การพบตุ่มแดงที่ขา มักจะไม่ได้เกิดจากโรคร้ายที่ทำให้น่าตกใจ แต่ตุ่มเหล่านี้อาจจะทำให้รู้สึกคันและผิวขาดูไม่สวย แต่ในบางกรณีตุ่มแดงอาจเป็นอาการของโรคที่ร้ายแรงได้
สารบัญ
ตุ่มแดงที่ขาเกิดจากอะไร?
ตุ่มแดงที่ขา อาจเกิดจากการถูกแมลงกัดต่อย ปฏิกิริยาภูมิแพ้ หรือโรคทางผิวหนัง ขึ้นกับอายุและประวัติทางสุขภาพของผู้ป่วย สาเหตุที่พบบ่อยของการเกิดตุ่มแดง อาจมีดังต่อไปนี้
1. โรคขนคุด
โรคขนคุด (Keratosis Pilaris) เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป โดยจะทำให้เกิดตุ่มที่มีสีแดงหรือขาวขนาดเล็ก มีลักษณะเหมือนกับผดบริเวณต้นขาและแขน แต่มักจะไม่ได้ทำให้รู้สึกคันแต่อย่างใด
โรคขนคุดจะเกิดเวลาที่รูขุมขนอุดตันจากเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในผิวหนัง เส้นผมและเล็บ คุณมีโอกาสเกิดโรคนี้สูงหากคุณมีผิวหนังที่แห้งหรือผิวหนังอักเสบ
ถึงแม้ว่าโรคนี้อาจจะไม่รุนแรง หรือเป็นอันตรายมากนัก แต่ก็ควรต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ควรใช้ในการรักษา และสำหรับผู้ป่วยรายที่มีอาการรุนแรงอาจจะต้องใช้เลเซอร์ในการรักษาด้วย
2. รูขุมขนอักเสบ
มักจะพบส่วนที่เพิ่งโกนขน หรือในตำแหน่งที่เสื้อผ้าเสียดสีกับผิวหนังบ่อยๆ มีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ สีแดงคล้ายสิวตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่รูขุมขน ซึ่งมักเกิดจากการโกนขน การใส่เสื้อผ้ารัดๆ ร่วมกับความอับชื้น ความร้อนและเหงื่อ
3. ผิวหนังอักเสบ
มีลักษณะเป็นจุดสีแดงร่วมกับปื้น อาจแห้งและแตกด้วย หรือเป็นตุ่มน้ำที่มีน้ำไหลออกมาก็ได้ ทำให้รู้สึกคันมาก และมักจะมีอาการกำเริบเป็นช่วงๆ
ตัวอย่างปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดผิวหนังอักเสบ
- ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
- น้ำหอม
- สบู่และน้ำยาซักผ้า
- เครื่องสำอาง
- ขนสัตว์
- เหงื่อและความร้อน
- ความเครียด
- พันธุกรรม
- ที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตเมืองที่มีมลภาวะสูงและมีอากาศเย็น
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคหอบหืด หรือโรคภูมิแพ้
90% ของผู้ป่วยมักจะเป็นเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี และ 50% ของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย
มียาหลายชนิดที่สามารถใช้รักษาภาวะนี้ได้ เช่น
- ยาปฏิชีวนะ
- ยาแก้แพ้
- ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาสเตียรอยด์ (Steroids)
แพทย์จะช่วยวางแผนวิธีการรักษาที่เหมาะกับคุณ โดยเฉพาะการระบุสารที่อาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการ เพื่อให้คุณลดการสัมผัสกับผิวบริเวณที่อักเสบได้ และโรคนี้ยังสามารถเกิดการติดเชื้อจากโรคอื่นได้ด้วย
ดังนั้น หากคุณเป็นโรคผิวหนังอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่รอบๆ คนที่เป็นโรคเริมหรืออีสุกอีใส เพราะจะทำให้คุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคผิวหนังเอคซีมา เฮอร์เพติคัม (Eczema herpeticum) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง และติดต่อได้รวดเร็วมาก
4. ลมพิษ
ตุ่มแดงจากอาการลมพิษจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง นูน คัน หรืออาจจะมีสีเดียวกับผิวก็ได้ และเมื่อกดผิวลง สีจะจางลงเป็นสีขาว สามารถพบที่ตำแหน่งใดก็ได้ในร่างกาย และพบได้ในผู้คนทุกช่วงอายุ
คุณสามารถเกิดลมพิษได้หลังจากสัมผัสกับสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น
- อาหารบางชนิด
- ยา
- ละอองเกสร
- ถุงมือยาง
- ความร้อนหรือความเย็น
- แมลง ซึ่งส่วนใหญ่มักทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่น
- ยุง
- หมัด
- ไรอ่อน
- เห็บ
- ตัวเรื้อน
- หิด
การใช้คาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion) หรือยาสเตียรอยด์ อาจจะช่วยบรรเทาอาการคันจากการถูกแมลงกัดได้ แต่การป้องกันการถูกแมลงกัด จะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด โดยอาจจะใช้ยากันแมลงหรือใส่เสื้อผ้าให้คลุมผิวหนังให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ลมพิษ อาจเกี่ยวข้องกับโรคบางโรคด้วย เช่น
- ไข้หวัด
- โพรงจมูกอักเสบ
- โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis)
- โรคตับอักเสบ
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง
การสังเกตการติดเชื้อ
โดยทั่วไปการมีตุ่มแดงขึ้นตามขา ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล แต่การเป็นโรคทางผิวหนัง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงได้
จึงควรรักษาตุ่มแดงตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และคอยสังเกตว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ เช่น
- มีอาการบวมรอบๆ
- ตุ่มแดงด้วย
- มีจำนวนตุ่มมากขึ้น
- มีผื่นแดงขึ้น
- มีอาการปวด
- แสบ
- มีไข้
- ตุ่มสีแดงกลายเป็นตุ่มน้ำ
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
นอกจากปัจจัย และสาเหตุที่ทำให้เกิดตุ่มแดงตามกล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดตุ่มแดงได้ เช่น
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์เรื้อรัง (Chronic Lymphocytic Leukemia: CLL)
- โรคเบาหวาน (Diabetes)
- โรคเอดส์ หรือโรคต่างๆ ที่ทำให้คุณเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- มีสิวหรือผิวหนังอักเสบ
- ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ
- แช่น้ำร้อน หรืออาบน้ำร้อนบ่อยๆ
- มีน้ำหนักเกิน
ภาวะการเกิดตุ่มแดงที่ขามักจะทำให้คัน และไม่สบายตัว แต่ไม่ได้เป็นอันตราย ยกเว้นแต่มีการติดเชื้อ หรือการอักเสบรุนแรงขึ้น เช่น ฝีฝักบัว (Carbuncle) หรือ เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) ซึ่งส่วนมากอาการมักจะหายได้เอง อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเหล่านี้มากว่า 10 วัน หรืออาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดตุ่มแดงต่อไป