รู้ทันไมเกรน จัดการได้


ไมเกรน รู้ทัน รักษาได้ จัดการได้

ไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะที่พบบ่อย และเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แม้จะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ส่งผลกระทบทั้งการทำงานและชีวิตประจำวัน เพราะต้องรับมือกับอาการปวดที่เพิ่มระดับรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และหากเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นเวลานานๆ ก็อาจทำให้เสียสุขภาพจิตและอาจเกิดความวิตกกังวลถึงการเป็นโรคร้ายอื่นๆ ได้

HDmall.co.th จึงได้รวบรวมข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับไมเกรน มาฝากกัน เพื่อให้ผู้มีอาการปวดศีรษะ ไม่กังวลมากเกินไป และสามารถแยกแยะได้ว่า อาการปวดศีรษะของตนจัดเป็น ‘ไมเกรน’ หรือไม่


เลือกอ่านข้อมูลรักษาไมเกรนได้ที่นี่

  • ปวดศีรษะไมเกรนคืออะไร?
  • อาการปวดศีรษะไมเกรน
  • สาเหตุของอาการปวดศีรษะไมเกรน
  • รักษาไมเกรนมีกี่วิธี?
  • ข้อดีและข้อเสียรักษาไมเกรนแต่ละแบบ
  • การดูแลตัวเองหลังรักษาไมเกรน
  • ไมเกรนแบบไหนควรไปพบแพทย์

  • ปวดศีรษะไมเกรนคืออะไร?

    ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine) คือ อาการปวดศีรษะซ้ำๆ ข้างเดียว และปวดรอบกระบอกตา โดยบางครั้งอาจลามไปปวดทั้งสองข้างหรือปวดสลับซ้ายขวา มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสงและเสียงเกิดขึ้นด้วย ระยะเวลาของอาการปวดโดยทั่วไปจะไม่เกิน 1 วัน แต่ก็มีบางรายที่อาจปวดนาน 2-3 วันได้

    การปวดศีรษะไมเกรน มีสาเหตุมาจากระบบไฟฟ้าที่ผิวสมองเกิดความผิดปกติ ทำให้สมองถูกกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าปกติ ซึ่งการกระตุ้นของกระแสไฟฟ้านี้จะทำให้การไหลเวียนของเลือดและระบบประสาทของสมองเปลี่ยนแปลงไป และยังเข้าไปกระตุ้นเส้นประสาทสมอง ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนขึ้น

    ไมเกรนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

    1. ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน (Migraine Without Aura) เป็นการปวดแบบเฉียบพลัน ไม่มีสัญญาณล่วงหน้าใดๆ โดยทั่วไป ผู้มีอาการไมเกรนมักเป็นแบบที่ไม่มีอาการเตือน
    2. ไมเกรนที่มีอาการเตือน (Migraine With Aura) เป็นการปวดที่มีอาการเตือนก่อน อาการที่พบทั่วไป ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นคล้ายฟันเลื่อย อาจมีหรือไม่มีสี เห็นภาพมืดบางส่วน เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพบิดเบี้ยว เป็นต้น และอาจมีอาการเตือนอื่น เช่น อาการชาที่มือ แขน หรือรอบปาก พูดไม่ได้ชั่วคราว อาการอ่อนแรงของแขนและขาซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น

    อาการปวดศีรษะไมเกรน

    อาการปวดศีรษะไมเกรนพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3.5 เท่า ซึ่งไมเกรนถือเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและสร้างความรำคาญให้กับผู้ที่มีอาการ

    อาการของไมเกรนที่พบโดยทั่วไป ได้แก่

    • อาการปวดหัวตุ้บๆ บริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจทั้งสองข้างก็ได้
    • อาการคลื่นไส้ อาเจียน
    • ความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง
    • บางรายอาจมีอาการปวดรอบกระบอกตาและตาพร่ามัว

    อาการปวดศีรษะไมเกรน แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

    1. ระยะอาการบอกเหตุ (Prodrome) จะเกิดในช่วง 1-2 วันแรกก่อนปวดศีรษะไมเกรน มีอาการดังนี้

    • การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือ ภาวะเคลิ้มสุข เป็นต้น
    • อยากอาหารบางอย่างเป็นพิเศษ
    • ปวดตึงบริเวณคอ
    • กระหายน้ำบ่อย
    • ปัสสาวะบ่อยขึ้น
    • หาวบ่อยกว่าปกติ
    • ท้องผูก

    2. ระยะอาการเตือน (Aura) เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นก่อนหรือพร้อมกับการปวดไมเกรนก็ได้ และอาจเกิดหลายอาการพร้อมกัน ได้แก่

