ตรวจอสุจิ ตรวจเพื่ออะไร ตรวจตอนไหน ใครควรตรวจ?


รวมข้อควรรู้การตรวจความสมบูรณ์ของอสุจิ

ปัจจุบันภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายชายสูงถึงร้อยละ 25 ของสาเหตุทั้งหมด ผู้ชายหลายคนที่กำลังวางแผนแต่งงานหรือมีลูก จึงนิยมเข้ารับการตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก เพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขอย่างเหมาะสม

หนึ่งในรายการตรวจที่ผู้ชายหลายคนมักต้องพบเจอก็คือ การตรวจอสุจิ เป็นการตรวจหาความสามารถในการมีบุตรจากฝ่ายชาย ช่วยให้ทราบปัญหาภาวะการมีบุตรยากที่อาจเกิดจากฝ่ายชายและช่วยนำไปสู่การรักษาและแก้ไขต่อไป

วันนี้ HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจและสำคัญของการตรวจอสุจิอย่างครบถ้วนมาฝากกัน


เลือกอ่านข้อมูลตรวจอสุจิได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


ตรวจอสุจิคืออะไร?

การตรวจอสุจิ (Semen Analysis) คือ การตรวจหาความผิดปกติของอสุจิ เพื่อประเมินความสามารถในการมีบุตรหรือวิเคราะห์ปัญหาทางการสืบพันธุ์ของฝ่ายชาย ทั้งคุณภาพ ความสมบูรณ์ และความแข็งแรงของอสุจิ

น้ำอสุจิ (Semen) คืออะไร?

น้ำอสุจิ คือสิ่งที่หลั่งออกมาจากอวัยวะเพศชาย ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ

  • ส่วนที่เป็นเซลล์ ได้แก่ ตัวอสุจิ (Spermatozoa) ที่ประกอบด้วยเซลล์เยื่อบุและเม็ดเลือดขาว
  • ส่วนที่เป็นของเหลว (Seminal Fluid) ที่มีสารต่างๆ เป็นส่วนประกอบเพื่อหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ เช่น สังกะสี (Zinc) ฟลาวีน (Flavine) กรดซิตริค (Citric acid) เป็นต้น
เช็กราคาตรวจอสุจิ

ประโยชน์ของการตรวจอสุจิ

ประโยชน์การตรวจอสุจิมีดังนี้

  • เพื่อการตรวจภาวะมีบุตรยากจากฝ่ายชายด้วยการตรวจน้ำอสุจิเพื่อประเมินคุณภาพของน้ำอสุจิที่จะส่งผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ และนำไปสู่การรักษาและแก้ไขต่อไป
  • ช่วยวางแผนการมีบุตรก่อนแต่งงาน

ใครควรตรวจอสุจิ?

การตรวจน้ำอสุจิมักทำเมื่อเข้าเกณฑ์ของภาวะมีบุตรยากหรือผู้มีเหตุปัจจัยต่อไปนี้

  • ผู้ชายมีภาวะหรือโรคประจำตัวที่ส่งผลเสียต่ออสุจิ เช่น การสูบบุหรี่ โรคตับ โรคไต โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือเคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน
  • ผู้ชายอายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งน้ำอสุจิจะเริ่มมีคุณภาพลดลง
  • ผู้ชายที่มีภรรยาอายุมากกว่า 37 ปี จำเป็นต้องตรวจอสุจิเพื่อใช้วางแผนการมีบุตร

ผู้ที่ไม่ควรตรวจอสุจิ

ผู้ที่กำลังอยู่ในสภาวะต่อไปนี้ไม่ควรตรวจอสุจิเพราะอาจจะไม่ได้ผลการตรวจที่ถูกต้อง

  • ผู้ที่กำลังมีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือเป็นหวัด มีไข้เป็นต้น
  • ผู้ที่กำลังมีอาการติดเชื้อในระบบปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์
  • ผู้ที่กำลังมีเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่กำลังด้วยรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยยาปฏิชีวนะ ยาต้านซึมเศร้า ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์ที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในการสังเคราะห์อสุจิ

การเตรียมตัวก่อนตรวจอสุจิ

การตรวจอสุจิเป็นการตรวจที่ละเอียดและมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยทำให้ผลการตรวจแม่นยำ ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

  • งดการมีเพศสัมพันธ์หรือการหลั่งน้ำอสุจิอย่างน้อย 5-7 วันก่อนตรวจ
  • งดการใช้สารเสพติด หรือการดื่มแอลกอฮอล์ 2-5 วัน
  • งดการทานยาสมุนไพรต่างๆ 2-5 วัน
  • นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • ควรล้างมือและอวัยวะเพศให้สะอาดก่อนทำการเก็บอสุจิ

ขั้นตอนการตรวจอสุจิ

ขั้นตอนการตรวจอสุจิประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่ ขั้นตอนการเก็บอสุจิและขั้นตอนการตรวจอสุจิ

1. การเก็บอสุจิ

  1. รับภาชนะที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ ห้ามเก็บอสุจิใส่ถุงยางอนามัย เนื่องจากถุงยางอนามัยมีสารหล่อลื่นอาจทำให้อสุจิตายทำให้ผลการตรวจผิดพลาด
  2. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสภายในภาชนะเก็บน้ำอสุจิ
  3. เก็บน้ำอสุจิด้วยวิธีช่วยตัวเอง (Masturbation)
  4. ต้องนำอสุจิที่เก็บในภาชนะส่งแพทย์ภายใน 1 ชั่วโมง โดยห้ามแช่เย็น

2. การตรวจอสุจิ

แพทย์นำอสุจิที่เก็บมาตรวจ โดยแบ่งย่อยได้อีก 3 แบบดังนี้

2.1. การตรวจอสุจิด้วยตาเปล่า (Macroscopic Examination)

การตรวจด้วยตาเปล่าเพื่อตรวจหาความผิดปกติของอสุจิในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ปริมาตร (Volume) ปริมาตรของน้ำอสุจิที่เก็บได้ต่อ 1 ครั้งควรมีไม่ต่ำกว่า 1.5 มิลลิลิตร ซึ่งโดยปกติน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาครั้งหนึ่งจะมีปริมาตร 2-6 มิลลิลิตร ถ้าหากมีปริมาตรที่น้อยเกินไป แสดงว่าการหลั่งจากถุงเก็บน้ำเชื้อบกพร่อง อาจมีสาเหตุเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของอัณฑะ หรือเกิดจากท่อนำอสุจิตีบหรือตันได้
  • ความเป็นกรด-เบส (pH) น้ำอสุจิควรมีความเป็นเบสหรือด่างอ่อนๆ ควรมีค่า pH มากกว่าหรือเท่ากับ 7.2 ถ้ามีค่าน้อยกว่า 7.2 และปริมาณน้ำอสุจิน้อย อาจบอกได้ว่ามีการอุดตันของท่ออสุจิบางส่วน
  • ความหนืด (Viscosity) ถ้าน้ำอสุจิมีความหนืดมากเกินไปอาจทำให้อสุจิเคลื่อนไหวยาก ดังนั้นเมื่อนำน้ำอสุจิมาหยด ก็ไม่ควรยืดยาวเกิน 2 เซนติเมตร
  • การละลายตัว (Liquefaction) ปกติน้ำอสุจิจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงละลายตัว ความหนืดและความข้นลดลง
  • สี (Color) น้ำอสุจิปกติควรมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่น ซึ่งสีและความข้นของน้ำอสุจิอาจมาจากสาเหตุดังนี้
    • น้ำอสุจิสีชมพูหรือน้ำตาลแดง อาจเกิดจากการอักเสบหรือมีเลือดปนในต่อมลูกหมาก (Seminal Vesicles) หรือจากการเพิ่งเข้ารับการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากซึ่งมักไม่มีอาการรุนแรง
    • น้ำอสุจิสีเหลือง อาจมีเกิดจากมีน้ำปัสสาวะปนในน้ำอสุจิ โรคดีซ่าน (Jaundice) หรือภาวะการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวในระดับสูงกว่าปกติ (Leukocytospermia)
    • น้ำอสุจิสีเหลืองเขียว อาจแสดงถึงการติดเชื้อที่ต่อมลูกหมาก
    • น้ำอสุจิมีความข้นมาก (Hyperviscous) อาจเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
เช็กราคาตรวจอสุจิ

2.2. การตรวจอสุจิผ่านกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Examination)

การตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ จะช่วยให้แพทย์เห็นรายละเอียด และความผิดปกติของตัวอสุจิชัดเจนขึ้น โดยแพทย์มักจะตรวจดูรายการดังต่อไปนี้

  • จำนวนตัวอสุจิทั้งหมด (Count or Concentration) โดยตัวอสุจิไม่ควรน้อยกว่า 15 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร
  • การเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ (Motility) ควรมีตัวที่สามารถเคลื่อนที่ดีได้อย่างน้อย 40% จากจำนวนอสุจิที่เก็บได้ หากตัวอสุจิเคลื่อนที่ไม่ดี อาจทำให้ไม่สามารถว่ายผ่านปากมดลูกของฝ่ายหญิงไปพบกับไข่ในท่อนำไข่ได้
  • การรอดชีวิตของตัวอสุจิ (Viability) ตัวอสุจิที่ยังมีชีวิตต้องมากกว่า 58% จากจำนวนอสุจิที่เก็บได้
  • รูปร่างของตัวอสุจิ (Morphology) ปกติรูปร่างของอสุจิจะมีลักษณะคือ ส่วนหัว (Head) เป็นรูปวงรี ส่วนลำตัว (Midpiece) มีลักษณะป้อมและสั้นกว่าส่วนหางเล็กน้อย และส่วนหาง (Tail) จะยาวกว่าส่วนหัว 7-15 เท่า ลักษณะค่อยๆ เรียวเล็กลง ทำหน้าที่โบกพัดช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวไปข้างหน้า น้ำอสุจิที่หลั่งออกมาจะมีตัวอสุจิรูปร่างผิดปกติปนอยู่ด้วย แต่ไม่เกิน 30-40% ถ้าเกินถือว่าผิดปกติ และอาจส่งผลต่อการปฏิสนธิกับไข่ของผู้หญิง
  • เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell) ควรมีเม็ดเลือดขาวในน้ำอสุจิไม่เกิน 1 ล้านเซลล์ต่อมิลลิลิตร ถ้ามีเม็ดเลือดขาวมากกว่านี้อาจบ่งชี้ถึงการติดเชื้อ
  • เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cell) เม็ดเลือดแดงในน้ำอสุจิควรมีน้อยกว่า 1 ล้านเซลล์ต่อมิลลิลิตร ถ้ามากกว่านี้ อาจแสดงถึงการติดเชื้อหรือบาดเจ็บหลังจากการหลั่งน้ำอสุจิ

3.3. การตรวจตัวอสุจิด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Computer Assisted Sperm Analysis: CASA)

การตรวจตัวอสุจิด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ จะเหมือนการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ แต่จะใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยประมวลผล ทั้งจำนวน การเคลื่อนที่ ความเร็ว และรูปร่างของอสุจิ ซึ่งแม่นยำกว่าการใช้สายตามนุษย์เพียงอย่างเดียว

จากนั้นแพทย์จะนำผลการตรวจ มาประกอบกับประวัติสุขภาพของผู้รับบริการ เช่น ประวัติการใช้ยา การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา โรคประจำตัว การได้รับอุบัติเหตุ การผ่าตัด ฯลฯ เพื่อประเมินภาวะมีบุตรยาก โดยเปรียบเทียบค่ามาตรฐานตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก

อสุจิผิดปกติเกิดจากอะไร?

ความผิดปกติของอสุจิที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

  • อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป จะมีความสมบูรณ์ทางเพศน้อยลง
  • ท่อนำเชื้อ หรือท่อปัสสาวะตีบตัน
  • มีภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ
  • มีความเครียดสูง
  • มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • มีการใช้สารเสพติด เช่น โคเคน กัญชา จนส่งผลต่อคุณภาพและความแข็งแรงของอสุจิ
  • มีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ
  • เป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการไคลน์เฟลเดอร์ (Klinefelter's syndrome)
  • เป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ุ เช่น มะเร็งอัณฑะ หนองในแท้ เป็นต้น
  • เคยผ่านการผ่าตัดมาก่อน เช่น การผ่าตัดอัณฑะ การทำหมันชาย
  • ผลกระทบจากยาบางชนิด เช่น ซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine) อนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolicsteroids) ยาเคมีบำบัด รวมถึงสมุนไพรบางอย่างที่อาจส่งผลต่อการผลิตอสุจิ หรือทำให้อัณฑะมีขนาดเล็กลง
  • ขาดสารอาหาร หรือมีภาวะอ้วน ก็อาจทำให้ผลิตอสุจิได้ลดลง
  • ขาดการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง และส่งผลต่อความแข็งแรงของอสุจิ
  • ความผิดปกติอื่นๆ ของอัณฑะ เช่น อัณฑะเสียหายจากการติดเชื้อ ภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง หรือความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เป็นต้น

การตรวจอสุจิใช้เวลานานไหม?

การเก็บอสุจิมักใช้เวลาไม่เกิน 15-30 นาที และทราบผลการตรวจได้ภายใน 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้รับบริการเก็บอสุจิ

ผลตรวจสุจิไม่ผ่านเกณฑ์จะท้องได้หรือไม่?

แม้ผลการตรวจอสุจิจะไม่ผ่านเกณฑ์ก็ยังสามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้ แต่โอกาสจะน้อยลง เนื่องจากการหลั่งอสุจิหนึ่งครั้ง ควรมีปริมาณอสุจิอย่างน้อย 10-15 ล้านตัว จึงจะเพียงพอต่อการปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ หากมีปริมาณอสุจิไม่เพียงพอ หรืออสุจิเคลื่อนที่ช้ากว่าปกติ ก็จะลดโอกาสตั้งครรภ์ลง

ตรวจอสุจิด้วยตัวเองได้ไหม?

แม้ในปัจจุบันจะมีชุดตรวจอสุจิด้วยตัวเองแต่ก็ยังไม่แพร่หลายนัก และอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น เมื่อหลั่งอสุจิออกมาแล้วอสุจิโดนอากาศและความร้อน ตัวอสุจิจะตายหมดอย่างรวดเร็ว หรือถ้าไม่รีบนำอสุจิเข้าห้องปฎิบัติการหรือห้องแล็บภายใน 1 ชั่วโมง ตัวอสุจิจะตายหมดเช่นกัน ดังนั้นควรเข้ามาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะทำการตรวจอสุจิจะดีกว่า และไว้ผลวิเคราะห์ที่แน่นอนอย่างละเอียดอีกด้วย

ตรวจอสุจิ ราคาประหยัด

ในอดีตภาวะการมีบุตรยากมักมุ่งเน้นต้นเหตุไปที่ฝ่ายหญิง แต่ปัจจุบันภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายชายสูงขึ้นจนไม่สามารถมองข้ามได้ จากสภาพแวดล้อมและวิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป การตรวจอสุจิทำให้ทราบภาวะการมีบุตรของฝ่ายชาย เพื่อช่วยวางแผนการและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ให้สำเร็จ

เช็กราคาตรวจอสุจิจากคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดให้ฟรี โดยแอดมินของ HDmall.co.th


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • นสพ.โสภณ โพธิรัชต์, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การตรวจวิเคราะหน้ำอสุจิ, (https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/wp-content/uploads/2019/12/การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ.pdf).
  • หน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์, ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร,( https://med.nu.ac.th/home/photo_News/301_คำแนะการเก็บน้ำเชื้ออสุจิเพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะมีบุตรยาก.pdf).
  • นายต้นกล้า อินสว่าง, นางสาวสาวิณี นาสมภักดิ์, ศูนย์เครื่องมือวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, วิธีการปฏิบัติงานเครื่อง Computer aided sperm analysis (CASA), ( https://ric.kku.ac.th/ricv3/my... กรกฎาคม 2563.
@‌hdcoth line chat