โปรเจสเตอโรน (Progesterone) คือ ฮอร์โมนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของร่างกาย แต่ก็สามารถผลิตได้จากห้องปฏิบัติการณ์เช่นกัน เป็นฮอร์โมนสำคัญที่มีบทบาทในกระบวนการทางสรีรวิทยาหลายอย่างในร่างกาย โดยเฉพาะในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง
สารบัญ
ประโยชน์และสรรพคุณของ โปรเจสเตอโรน
- การรักษาภาวะมีบุตรยากและการช่วยในการตั้งครรภ์: ช่วยเตรียมและรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกให้พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อนหลังการปฏิสนธิ ซึ่งเป็นประโยชน์ในกระบวนการช่วยการเจริญพันธุ์ (เช่น IVF หรือ IUI)
- รักษาภาวะขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน: ใช้ในการรักษาผู้หญิงที่มีภาวะขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เช่น ภาวะไม่มีประจำเดือน หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- รักษาอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) และภาวะก่อนมีประจำเดือนรุนแรง (PMDD): ช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับ PMS และ PMDD เช่น อารมณ์แปรปรวน ความเครียด และความรู้สึกไม่สบายต่าง ๆ
- รักษาภาวะเลือดออกผิดปกติในช่วงประจำเดือน: ใช้ในการรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของฮอร์โมนในรอบเดือน
- รักษาภาวะขาดประจำเดือนในวัยทอง: ใช้ร่วมกับเอสโตรเจนในการบำบัดอาการขาดประจำเดือนในวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน และปัญหาการนอนหลับ
โปรเจสเตอโรน ออกฤทธิ์อย่างไร?
โปรเจสเตอโรนคือฮอร์โมนที่ถูกปล่อยออกมาจากรังไข่ การเปลี่ยนแปลงของระดับโปรเจสเตอโรนจะส่งผลให้เกิดรอบประจำเดือนและอาการหลังหมดประจำเดือนที่ผิดปรกติ โปรเจสเตอโรนยังจำเป็นต่อการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้วในมดลูก และใช้เพื่อการคงสภาพการตั้งครรภ์ของผู้หญิง
โปรเจสเตอโรนที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการณ์ถูกใช้เลียนแบบการทำงานของโปรเจสเตอโรนที่ออกมาจากรังไข่
“โปรเจสติน” เป็นคำเรียกทั่วไปของสารที่ทำให้เกิดผลทางชีววิทยาบางส่วนหรือทั้งหมดของโปรเจสเตอโรน โดยคำว่า “โปรเจสติน” ก็ยังใช้เรียกแทนโปรเจสเตอโรนที่ผลิตจากห้องทดลองที่นำไปเป็นส่วนประกอบของยาคุมกำเนิดและการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (hormone replacement therapy) ซึ่งตัวโปรเจสเตอโรนกับโปรเจสตินทั้งหมดที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะถูกผลิตจากห้องปฏิบัติการณ์เท่านั้น คำว่า “โปรเจสเตอโรนตามธรรมชาติ” นั้นหมายถึงโปรเจสเตอโรนที่ถูกผลิตขึ้นจากสารเคมีที่เรียกว่า diosgenin ที่แยกออกจากถั่วเหลืองหรือมันเทศป่า ซึ่งต้องผ่านกระบวนการในห้องปฏิบัติการณ์ในการเปลี่ยนสารข้างต้นให้เป็นเพรกนิโนโลน (pregnenolone) ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นโปรเจสเตอโรน ร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสร้างโปรเจสเตอโรนจาก diosgenin ได้ ดังนั้นการรับประทานมันเทศป่าหรือถั่วเหลืองไม่ได้เพิ่มระดับโปรเจสเตอโรนในร่างกายขึ้นแต่อย่างใด
การใช้และประสิทธิภาพของโปรเจสเตอโรน
ภาวะที่ใช้โปรเจสเตอโรนได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
- ภาวะขาดประจำเดือน (amenorrhea) การรับประทานและทาโปรเจสเตอโรนภายในช่องคลอดเป็นแผนการรักษาภาวะประจำเดือนขาดของกลุ่มผู้หญิงก่อนหมดประจำเดือนที่มีประสิทธิภาพมาก
- การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy (HRT)) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มการใช้โปรเจสเตอโรนเข้ากับ HRT สามารถป้องกันผลข้างเคียงที่มาจากเอสโทรเจนได้
- ภาวะมีบุตรยาก การทาเจลโปรเจสเตอโรนในช่องคลอด (Crinone 8%) สามารถรักษาภาวะมีบุตรยากในสตรีได้ โดยงานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการทาและฉีดโปรเจสเตอโรนเข้ากล้ามเนื้อก็ให้ผลเป็นการเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ขึ้นเช่นกับการรับประทาน อีกทั้งงานวิจัยยังกล่าวเสริมว่าการฉีดโปรเจสเตอโรนเข้าช่องคลอดอาจช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ human chorionic gonadotropin (HCG)
ภาวะที่อาจใช้โปรเจสเตอโรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- โรคเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ (endometrial hyperplasia) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการทาโปรเจสเตอโรน (Crinone) ภายในช่องคลอดสามารถป้องกันโรคเยื่อบุมดลูกหนาตัวของผู้หญิงที่กำลังรักษาด้วยการบำบัดฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทนได้ ส่วนงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ ได้แสดงให้เห็นว่าครีมโปรเจสเตอโรนกับช่องคลอดนั้นอาจช่วยบรรเทาภาวะพนังมดลูกหนาตัวและลดการเลือดออกจากช่องคลอดของผู้หญิงก่อนหมดประจำเดือนที่เป็นภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวแบบที่ไม่ได้เกิดจากมะเร็งได้เช่นกัน
- อาการเจ็บเต้านม (mastodynia) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการทาโปรเจสเตอโรน (Crinone) ภายในช่องคลอดอาจช่วยลดอาการกดเจ็บและปวดเต้านมในผู้หญิงที่เป็นโรคเต้านมที่ไม่ใช่มะเร็งได้
- อาการหมดประจำเดือน งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการทาครีมโปรเจสเตอโรน (Progest) ที่ผิวหนังสามารถลดอาการต่าง ๆ จากภาวะหมดประจำเดือนได้ เช่นอาการร้อนวูบวาบ เป็นต้น
- คลอดก่อนกำหนด งานวิจัยส่วนมากกล่าวว่าการทาเจลโปรเจสเตอโรนภายในช่องคลอดทั้งเดี่ยว ๆ หรือร่วมกับการบำบัดจะสามารถชะลอการคลอดบุตร (tocolytic therapy) หรือก็คือช่วยลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดของผู้หญิงที่มีความเสี่ยงลง อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ กลับแย้งว่าการใช้เจลโปรเจสเตอโรนนั้นไม่อาจลดความถี่ของการคลอดก่อนกำหนดของผู้หญิงที่เคยมีประวัติคลอดบุตรก่อนเวลาได้แต่อย่างใด
ภาวะที่โปรเจสเตอโรนอาจไม่มีประสิทธิภาพ
- แท้งบุตร งานวิจัยส่วนมากกล่าวว่าการทาโปรเจสเตอโรนในช่องคลอดไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรระหว่างช่วงไตรมาสแรกในกลุ่มผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการแท้งลงได้ อีกทั้งการฉีดโปรเจสเตอโรนกับฮอร์โมนสเตียรอยด์อื่นเข้ากล้ามเนื้อก่อนเข้ารับการทดสอบหาความพิการของตัวอ่อน (การเจาะตรวจน้ำคร่ำ) ก็ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือการคลอดก่อนกำหนดได้
- กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) แม้ว่างานวิจัยทางคลินิกกล่าวว่าการทาโปรเจสเตอโรนในช่องคลอดหรือทวารหนักก่อนมีประจำเดือนจะช่วยลดอาการของ PMS ได้ แต่หลักฐานที่มีส่วนมากกลับแย้งว่าการทานหรือทาโปรเจสเตอโรนนั้นไม่ได้ช่วยลดอาการจาก PMS แต่อย่างใด
- อาการระคายเคืองที่ช่องคลอด การทาโปรเจสเตอโรนในช่องคลอดไม่อาจช่วยลดอาการของ vulval lichen sclerosis ลงได้ ในความเป็นจริงแล้วโปรเจสเตอโรนอาจมีประสิทธิผลด้อยกว่าการใช้ clobetasol (Temovate) ที่มีไว้สำหรับรักษาภาวะนี้โดยเฉพาะเสียอีก
ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐานว่าใช้โปรเจสเตอโรนรักษาได้หรือไม่
