เคลือบฟัน (Veneer) ทางเลือกฟันขาว ฟันสวยทันใจ


รวมข้อมูลเกี่ยวกับการเคลือบฟัน

ฟันที่ขาวสว่างใส มีรูปฟันที่สวยงาม สามารถเพิ่มเสน่ห์ให้กับรอยยิ้มได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการเสริมความมั่นใจ ในการสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่พบเห็น แต่หากฟันมีปัญหา เช่น ฟันแตก ฟันหัก ฟันบิ่น หรือฟันเหลือง การเคลือบฟันด้วยวีเนียร์เป็นอีกหนึ่งวิธีที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลาย สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วทันใจ HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อมูลมาให้อย่างละเอียดสำหรับผู้สนใจ


เลือกอ่านข้อมูลเคลือบฟัน (Veneer) ได้ที่นี่

  • เคลือบฟันคืออะไร?
  • เคลือบฟันช่วยอะไรได้
  • เคลือบฟันเหมาะกับใคร?
  • เคลือบฟันมีกี่แบบ?
  • การเตรียมตัวก่อนเคลือบฟัน
  • การดูแลตัวเองหลังเคลือบฟัน
  • ความเสี่ยงของการทำเคลือบฟัน
  • เคลือบฟันอยู่ได้กี่ปี?
  • เคลือบฟันแตกควรทำอย่างไร?

  • เคลือบฟันคืออะไร?

    การเคลือบฟัน หรือหลายคนอาจเรียกว่าทำวีเนียร์ (Veneer) เป็นการใช้วัสดุพิเศษที่มีความบางและสีใกล้เคียงกับฟัน ติดลงบนผิวฟันเพื่อปกปิดปัญหาต่างๆ เช่น ฟันไม่สวย ฟันเหลือง ผิวฟันไม่เรียบ ฟันหัก ฟันเก ทำให้ฟันดูสวยงามเป็นธรรมชาติ

    การติดเคลือบฟันจะต้องกรอด้านหน้าของผิวฟันก่อนเล็กน้อย และอาจต้องกรอเนื้อฟันออก 0.5-1.0 มิลลิเมตรเพื่อให้ฟันเรียบเนียน หลังจากนั้นจึงนำมาติดลงไปที่ผิวฟัน โดยจะปิดด้านหน้าฟันทั้งซี่ไปชิดขอบฟันบริเวณแนวเหงือก ซึ่งปกติแล้วจะทำกันแค่ฟันหน้า 8 ซี่เท่านั้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการยิ้มของผู้รับบริการว่ายิ้มแล้วจะมองเห็นฟันหน้ากี่ซี่ วิธีนี้สามารถตกแต่งฟันให้ได้ลักษณะตามที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นสีของฟัน รูปร่างและขนาดของฟัน และต้องทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันตกรรมประดิษฐ์ (การบูรณะฟันและใส่ฟันเพื่อความสวยงาม) เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยและให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

    เช็กราคาเคลือบฟันจากคลินิกทันตกรรม

    เคลือบฟันช่วยอะไรได้?

    การเคลือบฟันสามารถช่วยแก้ไขปัญหาของฟันที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบได้เป็นอย่างดี ดังนี้

    • ช่วยปกปิดความผิดปกติของฟันที่มีการหัก สึก หรือบิ่นแตกได้ เพื่อให้ฟันดูมีสุขภาพดีอย่างเป็นธรรมชาติ
    • ช่วยปรับขนาดฟันที่มีขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ให้มีขนาดที่เรียงกันอย่างสวยงาม
    • ช่วยปรับฟันที่มีขอบปลายสั้นยาวไม่เท่ากัน ให้ยาวเรียงกันอย่างสม่ำเสมอ
    • ช่วยปรับฟันที่มีการเรียงตัวไม่สวย เช่น ฟันซ้อน ฟันเก ฟันบิด ให้มีความเรียบตรงเสมอกัน
    • ช่วยปรับให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องสีของฟัน เช่น ฟันเหลือง ฟันสีเข้ม สีของฟันไม่สม่ำเสมอ ให้มีสีที่สม่ำเสมอ
    • ช่วยทำให้ฟันห่าง เรียงตัวชิดกันอย่างสวยงาม
    • ช่วยทำให้ฟันที่มีผิวหน้าฟันไม่เรียบ ดูสวยเรียบเนียน

    เคลือบฟันเหมาะกับใคร?

