เผือก ประโยชน์ สรรพคุณ สารอาหาร ข้อควรระวัง


เผือก ประโยชน์ สรรพคุณ สารอาหาร ข้อควรระวัง

เผือก เป็นพืชหัว ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ในปัจจุบันมีการเพาะปลูกอย่างแพร่หลาย บางพื้นที่รับประทานเป็นอาหารหลัก เช่น หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ปาปัวนิวกินี เกาะในอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยนิยมรับประทานเป็นอาหารว่างและของหวาน สามารถนำมาประกอบอาหารและเป็นยาสมุนไพรได้

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Colocasia esculenta (L.) Schoot
  • ชื่อวงศ์ ARACEAE
  • ชื่อสามัญ Taro

ลักษณะทั่วไป

เผือกเป็นพืชหัวที่มีลำต้นใต้ดินสะสมอาหาร เรียกว่า หัว ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นจะขยายลำต้นออก พร้อมกับที่ความยาวของปล้องลดลง เมื่อลำต้นหรือที่เรียกกันว่าหัวเผือกมีขนาดใหญ่ จะมีรากช่วยดึงหัวให้ลึกลงในดิน ที่ปลายรากเหล่านี้จะพองโตขึ้นเป็นหัวย่อยที่มีขนาดเล็ก หรือเรียกว่า ลูกเผือก ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยยึดลำต้น ช่วยดูดน้ำและแร่ธาตุ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ส่วนใบ เป็นใบเดี่ยว ออกวนรอบข้อ รูปร่างคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ปลายใบมน ขนาดใบกว้างประมาณ 25-30 เซนติเมตร ยาว 35-45 เซนติเมตร ก้านใบยาว 45-150 เซนติเมตร สีของใบและก้านใบแต่ละสายพันธุ์จะแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งมักพบสีเขียวอ่อน เขียวแก่ และสีม่วง
  • ส่วนดอก เป็นดอกช่อเชิงลดมีกาบ ออกเดี่ยวหรือหลายช่อ ดอกย่อยติดกับก้านดอกเดียวกัน บานจากล่างขึ้นไปทางปลายช่อ ช่อดอกยาว 10-15 เซนติเมตร กาบหุ้มช่อดอกยาวประมาณ 15-35 เซนติเมตร ลักษณะตั้งตรงเป็นสีเขียว ปลายกาบเรียวแหลมยาวคล้ายหาง ช่อดอกสั้นกว่ากาบ จำนวนช่อดอกประมาณ 5-15 ช่อต่อต้น มีสีขาวครีม และสีเหลืองอ่อน
  • ผล มีขนาดเล็ก เกาะกลุ่มอยู่ในก้านดอกเดียวกัน มีสีเขียวเปลือกบาง เนื้อผลอวบน้ำ เมื่อแก่มีสีน้ำตาลดำภายในผลจะมีเมล็ดเล็ก ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก

สายพันธุ์ของเผือก

แม้จำนวนที่พบทั่วโลก จะมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่ที่พบและเป็นที่รู้จักในไทยมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ 

  • เผือกเหลือง หัวขนาดย่อม หัวสีเหลือง
  • เผือกไม้ หัวขนาดย่อม หัวสีเหลือง
  • เผือกตาแดง (เผือกไหหลำ) หัวมีขนาดเล็ก
  • เผือกหอม ชนิดหัวใหญ่ มีหัวเล็กติดอยู่กับหัวใหญ่เล็กน้อย ต้มรับประทานมีกลิ่นหอม กาบใบใหญ่สีเขียว

สรรพคุณของเผือก

  • เผือกประกอบด้วยสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง 
  • ในใบสามารถนำมาต้มกับน้ำแล้วผสมอาบ ช่วยแก้โรคผิวหนังได้

คุณค่าทางโภชนาการ

หัวเผือกสุก ไม่ผสมเกลือ

  • พลังงาน 142 กิโลแคลอรี (594 กิโลจูล)
  • คาร์โบไฮเดรต 34.6 g
  • น้ำตาล 0.49
  • ใยอาหาร 5.1 g
  • ไขมัน 0.11 g 
  • โปรตีน 0.52 g
  • ไทอามีน (บี1) 0.107 มก. (9%) 
  • ไรโบเฟลวิน (บี2) 0.028 มก. (2%) 
  • ไนอาซิน (บี3) 0.51 มก. (3%) 
  • กรดแพนโทเทนิก (บี5 ) 0.336 มก. (7%) 
  • วิตามินบี6 0.331 มก. (25%) 
  • โฟเลต (บี9) 19 μg (5%) 
  • วิตามินซี 5 มก. (6%)
  • วิตามินอี 2.93 มก. (20%)
  • แคลเซียม 18 มก. (2%)
  • เหล็ก 0.72 มก. (6%)
  • แมกนีเซียม 30 มก. (8%)
  • แมงกานีส 0.449 มก. (21%)
  • ฟอสฟอรัส 76 มก. (11%)
  • โพแทสเซียม 484 มก. (10%)
  • สังกะสี 0.27 มก. (3%)

ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่ ที่มา: USDA FoodData Centra

เผือกมีพลังงานค่อนข้างสูง ทำให้อิ่ม ไม่หิวบ่อย และเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต หรือกลุ่มแป้งรวมถึงน้ำตาล มีไฟเบอร์ วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ มากมาย 

  1. แป้งจากหัวเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ทำให้กระบวนการเปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาลจึงช้ากว่าแป้งขัดขาว ทำให้ร่างกายได้พลังงานต่อเนื่องยาวนานและระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มคงที่สม่ำเสมอ ป้องกันระดับน้ำตาลสูงหลังมื้ออาหาร
  2. มีธาตุเหล็กและฟลูออไรด์สูง ช่วยป้องกันฟันผุ ช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง
  3. มีไฟเบอร์สูง ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย และยังมีแป้งต้านทานการย่อย (Resistant Starch) ที่อาจลดคอเลสเตอรอล และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้
  4. มีวิตามินอีสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

ไขคำตอบ กินแล้วจะอ้วนไหม?

แม้ว่าบางคนเลือกรับประทานแทนข้าวเพื่อช่วยลดน้ำหนัก เพราะทั้งอิ่มท้องและช่วยระบบขับถ่าย แต่ถึงอย่างไรเผือกก็จัดเป็นพืชกลุ่มที่ให้พลังงานสูง การรับประทานในปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้น้ำหนักมากขึ้น ดังนั้นหากต้องการลดน้ำหนักควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งปริมาณบริโภคที่แนะนำต่อวันคือ ½ -1 ถ้วยตวง และควรออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย

เอามาทำอะไรกินได้บ้าง?

  1. หัวเผือก ต้องทำให้สุกก่อน จึงจะสามารถนำมารับประทานได้ มักนิยมนำมาต้ม แปรรูปเป็นอาหารและขนมได้อย่างหลากหลายประเภท เช่น เผือกเส้น ทอด กวน สังขยาเผือก เค้ก หรือนำไปทำไส้ขนม เช่น ข้าวหลาม ข้าวต้มมัด เป็นต้น นอกจากนี้ยังไปนำไปทำแป้งเผือกเพื่อนำไปทำอาหารชนิดอื่นๆอย่าง ขนมปัง เค้ก หรือเครื่องดื่มได้
  2. ยอดเผือก รวมไปถึงใบและก้าน สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ โดยนำไปแกงหรือทำผักดอง

ข้อควรระวังในการกิน

  1. หัวและทั้งต้นมี ผลึกแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ซึ่งทำให้เกิดอาการคัน ไม่ควรรับประทานแบบดิบ ต้องทำให้สุกก่อนรับประทาน
  2. บางรายอาจมีอาการแพ้ ถึงแม้จะทำให้สุกแล้วก็ตาม โดยอาการที่พบคือ คันในช่องปาก ลิ้นชา แสบร้อนปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และทางเดินอาหาร

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจเบาหวาน

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat