น้ำเกลือ มีกี่ชนิด มีข้อบ่งใช้ ข้อควรระวังมีอะไรบ้าง

น้ำเกลือถือเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดไม่ได้ โดยน้ำเกลือที่ถูกนำไปใช้ทางการแพทย์ จะไม่ได้เป็นแค่น้ำผสมน้ำเกลือเท่านั้น แต่ได้ผสมแร่ธาตุต่างๆ เข้าไปในสัดส่วนที่พอดีกับความเข้มข้นของน้ำในร่างกาย

หากสังเกตดีๆ เราจะพบว่า รสชาติของเหงื่อไม่ได้มีรสจืดเหมือนน้ำ แต่มีรสเค็มเหมือนกับน้ำเกลือ ซึ่งนี่คือที่มาว่า ทำไมต้องมีการใช้น้ำเกลือในการรักษาพยาบาล

ความสำคัญของน้ำเกลือ

โดยปกติธรรมชาติของร่างกายเรา จะมีการสูญเสียน้ำเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นทางปัสสาวะ ทางเหงื่อ หรือการหายใจที่จะมีไอน้ำออกมา โดยร่างกายของคนเราจะขับเอาน้ำออกมาราวๆ 2-2.5 ลิตรต่อวัน

เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ เมื่อสูญเสียน้ำไปก็จำเป็นต้องรับน้ำจากภายนอกเข้ามาเพิ่ม โดยหลักๆ คือ ผ่านการดื่มน้ำและการรับประทานอาหารที่มีน้ำมาก เช่น ผลไม้ที่มีน้ำมาก  เช่น แตงโม ซุป

นอกจากนี้ ยังมีอีกช่องทางอื่นที่สามารถรับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้อีก คือ การให้น้ำเกลือ สาเหตุที่ต้องให้น้ำเกลือแทนการให้สารน้ำธรรมดา เพราะ ความเข้มข้นของน้ำธรรมดากับน้ำในร่างกายคนเรามีความแตกต่างกัน และน้ำที่พอจะทดแทน รวมถึงเข้มข้นในระดับพอๆ กับน้ำในร่างกายคนได้ ก็คือ น้ำเกลือนั่นเอง

ส่วนผสมของน้ำเกลือ 

น้ำเกลือสำหรับให้ร่างกายจะไม่มีรสชาติเค็มมากเกินไป และภายในร่างกายจะประกอบไปด้วยเกลือแร่ชนิดต่างๆ เช่น โซเดียมคลอไรด์ โพแทสเซียม น้ำตาลหลากหลายชนิด และไบคาร์บอน

โดยสรุปแล้วองค์ประกอบของตัวน้ำเกลือ จะมีน้ำและเกลือแร่ชนิดต่างๆ ปะปนอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำเกลือที่มีการแบ่งชนิดออกตามระดับความเข้มข้น การใช้งานจึงแตกต่างกันออกไป

นอกจากนี้ น้ำเกลือยังมีข้อบ่งชี้การใช้ที่แม้จะไม่เป็นอันตราย แต่ควรระมัดระวัง เพราะมิเช่นนั้นอาจส่งผลเสียทางอ้อมต่อสุขภาพร่างกายได้

ชนิดของน้ำเกลือ

น้ำเกลือเป็นส่วนผสมระหว่างน้ำ และเกลือแร่ชนิดต่างๆ ที่อาจมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย เราแบ่งตามความเข้มข้นของน้ำเกลือได้ดังนี้

  1. น้ำเกลือชนิดนอร์มัลซาไลน์ (Normal Saline Solution: NSS) คือ น้ำเกลือแบบธรรมดา ความเข้มข้นอยู่ที่ 0.9 % เป็นค่าที่เท่ากับเกลือที่อยู่ในกระแสเลือดของคนทั่วไป
  2. 5% เดกซ์โทรสใน 1/3 นอร์มัลซาไลน์ (5% Dextrose in 1/3 NSS) เป็นการผสมระหว่างน้ำตาลเดกซ์โทรสที่มีความเข้มข้น 5 % ร่วมกับน้ำเกลือความเข้มข้น 0.3 % ซึ่งน้อยกว่าน้ำเกลือธรรมดา
  3. 5% เดกซ์โทรสในนอร์มัลซาไลน์ (5% Dextrose in NSS: 5% D/NSS หรือ 5 DNSS) เป็นการผสมระหว่างน้ำเกลือธรรมดากับน้ำตาลเดกซ์โทรส 5 %
  4. 5% เดกซ์โทรส (5% Dextrose in water: 5%D/W) เป็นน้ำเกลือที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเดกซ์โทรสอยู่ด้วย ซึ่งอยู่ในระดับความเข้มข้น 5 % โดยไม่มีส่วนผสมของเกลือแร่