- อาการถอนยา diazepam, alprazolam, temazepam, และอื่น ๆ งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการทาน micronized progesterone อาจไม่ส่งผลต่อการบรรเทาอาการจากการถอนยา diazepam แต่อย่างใด
- โรคหัวใจ งานวิจัยกล่าวว่าการทาโปรเจสเตอโรนในช่องคลอดอาจเพิ่มความทนทานต่อการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคหัวใจที่เป็นผู้หญิงที่เคยประสบกับอาการหัวใจวายได้เท่ากับการใช้ยา medroxyprogesterone
- ภาวะติดโคเคน งานวิจัยกล่าวว่าการทานโปรเจสเตอโรนไม่อาจลดความเสี่ยงต่อการใช้โคเคนในกลุ่มผู้ชายที่เคยติด methadone แต่อย่างใด
- โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการทาโปรเจสเตอโรนที่ผิวหนังไม่อาจเพิ่มความหนาแน่นของมวลแร่ธาตุที่กระดูกของผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนได้ งานวิจัยอื่นยังได้กล่าวเสริมว่าการทาโปรเจสเตอโรนที่ผิวหนังนาน 2 ปีอาจช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกจากการดื่มนมถั่วเหลืองที่ประกอบด้วย isoflavone ได้ แต่กระนั้นการบริโภคนมถั่วเหลืองร่วมกับโปรเจสเตอโรนอาจให้ผลเป็นการสูญเสียมวลกระดูกที่มากกว่าการรักษาเพียงวิธีเดียว
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร (postpartum) งานวิจัยกล่าวว่าการทาโปรเจสเตอโรนที่ทวารหนักไม่อาจลดอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้
- ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (pre-eclampsia) งานวิจัยกล่าวว่าการฉีดโปรเจสเตอโรนเพียงโดสเดียวสามารถลดความดันโลหิต, อาการบวม, และอาการอื่น ๆ ในผู้หญิงที่มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะมีครรภ์ได้
- อาการบาดเจ็บจากการกระทบกระแทกที่สมอง มีงานวิจัยบางชิ้นที่กล่าวว่าการฉีดโปรเจสเตอโรนทันทีหลังได้รับบาดเจ็บที่สมองสามารถป้องกันการเสียชีวิตและพิการได้ อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นอื่นกลับแย้งว่าโปรเจสเตอโรนไม่ได้ส่งผลต่อผลเสียทั้งสองนี้แต่ใด
- การรักษาหรือป้องกันภูมิแพ้ที่เกิดจากฮอร์โมน
- ท้องอืด
- แรงขับเคลื่อนทางเพศลดลง
- ปวดศีรษะ
- เหนื่อยล้า
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia)
- ลิ่มเลือดเพิ่มขึ้น
- ฉุนเฉียว
- สูญเสียความทรงจำ
- ปัญหาไทรอยด์
- สมองล้า
- มะเร็งมดลูก
- เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroid)
- บวมน้ำ
- เพิ่มน้ำหนัก
- ภาวะสุขภาพอื่น ๆ
จำเป็นต้องรวบรวมหลักฐานให้มากขึ้นเพื่อให้ข้อมูลด้านประสิทธิผลของโปรเจสเตอโรนเพิ่มเติม
ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของโปรเจสเตอโรน
ผลิตภัณฑ์ยาโปรเจสเตอโรนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration (FDA)) แล้วต่างถูกจัดว่าค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้คนส่วนมากเมื่อนำไปรับประทาน, ทาบนผิวหนัง, ทาในช่องคลอด, หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อภายใต้การกำกับดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตามโปรเจสเตอโรนก็สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่นปวดท้อง, ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง, น้ำหนักเพิ่ม, บวมน้ำ, เหนื่อยล้า, สิวขึ้น, ง่วงนอนมากหรือนอนไม่หลับ, ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง, ลมพิษ, มีไข้, ปวดศีรษะ, ซึมเศร้า, ไม่สบายเต้านมหรือเต้านมขยาย, มีอาการคล้ายกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS), รอบประจำเดือนเปลี่ยนแปลง, เลือดออกผิดปรกติ, และผลข้างเคียงอื่น ๆ
คำเตือนและข้อควรระวังเป็นพิเศษ
- สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร: เจลโปรเจสเตอโรนสำหรับทาในช่องคลอดถูกจัดว่าค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาภาวะมีบุตรยากหรือเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตามโปรเจสเตอโรนจะถูกจัดว่าค่อนข้างไม่ปลอดภัยหากใช้ระหว่างการตั้งครรภ์หรือเพื่อวัตถุประสงค์นอกเหนือจากข้างต้น
- ณ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้โปรเจสเตอโรนในกลุ่มผู้หญิงที่ต้องให้นมบุตร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรเลี่ยงการใช้โปรเจสเตอโรน
- โรคหลอดเลือดแดง: ห้ามใช้โปรเจสเตอโรนหากคุณเป็นโรคหลอดเลือดแดง
- มะเร็งเต้านม: ควรเลี่ยงการใช้โปรเจสเตอโรนนอกจากจะได้รับคำสั่งจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ดูแลคุณ
- ภาวะซึมเศร้า: ควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มใช้โปรเจสเตอโรนหากคุณมีภาวะซึมเศร้าชนิดรุนแรงทั้งในปัจจุบันหรือเคยมีประวัติมาก่อนในอดีต
- โรคตับ: โปรเจสเตอโรนอาจทำให้โรคตับมีอาการทรุดลงได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้โปรเจสเตอโรนเมื่อคุณเป็นโรคนี้
- ภาวะเลือดออกจากช่องคลอด: ไม่ควรใช้โปรเจสเตอโรนหากคุณมีภาวะเลือดออกจากช่องคลอดและยังไม่เคยได้รับการวินิจฉัยโรคมาก่อน
การใช้โปรเจสเตอโรนร่วมกับยาชนิดอื่น
- เอสโทรเจน (Estrogens) เป็นฮอร์โมนด้วยกันทั้งคู่และมักจะทำงานร่วมกัน โปรเจสเตอโรนสามารถลดผลข้างเคียงบางอย่างของเอสโทรเจนได้ แต่กระนั้น โปรเจสเตอโรนก็อาจลดประโยชน์ของเอสโทรเจนบางประการได้เช่นกัน ดังนั้นการทานโปรเจสเตอโรนร่วมกับเอสโทรเจนอาจทำให้เกิดอาการกดเจ็บเต้านม
ปริมาณยาที่ใช้
ปริมาณหรือขนาดยาที่ใช้ดังต่อไปนี้ได้ถูกศึกษาจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์
รับประทาน
- สำหรับการบำบัดฮอร์โมนทดแทน: micronized progesterone (Prometrium) 200 mg ต่อวันนาน 12 วันในรอบ 25 วันร่วมกับเอสโทรเจนทดแทน 0.625 mg
- สำหรับภาวะมีบุตรยาก: micronized progesterone 300 mg ต่อวัน โดยมักทานเป็นเวลา 30 วันหลังเริ่มมีเอ็มบริโอ (embryo) เกิดขึ้นในมดลูก
ทาบนผิวหนัง
- สำหรับอาการร้อนวูบวาบและอาการหมดประจำเดือนอื่น ๆ : ครีมโปรเจสเตอโรน 20 mg (เท่ากับครีม Progest ¼ ช้อนชา ) โดยมักทาบนผิวหนังทุกวันรอบต้นแขน, ต้นขา, หรือเต้านม
ภายในช่องคลอด
- สำหรับอาการเจ็บเต้านมที่เกี่ยวข้องกับโรคเต้านมที่ไม่ใช่มะเร็ง : ครีมโปรเจสเตอโรนสำหรับช่องคลอด 4 กรัมที่ประกอบด้วยโปรเจสเตอโรนจากธรรมชาติ 2.5% โดยใช้ทาจากวันที่ 19-25 ของรอบประจำเดือน 28 วัน
- สำหรับปรับรอบประจำเดือนในผู้หญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือน: เจลโปรเจสเตอโรน (Crinone 4% หรือ 8%) ทาภายในช่องคลอดวันเว้นวันนาน 6 วันต่อเดือน
- สำหรับลดอาการเลือดออกจากช่องคลอดและรักษาภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวในผู้หญิงก่อนหมดประจำเดือนที่เป็นโรค endometrial hyperplasia ที่ไม่ใช่มะเร็ง: ครีมโปรเจสเตอโรน (Crinone 8%) 90 หรือ 100 mg ทาในช่องคลอดทุกวันเริ่มจากวันที่ 10-25 หรือวันที่ 17, 19, 21, 23, 25, และ 27 ของรอบประจำเดือน 28 วัน
- สำหรับภาวะมีบุตรยาก โปรเจสเตอโรน 90 mg (Crinone 8%) หรือโปรเจสเตอโรนประเภทอื่น 100-600 mg ทาภายในช่องคลอดทุกวันนานประมาณ 2 สัปดาห์หลังเริ่มมีเอ็มบริโอภายในมดลูก
- สำหรับป้องกันการคลอดบุตรก่อนกำหนด: โปรเจสเตอโรน 90-400 mg ทาภายในช่องคลอดทุกวันเริ่มจากสัปดาห์ที่ 18-22 ของการตั้งครรภ์
ยาฉีด
- สำหรับภาวะมีบุตรยาก โปรเจสเตอโรน 50-100 mg แต่ละวันร่วมกับการปฏิสนธินอกร่างกาย/เด็กหลอดแก้ว (in vitro fertilization)