กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อย่าปล่อยเรื้อรัง ระวังหัวใจหยุดเต้น


รวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นโรคที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย แต่หากปล่อยไว้นานไม่ได้รับการรักษา จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจถาวรจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ 

ส่งผลให้เกิดการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงของหัวใจ เกิดเป็นภาวะหัวใจขาดเลือด หรือลิ่มเลือดที่หัวใจไหลตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ และหากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบขั้นรุนแรง อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะและหัวใจหยุดเต้น เป็นอันตรายถึงชีวิตในที่สุด

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สามารถเกิดได้ทั้งเพศชายและหญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป ซึ่งบางรายไม่รู้ตัวว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เพราะอาการที่แตกต่างและหลากหลายของโรค

HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกับโรคนี้มากขึ้น และรู้ถึงการดูแลและป้องกันก่อนที่อาการจะรุนแรงจนรักษาให้หายได้ยาก


เลือกอ่านข้อมูลกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคืออะไร?

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือหัวใจอักเสบ (Myocarditis หรือ Inflammatory Cardiomyopathy) คือ ภาวะที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อสำคัญที่ทำหน้าที่บีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและอวัยวะทั่วร่างกาย 

ดังนั้นเมื่อเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจขึ้น การสูบฉีดเลือดของหัวใจจะลดน้อยลง ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจมีอาการหลายชั่วโมง และเป็นต่อเนื่องหลายเดือน จนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง

ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจเกิดการอุดตันของลิ่มเลือดในหัวใจ และนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย หรือหัวใจหยุดเต้น ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ราคา

อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นอย่างไร?

อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบหรือความอ่อนแอและความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก เหมือนถูกของมีคมแทง
  • หายใจลำบาก และจะมีอาการแย่ลงเมื่อนอนราบหรืออยู่ในท่าคว่ำ
  • เหนื่อยง่าย เมื่อออกแรงมากขึ้น
  • บวมตามขา ข้อเท้า และเท้า
  • ใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นแรงและเต้นผิดจังหวะ
  • หายใจถี่ขณะพักหรือระหว่างทำกิจกรรมทั่วไป
  • มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ มีไข้ หรือเจ็บคอ
  • วิงเวียนศีรษะและเป็นลมบ่อยครั้ง เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
  • หมดสติกระทันหัน และอาจเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว
  • บางรายอาจไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการอื่นที่เป็นสาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ มีผื่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ตามข้อ และกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร รวมถึงอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้องร่วมกับท้องเสีย อาเจียน เป็นต้น
  • ในกรณีเด็กที่มีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะพบอาการเซื่องซึม ปวดท้อง อาเจียน ตัวเย็น ไอมีเสมหะ มีไข้และอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก หายใจหอบถี่ขึ้น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ซึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคหอบหืด หากเป็นเด็กเล็กอาจมีการดูดนมช้าหรือน้อยลง มีอาการกระวนกระวาย ตัวซีด มีเหงื่อออกมากผิดปกติ บางรายอาจตัวเขียว ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้ต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดจากอะไร?

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดจากสาเหตุหลากหลายประการ ที่พบบ่อย ได้แก่

  • การติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุดของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ได้แก่ ไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโรคหัด และไวรัสโรคหัดเยอรมัน และจากไวรัสอื่น เช่น ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น
  • การติดเชื้อโรคอื่น ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียพบได้รองลงมาจากไวรัส เช่น เชื้อแบคทีเรียสตาฟิโลคอคคัส ออเรียส(Staphylococcus Aureus) ที่เป็นสาเหตุของโรคพุพอง และแบคทีเรียโครินแบคทีเรียมดิฟทีเรีย(Corynbacterium diphtheria) ที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ เชื้อวัณโรค และโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา เป็นต้น ติดเชื้อราหรือเชื้อยีสต์ พบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ รวมถึงติดเชื้อในกลุ่มเชื้อปรสิต ซึ่งพบได้น้อยมาก
  • ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยาต้านอาการชัก ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง และยาต้านไวรัส รวมถึงยาเสพติดอย่างโคเคน เป็นต้น
  • โรคประจำตัว เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้อรูมาตอยด์ หรือโรคที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกาย เช่น โรคคาวาซากิ (โรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดแดงในร่างกาย) และโรคทากายาสุ (โรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดขนาดเล็กที่เรียกว่า Wegener's Granulomatosis) เป็นต้น
  • การแพ้ยา เช่น การแพ้ยาปฏิชีวนะ
  • สารพิษบางชนิด เช่น สารหนู สารตะกั่วหรือก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์ เป็นต้น
  • พิษของสัตว์ เช่น พิษ งู ผึ้ง ต่อ แมงป่อง และแมงมุม เป็นต้น
  • สาเหตุอื่น อาทิเช่น การได้รับรังสีรักษาบริเวณหัวใจ การทำเคมีบำบัด หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ราคา

ใครเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ?

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ได้แก่

  • ผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ไม่ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และไม่รักษาความสะอาด ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคได้ง่าย
  • ผู้ที่ต้องมีการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด เป็นประจำ
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดทุกชนิด หรือผู้ที่มีการสัมผัสสารเคมีและสารรังสี
  • ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคหัดเยอรมัน หรือโรคคอตีบ เป็นต้น
  • ผู้ที่เคยได้รับพิษจากสัตว์ที่เป็นสาเหตุของโรค

การวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีอาการแตกต่างและคล้ายกับหลายโรค เช่น เนื้อเยื่อหัวใจอักเสบ และบางรายอาจแสดงอาการที่มาจากสาเหตุของการเกิดโรค ทั้งนี้ การวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามถึงอาการที่เกิดขึ้น รวมถึงประวัติการแพ้ยาหรือโรคประจำตัว เพื่อจะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นต่อไป ได้แก่

  • ตรวจร่างกายเบื้องต้นและตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุของการอักเสบหรือติดเชื้อ เช่น ตรวจวัดระดับเอนไซม์เพื่อบ่งบอกถึงความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ และตรวจภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำหน้าที่ต่อต้านต่อเชื้อไวรัสหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
  • ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก ปอด หัวใจ เพื่อตรวจขนาดและรูปร่างของหัวใจ
  • ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG/EKG) เพื่อตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติและตรวจความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อให้เห็นภาพของรูปร่างและโครงสร้างของหัวใจและตรวจการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ตรวจเอคโคหัวใจ (Echocardiogram) เป็นการใช้คลื่นเสียงเพื่อจำลองภาพการทำงานของหัวใจและความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะหัวใจโต การสูบฉีดเลือดที่ผิดปกติ ปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ การอุดตันภายในหัวใจหรือมีของเหลวในเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น
  • การสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) และตรวจตัวอย่างกล้ามเนื้อหัวใจ (Endomyocardial Biopsy) เป็นการสอดสายสวนขนาดเล็กทางหลอดเลือดดำบริเวณขาหรือลำคอผ่านเข้าไปยังหัวใจ เพื่อตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อจากกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการและนำมาใช้วินิจฉัยอาการอักเสบหรือติดเชื้อ ทั้งนี้ปกติแล้ว แพทย์จะตัดชิ้นนเนื้อบางส่วนไปตรวจก่อนเป็นขั้นตอนสุดท้าย จึงจะยืนยันว่ามีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือไม่ พร้อมไปกับการพิจารณาแนวทางที่ใช้ในการรักษาต่อไป

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรักษาอย่างไร?

การรักษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะขึ้นกับสาเหตุและระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่แพทย์จะทำการรักษาได้ 3 วิธี ดังนี้

1. รักษาจากสาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
  • การติดเชื้อไวรัสชนิดที่มียาต้านไวรัส รักษาด้วยยาต้านไวรัส
  • การแพ้ยา รักษาด้วยการหยุดใช้ยาหรือให้ยาแก้แพ้ที่เป็นสาเหตุของโรค

2. รักษาเพื่อประคับประคองตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น

  • หากมีไข้หรืออาการปวด ก็ให้รับประทานยาแก้ปวด ลดไข้
  • หากมีภาวการณ์ขาดออกซิเจน อาจพิจารณาให้ออกซิเจน
  • หากรับประทานอาหารได้น้อย หรือมีระดับเกลือแร่ผิดปกติ อาจให้น้ำและอาหารทางหลอดเลือดดำ

3. ป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น เช่น

  • ลดปริมาณเกลือโซเดียมในเลือด ด้วยการจำกัดอาหารเค็ม เนื่องจากเกลือโซเดียมในเลือด ซึ่งทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หัวใจทำงานมากขึ้น จึงมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่าย
  • ควบคุมโรคประจำตัวที่มีผลต่อภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยจำกัดอาหารที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาลมาก แต่เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและพยายามลดความเครียด
  • งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบกี่วันหาย?

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสามารถรักษาให้หายได้ แต่จะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ อาการขณะที่ตรวจพบ การตอบสนองต่อการรักษา โรคประจำตัว และหากรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจมีโอกาสรักษาให้หายได้มากกว่า 50%

แต่หากมาพบแพทย์ขณะที่มีอาการมากหรือรุนแรงแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีภาวะหัวใจล้มเหลว อัตราการเสียชีวิตจะสูง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนอื่นเกิดขึ้น ได้แก่ หัวใจล้มเหลว จากกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอกับความต้องการ รวมถึงโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง จากลิ่มเลือดในหัวใจหลุดไปอุดตันที่เส้นเลือดสมอง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้นฉับพลัน เป็นต้น

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ราคา

การป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

หัวใจสำคัญของการป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คือ การป้องกันการติดเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พร้อมกับการลดความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รักษาความสะอาดและสุขอนามัยให้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละวัน โดยควรลดอาหารเค็ม หวาน แป้ง น้ำตาล ไขมัน แต่ควรเพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้สารเสพติดทุกชนิด หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อไวรัส หรือผู้ที่มีอาการไข้หวัด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่เป็นสาเหตุโรค และสารรังสีโดยไม่จำเป็น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัดเยอรมัน วัคซีนโรคคอตีบ วัคซีนโรคหัด วัคซีนไวรัสตับอีกเสบ บี

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีความรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นได้จากอาการง่ายๆ เช่น การเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก การดูแล ป้องกัน และลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สามารถทำได้ไม่ยาก เพียงใส่ใจสุขอนามัย ความสะอาดป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโรค และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ถือเป็นการรักษาที่ดีที่สุด

เช็กราคาการตรวจหลอดเลือดหัวใจตีบ จากคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดให้ฟรี โดยแอดมินของ HDmall.co.th


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Mayaclinic.org, Myocarditis, (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/myocarditis/symptoms-causes/syc-20352539).
  • ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์, เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยด้านหัวใจ, (https://www.chulabhornhospital.com/Medical_Detail/74/ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด).
  • โพสต์ทูเดย์, การค้นพบใหม่ สู่การชี้ชัดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, (https://www.posttoday.com/post-next/innovation/688501), 19 ธันวาคม 2565.
  • John Hopkins medicine, Myocarditis, (https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/myocarditis).
@‌hdcoth line chat