ข้อห้ามในการทำเลสิกมีอะไรบ้าง


ข้อห้าม-ทำเลสิก-แก้ไข-ค่าสายตา-ด้วย-เลเซอร์

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • เลสิกเหมาะสำหรับผู้มีอายุ18 ปีขึ้นไป มีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี ผู้ที่มีปัญหาในการใส่แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ หรือต้องการปรับบุคลิกลิกภาพให้เหมาะกับสายอาชีพ
  • ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับตา หรือมีประวัติเจ็บป่วยเกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคกระจกตาย้วย เปลือกตาอักเสบเรื้อรัง เป็นแผลที่กระจกตา จอประสาทตามีรู ตาแห้งมากๆ โรคต้อกระจก โรคต้อหิน โรคประสาทตาเสื่อม ไม่ควรทำเลสิก
  • ผู้ป่วยที่มีโรคต้านเนื่อเยื่อของตนเอง เช่น โรค SLE โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ไม่ควรทำเลสิก เพราะการสมานแผลที่กระจกตามีความผิดปกติ หากอาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะกระจกตาเปื่อยและสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด
  • หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าสายตาไม่คงที่
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจครอบแก้ว หรือแอดไลน์ @hdcoth

เลสิก (LASIK) เป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ ซึ่งได้รับความนิยมเพราะรักษาได้ทั้งสายตาสั้น ยาว และเอียง ราคาไม่แพงมากเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้รับ ที่สำคัญแทบไม่เจ็บตัว และใช้เวลาพักฟื้นน้อย

เลสิกเหมาะสำหรับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีค่าสายตาคงที่มีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี ผู้ที่มีปัญหาในการใส่แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ หรือต้องการปรับบุคลิกลิกภาพให้เหมาะกับสายอาชีพ 

ผู้ที่ไม่มีโรค หรืออยู่ในภาวะต้องห้ามในการทำเลสิก รวมทั้งมีความเข้าใจการทำเลสิก และมีความคาดหวังในผลลัพธ์ที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามเหล่านี้ก็มีที่มาที่ไป มีเหตุและผล ไม่ใช่ข้อห้ามที่ตั้งขึ้นมาเล่นๆ ข้อห้ามทั้งหมดในการทำเลสิกมีอะไรบ้างนั้น ตาม HDmall.co.th มาเลย

ข้อห้ามในการทำเลสิกมีอะไรบ้าง?

ปัจจุบันการทำเลสิกจะมีหลายเทคนิค ไม่ว่าจะเป็น PRK, SBK LASIK, เลสิกไร้ใบมีด (FEMTO LASIK) และเทคนิค ReLEx Smile

แต่ก่อนที่จะตัดสินใจทำเลสิกด้วยเทคนิคใดนั้น ควรต้องรู้จัก “ข้อห้ามในการทำเลสิก” ใครบ้างที่ห้ามทำ หรือไม่ควรทำ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและผลลัพธ์ในการทำเลสิกที่ดีที่สุด

ข้อห้ามอันดับแรกของการทำเลสิกคือ ผู้ที่มีสุขภาพดวงตาไม่อำนวย แต่สำหรับข้อนี้ไม่ต้องเป็นกังวลไป เนื่องจากการทำเลสิกทุกเทคนิคจะมีการตรวจวัดค่าสายตาที่แน่นอน และการตรวจดวงตา ตามรายการดังนี้

  • ตรวจกระจกตา เพื่อดูว่า มีโรคตาซึ่งเป็นข้อห้ามหรือไม่
  • ตรวจความหนาของกระจกตา เพื่อดูว่า มีความหนามากพอหรือไม่ หากกระจกตาบางเกินไป การทำเลสิกอาจทำให้กระจกตาผิดรูปได้
  • วัดความโค้งของกระจกตาอย่างละเอียด เพื่อดูว่า มีภาวะกระจกตามีความโค้งมากเกินไป หรือน้อยเกินไป หรือไม่ เพราะจะทำให้ผลการทำเลสิกมีความคลาดเคลื่อนได้
  • วัดความดันตา เพื่อดูว่า มีความดันในตาสูง เป็นโรคต้อหินหรือไม่
  • วัดขนาดรูม่านตา เพื่อดูการกระจายแสงที่ตกกระทบมาที่ผิวกระจกตา
  • ตรวจจอประสาทตาอย่างละเอียด เช่น จุดรับภาพบนจอตาเป็นอย่างไร เสื่อมไหม จอตาฉีกขาดหรือไม่ จอตาบางหรือไม่

จุดประสงค์ของการตรวจอย่างส่วนต่างๆ ของตาอย่างละเอียดนี้ เพื่อที่จักษูแพทย์จะได้วิเคราะห์ประเมินว่า ผู้ป่วยรายนั้นๆ สามารถทำเลสิกได้หรือไม่ และหากทำเลสิกได้จะสามารถทำเทคนิคใดได้บ้างจึงจะเหมาะสม ได้ผลลัพธ์ที่ดี และปลอดภัย

แต่หากไม่สามารถทำเลสิกได้ จักษุแพทย์จะได้แนะนำวิธีการอื่นที่เหมาะสมเป็นรายๆ ไป

ใครบ้างที่ไม่ควรทำเลสิก หรือไม่เหมาะในการทำเลสิก?

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การตรวจดวงตาจะไม่พบความผิดปกติ แต่หากผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำเลสิก หรือไม่ได้รับการแนะนำให้ทำเลสิกเลย อาจต้องมองหาวิธีรักษาอื่นๆ ต่อไป

  • องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ระบุว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังไม่ควรทำเลสิก เนื่องจากค่าสายตายังไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงได้
  • ผู้ที่มีดวงตาดีใช้การได้เพียงข้างเดียว ไม่ควรทำเลสิก
  • ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับตา หรือมีประวัติเจ็บป่วยเกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคกระจกตาย้วย หรือกระจกตารูปกรวย (Keratoconus) เปลือกตาอักเสบเรื้อรัง เป็นแผลที่กระจกตา จอประสาทตามีรู ผิวตาดำไม่เรียบ ตาแห้งมากๆ โรคต้อกระจก โรคต้อหิน โรคประสาทตาเสื่อม ไม่ควรทำเลสิก
  • หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าสายตาไม่คงที่
  • ผู้ติดเชื้อ HIV ไม่เหมาะกับการทำเลสิก เนื่องจากผู้ที่มีเชื้อ HIV จะมีไวรัสบางชนิดที่มีผลกับการมองเห็น หากทำเลสิกไปแล้ว การมองเห็นอาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากเท่าผู้ไที่ไม่ติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยที่มีโรคต้านเนื่อเยื่อของตนเอง เช่น โรค SLE โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ไม่ควรทำเลสิก เพราะการสมานแผลที่กระจกตามีความผิดปกติ หากอาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะกระจกตาเปื่อยและสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากค่า HbA1c หรือ Hemoglobin A1c ระดับน้ำตาลสะสมในเลือดตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่เกิน 7% สามารถเข้าไปประเมินกับแพทย์ก่อนได้
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ซึ่งอยู่ระหว่างการรักษาไม่ควรทำเลสิกเพราะอาจเกิดฝ้าขาวที่กระจกตาหลังทำเลสิกได้
  • ผู้ป่วยจิตเวช หรือผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ เพราะอาจไม่เข้าใจผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการทำเลสิก หรืออาจมีความคาดหวังกับผลลัพธ์ในการทำเลสิกสูงเกินกว่าคนทั่วไป

ดังนั้นหากมีปัญหาค่าสายตาผิดปกติ แต่ไม่ต้องการใส่แว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์อีกต่อไป และสนใจทำเลสิก แนะนำให้ลองศึกษา ทำความเข้าใจรายละเอียดของการทำเลสิกแต่ละเทคนิค ข้อห้าม ตลอดจนคำแนะนำต่างๆ ดูก่อน

หากมีข้อสงสัยใดๆ ควรไปปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อความมั่นใจเพื่อให้การทำเลสิกครั้งนี้มีความคุ้มค่า ปลอดภัยและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

หากสนใจเข้ารับการทำเลสิก สามารถเปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจทำเลสิกได้ที่นี่เลย หรือที่ไลน์ @hdcoth โดยจะมีแอดมินใจดีคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ

ที่มาของข้อมูล

อ. พญ.ปณตศม เง่ายุธากร ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, เลเซอร์ เลสิก ต่างกันอย่างไร (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=59), 12 มีนาคม 2564.

Harvard Health Publishing, LASIK What Is It? (https://www.health.harvard.edu/medical-tests-and-procedures/lasik-a-to-z), 12 March 2021.

Nancy Moyer, M.D. How Long Does LASIK Last? (https://www.healthline.com/health/eye-health/how-long-does-lasik-last), 12 March 2021.

WebMD, LASIK Eye Surgery (https://www.webmd.com/eye-health/lasik-laser-eye-surgery#1), 12 March 2021.

@‌hdcoth line chat