things you need to know before mtf sex reassignment surgery scaled

ข้อควรรู้ก่อนผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง

การผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง แปลงน้องชายให้เป็นน้องสาว ไม่ใช่สิ่งที่คิดแล้วจะสามารถทำได้ทันที แต่จำเป็นต้องเตรียมตัวหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมร่างกายเบื้องต้น การประเมินสภาพจิตใจ หรือการศึกษาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง

สำหรับใครที่สนใจเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง แล้วไม่รู้ว่า ควรเตรียมตัวอย่างไรดี HDmall.co.th ได้สรุปข้อควรรู้ก่อนการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงมาไว้ที่บทความนี้แล้ว

หลักเกณฑ์ของผู้ที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง แปลงน้องชายให้เป็นน้องสาว มีอะไรบ้าง?

คุณสมบัติของผู้ที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง แปลงน้องชายให้เป็นน้องสาว มีดังนี้

  • มีอายุครบ 20 ปีขึ้นไป ในกรณีที่มีอายุ 18-20 ปี จะต้องให้ผู้ปกครองเซ็นเอกสารยินยอมเข้ารับการผ่าตัด
  • ได้รับฮอร์โมนเพศหญิง หรือที่เรียกว่า “เทคฮอร์โมน” ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี
  • ใช้ชีวิตเป็นผู้หญิง 24 ชั่วโมง ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี
  • มีความรู้สึกเป็นผู้หญิงมานานแล้ว หรือตั้งแต่เริ่มจำความได้
  • รู้สึกรังเกียจอวัยวะเพศของตนเอง คิดว่าเป็นส่วนเกิน
  • ผ่านการประเมินสภาพจิตใจ และได้รับใบรับรองจากจิตแพทย์ อย่างน้อย 2 ท่าน โดยใบรับรองจะต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน ก่อนวันผ่าตัด
  • มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัวรุนแรงที่เป็นข้อห้ามในการดมยาสลบ หรือการผ่าตัด

ตัวอย่างโรค หรือภาวะที่ต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมก่อนเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง

  • โรคประจำตัว หรือความพิการแต่กำเนิด ที่ส่งผลต่อระบบการทำงานในร่างกาย เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ หรือโรคไตชนิดรุนแรง
  • โรคเรื้อรังที่อยู่ระหว่างการรักษา เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE)
  • โรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี
  • ความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น
    • หนังหุ้มปลายองคชาตตีบ (Phimosis and paraphimosis)
    • ภาวะรูเปิดท่อปัสสาวะต่ำกว่าปกติ (Hypospadias)
    • อัณฑะค้างอยู่ในช่องท้อง (Cryptorchidism)
    • ก้อนหรือเนื้องอกของอวัยวะเพศ
    • มีประวัติเคยฉีดสารแปลกปลอมในอวัยวะเพศ
  • โรคไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal hernia) และไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง (Abdominal hernia)

ตัวอย่างโรคที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงได้

  • โรคประจำตัวที่ยังควบคุมได้ไม่ดี
  • โรคทางจิตเวชที่อาการยังไม่คงที่
  • ใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย

ทำไมต้องตรวจสภาวะจิตใจก่อนผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง?

การตรวจสภาวะจิตใจก่อนผ่าตัดแปลงเพศเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทั้งในผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง และหญิงเป็นชาย

เพราะหลังจากที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก เนื่องจากอวัยวะที่บ่งบอกความเป็นเพศ เช่น องคชาต อัณฑะ รังไข่ หรือมดลูก ได้ถูกตัดทิ้งไปแล้ว

นอกจากนี้การตรวจสภาวะจิตใจก่อนผ่าตัดแปลงเพศยังรวมไปถึงการตรวจคัดกรองโรคทางจิตเวชต่างๆ และความสามารถในการรับมือกับความกดดัน หรือความเครียดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้เข้ารับการผ่าตัดมีสภาพจิตใจพร้อมที่จะรับการผ่าตัดจริงๆ

ในประเทศไทยนั้น ผู้ที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศจะต้องผ่านการประเมินจากจิตแพทย์ 2 ท่าน

ซึ่งปกติแล้ว หากได้รับยืนยันว่า มีภาวะความทุกข์ใจในเพศสภาพ (Gender Dysphoria: GD) จิตแพทย์จะให้รับฮอร์โมน และให้ใช้ชีวิตแบบเพศใหม่ (Real life experience) ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปี

หากครบ 1 ปีแล้ว ผู้เข้ารับการรักษายังคงมีความต้องการที่จะผ่าตัดแปลงเพศอยู่ จิตแพทย์ก็จะส่งปรึกษาแพทย์ผู้ผ่าตัดแปลงเพศเพื่อเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศต่อไป

มั่นใจว่าต้องการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ทำอย่างไรต่อ?

หลังจากที่ได้รับการรับรองจากจิตแพทย์และผ่านการเตรียมตัวเบื้องต้นแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการเข้าพบแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดแปลงเพศ​ เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม

โดยขั้นตอนการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ

  1. การสร้างอวัยวะเพศภายนอกให้เหมือนผู้หญิง ได้แก่ แคมนอก (Major labia) แคมใน (Minor labia) ท่อปัสสาวะ และปุ่มรับความรู้สึกทางเพศ หรือที่เรียกว่า “คลิตอริส (Clitoris)” ให้สวยงามเหมือนผู้หญิง
  2. การสร้างช่องคลอดเทียม มีหลายเทคนิคในการสร้างช่องคลอดเทียม แต่ละเทคนิคมีข้อดี-ข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศจะต้องปรึกษากับแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด เพื่อเลือกเทคนิคการสร้างช่องคลอดเทียมที่เหมาะสมกับตนเอง
    • การสร้างช่องคลอด โดยใช้ผิวหนังจากองคชาต หรือเรียกว่า “เทคนิคการใช้ผิวหนังองคชาตม้วนกลับ”
    • การสร้างช่องคลอด โดยใช้ผิวหนังจากองคชาต ร่วมกับผิวหนังจากถุงอัณฑะ หรือจากที่อื่นๆ มาทำเป็นผนังช่องคลอด
    • การสร้างช่องคลอด โดยใช้ลำไส้ใหญ่ทำเป็นผนังช่องคลอด หรือเรียกว่า “เทคนิคต่อลำไส้”
    • การสร้างช่องคลอด โดยใช้ผนังหน้าท้อง ร่วมกับผิวหนังจากองคชาต

การขยายช่องคลอด “แยงโม”

การขยายช่องคลอด หรือที่คนนิยมเรียกว่า “แยงโม” เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีแรกหลังผ่าตัด เนื่องจากกระบวนการหายของบาดแผลจะทำให้เกิดการหดตัวของช่องคลอด

ทั้งในผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง สร้างช่องคลอดเทียมด้วยเทคนิคใช้ผิวหนังองคชาตม้วนกลับ เทคนิคต่อกราฟ ต่อลำไส้ และเยื่อบุช่องท้อง

โดยแพทย์จะเตรียมแท่งขยายช่องคลอดที่มีความแข็งพอเหมาะ เริ่มจากขนาดเล็กไปใหญ่ โดยผู้เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง ในช่วง 1 ปีแรกจะต้องขยายช่องคลอดทุกวัน วันละ 2 ครั้ง นานครั้งละ 30-60 นาที โดยค่อยๆ เพิ่มขนาดตามที่แพทย์สั่ง

เมื่อครบ 1 ปีแล้ว สามารถขยายช่องคลอดสัปดาห์ละ 1 ครั้งได้ โดยใช้แท่งขยายช่องคลอดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

นอกจากนี้ยังสามารถทำการขยายช่องคลอดเสริมได้ด้วยการใช้ซิลิโคนแบบนิ่มขณะนอนหลับ และสวมใส่กางเกงชั้นในเพื่อป้องกันไม่ให้แท่งซิลิโคนเลื่อนหลุดออกมา

ผลข้างเคียง ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมา หลังผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง มีอะไรบ้าง รับมืออย่างไร

  • ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการผ่าตัด เช่น แพ้ยาชา แพ้ยาสลบ มีเลือดคั่ง เลือดออก ติดเชื้อ แผลบวม รอยช้ำ เลือดออก หรือปวดแผล
  • ช่องคลอดตีบตัน เกิดจากการไม่ใส่วัสดุขยายช่องคลอดเทียมอย่างสม่ำเสมอ สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดสร้างช่องคลอดเทียมใหม่ด้วยเทคนิคต่อลำไส้ หรือใช้ผนังหน้าท้อง
  • ท่อปัสสาวะตีบตัน ในเบื้องต้นแพทย์จะระบายน้ำปัสสาวะออก โดยการใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อให้น้ำปัสสาวะออก แล้วคาสายสวนไว้ หรือใส่เครื่องมือขยายท่อปัสสาวะ หลังจากนั้นถึงจะหาสาเหตุของการอุดกั้น และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  • แคมใหญ่ หรือแคมเล็ก มีขนาดไม่เท่ากัน สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดตกแตกแคมหลังผ่าตัดแปลงเพศ
  • ไม่พอใจในขนาดและรูปทรงของช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และคลิตอริส สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดแปลงเพศใหม่
  • มีแผลเป็นที่บริเวณหน้าท้อง ในกรณีที่ผ่าตัดแปลงเพศ สร้างช่องคลอดเทียมด้วยเทคนิคต่อลำไส้ หรือใช้ผนังหน้าท้อง
  • ความรู้สึกทางเพศลดลง
  • ผู้ที่มีประวัติโรคเลือด อาจเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนผ่าตัด โดยแพทย์จะป้องกันด้วยการใส่เครื่องมือไล่เลือดที่ขาตลอดเวลาหลังการผ่าตัด อย่างน้อย 2-3 วัน

จะเห็นได้ว่า การผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงเป็นการผ่าตัดที่มีหลายขั้นตอน และต้องใช้เวลาเตรียมตัวเป็นปี อีกทั้งยังมีข้อควรระวัง และผลข้างเคียงหลายอย่าง

ผู้ที่สนใจแปลงเพศชายเป็นหญิง จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนเตรียมร่างกายตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงเป็นไปอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

Scroll to Top