    • การมองเห็นแสงกะพริบ หรือสายตาพร่ามัว
    • มองเห็นแสงลักษณะซิกแซก เป็นคลื่น หรือเป็นจุดแสงวาบ
    • การมองเห็นภาพรูปทรงต่างๆ ผิดขนาด
    • การเกิดความผิดปกติของร่ายกายด้านอื่น เช่น การเคลื่อนไหวผิดปกติ พูดลำบาก กล้ามเนื้อคล้ายจะอ่อนแรง ชาที่มือหรือเท้า ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆ เกิดขึ้น และจะมีความรู้สึกต่อเนื่องเป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมง

    3. ระยะที่เกิดอาการปวดศีรษะ (Headache) มีอาการ ดังนี้

    • ปวดศีรษะตุ้บๆ ข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง บริเวณขมับ โดยอาการปวดรุนแรงตั้งแต่ปานกลางถึงมาก
    • ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • เวียนศีรษะ หน้ามืด หรือเป็นลม
    • ไวต่อแสง เสียง และกลิ่น ซึ่งจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น
    • หากทำกิจวัตรที่เคลื่อนไหว เช่น การเดินหรือขึ้นบันได จะทำให้ปวดศีรษะมากขึ้น
    • อาการปวดศีรษะจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 4 ชั่วโมง จนเป็นวัน และหากไม่ได้รับการรักษาจะนานกว่านี้

    4. ระยะที่หายจากการปวดศีรษะ (Postdrome) เป็นระยะที่เกิดหลังจากการปวดศีรษะไมเกรน โดยมีอาการดังนี้

    • สับสบ มึนงง
    • รู้สึกหงุดหงิด
    • เวียนศีรษะ
    • อ่อนล้า อ่อนแรง

    อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะไมเกรนอาจมีไม่ครบทั้ง 4 ระยะ หรืออาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ไม่มีอาการเตือนใดๆ ก็ได้ แต่หากมีอาการเตือน อาการจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเกิดอาการต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ก่อนจะปวดศีรษะ

    เช็กราคารักษาไมเกรน

    สาเหตุของอาการปวดศีรษะไมเกรน

    สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่

    • อารมณ์ด้านลบ เช่น เครียด วิตกกังวล ช็อก หรือซึมเศร้า เป็นต้น
    • สภาพร่ายกาย เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หรือออกกำลังกายที่ใช้พลังมากเกินไป เป็นต้น
    • อาหาร เช่น การรับประทานอาหารที่มีสารไทรามีน ได้แก่ เนยแข็ง หรืออาหารที่มีส่วนผสมของไนไตรท์ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน น้ำตาลเทียม การดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มชากาแฟ หรือการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น
    • สิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น มีแสงสว่างจ้า มีเสียงดัง มีกลิ่นฉุนรุนแรง มีบรรยากาศร้อนอบอ้าวหรือร้อนชื้น และได้รับควันนบุหรี่ในห้องแบบปิด เป็นต้น
    • อาการออฟฟิศซินโดรม หรือโรคพังผืดของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือก้มหน้านานๆ หรือ อาการกล้ามเนื้อบริเวณคอตึง
    • อาการปวดรอบเดือนของผู้หญิงบางคนอาจเป็นสาเหตุของการปวดไมเกรนได้
    • ภาวะหลังการคลอดบุตร โดยช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจะสูงขึ้น และลดลงหลังคลอดบุตร เมื่อฮอร์โมนลดลง ก็อาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้

    รักษาไมเกรนมีกี่วิธี?

    การรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน จะขึ้นอยู่กับความถี่และความรุนแรงของการปวดศีรษะ โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งปัจจุบันมี 3 วิธีหลักๆ ดังนี้

    1. การรักษาไมเกรนด้วยยา

    มีการใช้ยาหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ดังนี้

    • ยาบรรเทาอาการปวดกรณีอาการไม่รุนแรงหรือปานกลาง ผู้มีอาการสามารถใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดอื่นๆ ช่วยลดอาการปวดไมเกรนได้
    • ยาบรรเทาอาการปวดสำหรับอาการปวดที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นยาแก้ปวดสำหรับผู้มีอาการปวดไมเกรนโดยเฉพาะ ได้แก่ ยาเออร์กอต (Ergots) ที่มีส่วนผสม 2 ตัวระหว่างยาคือ เออร์โกตามีนและคาเฟอีน
    • ยาสำหรับบรรเทาอาการปวดไมเกรน และอาการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น อาการคลื่นไส้ อาการไวต่อแสงและเสียง ยาประเภทนี้เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ยากลุ่มทริปแทน (Triptans) มีทั้งประเภทยาเม็ด ยาพ่น และยาฉีด เช่น ยาซูมาทริปแทน ยาริซาทริปแทน ยาอีลีทริปแทน เป็นต้น

    2. การรักษาด้วยการฝังเข็ม

    เป็นศาสตร์แพทย์แผนจีน ที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองว่า สามารถรักษาโรคไมเกรนได้ ซึ่งใช้หลักการเลือกตำรับจุดฝังเข็มเพื่อรักษาอาการปวดศีรษะ โดยพิจารณาจากเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องทั้งตำแหน่งที่ปวด และสาเหตุที่ปวด

    โดยในเบื้องต้นแพทย์จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุของอาการปวดศีรษะ จากความผิดปกติภายในร่างกาย โดยแพทย์ศาสตร์จีนพบสาเหตุการปวดศีรษะมาจาก

    • เกิดจากการติดขัดจึงทำให้เกิดอาการปวด เรียกว่ากลุ่มอาการเกร็ง เช่น มีการติดขัดของลมปราณไหลเวียนไม่สะดวก เลือดคั่ง ซึ่งอาการติดขัดอาจรวมถึง อารมณ์โกรธ หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
    • เกิดจากสมรรถภาพการทำงานของระบบร่างกายลดลง หรือขาดการบำรุง เรียกว่ากลุ่มอาการบกพร่อง เช่น รับประทานอาหารมันๆ การสร้างเลือดไม่ดี การเจ็บป่วยเรื้อรัง การทำงานหนักหรือเครียดเกินไป เป็นต้น

    เมื่อทราบสาเหตุแล้ว แพทย์แผนจีนจะใช้เทคนิคฝังเข็ม ได้แก่ การฝังเข็มเพื่อกระตุ้นให้การบำรุงในจุดที่บกพร่อง หรือฝังเข็มเพื่อระบายลมปราณให้ไหลเวียนดีขึ้น โดยใช้เข็มขนาดเล็กพิเศษฝังลงไปที่จุดเส้นประสาทที่เป็นการเปิดทวารสมอง ทะลวงลมปราณ เพื่อระบาย และบำรุงสมอง

    3. การรักษาด้วยการนวดแผนไทยรักษาโรคเฉพาะจุด

    ในทางการแพทย์แผนไทย โรคปวดศีรษะไมเกรน มีชื่อเรียกว่า โรคลมปะกัง หรือลมตะกัง เป็นกลุ่มอาการปวดศีรษะเรื้อรัง เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดลมไปเลี้ยงบริเวณศีรษะไม่สะดวก จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณศีรษะ เบ้าตา กระบอกตา และขมับ และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนเกิดขึ้นด้วย

    สำหรับการรักษาโดยใช้วิธีการนวดแผนไทยรักษาโรคเฉพาะจุด เป็นการนวดกดจุดเพื่อคลายกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่และกล้ามเนื้อรอบศีรษะ ซึ่งจะทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงศีรษะได้มากขึ้น และยังช่วยปรับการไหลเวียนของเลือดลมภายในร่างกายให้ดีขึ้นด้วย

    นอกจากนี้จะมีการประคบร้อนด้วยลูกประคบสมุนไพรด้วย ซึ่งจะเสริมประสิทธิภาพของการคลายกล้ามเนื้อจากการนวดได้มากขึ้น และกลิ่นของสมุนไพรยังช่วยผ่อนคลายความเครียด ความกังวลด้วย โดยอาจใช้สมุนไพรสำหรับรับประทานร่วมด้วย เช่น ยาหอม หรือสมุนไพรอื่น เพื่อแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ช่วยให้หลับสบาย และช่วยปรับสมดุลของเลือดลมภายในร่างกายให้เป็นปกติ

    ข้อดีและข้อเสียรักษาไมเกรนแต่ละแบบ

    การรักษาไมเกรนด้วยยา

    ข้อดีของการรักษาไมเกรนด้วยยา

    • บรรเทาอาการได้ตรงจุดในเวลาอันรวดเร็ว
    • ระงับอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้มีอาการปวดไมเกรนขั้นรุนแรง

    ข้อเสียของการรักษาไมเกรนด้วยยา

    • อาจทำให้เกิดแผลเปื่อยหรือแผลอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ เมื่อใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลานาน
    • อาจเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ เมื่อใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลานาน
    • อาจเป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังที่มีเหตุมาจากการใช้ยาแก้ปวดได้ เมื่อใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลานาน
    • อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้ ในกรณีใช้ยาสำหรับผู้มีอาการไมเกรนโดยเฉพาะ
    • อาจทำให้เกิดอาการเลือดไม่ไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกายได้

    การรักษาไมเกรนด้วยการฝังเข็ม

    ข้อดีของการรักษาไมเกรนด้วยการฝังเข็ม

    • ทำให้อาการปวดลดน้อยลง และระยะเวลาในการปวดสั้นลงด้วย
    • หากรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลดี ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวด

    ข้อเสียของการรักษาไมเกรนด้วยการฝังเข็ม

    • ไม่สามารถระงับหรือบรรเทาอาการปวดได้ทันที จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดขั้นรุนแรง
    • ใช้ระยะเวลาในการรักษา ซึ่งอาการจะค่อยๆ บรรเทาลงทีละน้อย
    • ไม่ใช่วิธีป้องกัน จึงมีโอกาสกลับมามีอาการซ้ำได้

