เมื่อมีหนองใต้เหงือก อาจมองเห็นการบวมแดงของเหงือกในบริเวณนั้นได้ คนไข้มักมีอาการปวดไปจนถึงปวดมาก และปวดตื้อๆ ตลอดเวลา รวมทั้งอาจมีอาการ ปวดเวลาเคี้ยวอาหาร เสียวฟัน ฟันโยก มีไข้ มีหนองไหล มีกลิ่นปาก
หากรู้สึกปวดเหงือก เจ็บเหงือก เหงือกบวม รับรสได้ว่ามีหนองในช่องปาก หรืออาการอื่นๆ อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบทันตแพทย์ ทันตแพทย์จะตรวจในช่องปาก ตรวจเหงือก หาสาเหตุ และมักต้องมีการถ่ายภาพรังสี (เอกซเรย์) เพื่อตรวจดูฟันและกระดูกรองรับรากฟันในบริเวณนั้นเพื่อประกอบการวินิจฉัย รวมถึงวางแผนการรักษา
เมื่อไม่ได้รับการรักษาที่ต้นเหตุ แม้อาการปวดเหงือกจะดีขึ้น บวมลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องไปพบทันตแพทย์ เพราะความจริงแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่อาการนั้นจะหายไปอย่างถาวร เนื่องจากไม่ได้กำจัดสาเหตุของการติดเชื้อนั้น อาการจึงกลับมาเป็นๆ หายๆ ได้อีก ในขณะที่ฟันและกระดูกรองรับฟันเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจต้องสูญเสียฟันไปในอนาคต ดังนั้น แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ควรพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
สารบัญ
สาเหตุของเหงือกบวมเป็นหนอง
สาเหตุของเหงือกเป็นหนอง (มีตุ่มหนอง) อาจเป็นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากเหงือก จากฟัน เนื้อเยื่อรอบฟัน
สาเหตุจากโรคเหงือก หรือโรคปริทันต์
โรคปริทันต์ (ปริทันต์ คือ เนื้อเยื่อรอบๆ ฟัน ประกอบด้วย เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ และกระดูกเบ้าฟัน) คือโรคที่เกิดจากการสะสมของคราบแบคทีเรียใต้เหงือก เมื่อไม่ได้รับการทำความสะอาดที่เหมาะสม เช่น ไม่ได้รับการขูดหินปูนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี คราบแบคทีเรียและหินปูนจะทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองได้
เมื่อมีคราบแบคทีเรียสะสม เหงือกจะร่นออกจากฟัน เกิดร่องลึกปริทันต์ระหว่างเหงือกกับฟัน ยิ่งทำให้คราบแบคทีเรียลงไปสะสมใต้เหงือก เกิดการอักเสบติดเชื้อ กระดูกละลาย ฟันโยก เป็นหนอง จนเกิดการสูญเสียฟันได้ในที่สุด
ระหว่างนี้ คนไข้อาจมีอาการปวดหรือไม่ปวดก็ได้ ดังนั้นควรพบทันตแพทย์สม่ำเสมอ หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับโรคเหงือก ทันตแพทย์จะได้ตรวจพบและรักษาได้ทัน
โรคเหงือก หรือโรคปริทันต์ เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด และอาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงในช่องปากได้ หากเหงือกเป็นหนอง ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง ตุ่มหนองที่เหงือกเกิดจากการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย จากสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีนั่นเอง
สาเหตุจากฝาปิดเหงือกอักเสบจากฟันคุด
ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นสู่ช่องปากได้เนื่องจากไม่มีพื้นที่เพียงพอ ลักษณะของฟันคุดจะเอียงชนกับฟันซี่อื่นๆ ในช่องปาก ฟันคุดอาจขึ้นสู่ช่องปากได้บางส่วนเห็นเป็นลักษณะฟันขาวๆ แข็งๆ โผล่จากฝาปิดเหงือก มีการอักเสบของเหงือก บวม แดง ปวด มีหนอง มีเศษอาหารติดและทำความสะอาดได้ยาก และอาจส่งผลให้ฟันคุดหรือฟันซี่ที่ถูกฟันคุดชน ผุได้อีกด้วย
สาเหตุจากรากฟันแตก
รากฟันแตกเกิดจากการเคี้ยวของแข็งหรือการประสบอุบัติเหตุ โดยอาจเกิดกับฟันปกติ หรือฟันที่เคยทำเดือยฟัน ครอบฟัน ก็ได้ เมื่อรากฟันแตก จะมีการอักเสบติดเชื้อ เป็นหนองเกิดขึ้น
การมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็ทำให้เกิดเหงือกอักเสบและมีหนองได้ง่าย เนื่องจากร่างกายมีการต้านทานต่อการติดเชื้อได้ต่ำกว่าปกติ และอาจมีบางปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ความเครียด ความเหนื่อยล้า และการมีโรคเรื้อรัง
การสูบบุหรี่ มีผลให้เกิดการอักเสบของเหงือกมากขึ้น อีกทั้งบุหรี่ยังนำไปสู่มะเร็งในช่องปากได้เช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศหญิง โดยเฉพาะขณะตั้งครรภ์ อาจกระตุ้นการอักเสบของเหงือก ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดีอยู่เสมอ
สาเหตุจากฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน
เมื่อฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน จะมีการติดเชื้อจากฟันลงสู่รากฟัน และเนื้อเยื่อรอบปลายราก เกิดเป็นตุ่มหนองขึ้นมาบริเวณเหงือก
เหงือกบวม เป็นหนอง เจาะหนองออกเองดีไหม?