การใช้น้ำเกลือในทางการแพทย์

ในทางการแพทย์จะใช้น้ำเกลือเพื่อประโยชน์ด้านการรักษาผู้ป่วยหลายด้าน เช่น

  • ผู้ที่อาเจียนอย่างหนัก จนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ
  • ผู้ที่มีอาการท้องเดิน
  • ผู้ที่มีมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องอดอาหารก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • ผู้ที่เสียเลือดมากจนเกิดภาวะช็อก เป็นลม หมดสติ
  • ผู้ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำตามปกติได้
  • ผู้ป่วยที่ต้องใช้สารน้ำเป็นทางผ่านก่อนส่งยาเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ง่ายต่อการฉีดยา โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัวหลายๆ ครั้ง
  • ใช้เป็นอาหารทดแทน

หลายคนเข้าใจผิดว่า น้ำเกลือเป็นยาบำรุงร่างกาย หรือยาบำรุงเลือด เป็นตัวช่วยรักษาบาดแผล หรือฆ่าเชื้อ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด

ข้อควรระมัดระวังในการใช้น้ำเกลือ

แม้น้ำเกลือจะมีความปลอดภัย ทว่ามีระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ซึ่งจะแบ่งประเภทการใช้งานให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในช่วงนั้นๆ

ตามหลักการแพทย์ น้ำเกลือเป็นตัวช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วย และบรรเทาอาการบางอย่าง แต่ในการใช้งานจะต้องใช้อย่างระมัดระวังโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้

  1. กรณีที่มีผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้น้ำเกลือที่มีส่วนผสมของ NSS แต่ให้เลือกใช้น้ำเกลือในที่มีความเข้มข้นเพียง 0.3 % ก็เพียงพอ
  2. หลีกเลี่ยงการให้น้ำเกลือพร่ำเพรื่อ แต่ให้เฉพาะกับคนที่จำเป็นต้องได้รับเท่านั้น เนื่องจากน้ำเกลือเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของร่างกาย การได้รับมากเกินไปย่อมส่งผลเสียตามมา
  3. ผู้ป่วยที่มีภาวะบวมน้ำ หรือเป็นโรคไตวาย จะต้องใช้อยู่ในความดูแลของแพทย์ ไม่ควรใช้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นมาก เพราะเสี่ยงที่จะทำให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดภาวะหัวใจวาย หรือน้ำคั่งในปอดจนเป็นภาวะปอดบวมน้ำตามมา
  4. น้ำเกลือที่นำมาใช้จะต้องมีความเข้มข้นเท่ากับ “เกลือที่อยู่ภายในเลือด” หากได้รับน้ำเกลือที่เข้มข้นต่างไปจากนี้อาจส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล ได้รับเกลือแร่ที่เข้มข้นมากเกินไปจนเสียชีวิตตามมาได้
  5. พึงตระหนักว่า การให้น้ำเกลืออาจเกิดผลข้างเคียงได้หลายประการ เช่น อาการปวดบริเวณที่ให้น้ำเกลือ การติดเชื้อ เส้นเลือดดำอักเสบ ภาวะน้ำเกิน หรือเกลือแร่ผิดปกติ เกิดลิ่มเลือด และอุณหภูมิในร่างกายต่ำ
  6. กรณีพบอาการหนาวสั่น รู้สึกไม่สบาย หรือมีอาการผิดปกติอื่นใดในระหว่างให้น้ำเกลือ ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลในทันที

จะเห็นได้ว่า น้ำเกลือคือ น้ำที่มีความเข้มข้นเท่ากับน้ำในร่างกายของเรา เมื่อเกิดภาวะต่างๆ ที่ร่างกายจำเป็นต้องได้น้ำเข้าไปทดแทนโดยไม่ผ่านการดื่ม จำเป็นต้องใช้น้ำเกลือ

ที่สำคัญ ควรใช้น้ำเกลือภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เพราะผู้ป่วยแต่ละรายมีความจำเป็นต้องใช้น้ำเกลือแตกต่างกันนั่นเอง


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top