ภาวะมีบุตรยากจัดเป็นปัญหาที่บั่นทอนจิตใจคู่สามีภรรยา และหลายๆ ครอบครัว คู่สามีภรรยาหลายคู่เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และกล่าวโทษกันเองเมื่อไม่สามารถมีลูกน้อยตามความฝันได้จนมีปัญหาขุ่นเคืองใจต่อกัน บางคู่จบลงด้วยการหย่าร้าง
ความจริงภาวะมีบุตรยากมีสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย ทั้งยังเกิดได้จากปัจจัยที่ยากต่อการควบคุม เช่น โรคประจำตัว พฤติกรรมการดูแลสุขภาพ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย
สารบัญ
ความหมายของภาวะมีบุตรยาก
ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คือ ภาวะที่คู่สามีภรรยาไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ทั้งๆ ที่มีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้คุมกำเนิดมามากกว่า 1 ปีแล้ว หรือ 6 เดือน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงอายุเกิน 35 ปีแล้ว
ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง
อะไรบ้างที่มักเป็นสาเหตุทำให้ผู้หญิงเกิดภาวะมีบุตรยาก เรามาดูพร้อมๆ กัน
- อายุที่มากขึ้น ยิ่งผู้หญิงอายุมากเท่าไร คุณภาพของไข่ในรังไข่ และฮอร์โมนที่จะช่วยให้ตกไข่ก็จะยิ่งลดลง และทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดลงไปด้วย
ช่วงอายุของผู้หญิงที่สามารถตั้งครรภ์ได้มากที่สุด คือ อายุ 15-25 ปี เพราะเป็นช่วงอายุที่มีจำนวนฟองไข่มาก มีโอกาสตั้งครรภ์สูง แล้วหลังจากนั้นโอกาสการตั้งครรภ์ก็จะลดลง โดยเฉพาะเมื่อช่วงอายุเข้าสู่วัย 35 ปีขึ้นไปแล้ว - ปัญหา หรือความผิดปกติเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ที่พบได้บ่อยๆ คือ ท่อนำไข่ตีบตัน (Tube Factor) ซึ่งส่งผลให้ไข่กับอสุจิไม่สามารถมาปฏิสนธิกันได้ หรือปัญหาผนังมดลูกเจริญเติบโตไม่ดี หรือเจริญผิดที่ รวมถึงภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ มีเนื้องอกที่ตัวมดลูกด้วย
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเนื้อเยื่อปกคลุมที่อวัยวะบริเวณช่องท้อง และอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ ทำให้เกิดแผลเป็น หรือพังผืดบริเวณดังกล่าว ซึ่งสามารถนำไปสู่การเกิดภาวะมีบุตรยากได้ นอกจากความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์แล้ว การผ่าตัด การได้รับบาดเจ็บที่อวัยวะสืบพันธุ์มาก่อน เช่น การทำแท้ง การขูดมดลูก ก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้เช่นกัน - ความเครียด ปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่แจ่มใส มีอาการวิตกกังวล เครียดจัด หรือมีอาการทางประสาท สามารถส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ หรือทำให้ไม่มีการตกไข่เกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ปัญหาความเครียดยังส่งผลให้ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ลดน้อยลง ไม่มีอารมณ์ทางเพศ และโอกาสการตั้งครรภ์ก็จะลดลงไปด้วย - โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน การติดเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia) ซึ่งส่งผลทำให้อวัยวะสืบพันธุ์ทำงามผิดปกติ เกิดการติดเชื้อ ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในภายหลัง
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อบางชนิดอย่างต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง ก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้
