การตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรได้บ้าง?


ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจเลือด ตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะ คืออะไร? ตรวจอะไรได้บ้าง? จำเป็นต้องตรวจทุกปีไหม? ต้องตรวจทุกอย่างเลยไหม? อ่านข้อมูลได้ที่นี่

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • การตรวจสุขภาพ คือ การตรวจสุขภาพทั่วไปในผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เพื่อตรวจคัดกรองโรคที่อาจแฝงอยู่ในร่างกาย แต่ไม่แสดงอาการ หรือตรวจหาปัจจัยเสี่ยง รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค
  • หากตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ ในขณะเดียวกัน หากแพทย์พบว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคต่างๆ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจช่วยชะลอการเกิด หรือป้องกันโรคนั้นๆ ได้
  • การตรวจสุขภาพโดยทั่วไป มักเริ่มจากการซักประวัติสุขภาพ ตรวจร่างกาย และตามด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด หรือตรวจปัสสาวะ
  • ควรเลือกแพ็กเกจตรวจสุขภาพให้เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อความคุ้มค่า และลดการเกิดผลข้างเคียงจากการตรวจที่ไม่จำเป็น 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงวัย

การตรวจสุขภาพประจำปี คือการตรวจสุขภาพทั่วไปในผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ประกอบด้วย การซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ หรือที่นิยมเรียกว่า ตรวจแล็บ เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ตรวจไขมัน

โปรแกรมตรวจสุขภาพจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย เช่น การตรวจสุขภาพในผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไป อาจมีการตรวจภายในเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย เป็นต้น


เลือกหัวข้อที่น่าสนใจได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


ตรวจสุขภาพ ตรวจอะไรได้บ้าง?

การตรวจสุขภาพ มี 2 เป้าหมายหลักในการตรวจ คือ

1. ตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้นที่อาจแฝงอยู่ในร่างกาย แต่ยังไม่แสดงอาการได้

  • ตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งเต้านมในระยะแรก หรือมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก
  • การตรวจพบโรคเหล่านี้ในระยะแรกๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา หรือโอกาสในการรักษาหายขาดได้มาก

2. ตรวจหาปัจจัย หรือพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค

  • ตัวอย่างเช่น กรรมพันธุ์ การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย การมีอารมณ์เครียด มีภาวะน้ำหนักเกิน หรืออ้วนลงพุง
  • หากตรวจพบปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค และทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

ซักประวัติสุขภาพ ขั้นตอนสำคัญของการตรวจสุขภาพ

การซักประวัติสุขภาพจะช่วยให้แพทย์ค้นพบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้ หลังจากนั้นจะนำไปประเมินร่วมกับการตรวจร่างกาย หรือตรวจทางห้องปฏิบัติการ

สิ่งที่แพทย์อาจถามในขั้นตอนการซักประวัติสุขภาพ เช่น

  • ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป เช่น อายุ เพศ การทำงาน สถานที่อยู่อาศัย กิจวัตรประจำวัน
  • ประวัติสุขภาพโดยรวม เช่น โรคที่เคยเป็น ประวัติอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือการแพ้ยา
  • ประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว เนื่องจากโรคบางชนิดอาจมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ได้

ตรวจร่างกาย ตรวจอะไรได้บ้าง?

แนวทางการตรวจร่างกาย มีหลายระบบ เช่น

  • ตรวจจากศีรษะจรดเท้า (Head-To-Toe assessment criteria) เป็นการตรวจสภาพทั่วๆ ไป โดยเริ่มจากสัญญาณชีพ ศีรษะและหน้า ตา หู จมูก ช่องปาก ลำคา หน้าอก ไปจนถึงส่วนของแขนขา
  • ตรวจตามระบบต่างๆ ของร่างกาย (Body systems assessment criteria) เริ่มจากตรวจสภาพทั่วๆ ไป สัญญาณชีพ และตรวจตามระบบต่างๆ เช่น ระบบประสาท ระบบการหายใจ ระบบหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนัง หรือระบบอวัยวะสืบพันธ์

โดยมีวิธีการตรวจหลักๆ คือ ดู คลำ เคาะ และฟัง

ตรวจเลือด ตรวจอะไรได้บ้าง?

การตรวจเลือด คือการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปวิเคราะห์ผลในห้องตรวจปฏิบัติการณ์ โดยการวิเคราะห์ผลจะแตกต่างกันไปในแต่ละโปรแกรม เช่น

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ความเข้มข้นของเลือด หรือภาวะผิดปกติอย่างโลหิตจาง
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) และค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c) เพื่อประเมินความเสี่ยง และคัดกรองโรคเบาหวาน
  • ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด เพื่อดูระดับคอเลสเตอรอล และไตรีกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัว และโรคหลอดเลือดสมอง
  • ตรวจสมรรถภาพการทำงานของไต โดยการตรวจค่าของเสียครีเอตินีน (Creatinine) และค่า BUn (Blood Urea Ntrogen) ในเลือด เพื่อประเมินความสามารถในการขับของเสียของไต
  • ตรวจสมรรถภาพการทำงานของตับ โดยการตรวจหาเอ็นไซม์และสารต่างๆ ในเลือด เพื่อหาภาวะตับอักเสบ ตับเสื่อมสภาพ หรือดีซ่าน
  • ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งในเลือด เพราะมะเร็งบางชนิดอาจผลิตสารฮอร์โมนบางอย่างออกมาปะปนในเลือดได้
  • ตรวจระดับกรดยูริก เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคเกาต์
  • ตรวจหาโรคติดเชื้อทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส
  • ตรวจเพื่อยืนยันโรคภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune)
  • ตรวจหาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา

โปรแกรมการตรวจเลือดจะแตกต่างกันไปในแต่ละแพ็กเกจ หรือขึ้นอยู่กับการประเมินจากแพทย์

นอกจากการตรวจดังกล่าวแล้ว การตรวจเลือดยังสามารถตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) ในแต่ละบุคคล ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง หรือตรวจระดับฮอร์โมน เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพและการออกกำลังกายได้อีกด้วย

ตรวจปัสสาวะ ตรวจอะไรได้บ้าง?

การตรวจปัสสาวะมักนิยมเก็บตัวอย่างในช่วงเช้า เพราะปัสสาวะยังเข้มข้นอยู่ โดยควรเก็บในช่วงกลางของปัสสาวะ และระมัดระวังไม่ให้อวัยวะสัมผัสกับที่เก็บตัวอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนได้

ปัสสาวะ สามารถตรวจได้หลายอย่าง เช่น

  • ตรวจลักษณะของปัสสาวะ ได้แก่ สี กลิ่น และความใส โดยผลตรวจปกติ ปัสสาวะจะต้องใส มีสีเหลืองอ่อน หรือเหลืออำพัน และไม่พบสารเคมี เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ผลึก หรือเชื้อจุลชีพอื่นๆ ปนเปื้อนอยู่
  • ตรวจการตั้งครรภ์ โดยเป็นการตรวจหาฮอร์โมน HCG (Human chorionic gonadotropin) ในปัสสาวะ
  • ตรวจเบาหวาน โดยการตรวจหาน้ำตาลกลูโคส หรือคีโตน (Ketones) ในปัสสาวะ
  • ตรวจภาวะการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ โดยการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อราในปัสสาวะ
  • ตรวจสมรรถภาพการทำงานของไต โดยการตรวจคาสท์ (Casts) ในปัสสาวะ
  • ตรวจความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไต หรือตรวจการทำงานของระบบเผาผลาญ โดยการตรวจผลึก (Crystal) ในปัสสาวะ
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปัสสาวะจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีโปรตีนเบนซ์โจนส์ (Bence Jones) ในปัสสาวะ
  • ตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ

การตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นต้องตรวจทุกปีหรือไม่?

ไม่จำเป็น การตรวจสุขภาพประจำปีจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจต้องตรวจทุกปี ในขณะที่บางคนอาจตรวจห่างกัน 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ เพศ หรือโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น เบาหวาน มีไขมันในเลือดสูง หรือมะเร็งเต้านม

การตรวจสุขภาพไม่ควรตรวจแบบเหมารวม และตรวจให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยเท่านั้น โดยในแต่ละโรงพยาบาลมักมีการจัดโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยไว้แล้ว

การตรวจแบบเหมารวมนั้น นอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองแล้ว การตรวจบางชนิดยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ด้วย

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงวัย จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมรับส่วนลดพิเศษเมื่อจองคิวผ่าน HDmall แหล่งรวมบริการสุขภาพ ทันตกรรม และความงาม ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

มีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพ สอบถามแอดมินได้ที่ไลน์ @hdcoth พร้อมให้บริการตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่งทุกวัน!


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • กระทรวงสาธารณสุข, การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม สำหรับประชาชน (http://www.imrta.dms.moph.go.th/imrta/images/ebook20170112.pdf).
  • อ.ทพ. อุดมรัตน เขมาลีลากุล, การซักประวัติ และตรวจร่างกาย (http://web1.dent.cmu.ac.th/mis/dis/UserFiles/File/surg/Plan%20DOS%20482/Sheet482Physicalexam.pdf).
  • อาจารย์ ดร.ทนพ. เมธี ศรีประพันธ์, การตรวจปัสสาวะ (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/476/การตรวจปัสสาวะ/).
  • รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ, ตั้งหลักก่อนตรวจ 20 ถาม-ตอบ เรื่อง ตรวจสุขภาพ (https://www.sem100library.in.th/medias/10236.pdf).
  • รศ.ดร.พญ.นิศารัตน์ โอภาสเกียรติกุล, ทำไมต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ(https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=146).
@‌hdcoth line chat