ตรวจไทรอยด์ รู้ทันโรค รักษาอย่างถูกวิธี


การตรวจไทรอยด์

มือสั่น ใจสั่น อ่อนเพลีย ง่วงตลอดเวลา อ้วนขึ้นและผอมลงผิดปกติ อย่านิ่งนอนใจ คอยสังเกตอาการตัวเอง เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคไทรอยด์ ซึ่งหลายคนอาจป่วยเป็นโรคไทรอยด์โดยที่ไม่รู้ตัว เพราะไม่รู้จักโรคนี้ดีพอ จึงทำให้ไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ดังนั้น การตรวจไทรอยด์จึงมีความจำเป็นมาก เพื่อที่จะได้รู้สาเหตุของโรค และจะได้รักษาได้ทันท่วงที HDmall.co.th จึงได้รวบรวมข้อมูลตรวจไทรอยด์โดยละเอียด ก่อนตัดสินใจทำมาฝากกัน


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


ไทรอยด์คืออะไร?

ไทรอยด์ (Thyroid) เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ส่วนหน้าของกลางลำคอใต้ลูกกระเดือก ต่อจากกระดูกอ่อนของหลอดลม รูปร่างคล้ายปีกผีเสื้อ แบ่งเป็น 2 ซีก คือ ซีกซ้ายและซีกขวา มีหน้าที่ผลิตและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือด และส่งไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยปริมาณของไทรอยด์ฮอร์โมนจะถูกควบคุมโดยต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) และต่อมไฮโปธาลามัส (Hypothalamus)

ไทรอยด์ฮอร์โมนมีความสำคัญในการกระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ ทำงาน โดยเฉพาะหัวใจและสมอง อีกทั้ง ยังคอยควบคุมระบบการเผาผลาญของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย (Metabolism) ควบคุมระดับไขมันในเลือด ควบคุมระบบย่อยอาหาร ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ รวมถึงความแข็งแรงของผิวหนัง เส้นผม เล็บ และยังเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายอีกด้วย

หากต่อมไทรอยด์ผิดปกติ จะส่งผลกระทบต่ออวัยวะและระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยจะทำให้เป็นโรคต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาการของโรคนั้นขึ้นอยู่กับชนิดความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ 

โรคต่อมไทรอยด์มีกี่แบบ?

โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ สามารถแบ่งได้ 5 แบบ ดังนี้

1. โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)

เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนออกมาในปริมาณที่มากเกินไป จนกลายเป็นพิษ โดยไปกระตุ้นการทำงานของร่างกายให้เผาผลาญมากขึ้น จนร่ายกายผอมลงเรื่อยๆ ทั้งที่กินมากขึ้น ใจสั่น เหงื่อออกมากผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ ท้องเสีย ผมร่วง นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย เป็นต้น

2. โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism)

เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนออกมาในปริมาณที่น้อยเกินไป จนเกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งจะส่งผลตรงกันข้ามกับโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โดยไปกระตุ้นการทำงานของร่างกายให้เผาผลาญน้อยลง ทำให้อ้วนง่ายทั้งที่กินปกติ ขี้หนาว ท้องผูก เป็นตะคริว ง่วงตลอดเวลา ร่างกายเฉื่อยชา เป็นต้น

3. โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis)

เกิดจากการอักเสบของต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ชนิดแรกคือ ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน เป็นการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ส่งผลให้มีภาวะต่อมไทรอยด์โต เป็นหวัด มีไข้ และเจ็บตรงก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ชนิดที่สองคือ ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้คอบวมโต แต่กดแล้วไม่รู้สึกเจ็บ

4. โรคต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษ (Thyroid Nodule)

โดยมีสาเหตุมาจากการเกิดก้อนเนื้อโตผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ แบบโตก้อนเดียว (Single Thyroid Nodule) กับ แบบโตหลายก้อน (Multinodular Goiter) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการต่อมไทรอยด์โต เจ็บคอ กลืนลำบาก หายใจลำบาก เสียงแหบ ต่อมน้ำเหลืองโต และอาจมีอาการเหมือนโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เช่น ผอมลงทั้งที่กินเยอะ ใจสั่น อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เป็นต้น

5. โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Cancer)

เกิดความผิดปกติของก้อนเนื้อโตผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ไม่เรียบ มีหินปูน และอาจเสี่ยงที่จะเกิดเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ ซึ่งในปัจจุบันพบน้อยมาก

ตรวจไทรอยด์คืออะไร?

