ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เรื่องควรรู้

ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) คือยาที่ใช้กันได้ทั่วไปในการรักษาอาการปวด ลดการอักเสบ และลดไข้ โดยมากจะใช้ในการลดอาการปวดศีรษะ ปวดท้องประจำเดือน ขาแพลง ปวดข้อ หรือแก้ไข้หวัด เป็นต้น ถึงแม้ยากลุ่มนี้จะมีการใช้อย่างแพร่หลายแต่ยาชนิดนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคน และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายในบางรายได้

ชนิดของยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) มีทั้งรูปแบบเม็ด แคปซูล ยาสอด ครีม เจล และยาฉีด บางชนิดสามารถซื้อได้จากร้านยาทั่วไป บางชนิดมีเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น

ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ชนิดหลักที่นิยมใช้ มีดังนี้

  • ไอบูโพรเฟน (ibuprofen)
  • นาพร็อกเซน (naproxen)
  • ไดโคลฟีแน็ค (diclofenac)
  • เซเลค็อกซิบ (celecoxib)
  • อีโทริค็อกซิบ (etoricoxib)
  • กรด เมทฟีนามิค (mefenamic acid)
  • อินโดเมทาซิน (indometacin)
  • แอสไพรินขนาดสูง (aspirin)

ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์เหมาะกับใคร

คนส่วนใหญ่สามารถใช้ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ได้ แต่ในบางรายอาจต้องใช้ยากลุ่มนี้อย่างระวัดระวัง ควรสอบถามเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้งหากท่านมีเงื่อนไขตรงตามหัวข้อดังนี้

  • อายุมากกว่า 65 ปี
  • ตั้งครรภ์ หรือ ต้องการมีบุตร
  • ให้นมบุตร
  • เป็นโรคหอบหืด
  • มีประวัติแพ้ยากลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์มาก่อน
  • เป็นโรคกระเพาะอักเสบหรือมีประวัติเป็นโรคกระเพาะอักเสบ
  • มีปัญหาทางด้านหัวใจ ไต ตับ ความดันโลหิต หรือระบบหมุนเวียนโลหิต
  • มียาที่ใช้ประจำ
  • ใช้ยาในเด็กที่อายุน้อยกว่า 16 ปี

ในกลุ่มผู้ใช้ดังกล่าวข้างต้น ไม่จำเป็นต้องห้ามใช้ยาแต่ควรใช้อย่างระมัดระวังมากกว่าคนปกติ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงสูงกว่า ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ผลข้างเคียงของยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์

ดังเช่นยาทั่วไป ยากลุ่มนี้ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หากใช้ยาขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน และผลข้างเคียงอาจสูงขึ้นในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • อาหารไม่ย่อย โดยอาจก่อให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ หรือ ท้องเสียได้
  • โรคแผลในกระเพาะอาหาร อาจก่อให้เกิดเลือดออกในทางอาหาร และเลือดจางได้ โดยอาจจะลดความเสี่ยงนี้ลงโดยให้ยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม (proton pump inhibitors, PPIs) ร่วมด้วยเพื่อลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • วิงเวียนศรีษะ
  • เหนื่อยล้า ง่วงนอน
  • ก่อให้เกิดการแพ้ยาได้

หากมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นขณะใช้ยา ควรหยุดยาและปรึกษาแพทย์ทันที

ปฏิกิริยาระหว่างยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์และยาอื่น

ยากลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้โดยอาจไปเพิ่มหรือลดผลข้างเคียง หรืออาจเพิ่มหรือลดฤทธิ์ยาได้เช่นกัน

ดังนั้นผู้ที่ใช้ยาเหล่านี้เป็นประจำ จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยากลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ดังนี้

  • ยากลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดอื่น
  • แอสไพรินขนาดต่ำ (low-dose aspirin)
  • วาร์ฟาริน (warfarin) ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ไซโคลสปอริน (ciclosporin) ยากดภูมิคุ้มกันที่ใช้รักษาโรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น โรคข้ออักเสบ (arthritis) หรือ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis) เป็นต้น
  • ยาขับปัสสาวะ (diuretics) เป็นยากลุ่มที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง
  • ลิเทียม (Lithium) เป็นยารักษาโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) หรือโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง (severe depression)
  • เมโธเทรกเซท (Methotrexate) ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis)
  • ยาต้านโรคซึมเศร้ากลุ่มที่ยับยั้งการดูดกลับของซีโรโทนิน หรือ selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI)

ปฏิกิริยาระหว่างยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์กับอาหาร และแอลกอฮอล์

ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ แต่โดยทั่วไปในการใช้ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์นั้นไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารชนิดใดเป็นพิเศษ แต่ยากลุ่มนี้ควรรับประทานหลังอาหารเพื่อลดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร

ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง แต่การดื่มปริมาณมากร่วมกับการใช้ยาอาจระคายเคืองกระเพาะอาหารได้

ยาทางเลือกอื่นทดแทนยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์

ยาชนิดอื่นที่ใช้ทดแทนได้คือยาพาราเซตามอล (paracetamol) ซึ่งสามารถหาซ้ื้อได้เองจากร้านยาทั่วไปและมีความปลอดภัยในการใช้

ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดทาใช้แทนการรับประทานได้ และมีผลข้างเคียงด้านการระคายเคืองกระเพาะอาหารที่ต่ำกว่าชนิดเม็ด


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top