรสามารถให้ข้อมูลการใช้ยาอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่แพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการใช้ยา
- แจ้งข้อมูลการใช้ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทาน (รวมถึงวิตามิน และสมุนไพร) ในกรณีมียาประจำตัวจำนวนมาก ให้พกยาเพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยตรวจสอบก่อนสั่งจ่ายยาใหม่ ไม่ให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่จะได้รับใหม่และยาที่เดิมที่ผู้ป่วยใช้อยู่
- แจ้งประวัติการแพ้ยา หรืออาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือแพ้อาหารชนิดใดอยู่ (เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม ยีสต์) อาการที่เกิดขึ้น เช่น อาการบวม เกิดผื่น หายใจลำบาก หรือให้นำบัตรแพ้ยา พกติดตัวและแสดงบัตรนี้แก่แพทย์และเภสัชกรก่อนเข้าใช้บริการสุขภาพทุกครั้ง
- แจ้งข้อมูลในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์ หรือสามารถขับออกทางน้ำนมได้
- แจ้งข้อมูลที่จะส่งผลต่อการรับประทานยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา วิธีการรับประทานยา เพื่อแพทย์หรือเภสัชกรจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง