ตรวจ MRI สมอง รวดเร็วแม่นยำ รักษาได้ทันท่วงที

ปวดศีรษะบ่อย ปากเบี้ยว มุมปากตก ลิ้นแข็ง หน้าชาครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรงไปหนึ่งข้าง หากเกิดอาการแบบนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะนี่อาจเป็นโรคที่เกี่ยวกับสมอง ในปัจจุบันทางการแพทย์มักใช้วิธีการตรวจ MRI สมอง ซึ่งสามารถตรวจหาความผิดปกติและระบุโรคที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทำให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที

MRI คืออะไร?

MRI (Magnetic Resonance Imaging) เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูง (Powerful Magnetic Field) ร่วมกับคลื่นวิทยุพลังงานสูง (Powerful Radio Frequency Field) และพลังงานเหล่านั้นจะสะท้อนกลับมาที่ตัวรับสัญญาณ (Receiver Coil) ซึ่งสัญญาณที่สะท้อนกลับมาจะถูกแปลงตามคุณสมบัติของอวัยวะนั้นๆ ทำให้เกิดเป็นภาพ 3 มิติที่มีความละเอียดและคมชัดมาก

การถ่ายภาพวิธีนี้ สามารถตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อ อวัยวะ และโครงสร้างต่างๆ ในร่างกายได้ถูกต้องและรวดเร็ว อีกทั้ง ยังสามารถระบุขอบเขตของโรคได้ ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ดีกว่าวิธีอื่น เช่น เอกซเรย์ (X-ray) อัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือซีที สแกน (Computed Tomography: CT Scan) สามารถวางแผนการรักษา และติดตามผลการรักษาได้เป็นอย่างดี

ตรวจ MRI สมองคืออะไร?

การตรวจ MRI สมอง (MRI Brain) เป็นการตรวจเนื้อสมอง เส้นเลือดแดง เส้นเลือดดำ สามารถตรวจได้พร้อมกันในครั้งเดียวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อหาความผิดปกติของสมองและเส้นประสาทในสมอง เช่น ตัวเนื้อสมองจะเป็นการมองหาว่ามีเนื้องอกในสมองหรือไม่ โดยที่ก้อนเนื้อในสมองนั้นเป็นเนื้อดีหรือเนื้อร้าย หลอดเลือดในสมองมีความผิดปกติจากอะไร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดขอด หลอดเลือดโป่งพอง เลือดออกในสมองก็สามารถตรวจพบได้ หรือจะเป็นการตรวจพบว่ามีการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่เกี่ยวกับการมองเห็นและได้ยิน

ดังนั้น การใช้วิธีนี้จึงมีความจำเป็นมาก เพราะทำให้ได้เห็นส่วนต่างๆ ในสมองที่จะต้องใช้รายละเอียดและความชัดเจนของภาพสูง เพื่อช่วยให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างความถูกต้องและแม่นยำ และที่สำคัญไม่ต้องสัมผัสรังสีเอกซเรย์อีกด้วย

ตรวจ MRI สมองช่วยอะไรได้บ้าง?

การตรวจ MRI สมอง สามารถช่วยในการตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในสมอง และหาสาเหตุของอาการที่ผู้รับบริการเป็น ว่าเกิดจากอะไร โดยภาพที่ได้จะจำแนกแยกความแตกต่างของเนื้อเยื่อ อวัยวะ เส้นเลือด และโครงสร้างต่างๆ ในสมองได้อย่างชัดเจน เพื่อที่จะช่วยแพทย์นำมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคต่อไปได้ ดังนี้

  • เพื่อช่วยตรวจหาความผิดปกติของสมองและเส้นประสาทในสมอง ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเจ็บป่วย ว่าอยู่ตรงตำแหน่งไหนได้แม่นยำ เช่น ภาวะสมองขาดเลือด ความผิดปกติบริเวณก้านสมอง สาเหตุการชัก การอักเสบติดเชื้อของเนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมอง การฉีกขาดของแขนงประสาท (Diffuse Axonal Injury) เป็นต้น
  • เพื่อช่วยแพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง ว่าอาการของผู้รับบริการที่เกิดจากสมองเป็นโรคอะไร เช่น โรคสมองขาดเลือดเฉียบพลัน โรคเนื้องอกของสมอง โรคลมชัก โรคปลอกประสาทอักเสบ โรคเนื้องอกในสมอง โรคเนื้องอกในกะโหลกศีรษะ เป็นต้น เพื่อที่จะได้รักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป
  • เพื่อช่วยในการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือด (Magnetic Resonance Angiography: MRA) เป็นการตรวจหาลิ่มเลือดหรือความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ ความผิดปกติของการอุดตันหรือโป่งพองของระบบเส้นเลือดได้ โดยไม่ต้องใช้สารเภสัชรังสีไอโอดีนและการสวนสายยางเพื่อฉีดสี

อาการแบบไหนควรตรวจ MRI สมอง?

อาการที่เกี่ยวกับสมองนั้นมีค่อนข้างหลากหลาย ดังนั้นเบื้องต้นจึงอาจลองสังเกตตัวเองดูก่อนว่ามีอาการใดๆ เข้าข่ายดังต่อไปนี้หรือไม่ จากนั้นจึงปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจ MRI สมอง

  • มีอาการปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
  • มีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง รู้สึกชาที่บริเวณใบหน้าจนไม่สามารถขยับได้ และหนังตาตก
  • มีอาการพูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กลืนลำบาก และลิ้นชาแข็ง
  • มีอาการเดินเซ และทรงตัวลำบาก
  • มีอาการชักเกร็งหรือหมดสติ ความจำเสื่อม สับสน และคลื่นไส้อาเจียนบ่อยๆ
  • มีอาการวิงเวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน เสียการทรงตัวบ่อยๆ
  • มีอาการหูอื้อ และมีปัญหาการได้ยิน
  • มีอาการตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นภาพครึ่งซีก
  • มีอาการตาดำข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง
  • มีอาการเลือดไหลออกมาจากจมูกและหู
  • มีประวัติว่าบิดาหรือมารดาเป็นเส้นเลือดในสมองแตก หรือสมองโป่งพอง
  • เมื่อกดที่บริเวณเหนือกะโหลกแล้วรู้สึกเจ็บ

การเตรียมตัวก่อนตรวจ MRI สมอง

ก่อนที่จะตรวจ MRI สมอง ผู้ที่รับบริการควรมีการเตรียมตัวดังนี้

  • ไม่ต้องอดน้ำ อดอาหาร หรือยาที่รับประทานประจำ สามารถรับประทานได้ตามปกติ แต่ในบางกรณีที่ต้องได้รับยานอนหลับหรือยาสลบ จะต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง ก่อนตรวจ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • งดใช้เครื่องสำอางบนใบหน้าในวันที่มาตรวจ เพราะอาจมีส่วนผสมของโลหะ ทำให้เกิดภาพที่บิดเบือนจากความเป็นจริงได้
  • งดใส่เครื่องประดับทุกชนิด รวมถึงฟันปลอม และเครื่องช่วยฟัง ในวันที่มาตรวจ
  • สวมเสื้อผ้าที่เป็นกระดุมหน้า ที่ใส่สบายและหลวม เพื่อจะได้ถอดใส่ง่าย และไม่สวมเสื้อผ้าที่มีโลหะนำไฟฟ้าในวันมาตรวจ
  • สำหรับผู้ที่รับบริการที่มีโลหะในร่างกาย ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน เพราะอาจจะทำให้เกิดภาพที่บิดเบือนจากความเป็นจริงได้

การปฏิบัติตัวในการเข้าตรวจ MRI สมอง

เจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวกับการตรวจ และคำแนะนำในการปฏิบัติตัวก่อนเข้าตรวจ ให้กับผู้ที่รับบริการทราบและทำความเข้าใจก่อนทุกครั้ง หากมีข้อสงสัยให้ถามเจ้าหน้าที่ได้ เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนที่สุด ดังนี้

  • ผู้ที่รับบริการควรทำใจให้สงบ นอนให้สบาย ไม่ต้องกลัว
  • ช่วงที่เครื่องทำงานจะมีเสียงดังเป็นระยะ ไม่ต้องตกใจ ไม่มีอันตรายอะไร
  • ขณะที่ตรวจอยู่ จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีปัญหาอะไร เช่น ไอ จาม หรือสำลัก สามารถบีบลูกยางฉุกเฉินที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ เพื่อหยุดตรวจชั่วคราวได้
  • การตรวจจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ในการตรวจแต่ละชุดจะนานประมาณ 3-5 นาที จะต้องนอนนิ่งๆ ไม่ขยับร่างกาย
  • หากผู้ที่รับบริการเกิดความกังวลใจ กลัวที่จะอยู่คนเดียวในห้อง หรือกลัวที่แคบ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ ซึ่งอาจให้ญาติมานั่งเป็นเพื่อนได้

ขั้นตอนการตรวจ MRI สมอง

  1. เจ้าหน้าที่จะเตรียมให้ผู้ที่รับบริการนอนลงบนเครื่อง ที่มีลักษณะเป็นถาดขนาดยาวตรงกลางของเครื่อง MRI ช่วยจัดท่าทางของศีรษะ ลำตัว และแขนให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
  2. ผู้ที่รับบริการบางรายอาจได้รับยาที่ช่วยให้สงบอารมณ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  3. นำฟองน้ำอุดหูหรือที่ปิดหูมาให้ผู้ที่รับบริการใส่เพื่อป้องกันเสียง และนำที่บีบลูกยางฉุกเฉินมาให้ถือไว้
  4. นำเครื่องจับสัญญาณคลื่นแม่เหล็ก (Magnetic Coil) มาครอบที่บริเวณศีรษะ ก่อนที่ถาดจะค่อย ๆ เลื่อนเข้าไปในตัวเครื่องที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์ ให้นอนนิ่งๆ ห้ามขยับร่างกายขณะตรวจ อาจขอให้มีการกลั้นหายใจเล็กน้อยในขณะถ่ายภาพ เมื่อตรวจเสร็จแพทย์จะแจ้งผลในเบื้องต้น และนัดวันให้มาฟังผลตรวจโดยละเอียดอีกครั้ง

การดูแลตัวเองหลังตรวจ MRI สมอง

หลังได้รับการตรวจ MRI สมองแล้ว สามารถกลับบ้าน และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ตรวจ MRI สมองอันตรายไหม?

การตรวจ MRI สมองมีความปลอดภัยสูง ไม่ส่งผลอันตรายกับร่างกาย ไม่มีการใช้รังสีเอกซเรย์ ไม่มีความเจ็บปวดใดๆ เลย สามารถตรวจได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงสตรีที่ตั้งครรภ์ แต่หากไม่ฉุกเฉินก็ไม่ควรตรวจในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ตรวจ MRI สมองใช้เวลานานไหม?

การตรวจ MRI สมอง จะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ต้องการจะตรวจ และจำนวนภาพที่ต้องการถ่าย เช่น การตรวจดูความผิดปกติของเนื้อเยื่อสมอง จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที แต่ถ้าต้องการตรวจดูหลอดเลือดด้วย ก็จะใช้เวลาในการตรวจนานขึ้นอีกประมาณ 15 นาที หรือจนกว่าจะได้ภาพที่ต้องการครบ

ตรวจ MRI สมองต้องฉีดสีไหม?

ในการตรวจ MRI สมอง เป็นการตรวจที่ได้ภาพ 3 มิติที่แม่นยำและชัดเจนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้การฉีดสีมาช่วยในการทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นอีก

ข้อควรระวังของการตรวจ MRI สมอง

ผู้ที่รับบริการต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบ ทั้งแพทย์ พยาบาลและผู้ดูแล ในกรณีต่อไปนี้ เนื่องจากอาจมีผลต่อการทำงานของเครื่องมือ และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ดังนี้

  • ผู้ที่ผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจ (Cardiac Pacemaker)
  • ผู้ที่ผ่าตัดติดคลิปอุดหลอดเลือดในโรคเส้นเลือดโป่งพอง (Aneurysm Clips)
  • ผู้ที่ผ่าตัดใส่ขดลวด (Stent) ที่หลอดเลือดหัวใจ
  • ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ (Artificial Cardiac Valve)
  • ผู้ที่ผ่าตัดติดเครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ (Infusion Pump)
  • ผู้ที่ผ่าตัดติดอินซูลินปั๊ม (Insulin Pump)
  • ผู้ที่ผ่าตัดใส่อวัยวะเทียมภายในหู (Ear implant) และประสาทหูเทียม (Cochlear Implant)
  • ผู้ที่มีโลหะต่างๆ อยู่ภายในร่างกาย เช่น ข้อเทียม โลหะที่ใช้ยึดหรือดามกระดูก กระสุนปืน เป็นต้น
  • สตรีมีครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
  • ผู้ที่คิดว่ามีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นโลหะติดอยู่ที่ตา
  • ผู้ที่ใส่รากฟันเทียม อุดฟัน หรือใส่เหล็กดัดฟันที่วัสดุมีโลหะเป็นส่วนประกอบ
  • ผู้ที่มีการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ
  • ผู้ที่ต่อผมปลอมอาจมีสารบางชนิดที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ
  • ผู้ที่ไม่สามารถนอนในอุโมงค์ตรวจได้ เนื่องจากมีอาการกลัวที่แคบ (Claustrophobia)
  • ผู้ที่มีไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือนอนนิ่งขยับไม่ได้ เช่น ผู้ที่มีอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ผู้ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดและงอ รวมไปถึงผู้ที่ภาวะอ้วน ไม่สามารถนอนลงบนถาดของเครื่อง MRI ได้
  • ผู้ที่เตรียมตัวจะเข้ารับการผ่าตัดสมอง ตา หรือหู ซึ่งจะต้องฝังเครื่องมือทางการแพทย์ (Medical Devices)

โดยสรุปแล้ว การเป็นคนที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ และคอยช่างสังเกตตัวเองอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ หากเมื่อไหร่ก็ตามที่ร่างกายมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ปวดศีรษะบ่อยๆ วิงเวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน เสียการทรงตัว ตามัวเห็นภาพซ้อนหรือเห็นภาพแค่ครึ่งเดียว อาจเกิดจากความผิดปกติของสมองได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที


เช็กราคาตรวจ MRI สมอง

Scroll to Top