- การใช้ชีวิตประจำวันไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่บ่อยๆ การรับประทานอาหารรสหวาน ไขมันสูงจนน้ำหนักเกินเกณฑ์ การมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศจนนำไปสู่การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- การรับการรักษาบางประเภท เช่น การทำคีโม หรือใช้รังสีรักษา การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ในระยะยาว ยารักษาโรคทางประสาท (antipsychotic medications)
ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า ภาวะมีบุตรยากต้องมาจากความผิดปกติของร่างกายฝ่ายหญิงซึ่งเป็นฝ่ายตั้งครรภ์ แต่ความจริงแล้วสุขภาพของฝ่ายชายก็มีส่วนทำให้การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน ซึ่งที่พบเห็นได้บ่อยๆ ได้แก่
- อายุที่มากขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้การสร้างตัวอสุจิน้อยลงได้ อย่างไรก็ตาม อายุของฝ่ายชายส่วนมากไม่ได้ส่งผลทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากมากขนาดนั้น เมื่อเทียบกับอายุของฝ่ายหญิง
- ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เช่น จำนวนอสุจิน้อย การเคลื่อนที่ของตัวอสุจิผิดปกติ ท่อน้ำเชื้อตีบตัน หลอดเลือดอัณฑะขอด (Varicocele) เซลล์สร้างตัวอสุจิไม่เจริญเติบโต ไส้เลื่อนที่ถุงอัณฑะ เคยผ่านการทำหมันมาก่อน
นอกจากนี้ภาวะมีบุตรยากยังเกิดขึ้นได้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ที่ไม่ปกติ จนส่งผลกระทบต่อการผลิตตัวอสุจิด้วย รวมถึงการหลั่งอสุจิขณะมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปกติอย่างการหลั่งน้ำอสุจิย้อนเข้าไปในท่อปัสสาวะ (Retrograde ejaculation) - ความเครียด ซึ่งส่งผลให้อารมณ์ทางเพศลดลง และความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ก็จะลดตามมา จึงทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ยากขึ้น รวมถึงการสร้างตัวอสุจิน้อยลง จนเกิดภาวะมีบุตรยากได้
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน กามโรค ซึ่งสามารถส่งผลกระทบทำให้ทางเดินอสุจิตีบแคบ การผลิตตัวอสุจิน้อยลง หรือทำให้อัณฑะอักเสบได้
- โรคประจำตัว ซึ่งโรคส่วนมากไม่ต่างจากของผู้หญิง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่ออย่างต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไต ต่อมไทรอยด์
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จนการสร้างเซลล์อสุจิผิดปกติ เช่น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การสูบบุหรี่จัด ติดสารเสพติด รวมไปถึงการเล่นกีฬาที่สร้างความกระทบกระเทือนต่ออวัยวะเพศ หรืออัณฑะเสียดสีกันบ่อยๆ เช่น ขี่จักรยาน
- การรับการรักษาบางประเภท เช่น การทำคีโม การใช้รังสีรักษา การใช้ยาลดการอักเสบบางชนิด เช่น ยาซัลฟาซาลาซีน ยาปิดกั้นแคลเซียม ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants)
นอกจากนี้ การที่คู่สามีภรรยาอาศัย หรือทำงานอยู่ในพื้นที่ที่มีสารพิษ หรือสารเคมีสูง เช่น สารกำจัดศัตรูพืช (Pesticides) สารเคมีกำจัดวัชพืช (Herbicides) สารโลหะหนัก (Heavy metals) ก็มีส่วนทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานแย่ลงรวมไปถึงระบบสืบพันธุ์ ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะมีบุตรยากได้
จะเห็นได้ว่า มีหลายปัจจัยมากที่สามารถนำไปสู่การเกิดภาวะมีบุตรยากได้ หากคุณวางแผนจะมีบุตร กำลังจะแต่งงาน หรือต้องการแน่ใจว่า ร่างกายของตนเองพร้อมสำหรับการมีบุตรแล้ว ก็ควรรีบเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดตั้งแต่เนิ่นๆ
หรือเพื่อเจาะลึกเกี่ยวกับสุขภาพเพื่อการมีบุตรไปเลย คุณสามารถเข้ารับการตรวจภาวะมีบุตรยากได้ที่โรงพยาบาล และคลินิกสูตินรีเวชชั้นนำทั่วไป