การตรวจไทรอยด์ เป็นการตรวจดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยจะมีการตรวจอยู่หลายวิธี เช่น ตรวจเลือด เพื่อดูระดับไทรอยด์ฮอร์โมนในร่ายกาย ตรวจฮอร์โมนภายในต่อมใต้สมอง การตรวจแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าแพทย์เฉพาะทางจะใช้วิธีไหนในการตรวจ เพื่อที่จะได้วินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป

ตรวจไทรอยด์ด้วยตัวเองได้ไหม?

ทุกคนสามารถตรวจไทรอยด์เบื้องต้นได้ด้วยตัวเองโดยการสังเกตความผิดปกติของร่างกาย เช่น อ้วนขึ้นหรือผอมลงผิดปกติหรือไม่ มีอาการมือสั่น เหนื่อยง่าย ง่วงนอนตลอดเวลา หายใจสั้น และมีอาการบวมที่ลำคอหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที และอีกวิธีในการตรวจดูความผิดปกติของก้อนต่อมไทรอยด์ ซึ่งสามารถตรวจด้วยการดูหรือการคลำที่ต่อมไทรอยด์โดยตรง โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. ให้ส่องกระจก ด้วยการยืนตัวตรง ยืดลำคอ แล้วหันทางซ้ายและทางขวาช้าๆ เพื่อสังเกตลำคอว่ามีก้อนบวมผิดปกติหรือไม่
  2. ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือทั้งสองข้าง แล้วค่อยๆ กดคลำตรงลำคอพร้อมๆ กันของแต่ละข้าง จากบนลงล่าง และจากด้านหลังไปด้านหน้า
  3. ขณะที่กำลังคลำอยู่ คอยสังเกตว่ามีเจอก้อนเนื้อที่ลำคอหรือไม่
  4. หากพบก้อนเนื้อที่บวมผิดปกติที่ลำคอ ให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางตรวจวินิจฉัย

ใครควรตรวจไทรอยด์?

ต่อมไทรอยด์ผิดปกติมีหลายประเภท หากพบความผิดปกติของร่างกาย ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค ผู้ที่ควรตรวจมีดังนี้

  • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีอาการกลืนน้ำลายและอาหารลำบาก
  • ผู้ที่มีอาการหายใจเข้าออกไม่ได้เต็มปอด
  • ผู้ที่มีอาการเสียงแหบ เปล่าเสียงออกมาไม่สุด
  • ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น
  • ผู้ที่มีเหงื่อออกง่าย และออกมามากผิดปกติ
  • ผู้ที่นอนไม่หลับ หลับยาก สมาธิสั้น เครียด
  • ผู้ที่มีอาการท้องเสียบ่อย
  • ผู้ที่มีลำคอโตผิดปกติ หรือมีก้อนเนื้อที่ลำคอ
  • ผู้ที่อ้วนขึ้น หรือผอมลงผิดปกติ
  • ผู้ที่เคยมีประวัติต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
  • ผู้ที่เคยรักษาโรคไทรอยด์มาก่อน
  • ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1
  • ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก
  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคไทรอยด์

ตรวจไทรอยด์ตรวจอะไรบ้าง?

นอกจากการตรวจเบื้องต้นที่ได้จากประวัติ การตรวจร่างกาย เช่น วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง การคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) และการตรวจด้วยการคลำต่อมไทรอยด์กับต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอแล้ว ยังมีวิธีตรวจอีกหลายวิธี ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เลือกใช้ในการตรวจ ดังนี้

1. การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Stimulating Hormone:TSH)

เป็นการตรวจฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine: T3) ฮอร์โมนไทรอกซีน (Thyroxine: T4) เพื่อหาความผิดปกติของโรค

  • หากผลเลือดที่ได้เป็น T3 หรือ T4 สูงกว่าปกติ แต่ TSH ต่ำกว่าปกติ ร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป จะเรียกว่าเป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  • หากผลเลือดที่ได้ เป็น T3 หรือ T4 ต่ำกว่าปกติ แต่ TSH สูงกว่าปกติ ร่างกายเกิดอาการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน จะเรียกว่าเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป

การเตรียมตัวก่อนตรวจเลือดดูค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์

  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรง
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 1-2 วัน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว และทานยารักษาโรคอยู่ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  • รับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนตรวจเลือด
  • สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและหลวม เพื่อสะดวกในการเจาะเลือด ในวันรับการตรวจเลือด
  • ควรไปรับบริการตรวจเลือดตอนเช้า
  • ควรมาก่อนเวลา ในวันรับการตรวจเลือดประมาณ 2 ชั่วโมง

ขั้นตอนการตรวจเลือดดูค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์

  1. ผู้ที่รับบริการตรวจเลือดจะนั่งบนเก้าอี้หรือนอนบนเตียง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้สายรัดเหนือหลอดเลือดตรงบริเวณที่จะเจาะ สำหรับผู้เข้ารับการตรวจที่เป็นเด็กอาจเจาะบริเวณหลังมือ เพื่อทำให้เห็นเส้นเลือดได้ชัดเจน
  2. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบนผิวหนังที่ต้องการเจาะเลือด
  3. นำเข็มเจาะเลือดมาเจาะ เพื่อดูดเอาตัวอย่างเลือดตามปริมาณต้องการ
  4. นำเข็มออก ปลดสายรัด นำสำลีและพลาสเตอร์ปิดแผลมาติดที่บริเวณรอยเข็ม

การดูแลตัวเองหลังตรวจดูค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์

หลังการเจาะเลือดแล้ว ผู้ที่รับบริการสามารถกลับบ้านได้เลย และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

2. การตรวจเลือดวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Antibodies)

เป็นการตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ ที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม เช่น ไวรัสและแบคทีเรียโดยเฉพาะ หากค่าแอนติบอดีผิดปกติ จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งจะทำให้เกิดต่อมไทรอยด์อักเสบ

โดยการตรวจไทรอยด์วัดระดับแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ มีการเตรียมตัว ขั้นตอน และการดูแลตัวเองหลังรับบริการเช่นเดียวกันกับการตรวจเลือดดูการทำงานของต่อมไทรอยด์

3. การตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยอัลตราซาวด์ (Ultrasound Thyroid)

เป็นการตรวจต่อมไทรอยด์ เพื่อดูว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Nodule) ถุงน้ำ (Cyst) หรือหินปูนที่ก้อนเนื้อ (Calcification) กี่ก้อน และตรวจดูที่ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอมีความผิดปกติหรือไม่

การเตรียมตัวก่อนตรวจภาพต่อมไทรอยด์ด้วยอัลตราซาวด์

  • รับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่ต้องงดอาหารและน้ำ ก่อนวันตรวจ
  • งดใช้เครื่องสำอางบริเวณที่จะต้องตรวจ เพราะอาจทำให้ผลตรวจผิดพลาดได้
  • สวมเสื้อผ้าที่เป็นกระดุมหน้า ที่ใส่สบายและหลวม เพื่อจะได้ถอดใส่ง่าย และไม่สวมเสื้อผ้าที่มีโลหะนำไฟฟ้า ในวันรับการตรวจ
  • งดใส่เครื่องประดับทุกชนิด ในวันรับการตรวจ

ขั้นตอนการตรวจภาพต่อมไทรอยด์ด้วยอัลตราซาวด์

  1. ให้ผู้ที่รับบริการนอนหงายบนเตียง และแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เฉพาะทางจะใช้เจลทาผิวหนังตรงบริเวณที่จะตรวจ
  2. กดหัวเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ ตรงบริเวณที่ได้ทาเจลเตรียมไว้ ด้วยการค่อยๆ กด และเคลื่อนไปตามตำแหน่งที่ต้องการ
  3. เมื่อตรวจเสร็จ แพทย์จะเช็ดเจลออกให้จนหมด

การดูแลตัวเองหลังตรวจภาพต่อมไทรอยด์ด้วยอัลตราซาวด์

หลังจากการตรวจภาพต่อมไทรอยด์ด้วยอัลตราซาวด์แล้ว มักจะไม่มีผลข้างเคียงอะไร สามารถกลับบ้าน และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

4. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

เป็นการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยการใช้สารเภสัชรังสีไอโอดีนร่วมกับการใช้เครื่องสแกน (Thyroid Scan) เพื่อที่จะตรวจสอบต่อมไทรอยด์ว่า มีการอักเสบหรือไม่ มีการผลิตหรือหลั่งฮอร์โมนมากขึ้นหรือไม่ และก้อนที่ต่อมไทรอยด์ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหรือไม่

การเตรียมตัวก่อนตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

  • งดอาหารทะเล อาหารที่มีไอโอดีนผสมอยู่ และวิตามินมีสารไอโอดีนเป็นส่วนประกอบประมาณ 2-4 สัปดาห์ ก่อนที่จะรับการตรวจ
  • งดอาหารหลังเที่ยงคืน ก่อนวันที่จะมาตรวจ หรืองดอาหารก่อนตรวจอย่างน้อยประมาณ 4 ชั่วโมง
  • งดยารักษาโรคไทรอยด์และไทรอยด์ฮอร์โมน ตามแพทย์สั่ง
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว และทานยารักษาโรคอยู่ หรือมีประวัติเลือดออกผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  • งดใช้เครื่องสำอางบริเวณที่จะต้องตรวจ เพราะอาจทำให้ผลตรวจผิดพลาดได้
  • งดใส่เครื่องประดับทุกชนิด ในวันรับการตรวจ
  • สวมเสื้อผ้าที่เป็นกระดุมหน้า ที่ใส่สบายและหลวม เพื่อจะได้ถอดใส่ง่าย และไม่สวมเสื้อผ้าที่มีโลหะนำไฟฟ้า ในวันรับการตรวจ

นอกจากนี้ ต้องไม่เป็นผู้ที่กำลังมีครรภ์หรือให้บุตรนม และต้องไม่เป็นเป็นผู้ที่รับการตรวจอัลตราซาวด์ที่มีการฉีดสารเภสัชรังสีไอโอดีนภายใน 6 สัปดาห์ ก่อนที่จะรับการตรวจ

ขั้นตอนการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

  1. ให้ผู้ที่รับบริการนอนหงายบนเตียง โดยจัดท่าให้นอนเงยหน้า ยืดคอ ศีรษะกดต่ำลง เพื่อเปิดบริเวณลำคอให้กว้าง นอนนิ่ง ไม่พูด และไม่กลืนน้ำลาย ในช่วงขณะที่แทงเข็ม
  2. ติดอุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 3 จุด ที่บริเวณหน้าอก
  3. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบนผิวหนังรอบคอ จากนั้นฉีดสารเภสัชรังสีไอโอดีนเข้าหลอดเลือดดำ แล้วรอประมาณ 20-30 นาที
  4. รังสีแพทย์จะทำการตรวจหาตำแหน่งของก้อนด้วยเครื่องสแกน (Thyroid Scan) พร้อมกับการใช้ Color Mode เพื่อดูตำแหน่งของเส้นเลือดรอบๆ ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ถ่ายภาพต่อมไทรอยด์และก้อนที่ต่อมไทรอยด์ที่มีความผิดปกติเก็บไว้

การดูแลตัวเองหลังตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

หลังจากตรวจแล้ว มักจะไม่มีผลข้างเคียงอะไร สามารถกลับบ้าน และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เพียงแต่ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อช่วยขับสารรังสีออกจากร่างกายเท่านั้น

5. การใช้เข็มเจาะเนื้อไทรอยด์ (Fine Needle Aspirate: FNA)

เป็นวิธีการตรวจเนื้อเยื่อว่าเป็นมะเร็ง คอพอกเป็นพิษ และซีสต์หรือไม่ โดยการใช้เข็มที่มีระบบพิเศษในการตัดชิ้นเนื้อเล็กๆ ออกมาได้ และมีขนาดเล็กกว่า 2 มิลลิเมตร เพื่อนำส่งตรวจ ทางกล้องจุลทรรศน์ต่อไป

การเตรียมตัวก่อนตรวจด้วยการใช้เข็มเจาะเนื้อไทรอยด์

  • งดอาหารและน้ำ หลังเที่ยงคืน หรือล่วงหน้าประมาณ 4 ชั่วโมง ก่อนที่จะรับการตรวจ
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 1-2 วัน
  • งดยาบางชนิดที่มีผลต่อภาวการณ์แข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) วาร์ฟาริน (Warfarin) ซึ่งต้องงดอย่างน้อย 7 วัน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว และทานยารักษาโรคอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่มีเป็นโรคเบาหวาน หรือมีประวัติเลือดออกผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  • งดใช้เครื่องสำอางบริเวณที่จะต้องตรวจ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อและผลตรวจผิดพลาดได้
  • งดใส่เครื่องประดับทุกชนิด ในวันรับการตรวจ
  • สวมเสื้อผ้าที่เป็นกระดุมหน้า ที่ใส่สบายและหลวม เพื่อจะได้ถอดใส่ง่าย และไม่สวมเสื้อผ้าที่มีโลหะนำไฟฟ้า ในวันรับการตรวจ
  • พาเพื่อนหรือญาติมาด้วย เพื่อช่วยดูแลและพากลับบ้าน

ขั้นตอนการตรวจด้วยการใช้เข็มเจาะเนื้อไทรอยด์

  1. ให้ผู้ที่รับบริการเตรียมตัวที่ห้องตรวจห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  2. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบนผิวหนัง ตรงบริเวณที่จะใช้เข็มเจาะ และอาจมีการฉีดยาชา ในกรณีที่ผู้รับบริการมีความเครียดกังวล
  3. แพทย์จะใช้เข็มที่เตรียมไว้เจาะเข้าไปในก้อนที่ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ที่คาดว่าอาจจะเป็นมะเร็ง และตัดชิ้นเนื้อในปริมาณที่ต้องการ และถ่ายภาพในขณะที่ทำ เพื่อระบุตำแหน่งทำให้ชัดเจน
  4. แพทย์ทำการปิดแผลบริเวณที่ใช้เข็มเจาะ

การดูแลตัวเองหลังตรวจด้วยการใช้เข็มเจาะเนื้อไทรอยด์

หลังจากตรวจแล้ว อาจจะต้องนอนทับรอยแผลเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันเลือดออก จากนั้นก็สามารถกลับบ้าน และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ยกเว้นบางกรณีที่ต้องนอนเพื่อสังเกตอาการ 1 คืน เพื่อความปลอดภัย หลังกลับบ้านแล้ว ควรดูแลตัวเองหลังตรวจ ดังนี้

  • เปลี่ยนผ้าพันแผล โดยปิดพลาสเตอร์ปิดแผลขนาดเล็กไว้อีก 1-2 วัน ไม่ต้องทำความสะอาดแผล
  • หากมีอาการปวดให้ทานยาแก้ปวด
  • หากแผลมีลักษณะอักเสบหรือบวมผิดปกติให้ไปพบแพทย์ทันที

ตรวจไทรอยด์กี่วันรู้ผล?

การตรวจไทรอยด์ด้วยการเจาะเลือด อัลตราซาวด์ และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ มักรอรับผลได้เลยภายใน 1-2 ชั่วโมง แต่หากเจาะเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ อาจใช้เวลาตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป โดยแพทย์จะนัดให้มาฟังผลพร้อมวางแผนการรักษาต่อไป

ตรวจไทรอยด์เจ็บไหม?

หากตรวจไทรอยด์ด้วยการเจาะเลือด หรือแบบเวชศาสตร์นิวเคลียร์จะรู้สึกเจ็บบริเวณที่เจาะหรือฉีดสาร และหากมีการเจาะเอาชิ้นเนื้อไปตรวจก็อาจเจ็บบริเวณแผลได้เช่นกัน กรณีเกิดความกังวลมากก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาชาได้

แต่หากตรวจด้วยอัลตราซาวด์อาจรู้สึกเย็นๆ หรือไม่ค่อยสบายตัวเล็กน้อยบริเวณที่ทาเจลเท่านั้น โดยมักไม่มีความรู้สึกเจ็บ

โดยสรุปแล้ว การเป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพ และคอยสังเกตตัวเองอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ อาจไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปก็ได้ แต่อาจเกิดจากไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นหากสังเกตเห็นความผิดปกติใดๆ ของร่างกาย ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

เช็กราคาตรวจไทรอยด์ จากคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดให้ฟรี โดยแอดมินของ HDmall.co.th


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • ผศ.ดร.วิลาสินี หิรัญพานิช ซาโตะ, คณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/384), พฤษภาคม 2558.
  • ผศ.ดร.นพ.สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์, ภาควิชาศัลยศาสตร์, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1241), 2 สิงหาคม 2559.
  • แนวทางการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, กรมการแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข, (https://www.nci.go.th/th/cpg/Cervical_Cancer4.pdf).
  • THAM – LAB, ภัยร้าย...ใกล้ตัวคุณ, งานห้องปฏิบัติเทคนิคการแพทย์, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (https://www.hospital.tu.ac.th/lab/PDF/THAM-LAB%208.pdf), กันยายน 2560.
  • การตรวจคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิดในประเทศไทย, วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, (https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/4940/hsri-journal-v12n3-p452-455.pdf?sequence=1), 2561.
  • Move on, จุลสาร, โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี, กรมการแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข, (https://www.udch.go.th/uploads/doc/journal/2563/v77.pdf), 2563.
@‌hdcoth line chat