    การรักษาไมเกรนด้วยการนวดแผนไทย

    ข้อดีของการรักษาไมเกรนด้วยการนวดแผนไทย

    • ปรับการไหลเวียนของเลือดลมภายในร่างกายให้ดีขึ้น และช่วยให้เลือดไปเลี้ยงศีรษะได้มากขึ้น
    • หากรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลดี ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวด

    ข้อเสียของการรักษาไมเกรนด้วยการนวดแผนไทย

    • ไม่สามารถระงับอาการปวดได้ทันที
    • ใช้ระยะเวลาในการรักษา ขึ้นอยู่กับการภาวะร่างกายของแต่ละคน
    แพคเกจรักษาไมเกรน

    การดูแลตัวเองหลังรักษาไมเกรน

    ปัจจุบันไมเกรน ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป็นเพียงการช่วยบรรเทา และระงับอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น หากดำเนินชีวิตในสภาพแวดล้อมเดิม ก็สามารถกลับมามีอาการได้อีกตลอดเวลา

    ดังนั้นการดูแลตัวเองหลังรักษาไมเกรนจึงมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เกิดไมเกรนขึ้นอีก ด้วยการลดความถี่ของการเกิดไมเกรน และลดระยะเวลาการปวดแต่ละครั้งให้สั้นลง โดยวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดไมเกรนซ้ำ ได้แก่

    • หลีกเลี่ยงสภาวะที่กระตุ้นให้เกิดการปวดศีรษะไมเกรน
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
    • ปรับพฤติกรรมการนอนและสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการนอน เช่น นอนในที่มืดและเงียบสงบ
    • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายทั้งร่ายกายและจิตใจ
    • ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้เหมาะสม
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

    ไมเกรนแบบไหนควรไปพบแพทย์

    อาการหรือสัญญาณของไมเกรนที่ควรไปพบแพทย์ มีดังนี้

    • ปวดศีรษะบ่อย หรือปวดครั้งละนานๆ แม้จะปวดไม่มาก
    • ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน
    • ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยคอ พร้อมกับมีไข้
    • มีอาการสับสนมึนงง อาการชัก หรืออ่อนแรง
    • มองเห็นภาพซ้อน
    • พูดติดขัด อย่างชัดเจน
    • ปวดศีรษะเรื้อรัง
    • อาการปวดศีรษะในผู้มีอายุมากกว่า 50 ปี

    ผู้มีอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษา เพราะหากไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาช้า อาจทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น นานขึ้น และถี่ขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดอีกต่อไป

    แม้ปัจจุบัน ไมเกรน ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่ก็มีความจำเป็นต้องรักษาเพื่อไม่ให้กระทบกับชีวิตประจำวัน ทั้งยังสามารถลดความรุนแรง ลดระยะเวลา ตลอดจนลดความถี่ของอาการปวดศีรษะได้

    เช็กราคาการรักษาไมเกรนจากคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดให้ฟรี โดยแอดมินของ HDmall.co.th


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • ผศ.นพ.รังสรรค์ เสวิกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, บทความสุขภาพ โรคไมเกรน, (https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=105)
    • ดร. นพ.จรุงไทย เดชเทวพร สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, แบบไหนกันที่เรียกว่า ปวดหัวไมเกรน, (https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/แบบไหนกันที่เรียกว่า-ปว/), 3 พฤษภาคม 2018.
    • พญ.เพชรไพลิน พงษ์บริบูรณ์ พ.บ. ว.ว. (เวชศาสตร์ฟื้นฟู) พท.ว. (แพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรม) พท.ภ. (แพทย์แผนไทยสาขาเภสัชกรรม) ประกาศนียบัตรหลักสูตรแพทย์ฝังเข็ม( มหาวิทยาลัยการแพทย์จีนเทียนจิน-โรงเรียนเสนารักษ์กรมแพทย์ทหารบก), ไมเกรน: 3 มิติ(Migraine: 3D), (https://www.pat.or.th/attachment/academic-article/article_010.pdf).
    • นพ.ยงยศ จริยวิทยาวัฒน์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, ปวดหัวจากความเครียด, (https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=2401), 7 ตุลาคม 2564.
    • ภก.ภูมิสิริ วุฒิวงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม, อาการปวดหัวไมเกรน, (บทความ บทความปวดหัวไมเกรน.pdf), 12 กรกฎาคม 2560.
    • The Coverage, รักษา ไมเกรน แบบไม่พึ่งยา กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะ นวด-ประคบ-ยาหอม-ฝังเข็ม, (https://www.thecoverage.info/news/content/311), 14 กุมภาพันธ์ 2565.
    @‌hdcoth line chat