“การฝากครรภ์” เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณแม่ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด ไม่จำกัดแค่ว่าท้องแรก แต่ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ 2- 3- 4 -5 ก็ควรต้องฝากครรภ์ทั้งสิ้น และควรทำทันทีหลังจากรู้ว่า ตั้งครรภ์
คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจสงสงสัยว่า ไม่ไปฝากครรภ์ได้ไหม ดูแลตัวเองดีๆ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว และการฝากครรภ์จำเป็นหรือไม่ ถ้าจะไปฝาครรภ์ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เรามาอ่านข้อมูลดูพร้อมๆ กัน
สารบัญ
ความหมายของการฝากครรภ์
การฝากครรภ์ (Antenatal care: ANC) คือ การไปพบแพทย์ สูตินรีแพทย์ หรือบุคคลากรทางสาธารณสุขอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ตอบข้อสงสัย ตรวจสุขภาพครรภ์ รวมถึงการจ่ายยา วิตามิน หรือสารอาหารบำรุงครรภ์อย่างปลอดภัย
จุดมุ่งหมายของการฝากครรภ์ คือ การดูแลสุขภาพของมารดา และทารกในครรภ์ให้มีพัฒนาการที่ดี สุขภาพแข็งแรงจนกระทั่งครบกำหนดคลอด และมารดาสามารถคลอดได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ หากตรวจพบความผิดปกติระหว่างฝากครรภ์ แพทย์ หรือบุคคลากรทางสาธารณสุขจะสามารถรักษา หรือให้คำแนะนำที่เหมาะสมได้
ความสำคัญของการฝากครรภ์
คุณแม่หลายคนคงจะสงสัยว่า ทำไมต้องฝากครรภ์ให้ยุ่งยาก และเสียเวลา แต่รู้ไหมว่า การฝากครรภ์นั้นจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งเพราะการฝากครรภ์จะช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า ทั้งตัวคุณแม่ และลูกน้อยจะมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ตลอดการตั้งครรภ์
การฝากครรภ์นอกจะได้การดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดแล้ว คุณแม่ยังจะได้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวในระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์ ทั้งก่อน ภายหลังคลอด และการเลี้ยงดูลูกเมื่อคลอดออกมาแล้ว
นอกจากนี้ ในระหว่างตั้งครรภ์หากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติที่มีผลกระทบต่อลูกในท้อง เช่น โรคเบาหวาน (Diabetes) โรคลมชัก (Epilepsy) ครรภ์เป็นพิษ แพทย์จะได้ให้คำปรึกษาและรักษาได้ทันท่วงที
ดังนั้นเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรรีบไปฝากครรภ์ทันทีเพื่อจะได้รู้ถึงสุขภาพของคุณแม่และลูก หากเกิดความผิดปกติจะได้รับการรักษาได้ทัน ทั้งนี้การเข้ารับตรวจสุขภาพครรภ์จะถี่มากขึ้นตามอายุครรภ์ที่มากขึ้นด้วย
ยิ่งหากคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุ 34 ปีขึ้นไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าฝากครรภ์ เพราะเป็นวัยที่มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์สูง ไม่ว่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อน ความผิดปกติของตัวอ่อนแ หรือทารก จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
สาเหตุที่ควรไปฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ครบ 12 สัปดาห์
การไปฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนในมารดา และทารก โดยมีรายละเอียดดังนี้
- สามารถยืนยันอายุครรภ์ที่แน่นอน ช่วยให้แพทย์ติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้อย่างถูกต้อง ทำให้คำนวณกำหนดการคลอดได้ หญิงตั้งครรภ์ที่มีประจำเดือนไม่ปกติ หรือเข้าใจผิดว่า อาการแท้งคุกคามคือ ประจำเดือน จะไม่สามารถคำนวณอายุครรภ์ที่แน่นอนได้
- แพทย์จะตรวจหาความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ธาลัสซีเมีย ภาวะซีด โรคติดเชื้อต่างๆ เช่น HIV โรคไวรัสตับอักเสบบี หรือความเสี่ยงที่ทารกจะมีความผิดปกติ เช่น เป็นโรคดาวน์ซินโดรม
- สามารถรักษาความผิดปกติได้เร็ว เช่น ท้องลม ครรภ์ไข่ปลาอุก ท้องนอกมดลูก หรือภาวะแท้งคุกคาม ทำให้ตั้งครรภ์ได้ครบกำหนด และคลอดทารกออกมาอย่างปลอดภัย
- แพทย์สามารถควบคุมสารอาหาร และวิตามินที่เหมาะสมกับอายุครรภ์ได้ โดยมักให้เสริมธาตุเหล็ก กรดโฟลิก และไอโอดีน
- หญิงตั้งครรภ์จะได้รับความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาหารที่ควรรับประทาน การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับบุคคล รวมถึงการเตรียมตัวเลี้ยงทารกอย่างถูกต้อง
หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฝากครรภ์มีโอกาสที่ลูกน้อยในครรภ์จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าแม่ที่ฝากครรภ์ถึง 3 เท่า และหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฝากครรภ์มีโอกาสที่เมื่อถึงกำหนดคลอด ลูกน้อยมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าแม่ที่ฝากครรภ์ถึง 5 เท่า
ดังนั้นอย่าหลีกเลี่ยงที่จะฝากครรภ์ และเข้ารับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ
การฝากครรภ์ต้องทำทั้งหมดกี่ครั้ง
ปกติแล้ว หญิงตั้งครรภ์ควรไปตรวจครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ ดั้งนี้
- ครั้งที่ 1 ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์: เป็นระยะที่สำคัญมาก อันดับแรกควรได้รับการตรวจว่า การตั้งครรภ์ปกติหรือไม่ มีตัวอ่อนหรือไม่ อญุ่ในตำแหน่งใด แม่มีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อนหรือไม่ มีภาวะ หรือโรคประจำตัวใดที่ต้องเฝ้าระวัง
นอกจากนี้ ในระหว่างที่คุณมีอายุครรภ์ยังไม่ถึง 12 สัปดาห์ ตัวอ่อนจะเริ่มสร้างตัว และเริ่มสร้างอวัยวะสำคัญๆ จึงควรได้รับการจ่ายวิตามิน หรือกรดโฟลิกเพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการในปริมาณที่เหมาะสม - ครั้งที่ 2 เมื่ออายุครรภ์ 18 สัปดาห์: เป็นระยะที่ตัวอ่อนเริ่มเจริญเติบโตเป็นทารก ต้องตรวจติดตามการสร้างอวัยวะ พัฒนาการ ขนาดและน้ำหนัก
- ครั้งที่ 3 เมื่ออายุครรภ์ 26 สัปดาห์: เป็นระยะเฝ้าดูการเจริญเติบโตของทารก ต้องตรวจติดตามการสร้างอวัยวะ พัฒนาการ ขนาดและน้ำหนัก
- ครั้งที่ 4 เมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์: เป็นระยะเฝ้าดูการเจริญเติบโตของทารกว่าเป็นไปตามเกณฑ์ หรือไม่ หลังอายุครรภ์ 36 จะเริ่มนัดถี่มากขึ้น สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- ครั้งที่ 5 เมื่ออายุครรภ์ 38 สัปดาห์: เป็นระยะเฝ้าระวังการคลอด ตรวจเช็ครก น้ำคร่ำ การกลับหัวของทารก เพื่อวางแผนการคลอดให้เหมาะสม
ข้อดีของการไปตรวจครรภ์ครบทั้ง 5 ครั้ง จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ทั้งในแม่ และทารกในครรภ์ได้ รวมถึงช่วยให้แพทย์สามารถติดตามพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกและสุขภาพร่างกายของมารดาได้
แต่หากหญิงตั้งครรภ์ไม่ไปฝากครรภ์ตามนัดหมายจะไม่รู้เลยว่า ตนเอง หรือทารกในครรภ์มีอาการผิดปกติหรือเปล่า เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจรักษาไม่ทันการ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษจนต้องคลอดก่อนกำหนด
การเตรียมตัวไปฝากครรภ์
การเลือกสถานที่ฝากครรภ์ควรเลือกใกล้บ้าน ได้แก่ โรงพยาบาล คลินิกสูตินรีแพทย์ ศูนย์แม่และเด็ก ศูนย์บริการทางแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล
สิ่งที่ต้องเตรียมไปฝากครรภ์
- บัตรประชาชนของคุณแม่ และคุณพ่อ
- ประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา แพ้อาหาร การคลอดลูกครั้งก่อน โรคประจำตัว และโรคทางพันธุกรรม
- ข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย (นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย)
ขั้นตอนของการฝากครรภ์
- แพทย์จะซักถามประวัติอย่างละเอียด เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่เท่าไร ประจำเดือนครั้งสุดท้าย ลักษณะการคลอด (ในกรณีไม่ใช่ท้องแรก) เคยแท้งหรือไม่ โรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วย ยาที่กินเป็นประจำ วิธีการคุมกำเนิด ฯลฯ
- แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด วัดความดันโลหิต ดูการบวมตามร่างกาย ตรวจภายใน ตรวจปริมาณน้ำตาล และโปรตีนในปัสสาวะ
- ตรวจครรภ์ โดยการคลำความสูงของยอดมดลูกว่าเหมาะสมกับอายุครรภ์หรือไม่ เด็กอยู่ในท่าทางใด หันหน้าไปทางไหน และหาตำแหน่งของศีรษะของทารก
- วัดการเจริญเติบโตของทารก
- ฟังการเต้นของหัวใจทารก หรืออาจจะอัลตราซาวด์ (ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ที่เหมาะสม)
- ตรวจประเมินการเคลื่อไหวของทารกในครรภ์
- แพทย์จะแนะนำการฉีดวัคซีนบาดทะยัก และเจาะเลือดในการฝากครรภ์ครั้งแรก เพื่อประเมินโรคที่อาจมีผลกับการตั้งครรภ์ และประเมินว่าการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงหรือไม่
- แพทย์ให้ยาบำรุงมารับประทาน และนัดมาตรวจครรภ์ซ้ำตามสมควร
- เมื่ออายุครรภ์เพิ่มมากขึ้น ใกล้กำหนดคลอด แพทย์จะตรวจหัวนมว่ามีความยาวเพียงพอที่ทารกจะสามารถงับ ดูด ได้หรือไม่ หรือมีแนวโน้มปัญหาเกี่ยวกับหัวนม หรือไม่
- เมื่อใกล้กำหนดคลอด แพทย์จะวัดน้ำหนัก และตรวจท่าของทารกว่า กลับหัวไปทางช่องคลอด หรือไม่อย่างไร
เพราะการฝากครรภ์สำคัญต่อชีวิตของมารดาและทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก สมกับประโยคที่ว่า “ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย” ดังนั้นเมื่อตั้งครรภ์จึงไม่ควรละเลยการฝากครรภ์ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม