ยาแก้ปวด แก้ปวดฟัน เม็ดสีชมพู กินอย่างไร ทานต่อเนื่องได้ไหม

เมื่อมีอาการปวดฟัน ไม่ว่าจะเกิดจาก รักษารากฟัน ผ่าฟันคุด หรือฟันผุ แพทย์มักจ่ายยาแก้ปวดฟันเม็ดสีชมพู ทำให้หลายคนเข้าใจว่ายาชนิดนี้เป็นพาราเซตามอลชนิดหนึ่ง แต่เมื่อไปซื้อตามร้านขายยากลับไม่ได้ตามที่ต้องการ เพราะจริงๆ แล้วยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดฟันเม็ดสีชมพู คือ ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

ยา Ibuprofen ใช้รักษาอาการปวดจากโรคหลายชนิด เช่น ปวดหัว ปวดฟัน ปวดท้องประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ หรือโรคข้ออักเสบ อาการปวดจากไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ถึงจะดีกว่าพาราเซตามอลตรงที่มีฤทธิ์ค่อนข้างกว้างกว่าโดยเฉพาะเรื่องลดปวดกล้ามเนื้อ แต่ความปลอดภัยน้อยกว่า ซึ่งถ้าหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดความผิดปกติในกระเพาะอาหารได้

ขนาดยาไอบูโพรเฟนที่มีวางจำหน่าย

ยาไอบูโพรเฟนที่วางจำหน่ายทั่วไปมี 2 ขนาด ดังนี้

  • ขนาด 400 มิลลิกรัม มักใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือน อาการปวดในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง หรือใช้ลดไข้
  • ขนาด 600 มิลลิกรัม จะมีปริมาณตัวยาสำคัญสูงกว่า ปกติแล้วแพทย์มักจะใช้ไอบูโพรเฟนขนาด 600 มิลลิกรัมนี้เพื่อบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เนื่องจากภาวะดังกล่าวมักมีอาการที่รุนแรงกว่าอาการปวดทั่วไป

ไอบูโพรเฟนไม่ควรกินเกินวันละเท่าไร?

ปริมาณขนาดการใช้ยาสูงสุดในผู้ใหญ่ คือ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน

หากต้องการใช้ยาไอบูโพรเฟนสำหรับบรรเทาอาการปวดฟัน ควรรับประทานขนาด 200-400 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ถ้าหากอาการปวดยังไม่บรรเทา สามารถเพิ่มขนาดยาเป็น 600 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง

ดังนั้น ถ้ารับประทานขนาด 400 มิลลิกรัม ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 6 เม็ด แต่ถ้ารับประทานขนาด 600 มิลลิกรัม ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 4 เม็ด

ข้อควรระวังในการใช้ยาไอบูโพรเฟน

ในการรักษาอาการปวดฟัน ไม่ควรรับประทานไอบูโพรเฟนต่อเนื่องกันเกิน 7 วัน เนื่องจากยาจะทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร หากรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว อาการปวดฟันหลังทำหัตถการ มักจะหายเป็นปกติโดยใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน

ยา Ibuprofen ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจเกิดการใช้ยาผิดโรคได้ อย่างไรก็ตาม หากหลังจากรับประทานยา อาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่เหมาะสม ควรปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยาหรือแพทย์ก่อนใช้ยาเป็นประจำ อย่าเพิ่งคิดว่าใช้แก้ปวดแบบครอบจักรวาลแบบพาราเซตามอล

ยาแก้ปวดฟันทางเลือกอื่น

หากต้องการแก้ปวดฟันชั่วคราว นอกจากยาเม็ดสีชมพูแล้ว ยังมียาชนิดอื่นที่สามารถสอบถามเภสัชกรได้

  • ยาแก้ปวดประเภท NSAIDs (ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) เช่น Naproxen, Aspirin
  • ยาแก้ปวดประเภทพาราเซตามอล
  • ยาชาเฉพาะที่ ที่มีส่วนผสมของ Lidocaine gel หรือ Orajel

ทั้งนี้ การเลือกใช้ยาขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการปวดฟัน หากอาการปวดยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาทันตแพทย์

Scroll to Top