    • ผู้ที่มีปัญหาฟันเหลือง ฟันมีสีเข้ม ฟันไม่เป็นสีขาวสวยอย่างที่ต้องการ
    • ผู้ที่มีปัญหาฟันเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน
    • ผู้ที่มีปัญหาฟันซ้อนกัน ฟันเก
    • ผู้ที่มีปัญหาฟันหัก ฟันบิ่น ฟันสึก
    • ผู้ที่มีปัญหาผิวหน้าฟันไม่เรียบ
    • ผู้ที่มีปัญหาฟันห่าง
    • ผู้ที่มีปัญหาไม่สามารถฟอกฟันขาวได้
    • ผู้ที่มีปัญหาปลายของฟันไม่สบและเรียบเสมอกัน
    • ผู้ที่ต้องการมีฟันที่สวยงาม น่ามอง

    เคลือบฟันมีกี่แบบ?

    วัสดุที่นำมาใช้เคลือบฟันสามารถแบ่งได้หลักๆ 2 แบบ มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป ดังนี้

    1. วีเนียร์คอมโพสิต เรซิน (Composite Resin Veneer)

    วีเนียร์คอมโพสิต เรซิน เป็นเคลือบฟันจากวัสดุเรซิน (Resin) ผสมกับซิลิกา (Silica) คุณสมบัติคล้ายพลาสติก มีความคงทนแข็งแรง มันเงา สีเหมือนฟันธรรมชาติ ทันตแพทย์จะทำเคลือบฟันในลักษณะโบกฉาบบนผิวฟันที่กรอเตรียมไว้โดยตรง (Direct Veneer) ใช้เวลาในการทำไม่นาน อาจมีอายุการใช้งานได้ตั้งแต่ 2-10 ปี ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคน

    ข้อดีของวีเนียร์คอมโพสิต เรซิน

    • มีความสวยงามเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับฟัน
    • สามารถเลือกสีของฟันให้ดูขาวและสว่างขึ้นได้ตามความต้องการ
    • ไม่ต้องกรอฟันมากเหมือนวีเนียร์เซรามิก หรือวีเนียร์พอร์ซเลน
    • มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าวีเนียร์เซรามิก หรือวีเนียร์พอร์ซเลน
    • หากเกิดแตกหักหรือบิ่น สามารถซ่อมแซมได้
    • ใช้เวลาในการทำไม่นาน

    ข้อเสียของวีเนียร์คอมโพสิต เรซิน

    • มีความแข็งแรงน้อยกว่าฟันธรรมชาติ
    • มีรอยต่อกับฟันธรรมชาติ อาจทำให้มีเศษคราบอาหารมาเกาะติดได้ง่าย หากทำความสะอาดไม่ทั่วถึงจะทำให้มีกลิ่นปาก ฟันผุและเหงือกอักเสบในบริเวณนี้ได้
    • หลังใช้งานไปแล้ว จะมีการเปลี่ยนสีของตัวเคลือบฟันได้และไม่เงางามเหมือนเดิม
    • วัสดุที่ใช้จะมีความคงทน ความเรียบ ความมันเงาและความสวยงามน้อยกว่าวีเนียร์เซรามิก หรือวีเนียร์พอร์ซเลน
    • มีอายุการใช้งานน้อยกว่าวีเนียร์เซรามิก หรือวีเนียร์พอร์ซเลน
    • มีโอกาสแตกหัก ติดสี และเปลี่ยนสีได้ง่ายกว่าวีเนียร์าเซรามิก หรือวีเนียร์พอร์ซเลน

    2. วีเนียร์เซรามิก หรือวีเนียร์พอร์ซเลน (Ceramic Veneer ; Porcelain Veneer)

    วีเนียร์เซรามิก พอร์ซเลน คือเคลือบฟันที่ใช้วัสดุเซรามิกคล้ายฟันธรรมชาติมาก มีความแข็งแรงสูง และไม่ดูดสีจากเศษอาหาร ทันตแพทย์จะทำเคลือบฟันให้พอดีกับซี่ฟันมาก่อน (Indirect Veneer) จากนั้นจึงนำมาติดเข้ากับผิวฟันที่กรอเตรียมไว้ โดยอาจมีอายุการใช้งานนานกว่า 10 ปี ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน

    ข้อดีของวีเนียร์เซรามิก พอร์ซเลน

    • ผิวหน้าฟันจะเรียบและมันเงาสวยเป็นธรรมชาติ เนื่องจากเป็นวัสดุโปร่งแสง
    • มีคราบเศษอาหารติดได้ยาก ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบของเหงือกได้น้อย
    • สามารถปรับเปลี่ยนการเรียงตัวของฟันแทนการจัดฟันได้ในบางกรณี เช่น ฟันซ้อน ฟันเก เป็นต้น
    • สามารถเปลี่ยนสีของฟันให้ขาวและสว่างขึ้นได้อย่างถาวรตามความต้องการ มีความสวยงามตลอดอายุการใช้งาน
    • มีความคงทนแข็งแรงมาก และช่วยทำให้ฟันมีความแข็งแรงขึ้น

    ข้อเสียของวีเนียร์เซรามิก พอร์ซเลน

    • มีราคาค่อนข้างสูงกว่าวีเนียร์คอมโพสิต เรซิน
    • ใช้ระยะเวลาทำมากกว่าวีเนียร์คอมโพสิต เรซิน
    • อาจมีการกรอเนื้อฟันมากกว่าวีเนียร์คอมโพสิต เรซินเล็กน้อย
    เคลือบฟันคลินิกทันตกรรม ราคาโปรโมชั่น

    การเตรียมตัวก่อนเคลือบฟัน

    เมื่อตัดสินใจทำเคลือบฟันแล้ว ควรมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนดังต่อไปนี้

    • ตรวจสุขภาพฟันก่อนทำ
    • หากมีปัญหาฟันและช่องปาก เช่น โรคเหงือก ฟันผุ หรือฟันติดเชื้อ ต้องรักษาให้หายก่อน
    • ดูแลรักษาความสะอาดฟัน
    • หากมีลักษณะการนอนกัดฟัน ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อนทำ

    ขั้นตอนการทำเคลือบฟัน

    หลังจากปรึกษาทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันตกรรมประดิษฐ์ (การบูรณะฟันและใส่ฟันเพื่อความสวยงาม) ประเมินภาพรวมเพื่อให้เหมาะกับรอยยิ้ม รูปหน้า บุคลิกภาพและความต้องการของผู้ที่รับบริการแล้ว จะมีการถ่ายใบหน้า รูปฟันและช่องปาก เพื่อออกแบบรูปฟันให้ออกมาสวย ทันตแพทย์จะอธิบายรายละเอียดก่อนและหลังทำ รวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ทราบก่อน ซึ่งขั้นตอนในการทำวีเนียร์คอมโพสิต เรซิน และวีเนียร์เซรามิก หรือวีเนียร์พอร์ซเลน มีดังต่อไปนี้

    1. ขั้นตอนการทำเคลือบฟันแบบวีเนียร์คอมโพสิต เรซิน

    ใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง และทำเสร็จภายในครั้งเดียวโดยมีขั้นตอนดังนี้

    1. ทันตแพทย์ทำการเทียบสีฟัน เพื่อที่จะเลือกใช้สีของตัวเคลือบฟันให้ใกล้เคียงกับสีฟันของผู้รับบริการต้องการมากที่สุด
    2. เตรียมผิวหน้าฟัน ด้วยการขัดและกรอผิวหน้าฟันให้มีความหยาบ แต่จะใช้ยาชาก่อนการกรอผิวฟันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์
    3. อุดวัสดุเคลือบฟันในลักษณะโบกฉาบลงไปบนผิวฟันที่เตรียมไว้ และทำการตกแต่งรูปร่างของฟันให้ได้รูปที่ต้องการ
    4. ฉายแสงด้วยแสงฮาโลเจน (Halogen) เป็นการกระตุ้นให้ตัวเคลือบฟันแข็งตัวและยึดติดกับผิวหน้าฟันแน่นขึ้น
    5. กรอวัสดุเคลือบฟันที่ติดแล้ว เพื่อแต่งรูปร่างและการขัดวัสดุให้มีความมันเงาสวยงามยิ่งขึ้น

    2. ขั้นตอนการทำเคลือบฟันแบบวีเนียร์เซรามิก หรือวีเนียร์พอร์ซเลน

    จะใช้ระยะเวลาในการทำประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังปรึกษากับทันตแพทย์เรียบร้อยแล้ว จะมีการไปพบแพทย์เพื่อทำเคลือบฟัน 2 ครั้ง และใช้เวลาประมาณครั้งละ 2-3 ชั่วโมง โดยขั้นตอนทุกส่วนมีดังต่อไปนี้

    1. ทันตแพทย์จะตรวจสภาพฟันและเหงือก รวมถึงการ X-Ray ตรวจสภาพรากฟัน และกระดูกรองรับรากฟันก่อน
    2. ทันตแพทย์จะนัดมาพิมพ์ฟัน และทำแบบจำลองที่เรียกว่า Wax up Model ให้ผู้รับบริการเห็นการออกแบบฟันก่อนทำจริง
    3. ทันตแพทย์ส่งแบบจำลองให้ห้องปฏิบัติการผลิตเคลือบฟัน โดยขั้นตอนนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน
    4. ในครั้งแรกทันตแพทย์จะติดตัวเคลือบฟันชั่วคราวให้กับผู้รับบริการก่อนในช่วงระหว่างรอเคลือบฟันตัวจริง โดยการพิมพ์ฟันแบบ 3 มิติและเลือกสีฟัน จากนั้นจะกรอผิวหน้าฟันประมาณ 0.5-1.0 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับสภาพของฟันที่จะทำการติด และติดตัวเคลือบฟันชั่วคราวบนผิวฟันด้วยวัสดุคล้ายกาวยึดติดแบบชั่วคราวเช่นกัน
    5. เมื่อได้เคลือบฟันตัวจริงมาแล้ว ทันตแพทย์จะนัดมาถอดตัวเคลือบฟันชั่วคราว แล้วใส่เคลือบฟันตัวจริงด้วยการใช้กาวซีเมนต์ชนิดพิเศษยึดติดกับผิวฟันของผู้ที่รับบริการ
    6. ทันตแพทย์ตรวจการเคลือบฟันที่ทำ และถ่ายรูปเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังเสร็จทำแล้วให้กับผู้ที่รับบริการดูอีกครั้ง และทำการนัดติดตามผลในการใช้งานประมาณ 1-2 สัปดาห์

    การดูแลตัวเองหลังเคลือบฟัน

    หลังจากทำการเคลือบฟันแล้ว สามารถรับประทานอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ได้ตามปกติ แต่เพื่อที่จะถนอมตัวเคลือบฟันให้คงสภาพในการใช้งานให้นานขึ้น จึงควรที่จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์และดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดดังต่อไปนี้

    • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็ง และเลือกรับประทานอาหารที่เคี้ยวง่ายภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากทำเคลือบฟัน
    • หลีกเลี่ยงการกัด ฉีก หรือเคี้ยวอาหารที่เหนียวและแข็งทุกชนิดตลอดการใช้งาน เพราะจะทำให้วัสดุเคลือบฟันหลุด บิ่น หรือแตกหักได้
    • หลีกเลี่ยงการใช้ฟันในการงัดของแข็ง เช่น เปิดฝาขวด
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะผู้ที่ทำเคลือบฟันด้วยวีเนียร์คอมโพสิต เรซินเพื่อป้องกันการเกิดคราบบุหรี่ติดฟันที่เคลือบไปแล้ว
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันที่มีสารขัดฟันในปริมาณมาก เพราะอาจทำให้ที่เคลือบฟันไปแล้วเสียหายได้
    • ทำความสะอาดฟันด้วยการใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม และแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยให้เน้นบริเวณขอบเหงือกฟันซี่ที่เคลือบฟันเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเหงือกอักเสบและฟันผุ
    • ทำความสะอาดด้วยไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง เพื่อความสะอาดของซอกฟัน
    • บ้วนปากทำความสะอาดฟัน หลังการดื่มชา กาแฟ และไวน์ทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่รับบริการทำเคลือบฟันด้วยวีเนียร์คอมโพสิต เรซิน เพื่อป้องกันการเกิดคราบสีติดฟัน และควรบ้วนปากด้วยน้ำยาผสมฟลูออไรด์ก่อนนอนทุกวัน โดยการอมไว้ในปากอย่างน้อย 1 นาที หลังจากนั้นไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารใน 30 นาที
    • หมั่นตรวจดูฟันทุกวันก่อนนอน ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ หากพบความผิดปกติ เช่น ที่เคลือบฟันหลุดไป ทำให้เกิดร่องระหว่างตัวเคลือบฟันกับฟันธรรมชาติ ให้ไปพบทันตแพทย์ทันที
    • หากพบว่าการสบฟันไม่สนิท หรือมีการติดขัดที่เคลือบฟันไปแล้ว ทำให้ขยับปากได้ยาก ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อปรับแต่งเคลือบฟันให้สบกันสนิท และเรียบขึ้น
    • หากผู้ที่รับบริการนอนกัดฟัน จะต้องใส่เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) เพื่อป้องกันที่เคลือบฟันเสียหาย ตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด
    • ควรทำความสะอาดและขจัดคราบผิวฟันด้วยการทำ Airflow ซึ่งเป็นวิธีการทำความสะอาดตามซอกฟันและกำจัดคราบหินปูนได้อย่างล้ำลึก ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ (Airflow เป็นนวัตกรรมการขัดฟันด้วยการใช้แรงดันน้ำและผงขัดชนิดพิเศษพ่นไปที่บริเวณผิวฟันและซอกฟัน ซึ่งทำให้คราบสีต่างๆ หลุดออกมา ซึ่งอาจทำในวันที่พบทันตแพทย์ตรวจสุขภาพฟันหรือนัดมาทำในวันหลัง)
    • ควรพบทันตแพทย์ตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน อย่างสม่ำเสมอ

    ความเสี่ยงของการทำเคลือบฟัน

    การเคลือบฟันที่ทำให้เกิดความเสี่ยงได้นั้น จะเกิดกับการทำที่ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้มีอาการดังต่อไปนี้

    • ฟันผุ
    • เหงือกอักเสบรุนแรง
    • เหงือกร่น
    • มีคราบหินปูน
    • มีกลิ่นปาก
    • เกิดการเสียวฟันที่แก้ไม่หาย
    • กรณีมีการตกแต่งเหงือกร่วมด้วย อาจมีอาการเสียวฟัน ซึ่งหายได้เองภายใน 1-2 วัน และไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่เย็นจัด ร้อนจัด หรือความเป็นกรดสูง เช่นน้ำมะนาว
    • กรณีมีการตกแต่งเหงือกร่วมด้วย อาจมีอาการเหงือกอักเสบ บวมเล็กน้อย อาการนี้สามารถหายได้เองภายใน 1-2 วัน หากเกิดอาการบวมให้ทานยาแก้ปวด และบ้วนปากด้วยน้ำเกลือร่วมด้วย

    เคลือบฟันอยู่ได้กี่ปี?

    อายุการใช้งานของเคลือบฟัน ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและการใช้งานของผู้รับบริการเป็นหลัก หากทำได้ดีก็จะสามารถยืดอายุการใช้งานให้นานได้ ซึ่งปกติแล้วการเคลือบฟันแต่ละแบบก็จะมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกันไปตามชนิดของวัสดุที่ใช้เคลือบฟันดังต่อไปนี้

    • วีเนียร์คอมโพสิต เรซิน จะมีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ย 2-5 ปี หากได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีและผู้ที่รับบริการใช้งานอย่างถูกวิธีก็อาจสามารถยืดอายุการใช้งานได้ถึง 10 ปี
    • วีเนียร์เซรามิก หรือพอร์ซเลน เป็นเคลือบฟันที่มีอายุการใช้งานได้นานถึง 10 ปีขึ้นไป หลังจากนั้นอาจจะสึกกร่อนจากการใช้งาน แต่ก็ยังคงมีตัวเคลือบฟันอยู่ 80-90% ซึ่งก็ถือได้ว่าสามารถใช้งานได้อย่างถาวร
    เคลือบฟันคลินิกทันตกรรม ราคาโปรโมชั่น

    เคลือบฟันแตกควรทำอย่างไร?

    ตัวเคลือบฟันนั้นทำมาจากวัสดุที่ค่อนข้างบาง ทำให้เกิดการแตก หัก หรือบิ่นได้ง่าย แต่หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา จะต้องรีบไปพบทันตแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้ประเมินความเสียหายของทั้งที่เคลือบฟันและฟันของผู้ที่รับบริการ ซึ่งในกรณีที่เสียหายไม่มากจะสามารถซ่อมแซมได้ แต่หากได้รับความเสียหายมากก็อาจจะต้องทำขึ้นมาใหม่แทน

    การเคลือบฟันสามารถช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับฟัน ทำให้ฟันสวยดูมีสุขภาพดี และสามารถออกแบบรอยยิ้มให้สวยงามตามที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วทันใจ อย่างไรก็ตามเพื่อที่จะให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและลดความเสี่ยงใดๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้นมา ต้องทำเคลือบฟันกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันตกรรมประดิษฐ์ (การบูรณะฟันและใส่ฟันเพื่อความสวยงาม) เท่านั้น

    เช็กราคาเคลือบฟัน จากคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดให้ฟรี โดยแอดมินของ HDmall.co.th


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • Advances in dental veneers: materials, applications, and techniques, (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3652364/), 2012 February, 10.
    • Evan Frisbee, DMD , Dental Veneers, (https://www.webmd.com/oral-health/guide/veneers#1), 2020 July, 20.
    • Christine Frank, DDS, What to Know Before You Get Dental Veneers, (https://www.healthline.com/health/dental-veneers), 2021 December, 17.
    • ทพญ.พิรมล เทพมงคล, งานทันตกรรม, โรงพยาบาลศิริรราช, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, มหาวิทยาลัยมหิดล , จะทำอย่างไรให้ฟันขาว, (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=94), 6 ตุลาคม 2553.
    • งานทันตกรรม, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, มหาวิทยาลัยมหิดล, การรักษาทางทันตกรรมเพื่อฟื้นฟูสภาพช่องปาก (Oral Rehabilitation), (https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/dent/news_detail.asp?id=27&m=5&y=2564), 31 กรกฎาคม 2562.
    @‌hdcoth line chat