เชื้อ Pseudomonas aeruginosa: มาจากไหน รักษาอย่างไร


เชื้อ Pseudomonas aeruginosa


เชื้อแบคทีเรียบนโลกใบนี้แบ่งออกได้เป็นล้านๆ ชนิดและมีอีกหลายชนิดที่เรายังไม่รู้จัก แบคทีเรียบางชนิดบ้างก็อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์อยู่แล้วไม่ได้ก่อให้เกิดโรค แต่แบคทีเรียหลายชนิดก็เป็นผู้ร้าย เมื่อสบโอกาสได้เข้าสู่ร่างกาย หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "ร่างกายติดเชื้อ" ก็ทำให้เกิดโรคต่างๆ ความเจ็บป่วย หรือความผิดปกติตามมามากมาย 

หนึ่งในเชื้อแบคทีเรียที่มีอันตรายคือ “เชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa)” ซึ่งหากติดเชื้อจะก่อให้เกิดอันตรายขึ้นกับร่างกายหลายๆ ระบบ

เชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา คืออะไร?

เชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) คือ เชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เช่น ดิน น้ำประปา พืช ผัก ผลไม้ รวมถึงในร่างกายของคน เช่น น้ำมันใต้ผิวหนัง 

นอกจากนี้ในสถานที่ซึ่งมีความชื้นสูงอย่างในห้องน้ำ อ่างอาบน้ำ ในห้องครัว หรือใต้อ่างล้างจาน ก็เป็นปัจจัยทำให้เชื้อแบคทีเรียนี้เติบโตได้

อีกทั้งยังพบการติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซามากในโรงพยาบาล เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถพบได้มากในเครื่องเพิ่มความชื้นซึ่งใช้ในโรงพยาบาล รวมถึงสายสวนปัสสาวะที่ทำความสะอาดไม่ดีพอ 

เมื่อผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้มีเชื้อแบคทีเรียอยู่ในร่างกาย ก็จะสามารถส่งต่อเชื้อไปไปสู่ผู้อื่นได้

สำหรับผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่

  • มีแผลจากการผ่าตัด หรือแผลไฟไหม้
  • ใช้เครื่องช่วยหายใจของโรงพยาบาล หรือกำลังใส่อุปกรณ์ช่วยชีวิตของโรงพยาบาล เช่น สายน้ำเกลือ สายสวนปัสสาวะ
  • เป็นโรคเบาหวาน หรือโรคทางพันธุกรรมอย่างโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)
  • เป็นโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เช่น ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ติดโรคเอดส์ หรือเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งจนภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง เช่น ทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)

อาการผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา

อาการของผู้ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับบริเวณที่เชื้อเข้าไปเติบโต โดยเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซาสามารถเข้าไปก่ออาการได้แทบทุกระบบ และทุกบริเวณของร่างกาย โดยอาการหลักๆ ของร่างกายแต่ละส่วนที่เกิดการติดเชื้อจะมีต่อไปนี้

  • ติดเชื้อในระบบไหลเวียนเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลียอย่างหนัก ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ รวมถึงอาการความดันโลหิตต่ำลงด้วย
  • ติดเชื้อที่ระบบย่อยอาหาร มีอาการปวดศีรษะ ท้องเสีย ท้องร่วง
  • ติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ มีอาการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ
  • ติดเชื้อในปอด ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับโรคปอดบวม เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ไอเรื้อรัง หายใจลำบาก
  • ติดเชื้อใต้ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการต่อมขนอักเสบ (Folliculitis) เช่น มีอาการผิวแดง เป็นผื่นแดงขึ้นตามตัว เป็นฝี
  • ติดเชื้อที่กล้ามเนื้อ และกระดูก มีอาการกล้ามเนื้อบวม ปวดเจ็บบริเวณคอ และหลัง
  • ติดเชื้อที่ตา มีอาการตาอักเสบ หนังตาบวม เจ็บตา ตาขาวแดง การมองเห็นไม่มีประสิทธิภาพ
  • การติดเชื้อที่หู มีอาการหูบวม เจ็บหู รู้สึกคันระคายเคืองภายในหู การได้ยินไม่มีประสิทธิภาพ

หากมีความกังวลใจว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเอง หรืออาการแสดงบางอย่างที่เป็นอยู่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา แต่ยังไม่มีเวลาไปพบแพทย์ หรือด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ 

ปัจจุบันผู้ให้บริการทางสุขภาพหลายๆ แห่งก็มีบริการปรึกษาแพทย์ผ่านโทรศัพท์ หรือวีดีโอคอล ไว้รองรับแล้ว เป็นช่องทางที่สะดวกสบายและช่วยให้คุณได้รับคำแนะนำเบื้องต้น 

วิธีรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา

วิธีรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซาโดยหลักๆ คือ การรับประทานยาปฏิชีวนะ แต่วิธีรักษานี้อาจยากในผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากในโรงพยาบาล เพราะเชื้อจากโรงพยาบาลส่วนมากจะมีอาการดื้อต่อยา 

ผลมาจากสภาพแวดล้อมที่เชื้อเติบโตนั้นเต็มไปด้วยสารต่อต้านแบคทีเรียเต็มไปหมด

ดังนั้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จึงใช้ยาปฏิชีวนะตัวอื่นที่แรงกว่า เพื่อให้สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ และในระหว่างใช้ยาดังกล่าวรักษาการติดเชื้อ แพทย์จะนัดหมายผู้ป่วยให้เข้ามาตรวจความคืบหน้าของอาการว่า ตัวยาปฏิชีวนะนั้นๆ ได้ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หรือไม่

ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Antipseudomonal antibiotic) ได้แก่

  • เซฟตาซิดิม (Ceftazidime)
  • ปิเปอราซิลลิน (Piperacillin)
  • เจนตามัยซิน (Gentamicin)
  • ยากลุ่มคาร์บาพีเนม (Carbapenem)

ประเภทของยาปฏิชีวนะก็จะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่ร่างกายเกิดการติดเชื้อด้วย เช่น หากติดเชื้อที่ตา ยารักษาก็จะเป็นยาหยอดตา หากติดเชื้อที่หู ยารักษาก็จะเป็นน้ำยาล้างหู

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างมากเนื่องจากเชื้อ Pseudomonas aeruginosa เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาง่ายมาก 

นอกจากนี้ เชื้อ P. aeruginosa ที่ดื้อยา Carbapenem ยังเป็นเชื้ออันตรายอันดับต้นๆที่องค์การอนามัยโลกให้ความใส่ใจมาก

วิธีป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา

หัวใจหลักที่สามารถป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ คือ การรักษาความสะอาดอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้รอบตัวให้ปราศจากความชื้น และคราบสิ่งสกปรก

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลยังต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชนิด และมีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทุกชนิดอีกครั้งหลังทำความสะอาดแล้วให้เรียบร้อย เพื่อให้คนไข้ใช้งานอุปกรณ์ทุกอย่างได้อย่างปลอดภัย

ผู้ที่เจ็บป่วยจนต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ควรนั่งให้ห่างจากผู้ป่วยรายอื่น และเมื่อกลับจากโรงพยาบาล ให้อาบน้ำให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคจากโรงพยาบาลที่ติดมาตามเสื้อผ้า

นอกจากโรงพยาบาลแล้ว สระว่ายน้ำก็เป็นอีกแหล่งเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซาได้ ดังนั้นผู้ที่ไปว่ายน้ำที่สระว่ายน้ำสาธารณะ หลังว่ายเสร็จแล้วควรอาบน้ำให้สะอาด อย่าเพียงแค่ล้างตัวเพื่อเอาสารคลอรีนออกเท่านั้น 

อีกทั้งควรทำความสะอาดรูหูซึ่งยังมีน้ำจากสระว่ายน้ำติดค้างอยู่ข้างในด้วย

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา คือ ความสะอาดของสิ่งของรอบตัว รวมถึงการรักษาสุขอนามัยของตัวเองที่ไม่ดีพอ

ดังนั้นคุณจึงต้องรู้จักรักษาความสะอาดทั้งร่างกายของตัวเอง และข้าวของเครื่องใช้รอบตัว รวมถึงรู้วิธีปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเมื่อไปอยู่ในสถานที่เสี่ยงติดเชื้ออย่างโรงพยาบาล สระว่ายน้ำ พื้นที่ใช้งานสาธารณะร่วมกับผู้อื่น 

เพียงเท่านี้คุณก็จะลดโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ รวมถึงเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ด้วย


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat