ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ เตรียมตัวอย่างไร? ตรวจอะไรบ้าง?


ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ เตรียมตัวอย่างไร

ผู้สูงอายุบางคนไม่กล้าตรวจสุขภาพเพราะกลัวเจอโรค ไม่อยากเป็นคนป่วย ไม่อยากรักษา บางคนรู้สึกว่า ตนเองยังแข็งแรงดี จึงคิดว่าตรวจไปก็เปลืองเงิน 

ทั้งหมดนี้ถือเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากการตรวจสุขภาพจะช่วยให้พบโรคได้ตั้งแต่ในระยะที่ยังไม่มีอาการ หรือระยะแรกเริ่ม เมื่อตรวจพบเร็ว การรักษาก็ทำได้ง่าย รวดเร็ว และให้ผลดี 

นอกจากนี้ยังเป็นการประเมินความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ทำให้รู้ว่า "ควรลดเลิกพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพและระวังตัวอย่างไรบ้าง"

ความจำเป็นในการตรวจสุขภาพ หากร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า หากแข็งแรงดีก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ เพราะไม่น่าจะมีโรคอะไร ซึ่งนับเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากบางโรคในระยะแรกๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคมะเร็ง อาจไม่แสดงอาการให้รู้เลย กว่าจะรู้ตัวว่า "ป่วย" โรคก็อาจรุนแรงไปมากแล้ว 

นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือต้องรักษาโรคใดโรคหนึ่งเป็นประจำ ก็ควรได้รับการตรวจสุขภาพทั่วไปเช่นกัน

ความเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่ง คือ หากผลตรวจสุขภาพออกมาปกติ หลายคนมักจะไม่ค่อยสนใจดูแลสุขภาพ ยังคงทำพฤติกรรมเดิมๆ ต่อ เพราะคิดว่าตนเองแข็งแรงดี เช่น คิดว่ายังสูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าต่อไปได้ ไม่ต้องออกกำลังกาย ไม่ต้องรับประทานอาหารให้เหมาะสม

พฤติกรรมทำร้ายสุขภาพเหล่านี้เองจะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายตามมา ดังนั้นผลการตรวจสุขภาพที่พบว่า "ปกติ" จึงไม่ได้รับประกันว่ามีสุขภาพดี แต่เรายังจำเป็นต้องดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมเช่นเดิม 

ผู้ที่ควรไปตรวจสุขภาพ

โดยทั่วไปเมื่อสู่วัยผู้ใหญ่คุณควรได้รับการตรวจสุขภาพ แต่รายการตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงอายุอาจมากน้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของการเกิดโรคในช่วงวัยต่างๆ 

วัยสูงอายุอาจต้องตรวจหลายรายการกว่าวัยหนุ่มสาว เนื่องจากร่างกายเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เช่น หากตรวจโรคที่แทบไม่พบเลยในคนหนุ่มสาว หรือเป็นโรคที่ต้องตรวจหลายพันคน หรือเป็นหมื่นคน จึงจะพบโรคดังกล่าวสักคน การตรวจนั้นก็อาจไม่จำเป็นนัก

ตรวจสุขภาพในผู้สูงอายุ ควรตรวจอะไรบ้าง

การซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยแพทย์ที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ มีดังนี้

  • การชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง เพื่อประเมินภาวะโภชนาการ ความเสี่ยงการเกิดภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์

  • การตรวจวัดความดันโลหิต เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต

  • การเจาะเลือดตรวจหาโรคเบาหวาน โดยควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป หากผลตรวจปกติ ให้ตรวจซ้ำทุก 3 ปี ยกเว้นในกรณีที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ควรได้รับการตรวจ เช่น
    • ไม่ออกกำลังกาย
    • มีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน เช่น พ่อแม่ พี่ น้อง
    • ผู้หญิงที่เคยคลอดบุตรน้ำหนักตัวแรกเกิดเกิน 4.1 กิโลกรัม
    • มีภาวะความดันโลหิตสูง
    • มีระดับไขมันดี (HDL) ต่ำกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
    • เคยตรวจพบว่า มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์เป็นโรคเบาหวาน
    • มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบ
    • ผู้หญิงที่เป็นโรคถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic ovarian syndrome)
  • การเจาะเลือดตรวจหาระดับไขมันในเลือด แนะนำให้ตรวจเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป หากพบว่า มีระดับไขมันอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ ให้ตรวจซ้ำอย่างน้อยทุก 5 ปี

    แต่หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ผู้ชายที่อายุมากกว่า 45 ปี ผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปีก็ควรเข้ารับการตรวจซ้ำทุก 1-3 ปี

    นอกจากนี้หากมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัวตั้งแต่อายุน้อย (ผู้ชายอายุไม่เกิน 55 ปี และผู้หญิงอายุไม่เกิน 65 ปี) และเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง แต่ผลตรวจครั้งแรกปกติ ก็ควรเข้ารับตรวจซ้ำทุก 1-3 ปีเช่นกัน

  • การตรวจตา เพื่อหาโรคต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม รวมถึงภาวะสายตาสั้นและสายตายาว ควรตรวจทุก 2–4 ปี ไม่ควรรอให้เป็นหนักจนตามัวแล้วค่อยมารับการรักษา

  • การตรวจหู เพื่อดูว่ามีภาวะหูหนวก หูตึง หูชั้นนอกอุดตัน ภาวะประสาทหูเสื่อมจากอายุ และเสื่อมจากการเผชิญเสียงดังเป็นประจำหรือไม่

  • การตรวจสุขภาพจิต เป็นการตรวจภาวะจิตใจ และโรคทางจิตเวช โดยโรคที่พบได้บ่อย คือ โรคซึมเศร้ากับภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง อยู่ตัวคนเดียว หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ได้

  • การตรวจผิวหนัง ได้แก่ ผื่นแพ้ยา โรคมะเร็งผิวหนัง ภาวะผิวแห้ง และการติดเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

  • การตรวจช่องปาก เป็นการตรวจหาปัญหาเกี่ยวกับเหงือก และฟันโดยทันตแพทย์ เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ มะเร็งในช่องปาก และปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อดูว่า มีภาวะซีด หรือโลหิตจางหรือไม่

  • การตรวจการทำงานของไต หรือตับ แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจในบางกรณี

  • การตรวจความหนาแน่นของกระดูก โดยมักแนะนำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนหลายปัจจัย หรือในผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป

  • การตรวจไวรัสตับอักเสบบี แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจหาเชื้อไวรัสชนิดนี้ในบางราย และหากยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรคอาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีไว้ด้วย

  • การตรวจเอกซเรย์ปอด การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเป็นการตรวจที่ไม่มีประโยชน์หากไม่มีอาการใดๆ เนื่องจากแม้ผลการตรวจจะออกมาเป็นปกติในวันนี้แต่ก็อาจผิดปกติได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าได้

    อย่างไรก็ตาม การตรวจนี้ยังใช้ในการตรวจเพื่อหาความผิดปกติอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น วัณโรค โรคถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่

  • การตรวจหาโรคมะเร็ง ผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และมีอาการปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะไม่พุ่ง ปวดขัดเวลาปัสสาวะ หรือต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน ควรตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก

    โดยแพทย์จะสอดนิ้วมือเข้าทางทวารหนักเพื่อคลำต่อมลูกหมาก ร่วมกับการเจาะเลือดหาค่าสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด (Prostate specific antigen: PSA)

    ส่วนผู้หญิงควรตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยการตรวจแมมโมแกรมเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป และตรวจหามะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป หรือหลังเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกไม่เกิน 3 ปี

  • การตรวจยาประจำตัว เพื่อให้แน่ใจว่ายาที่ผู้สูงอายุรับประทานอยู่นั้นเหมาะสม รวมทั้งพิจารณาว่ามีความเสี่ยง หรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ หรือไม่ หากมี แพทย์อาจปรับเปลี่ยนตัวยาหรือปริมาณยาให้

สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งโดยหาตัวบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ในเลือด โดยที่ไม่มีอาการหรือปัจจัยเสี่ยงใดๆ พบว่า เป็นการตรวจที่ไม่ได้ประโยชน์ และบ่อยครั้งยังนำมาซึ่งการตรวจเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็น 

นอกจากนี้โรคมะเร็งหลายอย่างก็มีการดำเนินโรคที่รวดเร็วภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน ดังนั้นแม้ผลตรวจค่าเหล่านี้จะออกมาปกติ แต่อีก 1-2 เดือนก็ยังอาจเป็นโรคได้ การตรวจตัวหาความเสี่ยงมะเร็งในเลือดที่ได้ประโยชน์จึงควรทำในกรณีที่มีอาการเท่านั้น

คำแนะนำการเตรียมตัวก่อนไปตรวจสุขภาพ

  • ควรงดน้ำ และอาหารก่อนตรวจประมาณ 8-10 ชั่วโมง เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด หากกระหายน้ำ สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัว มีปัญหาสุขภาพใดๆ หรือรับประทานยาชนิดใดอยู่ เนื่องจากอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมบางอย่าง และเพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการแปลผลตรวจ
  • พักผ่อนให้เพียงพอในวันก่อนมาตรวจ การนอนน้อยอาจมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติและรู้สึกอ่อนเพลียได้
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง และกาแฟในวันก่อนตรวจ เนื่องจากอาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าเป็นจริง
  • ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือด และการตรวจร่างกาย

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้หญิงสูงวัยที่ต้องการเข้ารับการตรวจสุขภาพ คือ ไม่ควรตรวจปัสสาวะในช่วงมีประจำเดือน หรือก่อน และหลังหมดประจำเดือนไม่นาน เนื่องจากอาจมีเม็ดเลือดแดงปนในปัสสาวะ ทำให้แปลผลการตรวจไม่ได้

นอกจากนี้หากต้องการตรวจแมมโมแกรม ไม่ควรตรวจในช่วงกำลังมีประจำเดือน เนื่องจากเต้านมอาจเกิดการคัดตึง และผู้หญิงที่ต้องการตรวจภายใน ควรสวมใส่กระโปรงเพื่อความสะดวก ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ควรตรวจในช่วง 7 วัน ก่อน หรือหลังการมีประจำเดือน

การตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองความเสี่ยง และระวังโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั้นถือว่าสำคัญ แต่อย่าลืมว่าการดูแลรักษาสุขภาพด้วยตนเองก็สำคัญเช่นกัน เช่น การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา การสูบบุหรี่

ค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ

ค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลเอกชนจะอยู่ที่ประมาณ 4,500-6,500 บาท แต่หากเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ราคาค่าตรวจก็จะค่อนข้างถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนพอสมควร 

นอกจากนี้การตรวจสุขภาพตามสถานพยาบาลต่างๆ มักจะมีให้เลือกตรวจเฉพาะรายการที่ต้องการ หรือจะตรวจแบบเป็นแพ็กเกจไปเลยก็ได้ หากต้องการใช้บริการสามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้ากับทางโรงพยาบาลที่สนใจได้โดยตรง

คุณสามารถตรวจสอบรายการตรวจสุขภาพสำหรับผู้ชายอายุ 40-64 ปี และรายการตรวจสุขภาพสำหรับผู้ชายอายุ 65 ปีขึ้นไป และ รายการตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิงอายุ 40-64 ปี และรายการตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มเติมได้

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจข้อเข่า

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั่วไป


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Porraphat Jutrakul, หลัก 10 อ.ดูแลผู้สูงอายุ ( https://www.thaihealth.or.th/Content/40299-หลัก%2010%20อ.%20การดูแลตนเองของผู้สูงอายุ.html)ม 22 กรกฎาคม 2563.
  • วีรศักดิ์ เมืองไพศาล, ไขมันในเลือดสูง (https://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_6_003.html), 12 ธันวาคม 2562.
  • ประเสริฐ อัสสันตชัย, การตรวจสุขภาพประจำปีในผู้สูงอายุ (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=700), 12 ธันวาคม 2562.
@‌hdcoth line chat