เมื่อมีตุ่มหนอง ไม่ควรพยายามเจาะหนองออกเอง เพราะอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดจะทำให้ติดเชื้อโรคอื่นๆ เพิ่ม รวมทั้งอาจติดเชื้อบาดทะยักได้ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
การบรรเทาอาการปวดเหงือกในเบื้องต้นที่สามารถทำได้
หลายคนอาจเคยได้ยินว่า หากมีอาการปวดเหงือก เหงือกบวม ให้อมน้ำเกลือจะช่วยได้
วิธีที่ถูกต้อง คือ ให้บ้วนน้ำเกลืออุ่นๆ วันละ 2 ครั้ง ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้เล็กน้อย รวมทั้งอาจช่วยลดการอักเสบ และจำนวนแบคทีเรียในช่องปากได้บ้าง
การใช้ยาแก้ปวดก็ช่วยลดความเจ็บปวดได้บ้างเช่นกัน โดยยาแก้ปวดทั่วไปสามารถหาได้ตามร้านขายยา ก่อนซื้ออย่าลืมแจ้งโรคประจำตัวและการแพ้ยากับเภสัชกรทุกครั้ง
ขณะเหงือกบวม เป็นหนอง สามารถถอนฟันได้ไหม?
หากมีข้อบ่งชี้ว่าต้องถอนฟัน ทันตแพทย์สามารถถอนฟันได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้เหงือกยุบหรือหนองหายไป
เหงือกบวม เป็นหนอง มีวิธีรักษาที่ถูกต้องอย่างไร?
วิธีที่ถูกต้องที่สุดคือควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัย และรักษาอย่างเหมาะสม
การรักษาเหงือกบวม เป็นหนอง ตามแต่ละสาเหตุ
หากสาเหตุของการติดเชื้อนั้นเกิดจากโรคเหงือก โรคปริทันต์ มีหนอง มีหินปูนใต้เหงือก ทันตแพทย์จะรักษาโดยการระบายหนอง และขูดหินปูน เกลารากฟันให้สะอาด
แต่ถ้ากระดูกรองรับรากฟันถูกทำลายไปมากแล้ว ฟันโยกมาก อาจต้องถอนฟันซี่นั้น เพื่อป้องกันการลุกลามของโรคปริทันต์ไปสู่ฟันซี่อื่นๆ
หากเป็นตุ่มหนองจากฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์จะพิจารณารักษารากฟัน แต่หากฟันผุจนเนื้อฟันเสียหายไปมากหรือกระดูกรอบรับรากฟันเหลือไม่เพียงพอ ฟันโยก อาจต้องถอนฟัน
หากเป็นหนองจากฝาปิดเหงือกอักเสบจากฟันคุด ทันตแพทย์จะพิจารณาจากการตรวจในช่องปากและภาพถ่ายรังสี ดูลักษณะของฟันคุดว่าในที่สุดแล้ว ฟันคุดนี้จะสามารถขึ้นตรงสู่ช่องปากได้หรือไม่
หากมีที่เพียงพอให้ขึ้นได้ ทันตแพทย์อาจแค่ระบายหนองและตัดเหงือกที่คลุมฟันคุดออกให้ แต่ส่วนใหญ่แล้วฟันคุดจะไม่มีพื้นที่เพียงพอให้ขึ้นได้ ทันตแพทย์จะทำการระบายหนองและถอนหรือผ่าฟันคุดออกให้ รวมทั้งอาจต้องถอนฟันคู่สบของฟันคุดที่กัดโดนฝาปิดเหงือกอักเสบของฟันคุดนี้ออกให้ เพื่อป้องกันการกัดโดนแผลในภายหลัง
หากเกิดจากรากฟันแตก ทันตแพทย์จะพิจารณาถอนฟัน
ในกรณีที่มีหนองปริมาณมาก หรือคนไข้มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ก่อนหรือหลังจากทำการรักษาแล้ว ทันตแพทย์อาจพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อ และ/หรือยาแก้อักเสบร่วมด้วย
สิ่งที่คนไข้ต้องตระหนักและระมัดระวังคือ หากไม่รีบพบทันตแพทย์ บางครั้งการอักเสบเป็นหนองอาจลุกลามรวดเร็ว จนอาจเกิดหนองลุกลามไปสู่ช่องใต้ลิ้น ใต้คาง หรือในลำคอ ทำให้ใต้ลิ้น ใต้คาง หรือในลำคอบวมมาก มีปัญหากับการหายใจ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ดังนั้นไม่ควรนิ่งนอนใจเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ในช่องปาก ควรรีบพบทันตแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
นอกจากนี้หากปล่อยให้การติดเชื้อลุกลาม ยังอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ด้วย อาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด ได้แก่ ไข้สูง หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหงือก โรคปริทันต์ เหงือกเป็นหนอง ควรรักษาความสะอาด แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี พบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันและขูดหินปูนสม่ำเสมอทุก 6 เดือน หรือตามที่ทันตแพทย์แนะนำ